Posted: 26 Sep 2017 11:25 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

องอาจ เดชา

รายงานบทสัมภาษณ์ 'ชิ สุวิชาน' หนึ่งในคณะผู้จัดงานระดมทุน “ซับน้ำตา อิตูท่า” ช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กับมุมมองความเห็นต่อเรื่องราวปัญหาของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ในยุคสันติภาพในพม่าที่ยังสร้างไม่เสร็จ



จากการทำข้อมูลของสำนักข่าวกะเหรี่ยง (Karen News) ระบุว่า ในช่วง 20 ปี ของการสู้รบภายในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ส่งผลให้ประชาชนในภาคตะวันออกของประเทศกว่า 600,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในรัฐ และในช่วงปี 2017 ยังมีผู้พลัดถิ่นภายในรัฐมากกว่า 400,000 คน ตกอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้อยู่ในช่วงการหยุดยิงเพื่อพัฒนาแนวทางสันติภาพภายในประเทศ ขณะที่มีผู้หนีภัยการสู้รบมากกว่า 1 แสนคน หนีภัยอยู่ในค่ายผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย และมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังคงซ่อนตัวอาศัยอยู่ในป่าเขตรัฐกะเหรี่ยง

(ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th)

…ปี 2548 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มใหญ่หนีตายจากการสู้รบจากเมืองตองอูทางเหนือของรัฐกะเหรี่ยง

รัฐไทยปฎิเสธที่จะให้ข้ามฟากเพราะกลัวปัญหาเรื่องความมั่นคงเพราะก่อนหน้านี้มีศูนย์พักพิงของชาวกะเหรี่ยงหลายแห่งแล้ว ในที่สุดทั้งหมดจึงต้องอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำสาละวินตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง

จากชาวบ้านไม่กี่ร้อยคนในตอนต้น ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะทหารพม่าเหี้ยมโหดมาก จนปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 4,000 คน ภายใต้ชื่อศูนย์พักพิงอินตุท่า โดยความคุ้มครองของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

แม้รอบๆหุบเขาอินตะท่าจะเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และมีน้ำสาละวินหล่อเลี้ยง แต่ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด ยังดีที่มีความช่วยเหลือขององค์กรสาธารณกุศลของฝรั่งคอยส่งข้าวและสิ่งของจำเป็น

แต่ในสิ้นเดือนกันยายน 2560 ความช่วยเหลือต่างๆจะถูกตัดทิ้งหมด เพราะฝรั่งเกาะเกี่ยวไปกับแผนสันติภาพในพม่า โดยที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่ายังมีการสู้รบรุนแรงและเต็มไปด้วยทหารพม่าที่เคยขับไล่และเข่นฆ่าชาวบ้าน ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าที่จะย้ายกลับถิ่นตามแรงกดดัน เพราะเท่ากับกลับไปตาย!

(ที่มา FB :Paskorn Jumlongrach )

นั่นคือ ที่มาของการจัดงานระดมทุน “ซับน้ำตา อิตูท่า” ขึ้น โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ที่ คริสตจักรสมานสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยมี “ชิ สุวิชาน” หรือ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) และอาจารย์ประมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงานในครั้งนี้ และเขาได้บอกเล่ามุมมองความเห็นต่อเรื่องราวปัญหาของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ในยุคสันติภาพในพม่าที่ยังสร้างไม่เสร็จเอาไว้อย่างน่าสนใจ

.

“ชิ สุวิชาน” หรือ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) และอาจารย์ประมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ 

สถานการณ์ ในค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า เป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้?

ค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า ตั้งอยู่ภายในเขตรัฐกะเหรี่ยง อยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามกับ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ของไทยเรา เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน ชาวบ้านที่นั่นไม่กล้ากลับเข้าไปยังหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว สถานการณ์ปัญหานี้ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่พม่ามีการสร้างเมืองหลวงเนปิดอว์ มาแล้ว ซึ่งประชาชนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็ถูกผลักออกมา จนกระทั่งเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของกองพล 5 ของเคเอ็นยู จึงมีการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่าให้พวกเขาอาศัยอยู่ จนกลายเป็นพื้นที่รองรังผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยงตั้งแต่นั้นมา

ทุกวันนี้ สภาพวิถีความเป็นอยู่ของพวกเขา ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถออกไปนอกพื้นที่ไกลๆ ได้ เนื่องจาก มีฐานที่มั่น มีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาตั้งฐานกำลังไว้ใกล้ๆ รอบๆ พื้นที่อิตูท่า ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงไม่สามารถออกไปทำมาหากินอย่างอิสระได้ เพราะฉะนั้น อิตูท่า จึงไม่ได้แตกต่างกับผู้ลี้ภัยในฝั่งไทย

ทำไม ถึงต้องมีการจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยอิตูท่าในครั้งนี้?

