Posted: 30 Jun 2017 05:06 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สร้างโดยบริษัทลูกของบริษัททำทางรถไฟ อ้างการก่อสร้างตรงตามมาตรฐานแล้ว บริษัท รัฐบาลรับเยียวยาคนเจ็บ รัฐบาลเคนยาสั่งหยุดก่อสร้างสะพานเจ้ากรรม ฝ่ายค้านซัดรัฐบาลคอร์รัปชัน เร่งเอาผลงานก่อนเลือกตั้ง ถล่มที่แอฟริกาหนาวถึงอาเซียน พญามังกรหน้าตักใหญ่หวั่นกู้เงินจีนทำพิษหากไม่มีปัญญาใช้คืน


สะพานซิกิรีถล่ม (ที่มา:twitter/D.I.K.E.M.B.E)

สำนักข่าว เดอะ สตาร์ ของเคนยา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา สะพานซิกิรี ที่เชื่อมเมืองบันยาลาตอนเหนือและตอนใต้ในเขตปกครองบูเซีย บริเวณทิศตะวันตกของเคนยา ความยาว 100 เมตร ถล่มลงในขณะที่ก่อสร้าง มีผู้บาดเจ็บ 28 ราย ส่วนมากเป็นคนงาน

สะพานซิกิรีเป็นโครงการของรัฐบาลเคนยา ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทไชน่า โอเวอร์ซี เอ็นจิเนียริง (COVEC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทไชนา เรลเวย์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. นี้ โดยทางบริษัทยังไม่แสดงความรับผิดชอบในเหตุสะพานถล่ม แต่จะส่งทีมลงไปสำรวจหาสาเหตุ และรับปากว่าจะเยียวยาผู้บาดเจ็บ

“ในส่วนงานวิศวกรรมของเรานับว่าเป็นเรื่องผิดปรกติ เพราะว่าการดำเนินงานต้องตามเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ พวกเราจะไปสำรวจถึงสาเหตุและเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ” เจโรม อชูฮา ผู้จัดการโครงการ กล่าว จากรายงานของสำนักข่าว แคปิตัล นิวส์ ของเคนยา

ในขณะที่อาบาบู นัมวัมบา สมาชิกสภานิติบัญญัติประจำท้องที่กล่าวว่า รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ทั้งยังระบุว่าถึงสาเหตุของการถล่มนั้นอาจเกิดจากอะไรก็ได้ รวมถึงความพยายามก่อวินาศกรรม เนื่องจากความสภาพการเมืองที่เลวร้าย

“เรื่องการก่อวินาศกรรมหรือเล่นนอกเกมไม่สามารถตัดออกไปจากความเป็นไปได้ เพราะสภาพเลวร้ายของการเมืองไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน” นัมวัมบา กล่าว

เหตุสะพานถล่มทำให้รัฐบาลเคนยาสั่งพักการก่อสร้างไว้ก่อน สะพานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำเอ็นซอยอา หลังมีเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือแคนูล่มขณะข้ามแม่น้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนเมื่อปี 2557 และเหตุการณ์สะพานถล่มเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา จากพรรคจูบิลี มาลงพื้นที่ดูสะพานเพียง 12 วัน อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลได้จัดให้มีทีมสืบสวนลงหาสาเหตุของการถล่มแล้ว


ในขณะที่ เรลา โอดิงกา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาเคนยัตตาและพรรคว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเหตุสะพานถล่มจากการคอร์รัปชัน การดำเนินงานอย่างไม่เป็นมืออาชีพ โดยหวังเร่งโครงการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 ส.ค. ที่จะถึง และถือเป็นเรื่องดีที่สะพานถล่มก่อนที่จะเปิดใช้ ไม่เช่นนั้นอาจจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตอีกมากมาย

