Posted: 09 Jul 2017 11:51 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผลกระทบ ก.ม.แรงงานข้ามชาติใหม่ แรงงานกลับประเทศไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงป่วน 'จัดหางาน' เตือน นายจ้างอย่าใช้โบรกเกอร์เถื่อน เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เผยแนวคิดแก้ ก.ม.แรงงาน ให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพได้เอง


สถานการณ์ชายแดนด้าน จ.สระแก้ว (แฟ้มภาพประชาไท)

10 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐบาลออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จนสร้างผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ ก่อนที่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 แทน
ไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงป่วน

ล่าสุดวันนี้ (10 ก.ค.60) ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวทำให้แรงงานต่างด้าวที่แฝงตัวในไซต์ก่อสร้างแตกตื่นแห่กลับประเทศเห็นภาพชัดไซต์รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” หลังการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ติดตามงานจากผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญา ปรากฏว่าสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุงและสถานีจตุจักรของกลุ่มซิโน-ไทยฯ และยูนิคฯ วงเงิน 34,118 ล้านบาท งานเริ่มชะงัก

“หารือกับผู้รับเหมา พบปัญหายูนิคฯมีแรงงานพม่ากลับประเทศไปดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกกฎหมาย เพราะตกใจคิดว่าใบสีชมพูใช้ไม่ได้ จะกลับมา 10-20 วัน มีผลกระทบระยะสั้น ๆ ส่วนสัญญาที่ 2 ของอิตาเลียนไทยฯ ไม่มีปัญหา แรงงานที่ใช้ถูกกฎหมาย”

จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง กล่าวว่า ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค และสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ก่อสร้าง จึงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีใบอนุญาตที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานอีกว่า ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาหลายปี ทุกปีขอโควตาไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมา 2,000 คน กัมพูชา 1,000 คน และได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายมาร่วม 3 ปีแล้ว

“พ.ร.ก.ฯไม่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง จะกระทบรับเหมารายกลางและรายเล็ก เพราะดำเนินการไม่ทันเวลา ต้องเสียค่าปรับและเกิดแรงงานขาดแคลนขึ้น”

และอาจกระทบต่อผู้รับเหมาช่วงหรือต่อเนื่องถึงโครงการก่อสร้างในมือของบริษัทได้ จะรีบหามาตรการป้องกันให้เร็วที่สุด และการที่รัฐขยายเวลาจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ไปได้บ้าง
เตือน นายจ้างอย่าใช้โบรกเกอร์เถื่อน เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ขณะที่วานนี้ (9 ก.ค.60) วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อไปดำเนินการตรวจสัญชาติและกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในช่วง 180 วันที่ชะลอบทลงโทษนายจ้างและคนต่างด้าวใน 4 มาตราคือ 101 102 119 และ 122 ดังนั้นจึงส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการต่างๆ เช่น กลุ่มโรงสี กลุ่มแรงงานเกษตร เป็นต้น ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่โดยใช้บริการของนายหน้าและโบรกเกอร์ ด้วยเหตุนึ้จึงเป็นช่องทางให้กระบวนการนายหน้าอ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอเรียนชี้แจงว่าผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมี 2 กลุ่มคือ 1) นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2) ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขอย้ำเตือนว่าหากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศหรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

วรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศจำนวน 81 แห่งทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพฯ จำนวน 38 แห่ง ส่วนภูมิภาค จำนวน 43 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวงดังกล่าว ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 1729 , 0 2354 1386 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
เผยแนวคิดแก้ ก.ม.แรงงาน ให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพได้เอง

นอกจากนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการด้านแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าฯ ได้หยิบยกประเด็นที่ภาครัฐอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับขึ้นหารือ เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากเอกชนกังวลว่า หากกฎหมายประกาศบังคับใช้จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

โดยภาครัฐให้เหตุผลว่า การผลักดันยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการเข้าร่วมอนุสัญญาด้านแรงงานสากล ฉบับที่ 87 เกี่ยวกับการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องผ่านการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (TIFA) ก่อนหน้านี้ และฉบับที่ 98 เกี่ยวกับการให้สิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ นอกจากร่างกฎหมายที่กระทรวงแรงงานยกร่างขึ้นจะผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ให้ความเห็นชอบด้วย

ในส่วนของสภาหอการค้าฯไม่รู้เรื่องมาก่อน เพิ่งจะทราบจากกรรมาธิการ สนช. ซึ่งเป็นช่วงที่กระทรวงแรงงานดึงกฎหมายกลับมาแก้ไขบางประเด็นที่ยังเห็นต่างกันอยู่ สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลมาก คือ มาตรา 91 และมาตรา 101 วรรค 2 ซึ่งจะทำให้บทบาทของแรงงานต่างด้าวมีมากขึ้น เดิม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิของแรงงานต่างด้าวในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน แต่ฉบับใหม่กลับกลายเป็นว่า มีความพยายามให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพได้เอง หรือให้สิทธิในการเป็นกรรมการสหภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.