Posted: 25 Sep 2017 08:03 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พีมูฟ ตามความคืบหน้าหลัง รัฐบาลดองปัญหา ขอยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก บรรจุระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน

25 ก.ย. 2560 เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. เฟซบุ๊ก 'ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อจะมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลประตู 4 สำหรับการเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ของพีมูฟ เพื่อติดตามการแก้ปัญหากับรัฐบาล

สำนักข่าวชายขอบ รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ 09.00 น. ชาวบ้านได้รอพบกับ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ที่หน้าทางเข้า กพร. โดยมีการชูป้ายที่มีข้อความระบุถึงความเดือนร้อนของชาวบ้านจากหลายพื้นที่ จากนั้นได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ว่านายออมสินไม่สามารถมาพบชาวบ้านได้เนื่องจากติดประชุม จึงมีการเจรจาว่าจะส่งตัวแทนมาพบกับชาวบ้าน กระทั่งเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน 15 คน เข้าพบกับนายพงษ์ชัย นิรมิตศรีชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุม อาคาร ก.พ.ร.

สำนักข่าวชายขอบ รายงานด้วยว่า ในช่วงเย็นพีมูฟได้รับแจ้งว่า ออมสิน ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ จะจัดประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการปฏิรูปที่เพิ่มอำนาจรัฐ เอื้อประโยชน์ทุน ลดอำนาจประชาชน ผลักคนจนให้เป็นศัตรูกับรัฐบาล มีเนื้อหาดังนี้

นับจากการเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดคอรัปชั่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต่อมาได้มีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ในการศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้จับตาการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านกลไกของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี พบว่ารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม และก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำประเทศไทยยังไต่ระดับขึ้นมาเป็นอับดับ 3 ของโลก ที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยคนรวยเพียง 1% สามารถครอบครองทรัพย์สินและความมั่นคงมากถึงร้อยละ 58

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้นายทุนได้เช่าป่าและที่ดินของรัฐได้ยาวนานถึง 99 ปี ผ่านโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การยกป่าให้นายทุนทำเหมืองแร่ สร้างโรงงาน โรงไฟฟ้า ปลูกป่าเศรษฐกิจ ระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อน แต่ในทางกลับกันรัฐบาลกลับมีนโยบายแย่งยึดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนคนยากจน ในนามนโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อชดเชยพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปจากนโยบายของรัฐและทุน และประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและชุมชน ทำให้คนในชุมชนนับล้านคนต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ครอบครัวล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด ลูกต้องออกจากโรงเรียน ต้องเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมกลายเป็นรับจ้างหนี้สินท่วมท้น

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จาก

1. ข้อเสนอในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินตามขนาดการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินน้อยจ่ายน้อย คนที่มีที่ดินมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องจ่ายมาก และนำเงินภาษีส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจน แต่รัฐบาล และ สนช. กลับบิดเบือนเจตนารมณ์กลายเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อแปลง ไม่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินทุกประเภท ในอัตราเดียวกัน และไม่นำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง

2. การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกและช่องทางให้คนจนและเกษตรกรเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยนำรายได้จากภาษีที่ดิน มาสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างและผลักดันอยู่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นสถาบันการเงิน ที่ยังต้องพึ่งพางบประมาณประจำปีจากรัฐบาล และแสวงหากำไร ไม่ต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

3. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ โดยการกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชน ในการบริหารร่วมกับรัฐ ในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือกรรมสิทธิ์ร่วม รัฐบาลได้บิดเบือนข้อเสนอ โดยการรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังรัฐภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เปลี่ยนจากการรองรับสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน

4. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ ในการเข้าถึงการประกันตัว การแสวงหาข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี แต่ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่รัฐบาลประกาศใช้ กลับกลายเป็นกลไกหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรม และให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นองค์คณะในการพิจารณา ส่งผลให้ ในหลายกรณีคนจนที่ขอใช้บริการจากกองทุนยุติธรรม ถูกปฎิเสธจากกองทุน เนื่องจากถูกกรรมการกองทุนฯ พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนก็ล้มเหลว และไม่มีประสิทธิภาพ เช่น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมอบหมายให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะที่กลไกที่เอื้อประโยชน์นายทุน อาทิ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชน (กรอ.) ถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1.กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และทบทวนแนวทางการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนสนับสนุนแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน

2.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในชุมชน 5 พื้นที่ ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ทบทวนหลักการจัดสรรงบประมาณตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 เพิ่มเติมในส่วนงบอุดหนุนในเกษตรกรผู้มีอัตราหนี้เพิ่ม 230,000 บาท ให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับงบประมาณให้เปล่าในการพัฒนาสาธารณูปโภค ตามมติ ครม. ครัวเรือนละ 50,000 บาท รวมทั้งให้มีดอกเบี้ย คงเหลือ 0.50 สตางค์ ในการเช่าซื้อที่ดิน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรับภาระในการเช่าซื้อมากเกินไป อีกทั้งให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งรัดดำเนินการธนาคารที่ดินในพื้นที่อื่นของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้แล้ว

3. กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อ.แม่สอด ให้เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง 6 ราย ได้แก่ นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ แปลงที่ 1 จำนวน 9-1-82 ไร่ และ แปลงที่ 2 จำนวน 1-3-52 ไร่ นางน้อย เสนทา จำนวน 8-3-63 ไร่ นางบัวตอง เครือคำวัง แปลงที่ 1 จำนวน 23 ไร่ (ภทบ.5) แปลงที่ 2 จำนวน 17 ไร่ (นส.3) นายแก้ว อินทรักษ์ จำนวน 45 ไร่ นายปานทอง พุทธตรัส จำนวน 25-2-0 ไร่ และ นางนภาภรณ์ มูลเจริญพร จำนวน 27-0-60 ไร่ อีกทั้งยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น

4. กรณีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะต้องบรรจุระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้การดำเนินการของ คทช. ตลอดจนปรับระเบียบของ คทช. ให้สอดคล้องกันในลักษณะการจัดการที่ดินแปลงรวมโดยชุมชน

5. การดำเนินการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เร่งรัดสั่งการให้มีการประชุม ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมของอนุกรรมทุกคณะ ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. มีความล่าช้า

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะติดตามจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.