ที่เราต้องจัดงานระดมทุนช่วยผู้หนีภัยสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ในครั้งนี้ ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้น ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ก็มีการช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติ แต่จู่ๆ ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ชาวบ้านจะถูกตัดการช่วยเหลือ ทั้งที่ ทุกวันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่สงบ ยังคงถูกทหารพม่ากดดัน แต่ชาวบ้านมาถูกตัดการช่วยเหลือ มาถูกกดดันให้กลับ ซึ่งเราในฐานะเป็นพี่น้องปกาเกอะญอ เป็นพี่น้องกะเหรี่ยงเหมือนกัน และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน เรารู้สึกไม่ดี ที่จะปล่อยให้พวกเขาต้องถูกทอดทิ้ง ถูกกดดันเช่นนี้

ที่ผ่านมา พวกเรารับรู้มาตลอดว่าพี่น้องกะเหรี่ยงในค่ายผู้ลี้ภัย มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องหนีภัยการสู้รบมาอยู่ตามแนวชายแดน เมื่อรู้ว่าที่ค่ายอิตูท่ากับค่ายอูแวโกลซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ตรงกันข้ามกับอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กำลังถูกตัดความช่วยเหลือ ไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกินกันเลย

ที่เรากังวลก็คือ ตอนนี้ ในค่ายอิตูท่า นั้นมีทั้งคนพิการ แม่หม้าย เด็กกำพร้า รวมไปถึงนักเรียนที่จะต้องออกโรงเรียนกลางครัน รวมไปถึงพ่อแม่ที่มีลูก 5-6 คน คนกลุ่มนี้ ถ้าถูกตัดความช่วยเหลือไปแล้ว พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร แล้วจะกลับไปยังชุมชนเดิมของตนเอง ก็กลับไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำ ที่จะระดมทุนกันครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นความช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่เราก็จะได้คุยกันไปถึงแผนระยะยาวกันอีกที ว่าเราจะหาทางช่วยเหลือกันอย่างไรต่อไป

จัดระดมทุน กันที่ไหน มีกิจกรรมอย่างไรบ้าง?

ในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงในฝั่งไทย เราได้รวมตัวกัน ในนามคณะทำงานกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงชายแดน(BKYWG) เตรียมร่วมจัดงานระดมทุน “ซับน้ำตา อิตูท่า” ขึ้น โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่ คริสตจักรสมานสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยภายในงาน ก็จะมีมินิคอนเสิร์ต มีผม กับวง Growth Music Band แสดง นอกจากนั้น จะมีการชมสารคดีและหนังสั้นประเด็นผู้พลัดถิ่นฯ รวมไปถึงวงเสวนาพูดคุยถึงเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า กันด้วย โดยท่านใดต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็สามารถร่วมบริจาคได้ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาเทสโก้ โลตัส แม่สอด ชื่อบัญชีพัฒนาศิลปะดนตรีกะเหรี่ยง เลขบัญชี 006-8-17663-8


ปัจจุบัน พี่น้องกะเหรี่ยงในค่ายอิตุท่า มีประมาณเท่าไหร่นะ?

ปัจจุบัน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราวๆ 4,000 คน ภายใต้ชื่อศูนย์พักพิงอินตุท่า โดยอยู่ในความคุ้มครองของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

ทุกวันนี้ไม่ใช่รัฐบาลทหารพม่าปกครองเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ทำไมปัญหาความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น และประชาชนยังคงถูกกดขี่ข่มเหงไม่รู้จบแบบนี้?

ในรัฐบาลพม่าปัจจุบัน มีความพยายามสร้างภาพให้สังคมโลก มองเห็นว่า ไม่ใช่รัฐบาลทหารพม่าแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เมื่อเราหันไปดูแต่ละกระทรวง ดูรัฐมนตรี ที่มีการแบ่งสรรอำนาจกัน โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง กระทรวงที่เกี่ยวกับการค้าชายแดน ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ อำนาจยังคงตกอยู่ในมือของทหารอยู่ และในรัฐธรรมนูญของพม่า ก็เขียนระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ใน 25% ต้องเป็นทหาร และการที่จะเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนข้อบังคับอะไร ก็จะต้องให้ผ่านมติเกิน 75% นั่นหมายความว่า จะต้องมีทหารแตกแถวก่อนเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

สรุปก็คือ ถ้าเราวิเคราะห์ในเชิงนโยบาย ในรัฐธรรมนูญขอพม่า เมื่อเกี่ยวโยงกับปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน อำนาจ การตัดสินใจก็ยังคงอยู่ในมือของทหารพม่าเหมือนเดิม


ไหนว่า ที่ผ่านมา มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันไปแล้ว?

การทำข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับทหารพม่า ตอนแรกเหมือนดูดี มีการระบุเอาไว้ชัดเจน ว่า ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้นจะไม่เพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มกองกำลังของตนเองได้ ในขณะทหารพม่า ก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มฐานกองกำลังในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ แต่ในความเป็นจริง มันไม่ใช่ ในพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เพิ่มฐานที่มั่นจริง แต่ทหารพม่ากลับได้เพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในค่ายของตัวเอง คือค่ายทหารเท่าเดิม แต่มีการพัฒนาอาวุธเพิ่มมากขึ้น มีกองกำลังทหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ไว้ใจ กับการกระทำที่เกิดขึ้นของกองทัพพม่า

มองรัฐบาลพม่า ที่ได้พูดถึงเรื่องความปรองดอง เรื่องสันติภาพในพม่า อย่างไรบ้าง?

ทุกวันนี้ ในส่วนของประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็บอกว่า ในขณะที่มีข่าวการทำข้อตกลงหยุดยิงกัน มีการพูดถึงสันติภาพกัน แต่ชาวบ้านก็ยังเห็นกองกำลังทหารพม่า เดินทางเข้าออกหมู่บ้าน ไปๆ มาๆ มีการเคลื่อนกองกำลังจากเมือง เข้ามาในชุมชนตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึง ก็ยังเห็นข่าวมีการพัฒนาอาวุธมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะออกไปไหน เพราะยังระแวงไม่ไว้ใจ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาพูดถึงกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเพียงสันติภาพที่ยังสร้างไม่เสร็จ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.