Posted: 28 Sep 2017 07:52 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เรื่อง: เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา

ภาพ: อิศเรศ เทวาหุดี

อะไรคือเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน ตัวอย่างจาก ‘เรแกโนมิกส์’ และระบบภาษีที่เอสโตเนีย ข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและภาคปฏิบัติของทฤษฏีที่ยังไม่เคยถูกทดสอบ มองไทย: โตแบบกระจุก ไม่ไหลรินสู่ข้างล่าง ตัวเลข ศก. โตแต่เงินในกระเป๋าไม่นำพา คำถามบนเศรษฐกิจส่วนล่างยุคของแพง ค่าแรงถูก


เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Trickle Down Economic หรือที่ชื่อภาษาไทยเรียกว่า ‘ทฤษฎีไหลริน’ ที่ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินนิยามผ่านหูที่ว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนดี ผลประโยชน์จะค่อยๆ ไหลรินมาสู่ส่วนอื่นๆ

ทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศผ่านการประยุกต์ใช้ตามรูปแบบต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี คลายระเบียบ ข้อบังคับทางธุรกิจ ด้วยความเชื่อว่าผู้คนจะนำเงินที่เหลือไปใช้จ้างงาน ลงทุน ขยายธุรกิจในสภาวะที่ระเบียบข้อบังคับทางธุรกิจผ่อนคลาย

ผ่านมา 30 ปี จึงมีคำถามว่า ระบบดังกล่าวใช้ได้มากน้อยเพียงใด แล้วในปัจจุบันจะสามารถใช้ได้หรือไม่ ในไทย เศรษฐกิจที่ไตรมาสนี้โตขึ้นมาร้อยละ 3.7 เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีที่สุดในรอบหลายไตรมาส แล้วดอกผลแห่งการเติบโตนั้นมาถึงเศรษฐกิจส่วนอื่นหรือไม่

ประชาไทจะพาผู้อ่านทำความรู้จักทฤษฎีไหลริน ตัวอย่างการนำไปใช้ ข้อถกเถียงของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่าด้วยทางสองแพร่งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กับการทุ่มสุดตัวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด และลงท้ายด้วยบริบทในไทยที่เป็นคำถามว่าดอกผลแห่งการเติบโตจะรินมาถึงเศรษฐกิจส่วนล่างจริงหรือไม่
อะไรคือเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน ตัวอย่างจาก ‘เรแกโนมิกส์’ และระบบภาษีที่เอสโตเนีย

Trickle Down Economic หรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน คือทฤษฎีที่กล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนได้รับสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ดีตามไปด้วย ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นมักจะเป็นการลดอัตราภาษีทางธุรกิจหรือลดภาษีเงินได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูง กำไรส่วนทุนและปันผลต่างๆ

ทฤษฏีนี้จะอนุมานว่านักลงทุน ผู้เก็บออมเงินและเจ้าของธุรกิจคือผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และคนเหล่านี้คือคนที่จะนำเงินที่เหลือจากการลดอัตราภาษีไปขยายธุรกิจหรือซื้อหุ้น โดยธนาคารจะเพิ่มการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ เจ้าของธุรกิจก็จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ นำไปสู่การจ้างงาน ตามทฤษฎีบอกไว้ว่าลูกจ้างที่ธุรกิจจ้างคือผู้ที่จะจับจ่ายใช้สอยรายได้ที่ได้มา กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุปสงค์ (Demand) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทฤษฏีไหลรินให้ความสำคัญกับการลดภาษีธุรกิจ ภาษีเงินออม กำไรส่วนทุน มากกว่าจะเป็นการลดภาษีแบบทั้งกระดาน จึงมีเพียงคนมีรายได้สูงที่ได้รับการลดภาษี การลดภาษีถูกอธิบายด้วยกราฟของแลฟเฟอร์ ที่คิดค้นขึ้นโดยอาเธอร์ แลฟเฟอร์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่ออธิบายว่าการลดภาษีจะส่งผลให้เกิดการทวีคูณของเศรษฐกิจ (Multiplication effect) และในระยะยาวจะมาทดแทนรายได้ของรัฐที่เสียไปจากการลดภาษี เพราะว่ายิ่งเศรษฐกิจโตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้มีฐานคนเสียภาษีมากยิ่งขึ้น กราฟแสดงจุดเหมาะสมของการเก็บภาษี ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างอัตราการเก็บภาษี 100 เปอร์เซ็นต์กับไม่เก็บเลย