“(พรรค)จูบิลีควรได้รับการกล่าวโทษสำหรับความไม่เป็นมืออาชีพ เงินจำนวนมากไหลเข้าสู่กระเป๋าของคนหลายคน” “เป็นเรื่องโชคดีของพวกเราที่สะพานถล่มก่อนที่จะเปิดใช้งาน ไม่เช่นนั้นเราอาจจะสูญเสียชีวิตคนจำนวนมาก” โอดิงกา กล่าว

พญามังกรหน้าตักใหญ่ ใครๆ ก็เข้าหา หวั่นสัมพันธ์แนบชิดจีนทำพิษหากกู้เงินแล้วไม่มีคืน

จีนมีบทบาทในฐานะการเป็นผู้พัฒนาและผู้ลงทุนในระดับโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการลงทุนของจีนในต่างประเทศอย่างแข็งขันในหลายภาคส่วนทั่วโลก สำหรับในไทย ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า ปี 2557 มีโครงการการลงทุนจากจีนในไทยถึง 74 โครงการ ได้รับอนุมัติแล้ว 40 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 33,707 ล้านบาท (ดูเอกสารตัวเต็ม)

การที่จีนให้ความสำคัญกับนโยบาย Belt Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน ทำให้บทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพิ่มมากขึ้นทั้งที่ยังไม่มีรูปแบบนโยบายที่ชัดเจน แต่ประเทศในอาเซียนก็เข้าหาแหล่งเงินกู้และเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างภายในจากจีนอย่างรวดเร็ว มีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงระหว่างลาว-จีน โรงไฟฟ้าพลังน้ำในกัมพูชา รถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในอินโดนีเซียระหว่างเมืองจาการ์ตา-บันดุง และแน่นอน โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย

อย่างไรก็ดี ภายหลังภาพความหน้าตักใหญ่ของจีนยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องพับหรืองดไปก่อน อันเป็นผลมาจากความล่าช้าในระบบราชการ การคอร์รัปชันและความล้มเหลวในการหาทุนรอนมาดำเนินโครงการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากบริษัทไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริง คอร์ปอเรชัน (CREC) ไม่สามารถบรรลุข้อบังคับทางการเงินได้ รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจพักโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุงเนื่องจากยังมีปัญหาด้านการเงินและที่ดิน โครงการพัฒนาต่างๆ ในอาเซียนยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่สำคัญก็คือ โครงการลงทุนของจีนจะเป็นจริงดังวาดหวังไว้ขนาดไหน เรื่อยมาจนถึงปี 2557 โครงการลงทุนของจีนในอินโดนีเซียนั้นเพิ่งเกิดขึ้นจริงเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ส่วนในฟิลิปปินส์ที่จีนเสนอว่าจะให้เงินสนับสนุนถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ยังได้รับเงินเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตขึ้นเถลิงอำนาจเมื่อปี 2559 นอกจากนั้น อิทธิพลและความสัมพันธ์ที่จีนมีต่ออาเซียนนั้นอิงอยู่กับการค้าและการลงทุนอยู่แต่เดิม ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น อิทธิพลของจีนในภูมิภาคก็ลดลงตาม แต่การรับเงินกู้และเงินสนับสนุนจากจีนทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ถ้าหากประเทศที่กู้เงินจีนไม่สามารถจ่ายคืนได้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จีนจะใช้ปัจจัยดังกล่าวในการต่อรองกับประเทศในอาเซียนหรือไม่

แปลและเรียบเรียงจาก

Shanghaiist, Bridge in Kenya being built by Chinese company collapses 11 days after president's visit, 29 Jun. 2017

The Star, State suspends construction of collapsed Sigiri bridge, orders probe, 26 Jun. 2017

The Star, Sh1.2 billion Budalang'i Sigiri bridge collapses days after Uhuru inspection, 26 Jun. 2017

Capital News, Chinese firm to compensate victims of Sigiri bridge collapse, 27 Jun. 2017

The Diplomat, China’s Southeast Asia Gambit, 31 May 2017

BOI, FDI by country in 2014, 28 Jan. 2015


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.