ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

Posted: 24 Sep 2017 03:54 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ หลังจากภาคส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) การฟื้นตัวกระจุกตัวและไม่กระจายอย่างทั่วถึง

24 ก.ย. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้ประเมินตัวเลขจีดีพีและเศรษฐกิจของไทยใหม่หลังจากภาคส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 3.8-4.3% (ประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.6-4.2) อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำและได้ปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั้งปีมาอยู่ที่ 0.8-1% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-7% โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย จากการเร่งตัวของการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าทุน สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่อัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) เนื่องจากการฟื้นตัวเกิดขึ้นในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนใหญ่กระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและไม่กระจายตัวทั่วถึง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และ สิ่งทอ เป็นต้น

ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น สินค้าบางตัวมีราคาสูงขึ้น เช่น ยางพารา อ้อย แต่สินค้าสองตัวนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณสองล้านคน ขณะนี้ ราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังยังไม่ดี และเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6-7 ล้านคน เป็นปัจจัยทำให้ เศรษฐกิจภาคชนบทโดยรวมยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแอ ขณะที่ภาคก่อสร้างน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสี่หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายไตรมาสสองต่อเนื่องมายังไตรมาสสาม

การแข็งค่าของเงินบาทอันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากและกระแสเงินไหลเข้ายังไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยได้อีกหากมีความจำเป็นในอนาคตโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นจนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีอาจด้อยลง

เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นั้นยังคงกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่และนักธุรกิจส่งออก รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รายได้และผลประโยชน์ยังไม่กระจายมายังประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประชาชนฐานรากในภาคเหนือและอีสานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมล่าสุด ขณะที่กิจการขนาดเล็กขนาดกลางยังมีปัญหาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซึ่งมีลักษณะเป็น Disruptive Technology และ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การปรับตัวต่อการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้นตามลำดับและการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดภูมิภาค

การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพจึงต้องมุ่งไปที่การทำให้เศรษฐกิจภายในมีความเข้มแข็งจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ภาคบริโภคของเอกชนคิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนเอกชนคิดเป็น 19% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 6% ของการใช้จ่ายระบบเศรษฐกิจเท่านั้นเอง นอกจากนี้ต้องทำให้การลงทุนสุทธิจากต่างประเทศเป็นบวก การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนขึ้นจริงๆ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจการบิน การซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมากกว่า 50% อาจช่วยดึงดูดการลงทุนจากบริษัท Airbus และการลงทุนทางตรง (FDI) จากกลุ่มยูโรโซน ส่วนการลงทุนทางตรง (FDI) ของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ (ไตรมาสแรกขยายตัวประมาณ 8.4%) หลังจากหดตัวเมื่อปีที่แล้ว น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกจากขยายการลงทุนใน EEC

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสี่ ว่า ปัจจัยภายนอกนั้น ต้องจับตาการจัดการด้านงบประมาณและเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ผลกระทบของ QE Exit ด้วย การลดขนาดสินทรัพย์หรืองบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดการเงิน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารในคาบสมุทรเกาหลี ผลกระทบต่อภาคส่งออกจากแผนการลดการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐฯและการเจรจาทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ผลกระทบจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของจีนและปัญหาหนี้สินของระบบธนาคารและภาคธุรกิจของจีน ส่วนปัจจัยภายใน การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่ยังอ่อนแอ ความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางธุรกิจอุตสาหกรรมและค่าจ้างยังไม่ฟื้นตัวขณะที่การจ้างงานหดตัวในบางสาขา ผลกระทบจากน้ำท่วม และความเสี่ยงสุดท้าย คือ ประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลาหรือไม่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ไตรมาสสี่นั้น มีปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากระตุ้นการบริโภค มีงบกลางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยเข้าสู่ระบบ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.