ซ้ายไปขวา: วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ขจรศักดิ์ สังข์เจริญ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

Posted: 29 Sep 2017 06:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บิ๊กดาต้า AI ประโยชน์มหาศาล เข้าแทนที่แรงงานมนุษย์แน่นอน แต่ต้องดูว่าใช้อะไรแล้วราคาถูกกว่า AI จะเป็นพัฒนาตัวเองเหนือมนุษย์ยังอีกนาน ประเด็นปัญหาศีลธรรม ความเป็นส่วนตัว กฎสงครามเมื่อใช้หุ่นยนต์รบยังเป็นคำถาม ถ้าจะกลัว AI กลัวโซเชียลมีเดียดีกว่า อย่าให้ความกลัวขวางพัฒนาการ

เมื่อ 27 ก.ย. 2560 the101.world จัดงานเสวนา “101 Minutes at Starbucks ครั้งที่ 5 : AI โลกใหม่ของมนุษย์?” มี ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขจรศักดิ์ สังข์เจริญ ผู้อำนวยการด้านการศึกษา บริษัท อีเลิร์นนิตี้ ประเทศไทย และอดีตผู้จัดการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และวิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้อำนวยการจัดการ Skooldio และ Google Developers Expert ด้าน Machine Learning เป็นวิทยากร และดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

คุณูปการ AI กับโลกบิ๊กดาต้า ตั้งแต่ประมวลจราจรจนถึงช่วยหมอรักษามะเร็ง

วิโรจน์กล่าวว่า ทุกวันนี้ AI เข้ามาในชีวิตประจำวันทั้งที่รู้และไม่รู้ AI คือการทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาด สามารถคิดและตัดสินใจแทนเราได้ AI จะอยู่ในแอพต่างๆ ในเฟซบุ๊กหรือกูเกิ้ลที่ประเมินความชอบผ่านการเรียนรู้พฤติกรรมของเรา อันที่คนตื่นเต้นก็จะเป็นพวกรถที่ขับเองได้ หรือการเอา AI มาวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้จริงหรือด้านการตลาดอยู่ ตอนที่ทำงานอยู่เฟซบุ๊กพยายามจะติดตามการย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศจากข้อมูลที่อยู่ปัจจุบันและบ้านเกิดที่ระบุในเฟซบุ๊ก หรือบริษัทอย่างลิงค์อิน เครือข่ายโซเชียลที่เป็นแพลตฟอร์มหางานทั่วไป แต่เขาสามารถดูได้ว่าคนทำอาชีพไหนเพิ่มขึ้นหรือลดลง อูเบอร์ ที่มีคนขับรถทั่วเมืองก็ให้คนขับเปิดจีพีเอสตลอดเวลา และสิ่งที่กำลังจะเปิดให้คนใช้ก็คือการคาดเดาว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีคนเดินทางไปไหนมาไหนบ้าง ซึ่งสามารถทำได้แม่นยำเพราะมีคนขับรถของเขาอยู่ทั่วเมืองตลอดเวลา

