Posted: 27 Sep 2017 06:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ทำความเข้าใจ Islamophobia จากยุโรปถึงไทย ค้นหาความหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย ที่ความหวาดกลัวส่วนหนึ่งมาจากตัวเราเอง ‘ความเป็นเรา’ และ ‘ความเป็นอื่น’ อยู่ร่วมกันได้ขอเพียงเคารพกันในฐานะมนุษย์
คำว่า Islamophobia หรืออาการหวาดกลัวอิสลาม สื่อความหมายได้ค่อนข้างตรงตัวและเข้าใจไม่ยากในระดับพื้นฐาน ที่ดูซับซ้อนกว่านั้นคือเหตุใดจึงกลัวและเมื่อกลัวแล้วแสดงความกลัวออกมาอย่างไร

เพราะสาเหตุแห่งความกลัวและการแสดงความกลัวออกมาค่อนข้างจะอิงกับบริบทของแต่ละพื้นที่ อาการหวาดกลัวอิสลามในยุโรปและไทย เหมือนกันที่วัตถุของความกลัว ทว่า เหตุผล การแสดงออก และเงื่อนไขรายล้อมแตกต่างกัน...ในบางเรื่อง

เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ศึกษาอาการหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย มันไม่ใช่ความกลัวแบบไร้ที่มาที่ไป มันมีเหตุผลที่จะกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่จะพูดถึงต่อจากนี้

แล้วเราจะอยู่กับความกลัวนี้อย่างไร?


เอกรินทร์บอกว่า เคารพกันในฐานะมนุษย์ก็พอ

Islamophobia 3 ระดับ


ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรป ถึงกระนั้นก็มีจำนวนเป็นหลักล้าน ทำให้ปรากฏการณ์อาการหวาดกลัวอิสลามมีนัยสำคัญต่อยุโรป เอกรินทร์เล่าว่า เหตุนี้ยุโรปจึงมีการประชุมระดับนานาชาติเรื่อง Islamophobia โดยเฉพาะ และมีรายงานจากประเทศยุโรปทุกประเทศ เพื่อดูปรากฏการณ์ Islamophobia ใน 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือระดับปัจเจก ไม่มีการจัดตั้งใดๆ เมื่อเห็นคนมุสลิม เห็นมัสยิด รู้สึกไม่ชอบ อยากทำลาย และใช้ความรุนแรง เช่น เห็นผู้หญิงคลุมฮิญาบก็เข้าไปดึงฮิญาบ พบมากในฝรั่งเศสหลังเหตุการณ์ชาร์ลี แอ๊บโด และเดนมาร์ก

ระดับที่ 2 คือระดับที่มีการจัดตั้งองค์กร มีนโยบาย มีคำอธิบายในการจัดตั้ง เพื่อปฏิเสธความเชื่อหรือการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม และมีการผนวกเรื่องผู้อพยพเข้าไปด้วย

ระดับที่ 3 ระดับนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะออกจากพรรคการเมืองหรือนโยบายที่ไม่ประกาศอย่างชัดเจน เช่น การห้ามแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะ โดยอิงกับแนวคิดรัฐฆราวาส เป็นต้น

“คำถามในทางทฤษฎีคือเมื่อโลกมีความหลากหลายมากขึ้น รัฐฆราวาสจะต้องนิยามใหม่หรือไม่ว่าจะแค่ระดับไหน เช่น สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางความเชื่อได้หรือไม่ เป็นต้น แต่ความเป็นรัฐฆราวาสถูกทำให้เข้มขึ้นเพื่อกีดกันอิสลามไม่ให้โผล่ในยุโรป เพราะกลัวว่าอิสลามจะมีอิทธิพลอีกครั้งในยุโรป”

ทำไมจึงกลัว


ใช่ว่าอาการหวาดกลัวอิสลามในไทยเกิดขึ้นโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ ความหวาดกลัวอิสลามเกิดจากการรับรู้และเชื่อมโยงศาสนาอิสลามเข้ากับความรุนแรง คือความรุนแรงในระดับโลกและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“อิสลามกับความรุนแรงมันปฏิเสธไม่ได้ คริสเตียนกับความรุนแรงผมไม่เคยเห็น ประเทศไทยก็เคยหวาดกลัวคนคริสต์ว่าจะเผยแผ่คุกคาม แต่ไม่ได้มาจากความรุนแรง ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสลามกับความรุนแรงเป็นสิ่งที่โลกเข้าใจมาพร้อมกัน คุณจะบอกว่าอิสลามคือสันติภาพก็เถอะ แต่การรับรู้ของคน อิสลามกับความรุนแรงเป็นของคู่กัน จริงหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่คนเข้าใจอย่างนี้ ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เห็นทางสื่อ ผ่านผู้คนที่เคยมาที่ใต้ มันเห็นความรุนแรง แล้วมุสลิมที่ใต้ก็ถูกตีตราไปแล้วว่านิยมความรุนแรง ถึงไม่ใช่ทั้งหมด แต่มีอยู่ เพราะถ้าไม่มีก็ต้องไม่มีความรุนแรง มีมุสลิมที่ใช้ความรุนแรง มีคนที่เชื่อวิธีการแบบนี้อยู่จริง”

