Posted: 24 Sep 2017 06:18 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และประภาภูมิ เอี่ยมสม พูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของคนพิการในละครทีวีไทย พร้อมแนะนำรายงาน “คนพิการในละครทีวีไทย: เหยื่อดราม่าอันโอชะ” ของนลัทพร ไกรฤกษ์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ThisAble.me

ทั้งนี้ความพิการที่พบในละคร มักถูกผลิตซ้ำให้ดูไม่สมจริงและขาดความหลากหลาย นำมาสู่การขาดความเข้าใจในประเด็นเรื่องคนพิการ เช่น "พี่ติ๊ก" เจษฎาภรณ์ ผลดี ในละคร “แก้วตาพี่” ที่รับบทตัวละครที่ตาบอด แต่ยังบังคับลูกตาดำได้ หรือเลี่ยงไปสวมแว่นตาดำแทน หรือตัวละครชายน้อย ในละคร “บ้านทรายทอง” ที่ระบุว่า “เป็นง่อย” ซึ่งไม่รู้ว่ามีความพิการใดกันแน่ แต่ในบทละครทุกเวอร์ชันก็มีการนำอาการหลากหลายชนิดมาผสมกันทั้งปากเบี้ยว ตาเหล่ มือหงิก พูดไม่ชัด เดินเอียงไปมา ฯลฯ

นอกจากนี้บทของตัวละครพิการยังถูกกำหนดไว้เหมือนเป็นแต้มบุญเพื่อส่งเสริมภาพพจน์ของตัวละครเอก เช่น ในละครบ้านทรายทอง “พจมาน” รับบทดูแล “ชายน้อย” ที่มักถูกตัวละครอื่นรังแก หรือทำให้เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ ฯลฯ แทนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิของคนพิการ หรือตระหนักถึงการมีอยู่ของคนพิการในสังคมไทย

ในช่วงท้ายของรายการ ทั้งประภาภูมิ และคำ ผกา ยังร่วมกันอภิปรายว่า คนพิการตัวจริงสามารถรับบทบาทเป็นนักแสดงได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมาทั้งละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องก็เคยมีนักแสดงที่เป็นคนพิการร่วมแสดง และนำเสนอแง่มุมและประเด็นที่เกี่ยวกับคนพิการที่น่าสนใจ เช่น ภาพยนตร์ "เมื่อฝนหยดลงบนหัว" (2559) ผลงานของ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ หรือภาพยนตร์ “ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช” (2535) ที่พัชราวัลย์ พิภพวรไชย นักแสดงหูหนวกในเรื่องได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รวมทั้งละครชุดสงครามนางงาม 2 (2559) ทางช่อง One31 ที่มี “เฟิรสท์” ธัญชนก จิตตกุล นักแสดงหูหนวกมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งหากส่งเสริมให้นักแสดงพิการได้แสดงความสามารถอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจจะได้เห็นนักแสดงมืออาชีพที่เป็นคนพิการอย่างในวงการบันเทิงต่างประเทศก็เป็นได้



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.