ขจรศักดิิ์กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทั้งภาพ เสียง หรือ ภาพที่ยิงจากอินเตอร์เน็ต ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเราสามารถเก็บเอาไว้(แคปเจอร์) ลองนึกดูว่าทุกวันนี้คนใช้เฟซบุ๊กกี่คน แต่เฟซบุ๊กก็สามารถทำระบุตัวตนของข้อมูลได้มากขนาดนี้ เรากำลังอยู่กับบิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ เดี๋ยวนี้ machine learning มีระบบ AI ฐานข้อมูล ระบบอัลกอริธึ่ม และความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่เร็วขึ้นทำให้มีพัฒนาการที่รวดเร็วเร็ว การวิเคราะห์ข้อมูลวันนี้เราทำไปได้ซับซ้อนมากกว่าสรุปข้อมูล บิ๊กดาต้าจึงสำคัญกับปรากฎการณ์ AI ที่เกิดขึ้น ในด้านการตลาด มีการส่งข้อความแจ้งเตือนเพื่อนำเสนอสินเชื่อ วงเงิน บัตรเครดิตที่ผ่านการจัดหมวดหมู่คนแล้ว ทำให้ส่งได้ตรงกลุ่มมากขึ้นด้วยดูพฤติกรรมของผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ว่าถ้าส่งข้อความแจ้งเตือนครั้งแรกไปแล้วดูไหม ถ้ายังไม่ดู ส่งข้อความต่อไปแล้วดูไหม หรือส่งทางอีเมล์แล้วเขาอ่านไหม ถ้าอ่านแล้วไปไหนต่อ ไปเข้าเว็บไซต์อื่นเพื่อซื้อของหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็งบั้นเอว พอสแกนประวัติคนไข้มันก็จะเริ่มแยกว่าเคสนี้เคยเกิดที่ไหน ผลเป็นอย่างไร คนไข้เป็นเพศไหน แต่สุดท้ายการตัดสินใจอยู่กับทีมแพทย์ เพราะคนไข้เป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย และในรายละเอียดต่างๆ ยังคงต้องใช้มนุษย์ด้วยกันจึงจะมีความเข้าใจกันมากกว่า

โสรัจจ์กล่าวว่า ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเรื่องการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า คือเมื่อสัก 5-6 ปีก่อน มีโรคซาร์สระบาด ทีนี้เราจะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่าซาจะเกิดขึ้น จะสืบสาวต้นตอของการระบาดเพื่อจะจัดการกับโรคนี้ได้อย่างไร สมัก่อนก็ต้องออกภาคสนาม หาชาวบ้านและสอบถาม แต่สมัยนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูคำค้นหาของคนจำนวนมากที่อยู่ในละแวกที่โรคซาระบาดในกูเกิล แล้วข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ไปไหน มันก็อยู่ในกูเกิล มันก็จะมองเห็นรูปแบบการค้นหา พอเกิดอะไรขึ้นคนก็จะค้นหาเรื่องนั้น อย่างไรก็ตามก็เป็นไปได้ว่าถ้าเผื่อมีใครที่เข้าถึงข้อมูลแบบนั้นได้ ในระดับของบิ๊กดาต้าคือรู้ข้อมูลระดับประชากร แล้วถ้ารู้ก็สามารถจะทำนายล่วงหน้าได้ เช่นโรคซาก็อาจจะรู้ล่วงหน้าถึงรูปแบบการระบาดได้ แต่ถ้าในทางที่ไม่รู้ว่าไม่ดีหรือเปล่า เช่น สมมติผมอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับความรู้เรื่องความชอบไม่ชอบของคนอื่นเพื่อประโยชน์ของผมก็ทำได้เช่นกัน 

AI จะแทนที่งานซ้ำๆ แต่มนุษย์ยังครบเครื่อง ถ้าจ้างคนยังถูกกว่า AI ก็ตกงาน

วิโรจน์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงถ้าเป็นงานทำอะไรซ้ำๆ ที่ใครทำก็ได้ จะถูกคอมพิวเตอร์ทดแทนแน่นอน แต่ถ้าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์บูรณาการค่อนข้างซับซ้อน AI ก็จะมาแทนไม่ได้เร็วๆ นี้ แต่ภาพที่จะเห็นไม่น่าจะใช่การทดแทนแต่จะเป็นการทำงานร่วมกันเพราะ AI จะถูกนำมาช่วยในการให้มนุษย์ตัดสินใจ หรืออาชีพแนวแรงงาน เช่นคนขับรถบรรทุก คำถามคือ รถขับเองแก้ปัญหาแค่ส่วนเดียวของรถบรรทุก เพราะคนขับรถยังต้องยกของ ส่งบิลให้ลูกค้า การที่อาชีพจะถูกทดแทนด้วย AI นั่นหมายความว่า AI จะทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะเป็นการทำงานร่วมกันโดยใช้จุดเด่นของความเป็นคน แล้วส่วนไหนที่ใช้ AI ทำได้ก็ใช้ ต้องเรียนรู้อยู่กับมัน อะไรที่ช่วยได้ ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นก็ใช้ AI คือเป็นพลังวิเศษมาเติมให้เรา ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร ก็ต้องคิดว่าเราอยากได้พลังวิเศษอะไรและ AI จะมาช่วยอะไรได้

