Posted: 27 Sep 2017 11:25 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แจ้งว่า TDRI เปิดเวที Redesigning Thailand ครั้งที่ 4 ชวนนักศึกษา ร่วมปรับทัศนคติทางการศึกษาใหม่ และสร้างสรรค์นโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ทัศนคติ ‘เด็กดีต้องเชื่อฟังครู’ จากทีมจุฬาฯ – ม.เชียงใหม่ คว้าอันดับ 1 ชี้สร้างปัญหาทำเด็กไทยไม่กล้าตั้งคำถาม ไร้ปฏิสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และไม่เชื่อมั่นในตนเอง เสนอใช้หลักสูตรละครเพื่อการศึกษามาแก้ไข

กิจกรรม Redesigning Thailand เวทีเปิดกว้างประลองความคิดด้านนโยบายสาธารณะสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ จัดโดย TDRI มีเป้าหมายเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับนักศึกษาที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับนักวิจัย TDRI เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางนักวิจัยเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า ในปีนี้ กิจกรรมจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ในชื่อ Redesigning Thailand #4 “เปิดแคมป์ จับระบบการศึกษาไทยมาปรับทัศนคติ มีตั้งโจทย์ท้าทายความคิดคนรุ่นใหม่ว่า “ทัศนคติทางการศึกษาเรื่องใด ที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาการศึกษาไทย และจะใช้มาตรการ/นโยบายใด เพื่อการปรับทัศนคติการศึกษาไทยให้ดีขึ้น” ซึ่งมีนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งบทความร่วมตอบโจทย์ โดยมีทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากหลายมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ซึ่งทั้งหมดได้เข้าร่วมปรับปรุงพัฒนาหัวข้อกับนักวิจัย TDRI และนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน รวม 6 ทัศนคติทางการศึกษา ได้แก่ ทัศนคติต่อการเรียนการเรียนอาชีวะ ทัศนคติ “การศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์” ทัศนคติ “การบริหารจัดการศึกษาที่ดี มาจากส่วนกลาง” ทัศนคติ “เรียนไปก็ใช้ไม่ได้”ทัศนคติ “ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน” และทัศนคติ “เด็กดีต้องเชื่อฟังครู”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานชิย์ ประธาน TDRI หนึ่งในคณะกรรมการร่วมตัดสิน กล่าวว่า การศึกษาไทยมีปัญหา เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจเห็นตรงกันซึ่งไม่ต้องถกเถียงกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ คนยังคิดไม่ตรงกันว่า จุดไหนของการศึกษาที่เป็นปัญหาแน่ๆ และปกติเรามักหาแนวทาง ความคิดปฏิรูปการศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคนที่ทำงานการศึกษามานาน ซึ่งย่อมได้ภูมิปัญญาดีๆ แต่ก็อาจติดกับแนวทางแก้ไขเดิมๆ ดังนั้น เวที Redesigning Thailand วันนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญมาก โดยในปีนี้มุ่งเป้ามาที่การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา เพื่อได้รู้ได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ จากคนที่อยากทำงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศเช่นกัน นั่นคือกลุ่มนักศึกษา ที่จะอยู่กับผลพวงจากการศึกษาไทยต่อไปในอนาคต

“เวทีวันนี้จึงมีขึ้น เพื่อมาดูว่า ถ้าจะพัฒนาการศึกษาของประเทศ ทัศนคติของคนต้องเปลี่ยนอะไร และเปลี่ยนอย่างไรจากมุมมองเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษา ใช่ว่าจะเกิดจากใครสักคนที่มีอำนาจแล้วสั่งการ แล้วเกิดขึ้นได้ เพราะถ้านักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ และครู รวมทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ ยังมองปัญหาการศึกษาไปคนละทิศทาง จะไม่มีทางฏิรูปการศึกษาได้” ประธาน TDRI กล่าว

สำหรับผลการตัดสิน ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศจับทัศนคติการศึกษามาปรับใหม่ ได้แก่ ทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครู ของทีมนักศึกษา จากคณะเศรษฐศาสตร์(นานาชาติ) จุฬาฯ คือ สิรภพ ลู่โรจน์เรือง , วรลักษณ์ ภักตร์อำไพ และพงศรากร ปาแก้ว นักศึกษา จากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยนักศึกษาวิเคราะห์ว่า ทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครู เกิดจากปัจจัยด้านตัวครู ที่วางตนเป็นผู้ตัดสินถูกผิด ในลักษณะอำนาจนิยม รวมทั้งในกลุ่มเพื่อนนักเรียนเองที่มองว่าใครถามมาก แสดงถึงความอวดรู้ หรือถูกรบกวน และตัวนักเรียนเองก็ขาดความมั่นใจ หากถามแล้วจะรู้สึกแปลกแยก มีความเขินอายทำให้ไม่กล้าถาม ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เด็กนักเรียนเกิดทัศนคติไม่กล้าตั้งคำถาม เมื่อไม่กล้าถามก็ส่งผลให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดทางความรู้ ความคิดและการใช้ชีวิต หรือการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

ข้อเสนอทางแก้ไขคือ การจัดหลักสูตร การละครเพื่อการศึกษา (Drama Education) ให้นักเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา 1- 3 เพื่อกระตุ้นความกล้าแสดงออกให้กับเด็ก และบูรณาการวิชาดังกล่าวร่วมกับรายวิชาอื่นในชั้นประถมศึกษา 4-6 โดยเฉพาะรายวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ สังคมศึกษา เพื่อให้เด็กได้ความรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับการสร้างพื้นฐานความกล้าลองผิดถูก นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์กล้าคิด และกล้าตั้งคำถามต่อวิชาอื่นๆต่อไปในอนาคต

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทัศนคติ “ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน” ไอเดียจากทีมนักศึกษาจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ นางสาวจิดาภา วิทยาพิรุณทอง นางสาวกมลฉัตร นุใหม่ และนางสาวอณิษฐา หะยีลาเต๊ะ

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทัศนคติ “การศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์” ไอเดียจากทีมนักศึกษาจากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ยศกร นาแพง และ วังวิช ตรีสุคนธวงศ์ จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ด้าน กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ประธานองค์กรสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ อีกหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวชื่นชมทุกทีมเข้าแข่งขัน ว่าทั้ง 6 ทีม เสนอแนวคิดที่น่าทึ่ง ทุกทีมวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุส่วนใหญ่ได้ตรงทั้งหมด และบางทีมมีข้อเสนอที่สามารถทำหรือนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติได้

ทั้งนี้ กิจกรรม Redesigning Thailand ครั้งที่ 4 จับระบบการศึกษาไทยมาปรับทัศนคติ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาเชิงนโยบาย หลังจากนี้ TDRI และเครือข่ายด้านการปฏิรูปการศึกษาจะยังเดินหน้าสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อระดมความคิดจากนักเรียน นักศึกษา ผลักดันให้การศึกษาไทยไม่ติดกับทัศนคติเดิมๆเพื่อพัฒนาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ .

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.