ผลประชามติชาวเคิร์ดร้อยละ 92.73 ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอิรัก ถึงแม้ว่าประชามติในครั้งนี้จะไม่ส่งผลตามกฎหมายแต่ผู้นำชาวเคิร์ดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่นำไปเจรจาต่อรองได้ อย่างไรก็ตามนอกจากรัฐบาลอิรักแล้ว ตุรกี อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา ก็ส่งเสียงคัดค้านการทำประชามตินี้
ที่มาของภาพประกอบ: kurdistan24.net
28 ก.ย. 2560 ชาวเคิร์ดในอิรักจัดลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระต่อไปแม้จะถูกต่อต้านจากรัฐบาลกลางของอิรัก โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในครั้งนี้ร้อยละ 72.61 ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด มีคนลงคะแนนเห็นชอบกับการให้เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดเป็นอิสระมากถึง 3.3 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 92.73 อย่างไรก็ตามนับเป็นการลงประชามติในแบบที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
อัลจาซีรารายงานว่าการลงประชามติในครั้งนี้มีเสียงคัดค้าน ทั้งจากรัฐบาลกลางของอิรัก จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกีและอิหร่าน ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ก็กดดันให้ผู้นำชาวเคิร์ดยกเลิกการทำประชามติในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามโฮดา อับเดล ฮามิด ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรารายงานจากพื้นที่เมืองเออร์บิลเมืองหลวงของเคอร์ดิสถานระบุว่าผลการลงประชามติในครั้งนี้เป็นไปตามความคาดหวังของชาวเคิร์ด มีผู้คนที่พึงพอใจผลลัพธ์ที่ฝ่ายเห็นชอบชนะ แต่จากที่นักข่าวสอบถามชาวเคิร์ดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปชาวเคิร์ดก็แสดงความกังวลว่าจะมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นหลังจากนี้
มาซุด บาร์ซานี ประธานาธิบดีภูมิภาคเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก (KRG) กล่าวว่าถึงแม้การโหวตในครั้งนี้จะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายแต่ก็น่าจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การเจรจาเรื่องการขอแยกตัวเป็นอิสระได้
อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีอิรัก ไฮเดอร์ อัล อาบาดี กล่าวว่าการจัดลงประชามติในครั้งนี้ผิดกฎหมายและควรทำให้ผลของการลงคะแนนนี้เป็นโมฆะ จะมีการหารือในเรื่องนี้ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญเท่านั้น พวกเขาจะไม่เจรจาในเรื่องนี้โดยเอาผลการลงประชามติมาเป็นข้ออ้าง อาบาดีกล่าวย้ำอีกว่าจะมีการกำหนดใช้กฎหมายอิรักครอบคลุมไปถึงเคอร์ดิสถานด้วย
ในเคอร์ดิสถานยังมีบางเขตปกครองที่มีทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมัน เช่นในจังหวัดคีย์คูก ทางตอนเหนือของนิเนเวห์ ในช่วงหลังมีการลงประชามติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 ก.ย.) รัฐสภาอิรักเรียกร้องให้มีการวางกำลังรอบแหล่งน้ำมันในคีย์คูกเพื่อแสดงออกว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการกลางของอิรักยังเรียกร้องให้ต่างชาติเลิกบินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเออร์บิลและสุเลย์มานิยาห์ในเขตพื้นที่ KRG ไม่นานหลังจากนั้นอิหร่านก็ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางอิรัก ส่วนมิดเดิลอีสต์แอร์ไลน์ของเลบานอนก็ประกาศว่าจะระงับเส้นทางบินสู่และจากท่าอากาศยานเออร์บิล โดยอ้างว่ามีการระงับจนกว่าชาวเคิร์ดกับรัฐบาลกลางอิรักจะจัดการตกลงร่วมกันในประเด็นนี้ได้ ทางการอิรักยังสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ KRG เว้นแต่จะได้รับการรับรองจากทางการกลางของอิรักแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากตุรกีที่ขู่คว่ำบาตรปิดกั้นเส้นทางส่งออกสำคัญของชาวเคิร์ด โดยที่ประเทศตุรกีเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อทางตอนเหนือของอิรักกับโลกภายนอก แต่ผู้นำตุรกีก็มองว่าการลงประชามติในครั้งนี้จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในชาติของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการทำให้เกิดความคิดอยากแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดให้ลุกลามมากขึ้น
เรียบเรียงจาก
Iraqi Kurds overwhelmingly back split from Baghdad, Aljazeera, 28-09-2017
แสดงความคิดเห็น