วิโรจน์ยังระบุว่า ต้องแบ่ง AI เป็นสองท่อน คือท่อนออโตเมชั่นหรือการนำมาใช้แทนกำลังคน ไม่ต้องฉลาดมาก เอามาทำงานแทนคน อันนี้น่าจะมาแน่ๆ อันที่ยากคือ AI แบบอัจฉริยะ คือต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพปริมาณมาก แต่องค์กรในไทยยังไม่พร้อมขนาดนั้น ข้อกังวลหนึ่งของไทยคือเรื่องค่าแรง ที่ต่างประเทศที่ค่อนข้างสนใจเรื่อง AI เพราะจะใช้มาทดแทนแรงงานคนที่มีราคาแพง แต่ในไทยยังมีแรงงานราคาถูกที่บริษัทต่างๆ คงยังไม่ใช้ AI ที่มีราคาสูง

ขจรศักดิ์กล่าวว่า หลายครั้งเราไปร้านอาหาร ร้านขนมที่เราซื้อ ขนมหรืออาหารเหล่านั้นอาจไม่ได้อร่อยที่สุด แต่เราไปเพราะว่าเราถูกใจคนขาย สิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่เป็นมนุษย์ ต่อให้โลกก้าวไปเร็วอย่างไรเราก็ยังต้องการสิ่งเหล่านั้นอยู่ เป็นไปได้ที่ AI จะมาแทนอะไรที่ต้องทำซ้ำๆ ก็ฝากไว้ว่าไม่ว่าสายอาชีพใดก็ต้องพัฒนา เพราะถ้าสมมติวันนี้ไม่มี AI ก็จะมีอาชีพที่ต้องสูญหายไปเพราะมีแนวทางใหม่ๆมาทดแทน จึงต้องทำให้ตัวเองเก่งขึ้น พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผมเชื่อว่าอย่างน้อยจนผมยังมีชีวิตอยู่ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ยังต้องใช้คนอยู่ งานไหนที่ต้องใช้การตัดสินใจ ความเป็นมืออาชีพ ความเป็นผู้ใหญ่ ความคิดสร้างสรรค์หรือให้ความบันเทิง อาชีพเหล่านั้นก็ต้องการมนุษย์อยู่ สำหรับมนุษย์เงินเดือนก็ต้องดูว่าทุกๆ วันเราได้ทำอะไรใหม่ๆ ไหม ถ้าไม่ก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าต้องพัฒนาตัวเองด้วยทักษะต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือ เราเรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ สิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้คือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่ได้พัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นคือเรื่องอันตราย

