child violence

รายงานประจำปี Ending Violence in Childhood: Global Report 2017 ที่จัดทำขึ้นโดย Know Violence in Childhood องค์กรระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหวเรื่องการใช้ความรุนแรงในเด็ก รวบรวมประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกับเด็กหลายล้านคนทั่วโลกมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว

รายงานเปิดเผยว่า การใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศที่ยากจนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับสากล

ในรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า เด็กและเยาวชน 1 พัน 7 ร้อยล้านคน หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทุกๆ ปี นั่นรวมถึงการรังแกกลั่นแกล้ง การต่อสู้ การทารุณกรรม และความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งการลงโทษทางร่างกายทั้งในบ้านและในสถานศึกษา

นอกจากนี้ยังพบว่า ความรุนแรงในวัยเด็กมีความเชื่อมโยงกับการใช้ความรุนแรงในสตรีด้วย เพราะพบว่าเด็กหรือเยาวชนที่มีประสบการณ์หรือเคยพบเห็นผู้เป็นแม่ถูกทำร้ายเมื่อครั้งยังเด็ก มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเหยื่อ หรือกลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเองเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

รายงานฉบับนี้ยังจัดทำขึ้นมา เพื่อหากลยุทธ์ในการหยุดวังวนแห่งการใช้ความรุนแรงนี้

Rayma Subrahmania ผู้อำนวยการองค์กร Know Violence in Childhood บอกว่า การใช้ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมที่ถูกหล่อหลอมมาจากค่านิยมและวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมานาน ที่หลายประเทศยอมรับการทุบตีทำร้ายร่างกายเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้ผู้คนในสังคม และยังพบว่าเด็กที่อยู่ในการสำรวจบางราย ยอมรับว่าถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ

เด็กที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงไม่เพียงแต่ได้รับความเจ็บปวดแค่ในช่วงเวลาที่ถูกทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังสุขภาพกายและจิตใจของพวกเขาไปตลอดชีวิต ทั้งภาวะวิตกจริต ภาวะเครียดหลังเผชิญกับเหตุสะเทือนใจ โรคซึมเศร้า และภาวะความผูกพันกับผู้คนอย่างผิดปกติ

เมื่อเหยื่อความรุนแรงโตเป็นวัยรุ่น ก็มีโอกาสที่จะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นชาย ส่วนวัยรุ่นหญิงก็มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อถูกข่มขืนได้

รัฐบาลในหลายประเทศพยายามทางมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในเด็ก เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจ จากที่รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า เด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะลาออกหรือพักการเรียน และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้น้อยลง

ที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกต้องสูญเสียไปราว 8% ของผลผลิตมวลรวม หรือ จีดีพี ในการจัดการผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงในเด็ก

และดูเหมือนว่ารัฐบาลหลายประเทศยังไม่ให้ความสนใจและลงทุนอย่างเพียงพอเพื่อแก้ปัญหาไปถึงรากเหง้าของเรื่องนี้

source; - http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166096159909513876

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.