สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 30 คน แปรญัตติ 15 วัน กรอบการทำงานภายใน 60 วัน สมคิด ชี้เพื่อพัฒนาภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นระบบ
แฟ้มภาพ
28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (28 ก.ย.60)ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... โดยที่ประชุม สนช. ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 175 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 30 คน แปรญัตติ 15 วัน กรอบการทำงานภายใน 60 วัน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญของร่าง กฎหมายนี้ว่า เพื่อพัฒนาภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นระบบ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษ มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชัดเจนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนมีการบูรณาการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งหวังให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีศักยภาพ มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
ขณะที่สมาชิก สนช. ต่างอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี กิตติ วะสีนนท์ แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทะเลชายฝั่ง ระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกับน้ำจืด น้ำเค็ม ดังนั้น จึงเห็นควรมีการวิจัยมารองรับและควรปรับปรุงกฎหมายบางฉบับให้สอดคล้องกัน เช่น กฎหมายผังเมือง ซึ่งการปรับปรุงผังเมืองจะช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งต้องมีการศึกษาความพร้อมของท้องถิ่น และควรนำสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เพื่อให้เกิดความรอบคอบในทุกรูปแบบและไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
สุพันธุ์ มงคลสุธี สมาชิก สนช.เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมเสนอแนะให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมในประเทศไทย เนื่องจากมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เพราะกฎหมายยังเปิดกว้างให้นักลงทุนอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้กลุ่มนายทุนจากต่างประเทศเข้ามาแย่งพื้นที่ทำกินของระบบอุตสาหกรรมไทยเหมือนที่ผ่านมา
เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นต่อประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องมีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เพราะด้านอุตสาหกรรมโรงงานกับการท่องเที่ยวไม่ควรอยู่ในพื้นเดียวกัน หากไม่มีการจัดพื้นที่ที่ดีจะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ที่อาจมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการจะต้องใช้งบประมาณที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ที่มา สำนักข่าวไทย
แสดงความคิดเห็น