โสรัจจ์กล่าวว่า กุญแจสำคัญคือการเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราทำงานอะไรที่ทำให้เราไม่เหมือนคนอื่น โอกาสที่อัลกอริธึมจะมาแทนเราก็จะน้อยลง มีข่าวที่วิเคราะห์กันว่าอาชีพที่จะโดนก่อนเพื่อนคือผู้ช่วยทนายความที่มีหน้าที่ค้นกฎหมาย กรอกแบบฟอร์ม ซึ่งมันตรงกับงานของโปรแกรมเลย ที่มีฐานข้อมูลกฎหมายที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไร แต่ก็ไม่ใช่ว่า AI จะมาแทนที่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เลยเพราะ AI เองก็มีความสามารถที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อยู่ วันนี้เพิ่งแชร์ไปในเฟซบุ๊กเรื่องสถาปนิกใช้ AI ในการออกแบบลวดลายในหอฟังดนตรีที่มนุษย์อาจจะใช้เวลาออกแบบนานหน่อย ก็เป็นไปได้ว่าอีกห้าปีสิบปีข้างหน้ามันอาจจะไม่ใช่แค่ออกแบบลวดลายบนผนัง แต่มันอาจจะใช้ออกแบบหอดนตรีทั้งหอเลย แล้วก็มีอัลกอริทึมที่แต่งเพลงเอง ซึ่งไม่อยากเลยถ้าใส่กฎเข้าไปว่าเพลงจะเริ่มจากคอร์ดไหน ไปต่อคอร์ดไหน จบคอร์ดไหน เพียงแต่ผมเปิดฟังดูมันเหมือนนิสิตที่เพิ่งเริ่มเรียนวิชาแต่งเพลง ฟังดูทื่อๆ แต่ก็มองไปในอนาคตว่าถ้าไม่มีคนใส่ข้อมูลเรื่องกฎการแต่งเพลงแต่แค่สั่งออกมาแล้วทำได้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทีนี้ เราจะปรับตัวอย่างไร สิ่งที่เราทำให้เป็นตัวของเราเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิจารณ์ พิจารณาเหตุผลยังเป็นสมบัติของเราอยู่ และถ้าคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างมากก็คือทำได้มากเท่ากับเรา ก็คือร่วมกันทำงาน 

AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เรียนรู้ พัฒนาตัวเองอย่างมนุษย์ยังมีเงื่อนไขและยังอีกยาวไกล

วิโรจน์ให้ความเห็นว่ายาก เพราะมันไกลมาก ขอบิดไปอีกประเด็น คือวิธีการเรียนรู้แบบหนึ่งที่เรียกว่า reinforcement learning หมายความว่า AI สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจริงๆ แต่มันมีเงื่อนไขต่อท้าย คือต้องมีผลตอบรับหรือ feedback loop ตลอดเวลา เช่นเกมอัลฟ่าโกะที่เรียนรู้ได้เพราะโกะมีรูปแบบ กติกาอยู่ และมันมีการตอบรับกลับมาว่าวางหมากแบบไหนเรียกว่าดี แต่ถ้าอยากคิดสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นก็ต้องมีอะไรมาหล่อหลอมความคิดมันว่าอันไหนดีไม่ดี มันเป็นเรื่องความรู้สึก มันต้องมีอะไรที่เป็นความรู้สึกที่ตามมาด้วยการตอบสนอง เช่น ถ้าคนอยู่ในห้อง รู้สึกว่าเบื่อ เบื่อ ก็ต้องหาทางออกจากห้อง การเรียนรู้แม้แต่กับคนเองก็มีสิ่งที่จะหล่อหลอมความคิดของเรา AI ก็เหมือนกันที่การเรียนรู้จะมีเงื่อนไขบางอย่าง