อย่างไรก็ตาม เอกรินทร์ขยายความว่ายังมีอีกหนึ่งปัจจัยคือความไม่แน่ใจ ความสั่นคลอนต่อพุทธศาสนาของคนในยุคสมัยใหม่ในสังคมไทย จึงต้องสร้างศัตรูขึ้นมาเพื่อให้ตนเองมีความเป็นพุทธแท้

“ความหวาดกลัวอิสลามไม่ได้เกิดจากมุสลิมอย่างเดียว ในทางทฤษฎี เวลาที่เราต้องการสร้างอัตลักษณ์บางอย่าง เราก็ต้องสร้างอัตลักษณ์คู่ตรงข้าม ต้องทำให้หวาดกลัว จะได้รวมกลุ่มกันแน่นมากขึ้น ภาวะที่พุทธศาสนาหรือคนที่นับถือพุทธแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจ ความอ่อนแอของคนที่นับถือศาสนาพุทธเองที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมคิดว่าชาวพุทธต้องทบทวน อิสลามก็ต้องทบทวน เพื่อเราจะอยู่ร่วมกันได้

“สิ่งเหล่านี้ทำให้โรคหวาดกลัวอิสลามเข้มข้นขึ้น ผนวกกับการเปิดประเทศของพม่าด้วย ทำให้เราเกิดการเชื่อมโยงกับพุทธในพม่า มีความใกล้ชิดสูงมาก ทำให้ Islamophobia ในประเทศไทยมีความแตกต่างและไม่ใช่ลักษณะเดียวกับในยุโรป”

จุดนี้นับว่าน่าสนใจ เอกรินทร์พูดต่อว่า Islamophobia ในยุโรปไม่มีมิติของคริสต์ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตรงกันข้ามชาวคริสต์ที่เคร่งๆ กลับสามารถสนทนากับอิสลามได้ เนื่องจากมีรากฐานเดียวกัน ขณะที่อิสลามกับพุทธสนทนากันไม่ได้ เพราะมีรากฐานคนละแบบ อิสลามมีพระเจ้า แต่พุทธไม่มีพระเจ้า จึงไม่มีสิ่งใดเชื่อมโยงกัน ซึ่งเขาเห็นว่าการศึกษา Islamophobia ในไทยจะต้องมองจุดนี้ให้ชัดและไม่มองว่าเป็นสถานการณ์เดียวกับในยุโรป

พัฒนาการของความกลัว


ระดับของอาการหวาดกลัวอิสลามก็มีการเปลี่ยนแปลง เอกรินทร์แบ่งเป็น 2 ระดับหรือ 2 ช่วง ช่วงแรกคือตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 จนถึงก่อนเหตุการณ์รัฐอิสลามหรือไอซิสในตะวันออกกลาง ที่แม้ว่าจะมีความหวาดกลัวอิสลามอยู่ แต่ก็ยังมีเพดานกั้น ไม่มีการพูดถึงความกลัวนี้อย่างเปิดเผย ระมัดระวังตัว ไม่มั่นใจว่าคนอื่นจะคิดเหมือนกันหรือไม่

ช่วงต่อมาคือเมื่อโลกได้รู้จักไอซิสและความรุนแรงต่างๆ ที่ขบวนการนี้สร้างขึ้น การแสดงออกถึงความหวาดกลัวอิสลามจึงถูกเปิดเผยออกมาชัดเจนขึ้น เอกรินทร์ตั้งข้อสังเกตให้เห็นปฏิกิริยาของความหวาดกลัวอิสลามหลังจากโลกและไทยรู้จักไอซิสผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงจะมี ความพยายามบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่แรง เข้มข้น และเปิดเผยเท่ากับในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560

“มันเริ่มพัฒนาหลังจากเหตุการณ์ไอซิสและเหตุการณ์ระเบิดในยุโรป มันทำให้คนรับรู้จากสื่อและกลัวไปด้วยว่าจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ มีการพูดหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับอิสลามในที่สาธารณะมากขึ้น มีการเชื่อมโยงว่าทำไมมุสลิมถึงใช้ความรุนแรง มีการแสดงออกในโลกออนไลน์มากขึ้น จนนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร ในระดับผู้หลักผู้ใหญ่ก็เทไปทางนี้ด้วยเวลาให้ความเห็น แนวโน้มจากที่ไม่พูดในที่สาธารณะ มาเป็นพูดในที่สาธารณะ แล้วก็ออกสื่อ จัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านมัสยิด การต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล

“พัฒนาการแบบนี้ มันน่ากลัวสำหรับผม เพราะมันจะนำไปสู่ความสุดโต่งหรือสวิงไปอีกทาง อย่างการพยายามบรรจุในรัฐธรรมนูญให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วก็เป็นศาสนาลัทธิเดียว ความเชื่อแบบเดียว ทำให้เข้มมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าต้องการรักษาพุทธศาสนาให้อยู่คู่สังคมไทย”

นอกจากนี้ การที่พุทธศาสนาในไทยเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาในพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะพระวีระธูผู้ที่ประกาศชัดเจนเรื่องการจัดการคนมุสลิม กระทั่งพระมหาอภิชาติ ปุณณจันโทบอกว่าพระวีระธูเป็นไอดอล เกิดการเผยแพร่ความคิดทางยูทูบและดูเหมือนได้รับความนิยมก็ทำให้เอกรินทร์รู้สึกเป็นกังวลอยู่บ้าง

“ผมคิดว่าน่าจะมีมาตรการบางอย่างที่จะเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เช่น ไม่ใช้เฮทสปีช ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ผมมองเห็นพัฒนาการที่มีการเปิดเผยมากขึ้น ในระดับโลกออนไลน์ ส่วนโลกออฟไลน์ก็มีจำนวนหนึ่ง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนหนึ่งไม่ให้นักเรียนคลุมฮิญาบ คณะพยาบาลบางแห่งไม่ให้ใส่ฮิญาบขึ้นวอร์ด เป็นต้น มีคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่าพุทธถูกทำลาย ถูกอิสลามเข้ามากลืน หรือแม้กระทั่งการออกข้อมูลผิดๆ ว่าอิสลามจะปกครองประเทศไทย มันมีคนทำขึ้นมา แต่เพราะอะไร เพราะหวาดกลัว จึงต้องสร้างข้อมูลและจินตนาการว่า ต่อไปประเทศไทยจะถูกปกครองโดยมุสลิมแล้วเราจะอยู่กันอย่างไร คนก็เชื่อเยอะ ไม่ได้ใช้เหตุและผลว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่”

เอกรินทร์กล่าวว่า ควรมีการมอนิเตอร์และตั้งสายด่วนเพื่อให้มีการรายงาน เก็บหลักฐาน และบันทึกสถิติ กรณีที่ชาวมุสลิมได้รับผลกระทบจากอาการหวาดกลัวอิสลามเช่นเดียวกับที่ทำในยุโรป

เชียงใหม่

“สิ่งที่เราเจอจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างในเชียงใหม่ที่มีการต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล เวลาที่เราคุยกับชาวพุทธความกลัวของเขาคือกลัวว่าอิสลามหรือคนทางภาคใต้จะมาอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วจะเกิดความรุนแรงและทำให้อัตลักษณ์เชียงใหม่หายไปกลายเป็นเมืองมุสลิม มันมีความคิดแบบนี้อยู่จริง การต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องความกลัว ไม่ต้องการให้อิสลามหรือฮาลาลในความหมายทางศาสนาเข้าไปอยู่ในเชียงใหม่ ทั้งที่เชียงใหม่ก็มีมุสลิมจีนฮ้ออยู่เยอะมาก่อนแล้วร่วมร้อยปี

“คนเชียงใหม่บางคนที่เราคุยด้วย เขารับไม่ได้ที่จะมีการแสดงอัตลักษณ์หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นอิสลามในเชียงใหม่ ผมก็ถามนะว่าแล้วอยู่กับมุสลิมจีนมาตั้งนานได้อย่างไร น่าสนใจ เขาบอกว่าเพราะพวกเขาเข้ามาอยู่ก่อนที่จะสร้างมัสยิด มีปฏิสัมพันธ์กันก่อน ผมก็ถามมุสลิมเชียงใหม่ว่าทำไมถึงสร้างมัสยิดได้ เขาบอกว่าเขาต้องรู้จักกับคนท้องถิ่นก่อน อู้คำเมือง สื่อสารกันไปมา แล้วสร้างมัสยิด นี่คือความแนบเนียนของคนสมัยก่อนที่ประคับประคองกันไป อยู่กันได้ คนเชียงใหม่ก็โอเค สร้างมัสยิดได้ มีการต่อรอง มีการรู้จักกันระดับหนึ่ง ไม่ใช่คนแปลกหน้า