กราฟของลาฟเฟอร์ (ที่มา: The Balance/Arthur Laffer)

สหรัฐฯ ในสมัยของเรแกน เป็นตัวอย่างการนำแนวคิดทฤษฏีไหลรินไปใช้ เศรษฐกิจในสมัยนั้นที่เรียกว่า ‘เรแกโนมิกส์’ ที่เป็นที่ร่ำลือถึงวีรกรรมการแก้ไขพิษเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 80 ได้ ในตอนนั้นเรแกนลดเพดานภาษีเงินได้จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 28 ภาษีบรรษัทถูกตัดลงจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 34 ทั้งยังลดระเบียบ ข้อบังคับทางเศรษฐกิจ ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ บริการโทรศัพท์ทางไกลและเคเบิลทีวี รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการเงินที่ทำให้เงินดอลลาร์มีความเข้มแข็ง

นโยบายทางเศรษฐกิจของเรแกนส่งผลให้สหรัฐฯ มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสน 9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1988 จาก 5 แสน 1 หมื่น 7 พัน ดอลลาร์ในปี 1980 อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 4 อัตราว่างงานลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 6

อย่างไรก็ดี เรแกโนมิกส์กับการสมาทานแนวทางทฤษฎีไหลรินไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะเรแกนยังได้เพิ่มรายจ่ายภาครัฐร้อยละ 2.5 ต่อปี ส่งผลให้หนี้ภาครัฐสูงขึ้นสามเท่าจากจำนวน 9 แสน 9 หมื่น 7 พันล้านดอลลาร์เป็น 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายภาครัฐส่วนใหญ่ทุ่มไปกับด้านกลาโหม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นคือสหรัฐฯ ชนะสงครามเย็น และสหภาพโซเวียตล่มสลาย ดังนั้น ทฤษฎีไหลรินยังไม่เคยถูกทดสอบว่าใช้งานได้จริงโดยตัวของมันเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยุคนั้นยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่า สรุปแล้วการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมหาศาล หรือการลดภาษีมากจนมีนัยสำคัญกันแน่ที่ทำให้สหรัฐฯ เงยหัวเงยหางออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

นานวันเข้า ประเด็นความเหลื่อมล้ำยิ่งโจมตีทฤษฎีนี้ ในปี 2559 นิตยสารบลูมเบิร์ก รายงานว่าประเทศเอสโตเนียที่เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ใช้ภาษีอัตราเดียว (Flat tax) ในอัตราร้อยละ 20 ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ระบบลดหย่อนภาษี จากนี้ภาษีของเอสโตเนียจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายได้

“โมเดลของเราคือเศรษกิจแบบไหลรินจากบนลงล่างที่มีประสิทธิภาพที่ผลประโยชน์จากคนรวยจะไหลไปสู่ทุกๆ คนในขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตไปเรื่อยๆ...ตอนนี้การเติบโตไม่สูงแล้ว โมเดลนี้ค่อยๆ สูญเสียความน่าสนใจ” คาร์สแทน สแตร์ ศาสตราจารย์ด้านการเงินสาธารณะ การเงินต่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Tallinn University of Technology กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี มาร์ท ลาร์ ผู้ที่เป็นคนเสนอแนวคิดภาษีอัตราเดียว กล่าวว่า ตนเสนอไปเพราะว่าไปอ่านหนังสือของมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า แนวทางการเก็บภาษีดังกล่าวจะเพิ่มแรงจูงใจในการหาเงินและลงทุน ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มและรัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ลาร์ ระบุว่า อัตราภาษีดังกล่าวช่วยลดการว่างงานภายหลังจากเอสโตเนียเปลี่ยนผ่านระบอบภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าในช่วงนั้นมีการช่วยเหลืออื่นจากรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขายสินทรัพย์จากรัฐ และการตั้งราคาตลาดสำหรับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างไรก็ดี ประเทศที่ใช้ระบบภาษีเดียวต่างค่อยๆ ยกเลิกระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสโลวาเกียหรือยูเครน แต่ก็ยังมีประเทศอื่นในยุโรปตะวันออกที่ยังใช้ระบบภาษีนี้อยู่
ข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและภาคปฏิบัติของทฤษฏีที่ยังไม่เคยถูกทดสอบ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาในการสมาทานแนวคิดเศรษฐกิจแบบไหลรินนั้นอยู่บนฐานของความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจส่วนบนและส่วนล่าง คำถามอยู่ที่ว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนโตขึ้นแล้วส่วนล่างจะดีตามนั้นจริงหรือ โจเซฟ สติกลิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2544 มีความเห็นต่อปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการนำทฤษฎีเศรษฐกิจแบบไหลรินมาใช้ เขากล่าวในปาฐกถาเมื่อเดือน พ.ค. 2558 ใจความว่า

“ตอนเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 1980 เรแกน (ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ) ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีกระแสว่าแนวคิดการลดภาษีให้กับเศรษฐกิจข้างบน ปลดพันธนาการข้อบังคับทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม ประเด็นที่จะโต้แย้งคือมันจะมีความไม่เท่าเทียมมากขึ้น แต่ขนาดของพาย(เศรษฐกิจ) จะใหญ่ขึ้นจนทุกคน รวมถึงคนที่อยู่ตรงกลาง และด้านล่างจะได้พายชิ้นใหญ่ขึ้น (ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ) ถึงแม้จะได้ส่วนแบ่งน้อยลง”



“เราอยู่ในช่วงที่สามของศตวรรษแห่งการทดลองแนวคิดดังกล่าว (30 ปีนับจากเรแกโนมิกส์ - ผู้สื่อข่าว) และเราเห็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ส่วนแบ่งของส่วนบนเพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 20-25”

“โชคร้ายที่ความคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบไหลรินที่ทุกคนจะได้ประโยชน์นั้นผิดทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือรายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลางนั้นไม่ขยับ ส่วนล่างยิ่งแย่ รายได้ชนชั้นกลางของสหรัฐฯ ปัจจุบันเมื่อปรับกับอัตราเงินเฟ้อแล้วถือว่าต่ำกว่า 25 ปีที่แล้ว ในส่วนล่างนั้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 45 ปีที่ผ่านมา”

“ผมคิดว่าระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ยกระดับมาตรฐานชีวิตของคนส่วนมากเป็นเวลา 1 ใน 4 ของศตวรรษ หนำซ้ำชนชั้นล่างมีสภาพย่ำแย่กว่าที่เป็นเมื่อ 50 ปีก่อน คือระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว”

ข้อถกเถียงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างการเติบโตอย่างยั่งยืน กับการทุ่มสุดตัวเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตที่สุดเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด อมารตยา เซน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2542 ก็ออกมาค้านแนวทางเศรษฐกิจไหลรินจากบนลงล่างในอินเดีย โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจที่มุ่งจะทำให้ตัวเลขเติบโตขึ้นสองหลักโดยไม่แก้ไขปัญหาเรื้อรังของคนอินเดียอีกจำนวนหลายสิบล้านคนเป็นอะไรที่ “โง่เขลามาก (Very stupid)” อินเดียควรให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดทางสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการอยู่รอดของทารกแรกเกิด จำนวนผู้อ่านออกเขียนได้และการมีภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก “การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรกับผลแห่งการเติบโตนั้น”

ในขณะที่จักดิช ภัควตี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียออกมาค้านความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีไหลรินว่าเป็นการขัดขวางการปฏิรูปที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้คนที่ยากจนที่สุดในอินเดียในอนาคตต่อไป ส่วนอาร์วินด์ ปานากริยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์กับคนจนโดยตรง เพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างรายได้และการจ้างงาน
มองไทย: โตแบบกระจุก ไม่ไหลรินสู่ข้างล่าง ตัวเลข ศก. โตแต่เงินในกระเป๋าไม่นำพา คำถามบนเศรษฐกิจส่วนล่างยุคของแพง ค่าแรงถูก

ในเงื่อนไขของไทยทุกวันนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสปัจจุบันจะโตขึ้นถึงร้อยละ 3.2 แต่คำถามก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างได้เสพดอกผลแห่งการเติบโตนั้นหรือไม่ เพราะคำถามดังกล่าวจะต้องถูกตอบด้วยการจับจ่ายใช้สอยในภาคปฏิบัติ และนโยบายทางสังคมต่างๆ ที่รัฐจัดทำ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ให้สัมภาษณ์กับประชาไทในรายละเอียดของการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า ในไตรมาสนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่เงินในกระเป๋าของคนยังไม่เพิ่ม เพราะตัวเลขที่โตขึ้นมาร้อยละ 3.7 มาจากภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่การเปรียบเทียบกำลังการผลิตนั้นเปรียบเทียบจากปีที่แล้วที่ฝนแล้ง ผนวกกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรไม่ได้ขยับตัวตามกำลังการผลิต ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยจริงๆ ของประชาชนในประเทศที่พึ่งพารายได้จากผลผลิตการเกษตรยังไม่กระเตื้องขึ้นตามตัวเลข “อ่อนในเพราะรายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไทยยังเกี่ยวพันกับราคาสินค้าเกษตร ปีไหนภาคเกษตรดี มอเตอร์ไซค์ขายได้ รถปิกอัพขายดี มันก็หมุนกันเต็มที่ แต่วันนี้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เงินในกระเป๋าไม่มี การบริโภคจึงยังโตไม่ชัด”

(อ่าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย: เศรษฐกิจไทยทำไมไม่แข็ง)

ในขณะที่กำลังซื้อของผู้ซื้อกลับไม่สูง พิพัฒน์ กล่าวว่า “ มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆ โตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอย่างนี้มา 3 ไตรมาสแล้ว แปลว่าผลิตเยอะ โตเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ฝั่งการซื้อจริง คนจับจ่ายใช้สอย การลงทุนเพิ่ม รัฐบาลใช้จ่าย หรือการส่งออก มันโตช้ากว่าฝั่งผลิต จึงเป็นสาเหตุว่าคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย”

ส่วนภาคการส่งออกที่ดูท่าจะกระเตื้องนั้นก็เป็นการนำสินค้าที่มีค้างสต๊อกเอามาขาย ไม่ได้เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมา ดังนั้นแรงงานจึงไม่มีเวลาทำงานเพิ่มขึ้น และไม่ได้โอที ทั้งการขายดีก็กระจุกอยู่ในภาคส่วนการส่งออกเท่านั้น “สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอาของเดิมที่ผลิตแล้วไปขาย สต็อกลดลง เจ้าของดีขึ้น แต่เรายังไม่เห็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ยอดขายเริ่มดีขึ้นจริง แต่ปริมาณการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น มีสัญญาณเป็นบางเซ็กเตอร์เท่านั้น ดังนั้น ถ้าการผลิตยังไม่เพิ่ม กำลังการผลิตที่ใช้ก็ยังไม่ได้เพิ่ม โอทีก็ยังไม่ให้พนักงาน ค่าจ้างแรงงานก็ยังไม่เพิ่ม กลายเป็นว่าส่งออกดีขึ้น อาจเรียกคนงานบางส่วนมาทำงาน แต่เงินในกระเป๋าคนงานยังไม่ได้เพิ่ม”

“วันนี้มี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า มีสัญญาณว่าเริ่มดีขึ้นและในที่สุดจะไหลรินจากภาคการส่งออกทำให้แรงงานได้เงินเพิ่ม คนขายลูกชิ้นหน้าโรงงานก็ดีขึ้น มันก็น่าจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าอาจจะมีส่วน วันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นแล้ว แต่การกระจุกตัวของการฟื้นมันมีประเด็น ถามว่าโรงงานไหนทำการผลิตเพื่อการส่งออก ผมก็บอกว่าแถวนิคมอุตสาหกรรมไม่กี่ที่ อาจจะมีซัพพลายเชนที่ซัพพลายให้คนกลุ่มนี้ แต่มันก็ยังมีการกระจุกตัว คนภาคอื่นๆ ยังไม่รู้สึกว่ามันดี นี่คือแข็งนอก”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ว่าโตก็ยังไม่ได้ขยายปริมณฑลความเติบโตไปถึงรายได้ในกระเป๋าของชนชั้นล่าง “แต่พอเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเค้กเริ่มไม่โต แล้วคนอื่นยังมาแย่งของผมอีก ผมเริ่มรู้สึกแล้ว วันนี้หลายสิ่งเราเริ่มเห็นแบบนั้น สินค้าเกษตรเป็นประเด็นสำคัญ พอมันกระทบ คนส่วนใหญ่รู้สึก แล้วคนฐานข้างล่างเป็นคนที่พึ่งพารายได้ ขณะที่คนข้างบนพึ่งพาความมั่งคั่ง รายได้ของเขาอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความมั่งคั่งของเขา ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นก็ขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้น ร้านอาหารขายไม่ค่อยได้ แต่ร้านราคาแพงจองกันเต็มเลย ยอดขายบ้านจะเห็นได้ชัด ราคาต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้าน ขายลำบาก กู้แบงค์ไม่ค่อยปล่อย แต่ยอดเกิน 10 ล้านยังขายได้ดีอยู่ บริษัทใหญ่เข้าคิวขอกู้ บริษัทเล็กๆ แบงค์ไม่ให้กู้

“มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า” พิพัฒน์ กล่าว

ผศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) เนื่องจากการฟื้นตัวเกิดขึ้นในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนใหญ่กระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและไม่กระจายตัวทั่วถึง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และ สิ่งทอ เป็นต้น ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น สินค้าบางตัวมีราคาสูงขึ้น เช่น ยางพารา อ้อย แต่สินค้าสองตัวนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณสองล้านคน ขณะนี้ ราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังยังไม่ดี และเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6-7 ล้านคน เป็นปัจจัยทำให้ เศรษฐกิจภาคชนบทโดยรวมยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแอ ขณะที่ภาคก่อสร้างน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสี่หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายไตรมาสสองต่อเนื่องมายังไตรมาสสาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนั้น นโยบายการเงินและสังคมที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาใช้ และมีแผนจะนำมาปรับใช้นั้นยังเป็นคำถามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีแนวโน้มจะแปรสภาพจากรัฐสวัสดิการที่ประกันการรักษาโรคให้ถ้วนหน้าไปเป็นแนวทางแบบสังคมสงเคราะห์ หรือสงวนสิทธิ์ให้ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงอาจมีระบบให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายในค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่มีราคาสูง ซึ่งภาคประชาชนต่างแสดงความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการที่ช่วยทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นจากการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ให้เงินอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ก็มีปัญหา ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบายข้าวของไทยได้พูดเกี่ยวกับภาพรวมของนโยบายข้าวในรัฐบาล คสช. ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความไม่เท่าเทียมทางการเข้าถึงที่เกิดขึ้นในด้านการเข้าถึงตัวเงินช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นา เช่าที่นาคนอื่นทำ หรือมีที่นาไม่ถึงหนึ่งไร่ ชาวนาก็ยังคงเป็นเหยื่อของนโยบายรัฐ หรือไม่ก็การตกเป็นเบี้ยล่างในการต่อรองกับเจ้าของที่นา ทั้งเงินช่วยเหลือที่ได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายก็ถือว่าน้อย จากที่ลงพื้นที่ไปสอบถามชาวนาก็พบว่า แม้นโยบายจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกัน แต่ก็ได้เงินมากกว่าโครงการไร่ละ 1,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

มิพักต้องพูดถึง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ใหม่ที่บังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. 2560 ขึ้นราคายาสูบและสุราขึ้นไปอีก และแนวโน้มการขึ้นอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกร้อยละ 1 เป็นอัตรารวมร้อยละ 8 ในเดือน ก.ย. 2561 ยิ่งทำให้มีข้อสงสัยว่า ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ต่อให้เศรษฐกิจข้างบนดีขึ้น แต่ถ้าเจอค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่ (อาจจะ) สูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจระดับล่างต้องพึ่งพารายได้ที่ไม่ได้งอกงามขึ้น แถมสวัสดิการที่ทำหน้าที่ประกันว่าคนไทยถ้วนหน้าจะไม่ตกไปอยู่ใต้เส้นของความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลจะถูกจำกัดไปอยู่กับคนบางส่วน จะนำพาเศรษฐกิจส่วนล่างและการจับจ่ายใช้สอยของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของไทยไปอยู่ตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบ่งบอกถึงสัญญาณของระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวอย่างที่สติกลิทช์กล่าวไว้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป

The Balance, Why Trickle Down Economic Works in Theory But Not in Fact, April 29, 2017

Investopedia, Reaganomics, Retrieved on September 28, 2017

Youtube, Joseph Stiglitz: Trickle-down economics is 'absolutely wrong', December 16, 2015

Bloomberg, This Country is Mopping Up Trickle-Down Economics: Rising inequality means Estonia is ditching its flat-tax policy, December 2, 2016

The Guardian, Growth in India – the state of the trickle-down debate, March 25, 2011

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.