โสรัจจ์กล่าวว่า เป็นคำถามที่กว้างมาก ก่อนที่จะเทียบเท่ามนุษย์ เราย้อนกลับไปอดีต คนที่เคยเรียนแล้วถือว่าทวน คนที่ไม่เคยก็เหมือนมาจูนให้ตรงกัน สมัยก่อนที่จะมีแอพพลิเคชั่นนักคอมพิวเตอร์ก็คิดถึง AI มาก่อนแล้วเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นคิดว่าคอมพิวเตอร์น่าจะมีความสามารถที่จะคิดได้เหมือนมนุษย์ แล้วก็คิดว่าจะเป็นไปได้ว่ามันจะมีจิตสำนึก แต่ก่อนเป็นกระแสหลักว่าท้ายที่สุดคอมพิวเตอร์จะมีโอกาสคิดเหมือนมนุษย์ ไปจนถึงการหาคำตอบว่าชีวิตมันมีอยู่เพื่ออะไร ความหมายของชีวิตมีอยู่เพื่อตอบสนองอะไร ทำตามโปรแกรมคนอื่นหรือเปล่า หรืออาจจะโปรแกรมตัวเองได้ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองคือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ อลัน ทัวริ่ง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็เขียนเปเปอร์ ตั้งระบบทดสอบขึ้นมาเพื่อทดสอบว่าสุดท้ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกได้ว่ามีปัญญาประดิษฐ์จริงมันต้องมีลักษณะอย่างไร เงื่อนไขก็คือ สมมติว่าเราติดต่อกับจอคอมพิวเตอร์สองจอ แล้วเราสามารถถามอะไรก็ได้สองจอโดยที่ไม่รู้ว่าปลายทางเป็นคนหรือคอมพิวเตอร์ที่ตอบโต้กับเรา ถ้าเวลาผ่านไปเท่าไหร่เราตอบไม่ได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์หรือคน นั่นคือผ่านการทดสอบ ปัจจุบันยังไม่มีคอมพิวเตอร์ตัวไหนที่ผ่านการทดสอบนี้ แปลว่าแนวทางการคิดเรื่อง AI แบบปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปที่จะตอบได้ทุกอย่าง ปลอมเป็นมนุษย์ได้จนแยกไม่ออกก็ยังเป็นไปไม่ได้ หลายคนนั้นนักคอมพิวเตอร์ นักปรัชญาและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเขียนโปรแกรมขนาดนั้นได้แต่ก็ยังมีคนโต้เถียงอยู่ ทีนี้แล้วเรามาดูในอนาคต ก็มีคนเขาเชื่อว่าในท้ายที่สุด คอมพิวเตอร์จะบรรลุความสามารถแบบที่ทัวริ่งคิดไว้จริงๆ มันจะมีจุดหนึ่งในอนาคตที่ตีไว้กว้างๆ ว่า 2030 หรืออีกกว่า 23 ปี จะเป็นช่วงที่เรียกว่า Singularity คือคอมพิวเตอร์แซงหน้าและเอาชนะมนุษย์ในฐานะผู้ฉลาดกว่า เรื่องสติสัมปชัญญะก็คงจะมีแบบที่คอมพิวเตอร์มีก็เป็นไปได้ คือทำงานได้แบบที่ ตามสติสัมปชัญญะของเราทำได้ คือแก้ปัญหาอะไรต่ออะไรได้

ขจรศักดิ์คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะผลิตเครื่องจักรแบบนั้น เพราะตอนนี้ยังเป็นรุ่งอรุณของ AI ไม่ว่าจะเป็นการจดจำใบหน้า หรือแชทบอทที่ทำได้เก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีก็มีข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง เราก็ไม่รู้ว่าอัลกอริธึมต่างๆ ที่ใส่เข้าไปมันอาจจะสร้างอะไรที่เกินความคาดเดาของคนสร้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก 

ความเป็นส่วนตัว สิทธิการถูกลืม กฎสงคราม และการตัดสินใจของ AI บนเส้นทางศีลธรรมมนุษย์

โสรัจจ์กล่าวว่า เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พูดกันในหมู่นักวิจัยคือเรื่องความเป็นส่วนตัว และมันจะเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านบวกก็มีข้อมูลที่เป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องบิ๊กดาต้า เรื่องเครดิต เรื่องธนาคาร ถ้าเราเครดิตดีก็จะมีข้อเสนอมาเรื่อยๆ แล้วถ้าเราบังเอิญมีเครดิตไม่ดี เช่นเบี้ยวหนี้บัตรเครดิต หรือขึ้นบัญชีดำ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เก็บไว้ในธนาคารเดียวแต่อยู่ในบิ๊กดาต้า ในกรณีที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองให้พฤติกรรมดีขึ้นแล้ว แล้วเราอยากให้บิ๊กดาต้าลืมอดีตของเราเหมือนที่คนอื่นเขาลืมก็มีเสียงจากวิศวกรบอกว่าทำได้ยากมาก กูเกิลเคยมีคดีความกับอียูเกี่ยวกับสิทธิที่จะถูกลืม แล้วของบนบิ๊กดาต้ามันเก็บอยู่เยอะมากจนผู้ดูแลระบบคงจะทำได้ยากที่จะเจาะจงว่าเป็นข้อมูลชุดไหน

