Posted: 27 Sep 2017 08:04 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ชำนาญ จันทร์เรือง
เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดประชุมสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมนับพันคน ณ มหาวิทยาลัย แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่เป็นผลต่อเนื่องของการจัดการตนเองของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายให้สมัชชาพลเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำงานของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและชุมชน
การเปิดประชุมสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นองคาพยพหลักของหลักการจังหวัดจัดการตนเองตามร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯที่เคยถูกนำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้วในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 แล้ว โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปีนี้มีวาระที่สำคัญ คือ “คนเมืองเชียงใหม่จัดการสุขภาวะของตนเอง เริ่มต้นจากคน ชุมชน เมือง” โดยการชูประเด็นคนรุ่นใหม่จัดการตนเองเพื่อชีวิตและชุมชน ซึ่งได้มีกรณีศึกษาจากคนรุ่นใหม่ที่เลือกอาชีพเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ประกอบอาชีพพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย เช่น กรณีการทำกาแฟอินทรีย์โดยสหกรณ์หมู่บ้านเชื่อมโยงกับการทำร้านกาแฟอินทรีย์ในเมือง การทำร้านจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การประกอบอาชีพสถาปนิกที่ใส่ใจประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของเมือง และการจัดการผังเมืองที่เหมาะสม การประกอบอาชีพและการจัดกิจกรรมต่างๆที่สอดแทรกกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบล้านนา
นอกจากนั้นสมัชชาพลเมืองได้มีมติร่วมกันที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลให้เกิดการหลอมรวมพลังของภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมจัดการตนเองใน 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 นโยบายการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองโดยชุมชน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งหนึ่งในประเด็นนี้ที่สำคัญคือปัญหาวิกฤตคลองแม่ข่าซึ่งจะต้องอาศัยความเข้มแข็งของพลเมืองในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังนี้ โดยการสร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึกกับพฤติกรรม เพราะเพียงลำพังงบประมาณไม่มีทางที่เพียงพอหากพฤติกรรมยังเหมือนเดิม ภาครัฐและเจ้าหน้าที่มาแล้วก็ไปแต่คนเชียงใหม่ต้องอยู่กับคลองแม่ข่าตลอดไป ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วย
ประเด็นที่ 2 นโยบายเชียงใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย ปลอดหมอกควัน ซึ่งในประเด็นนี้เชียงใหม่ได้มีความก้าวหน้าเป็นอันมาก มีการเปิดตลาดอินทรีย์ในหลายๆชุมชนและเกือบทุกวันในสัปดาห์ โครงการลดหมอกควันแม่แจ่มโมเดล ฯลฯ
ประเด็นที่ 3 นโยบายปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นประเด็นที่ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์การเรียนรู้ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือก ฯลฯ แรงผลักดันที่สำคัญมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาตลอดจนบุคคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่
แต่วาระที่สำคัญทีอาจเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของการประชุมฯวันนั้นคือการมอบรางวัล “สวิง ตันอุด” ซึ่งเป็นรางวัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึง สวิง ตันอุด ผู้ล่วงลับไปเมื่อ 8 มีนาคม 2560 ปีที่ผ่านมา สวิง ตันอุด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่ได้ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ โดยเฉพาะในช่วง 4 – 5 ปีสุดท้ายของชีวิต ในการนำเสนอ ผลักดัน ขับเคลื่อนแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองไปสู่หัวจิตหัวใจของผู้คนในสังคมทุกระดับ จนทุกวันนี้คำว่า“ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ....” และ“จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างและแพร่หลายไปในกว่า 50 จังหวัดแล้ว
ดังนั้นการมอบรางวัลสวิง ตันอุด จีงเป็นการย้ำเตือนกับพี่น้องเครือข่ายประชาชนให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง ทั้งในระดับพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองที่ทำให้พื้นที่ระดับจังหวัดได้มีอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมถึงให้การเชิดชู ส่งเสริม และสร้างกำลังใจให้กับบุคคล องค์กร ชุมชน เครือข่ายที่สนับสนุน ขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการตนเองทุกระดับ
ซึ่งในปี 2560 นี้ องค์กร ชุมชน จังหวัด และเครือข่ายที่ได้รับ รางวัลสวิง ตันอุด เพื่อเป็นเกียรติและเป็นกำลังใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป คือ
- ประเภทสื่อมวลชน เป็นผู้มีบทบาทในการสร้างสรรค์ ส่งเสริมแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองสู่สังคม ได้แก่ คุณณาตยา แวววีรคุปต์ ทีมงานเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย และรายการเวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส
- ประเภทชุมชนจัดการตนเอง เป็นชุมชนที่มีกลไกผู้นำ ที่สร้างพลังพลเมืองระดับชุมชนให้มีบทบาทในการจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองจนสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้จริง ก่อให้เกิดผลดีต่อท้องถิ่นของตน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้ จ.พิษณุโลก
- ประเภทจังหวัดจัดการตนเอง เป็นจังหวัดที่มีกลไกของพลเมืองระดับจังหวัดที่มีบทบาทในการปกป้อง พิทักษ์สิทธิของพลเมืองในจังหวัดของตนเอง รวมถึงได้ขับเคลื่อนแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกสภาพลเมืองในการปกป้องสิทธิเด็ก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ประเภทเครือข่ายจัดการตนเอง เป็นเครือข่ายของพลเมืองที่มีบทบาทในการปกป้อง พิทักษ์สิทธิ และผลักดันนโยบายที่นำไปสู่การจัดการตนเองร่วมกับประชาชน กรณีปกป้องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ถึงแม้ว่าสวิง ตันอุด จะจากไปแล้วแต่แกนนำและเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่ต้นก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และยิ่งแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม แต่กระแสของการจัดการตนเองและการกระจายอำนาจนั้นถือได้ว่าได้ถูกจุดติดแล้ว ผมขออนุญาตใช้คำกล่าวของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มาใช้ในประเด็นนี้ว่า “หมุนเข็มนาฬิกาย้อนไปเท่าไหร่ เข็มก็เดินหน้าอยู่ดี” และผมเชื่อว่าเราจะสามารถเดินได้เร็วกว่าที่ผ่านมาเพราะถือได้ว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เป็นช่วงเวลาอันดีที่เราจะได้ทำการถอดบทเรียนและพัฒนาให้เหมาะสมยิ่งๆขึ้นไป
ช้าหรือหรือเร็ว มากหรือน้อย สิทธิในการจัดการตนเอง(self determination rights)จะต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนในทุกสังคมที่จะพึงมีครับ
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 กันยายน 2560
แสดงความคิดเห็น