วิโรจน์กล่าวถึงประเด็นลบอดีตที่ไม่ดีในบิ๊กดาต้าว่า ในเฟซบุ๊กจะมีระยะเวลา 90 วันหลังจากเราปิดแอคเคาท์ แต่ว่าอยากจะพูดเรื่องอคติข้อมูล บางครั้งที่เราเอาข้อมูลผิดๆ ให้มันเรียนรู้หรือข้อมูลที่เราคิดว่าถูกป้อนให้คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์มันก็จะคิดเหมือนกับที่เราป้อน กูเกิลมีโปรแกรมกูเกิลโฟโต้ ครั้งหนึ่งเคยแท็กคนผิวสีเป็นกอริลล่า ก็ต้องกลับไปดูว่าในกระบวนการฝึกหัดโปรแกรมว่าป้อนรูปแบบใดเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ ในบอสตันที่มีคนคิดแอพที่วัดจำนวนหลุมถนนผ่านการสั่นสะเทือนของมือถือบนรถ ผลปรากฎว่ามีแต่บ้านคนรวยเท่านั้นที่มีถนนราบเรียบ เพราะว่าคนจนไม่ใช้มือถือและรถ

ขจรศักดิ์กล่าวว่า เคยมีโอกาสได้ดูแลกลุ่มผู้เริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เวลาที่เราคิดไอเดียก็มีอะไรน่าตกใจ เช่นเคยมีคนทำแอพพลิเคชั่นเช็คสุขภาพต่างๆ ผมก็เคยถามว่าแล้วจะทำเงินยังไง เขาก็บอกว่าจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปขายกับบริษัทประกัน ซึ่งมันเป็นข้อมูลส่วนตัว ดังนั้นในยุคบิ๊กดาต้าต้องพิจารณาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลของเรา เพราะต่อให้เราตามลบก็อาจจะมีคนแคปเจอร์เอาไว้ ข้อมูลทุกวันนี้ถั่งโถมเยอะมาก ต้องเรียนรู้กัน ระมัดระวังและมีสติในการแชร์ รวมถึงผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ควรให้ความเคารพกับความเป็นส่วนตัวของผู้คนด้วย

โสรัจจ์กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งอาจจะไกลตัว สืบเนื่องจากที่เราคุยกัน คือเรื่องอันตรายของ AI เพราะ AI มันก็อยู่ในเทคโนโลยีทางการทหารด้วย เช่น หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่แทนทหาร คิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หุ่นยนต์ที่ทำงานได้เองโดยไม่มีใ่ครควบคุมตลอดเวลา แล้วมันก็ถือปืน โปรแกรมไว้ว่าเลือกเป้าได้เอง อันนี้คือสิ่งที่เขาเป็นห่วงกัน ที่ต้องมีการวิจัยนอกจากอัลกอริธึมในการเลือกเป้าและความเป็นทหารของหุ่นยนต์ก็ต้องมีเรื่องของจริยธรรมมาประกอบด้วย เช่นถ้าเป็นพลเรือนจะไม่ยิง เคยไปประชุมวิชาการเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้่ก็มีข้อโต้แย้งว่า แล้วถ้าข้าศึกปลอมตัวเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้หญิงเสียเองจะทำอย่างไร ก็เป็นความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับผู้ออกแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ในบริบทไหนก็ตาม มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ใส่ไว้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบบนพิมเขียวเลยที่จะมีมิติทางสังคม จริยธรรม หรือผู้ออกแบบควรได้รับการฝึกฝน ควรจะต้องรวมไปในกระบวนการออกแบบตั้งแต่ต้นเลยที่จะต้องมีเรื่องจริยธรรม การรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน เราอาจจะนึกถึงกฎ 3 ข้อของอาซิมอฟว่าด้วยหน้าที่หุ่นยนต์ แต่มันก็มีข้อยกเว้นที่ทำให้ซับซ้อนมากขึ้นอย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องหุ่นยนต์ทหารไป


กฎ 3 ข้อว่าด้วยหุ่นยนต์ของไอแซค อาซิมอฟ นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย

กฎข้อที่หนึ่ง: หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำอันตรายแก่มนุษย์ หรือ นิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้

กฎข้อที่สอง: หุ่นยนต์จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ยกเว้นคำสั่งนั้นจะขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่ง

กฎข้อที่สาม: หุ่นยนต์จะต้องปกป้องตัวเองด้วยวิธีการใด ๆ ตราบเท่าที่วิธีการนั้นไม่ละเมิดกฎข้อที่หนึ่งและกฎข้อที่สอง

(ที่มา: Thairobotic)

วิโรจน์กล่าวว่า ปัญหาที่ยากกว่าคือคำถามทางปรัชญา MIT (Massachusette Institution of Technology) ทำเว็บมีเดียแล็บจำลองสถานการณ์ว่า ถ้าเราเป็นรถที่ขับเองก็จะมีเหตุการณ์สมมติมาว่ามีนู่นนี่มาตัดหน้า และสุดท้ายมันจะสรุปว่าจริยธรรมของเราเป็นแบบไหน เราจะเห็นภาพว่าสุดท้ายเราให้ค่ากับเรามากน้อยแค่ไหน เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบถูกผิด ความยากคือในมุมคนเขียนโปรแกรม คุณต้องเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตว่าใครจะตาย

โสรัจจ์ยกตัวอย่างทางสองแพร่งทางศีลธรรมว่า สมมติว่ารถขับเองแล้วไปชนท้ายรถคันหน้า แล้วถ้ารถมันขับเอง คำถามคือใครจะเป็นคนจ่ายค่าเสียหาย แค่นี้ก็มีงานวิจัยออกมาเยอะเลย บางคนก็บอกว่าต้องไปโทษผู้ผลิต บริษัทต้องจ่าย ก็มีคนเถียงว่าบริษัทผลิตมาตามขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้อง การที่ไปชนรถคันหน้ามันเป็นการตัดสินใจเองโดยที่ผู้ผลิตไม่สามารถบังคับได้ ฉะนั้นจะโทษผู้ผลิตไม่ได้ บางคนก็บอกว่าถ้ามีคนนั่งในรถแล้วไม่ได้หยุดรถก็ถือว่าคนนั่งในรถผิด ผมไม่รู้ว่าท้ายที่สุดการถกเถียงกันล่าสุดเป็นอย่างไร แต่มันต้องมีคำตอบ เพราะความจำเป็นในการมีรถวิ่งเองมันมีอยู่เยอะ แต่ก็ต้องมีคำตอบเพราะทางตำรวจ บริษัทประกันก็ต้องการคำตอบในเรื่องนี้ 

อาชีพมาแรงยุค AI คณิตศาสตร์ เขียนโค้ด โปรแกรมจำเป็นสำหรับคนสนใจสายงานนี้

วิโรจน์กล่าวว่า ก็อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) AI อยู่ในระดับที่นำมาใช้งานพื้นฐานได้หลายๆ อย่าง นวัตกรต้องเข้าใจว่ามีเทคโนโลยีพวกนี้อยู่ จะหาช่องทางให้ใช้งานจริงที่ไหนได้บ้าง ดาต้าต้องเเปลี่ยนเป็นของเรา มันต้องใช้ machine learning ขนาดใหญ่ แม้แต่โปรแกรมเมอร์ หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ยังเป็นที่ต้องการทั่วโลก

ถ้าอยากทำงานเกี่ยวกับข้อมูล ความรู้ทางคณิตศาสตร์สำคัญที่สุด แคลคูลัส สมการเชิงเส้น ได้ใช้หมด ถ้าอยากจะวิเคราะห์ข้อมูล ทำโมเดลก็ต้องเขียนโค้ด เขียนโปรแกรมเป็น ทักษะสุดท้ายคือความรู้ด้านธุรกิจหรือความสามารถในการคุยกับคนแล้วเข้าใจเขาได้ว่าเขาต้องการอะไร ปัญหาหนึ่งคือทุกวันนี้มีคนที่เก่งทักษะทั้งสามแต่แยกกันอยู่ ดังนั้นจึงควรรู้หลายๆ อย่างรอบตัวมากไปกว่าความชอบของเรา

ขจรศักดิ์กล่าวว่า นอกเหนือจากงานที่เป็นเชิงเทคนิค การที่เรามีระบบที่ฉลาดขึ้น ถ้าเราทำความเข้าใจ ใช้ประสบการณ์ที่เรามีอยู่ เราอาจผสมสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้ดีขึ้น สร้างเป็นเงินทองขึ้นมา ถ้าเราไม่ได้สะดวกพัฒนาตัวเองเป็น data scientist หรือโปรแกรมเมอร์ วันนี้ AI เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่ฉลาดขึ้น เช่น เวลาไปเที่ยว จ.น่านเดือน ธ.ค. อย่างน้อยคุณก็ต้องค้นในกูเกิลเรื่องที่เที่ยว ที่พัก ที่กิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คุณก็มาวาง ดูบริบทแล้วจึงตัดสินใจ มีคำจีนที่ชอบคือ เวลาที่ลมพัดแรง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหันลม 

อย่าให้ความกลัว AI ลดทอนการพัฒนา โซเชียลมีเดียน่ากลัวกว่ายังอยู่ด้วยกันได้

ขจรศักดิ์กล่าวว่า เวลาเราอยู่ในความมืด หลายคนกลัว บางทีเรากลัวกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะถ้าทุกอย่างสว่างเราจะเห็นว่ามีหรือไม่มีอะไร เราอยู่ในยุคที่ข่าวสารกระจายมาก บางทีเราก็เสพสื่อจนเกินไป เรื่องเฟซบุ๊ก จริงๆ ไม่ได้เกิดความผิดพลาดแบบนั้น อยากให้ลองกลับไปดูที่อธิบายว่า จริงๆ อันนั้นมาจากงานวิจัยหนึ่งที่พยายามสอนให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกันได้ จริงๆ มันคือความผิดพลาดของระบบ การปิดโปรเจคไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการจบโปรเจค การสร้าง AI เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ สักวันหนึ่งก็อาจจะเกิด AI ที่ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น ซึ่งตอนนั้นก็ต้องมาถามกันต่อ ไม่ใช่สิ่งที่จะปิดกั้นและไม่รู้ เราปล่อยให้วิวัฒนาการมันเกิดขึ้นแล้วแก้ไขเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มากกว่าปิดกั้นแล้วไม่ให้เทคโนโลยีเกิดขึ้น

ถ้าเราจะกลัว AI สิ่งที่ควรจะกลัวก่อนคือโซเชียลมีเดีย มีแง่ลบเยอะแยะไปหมด แต่เราก็ยังอยู่กับมัน มันเข้ามาในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือความรู้ เตรียมคนให้มีความเข้าใจ ใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพและใช้มันอย่างระมัดระวัง เราคงปฏิเสธมีดไม่ได้ แต่จะสอนอย่างไรไม่ให้เด็กเอามีดไปแทงกัน แต่ถึงแม้เราจะสอนอย่างดีก็ยังมีคนเอามีดไปแทงกัน เราต้องเรียนรู้กันเยอะ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.