“แต่ปัจจุบัน อิสลามที่เข้าไป มันมีความแปลกหน้า มันก็ธรรมดาที่เขาจะรู้สึกกลัวไว้ก่อน แต่ความกลัวแบบนี้ก็อันตราย เพราะจะนำไปสู่ความสุดโต่งคือการไม่ยอมรับคนอื่น ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกที่เข้ามา และเลือกที่จะรับ เช่น ฝรั่งเข้าไปเยอะๆ โอเค แต่อะไรที่เข้าไปกระทบความเชื่อ กระทบความเป็นพุทธ ไม่ยอมรับ แล้วที่รู้สึกว่าถูกคุกคามยังผ่านการเทศนาจากกลุ่มพระด้วย เพราะคนไม่วิพากษ์วิจารณ์พระ แต่บางทีการให้ข้อมูลของพระก็ไม่เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เลยทำให้คนเชื่อเป็นอย่างนั้น”

ขอนแก่น

“ส่วนที่ขอนแก่น ชัดเจนว่ามีการต่อต้านการสร้างมัสยิด ที่ขอนแก่นมีมัสยิดอยู่ประมาณ 6-7 หลังที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่มีมัสยิดหนึ่งที่สร้างแล้ว คนเข้าไปประกอบพิธีแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ถูกต่อต้านจากสมาพันธ์พุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีการส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ เราก็ไปคุยกับทั้งสองฝ่ายว่าทำไมจึงมีการต่อต้าน

“เมื่อไปคุยกับพระที่เป็นแกนนำต่อต้าน เขารู้สึกกลัวคล้ายๆ กัน คืออิสลามจะเข้ามาในขอนแก่นมากเกินไป เขารู้สึกไม่สบายใจ สอง-รู้สึกว่าเขาจะต้องรักษาความเป็นพุทธของเขาไว้ให้เข้มแข็ง มุสลิมอยู่ที่ไหนก็จะมีระเบิด มีความรุนแรง การที่เราให้มัสยิดมาอยู่ที่ขอนแก่น ต่อไปขอนแก่นก็จะเต็มไปด้วยมุสลิม มุสลิมจากภาคใต้ก็จะอพยพเข้ามา

“เราตั้งคำถามว่า เคยไปคุยกับมุสลิมมั้ย อ๋อ ฉันไม่อยากคุยกับเขาหรอก ที่น่าสนใจคือเขาไปฟัง ไปหาข้อมูล ฟังอิหม่ามในยูทูบ นี่เห็นมั้ย ดูที่พูดสิ มันจะปกครองประเทศไทย คุณต้องไปหาข้อมูล เขาก็ตีความของเขา เขาเลือกข้อมูล ต้องยอมรับว่ามีมุสลิมที่พูดแบบสุดโต่ง ความสุดโต่งนั้น เขาก็เอามาเผยแพร่ต่อ เอามายกตัวอย่าง เกิดเป็นการเคลื่อนไหวให้คนต่อต้านมัสยิด เวลาชาวพุทธหาข้อมูลเกี่ยวกับมุสลิมจะชอบไปหาข้อมูลที่สุดโต่งแล้วนำมายกตัวอย่าง

"ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนอดทนหรือเข้าใจกัน บางอย่างมันเข้าใจกันยาก เข้าใจกันไม่ได้ เพราะความรับรู้ การมีชีวิต มันคนละแบบ ใครจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ เป็นอย่างที่เป็น เราก็เป็นคนเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ เราต้องเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ การเคารพทำให้ความหวาดกลัวน้อยลงและจะหายไป จะเป็นพุทธ เป็นมุสลิม ก็เป็นไป"

“กรณีขอนแก่นชัดเจนมาก มีการยกตัวอย่างในพม่าว่าทางนั้นยังไม่เอามุสลิมเลย ประเทศพม่ากำลังไปได้ดี แต่โรฮิงญาก่อความวุ่นวาย ขนาดอองซานซูจียังไม่รับเลย เห็นมั้ย เขาบอกว่าพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็ง จัดการได้ มีความเป็นพุทธที่เราควรจะเอาแบบอย่าง เลยมีการผลักดันให้เป็นพุทธศาสนาประจำชาติ แล้วยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น นอกจากในวัดยังมีการรวมตัวไปดู ไปเยี่ยมวัดในพม่า

“พระมีความเห็นว่ารัฐไม่เข้มแข็งพอ รัฐอ่อนแอ เห็นมั้ย รัฐไม่เอาพุทธศาสนา ขออะไรก็ไม่ได้ รัฐเอาใจอิสลาม ไปให้อิสลามสร้างมัสยิดทำไม มัสยิดใหญ่ๆ เกิดเพราะรัฐสนับสนุน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด มันเป็นการบริจาคจากที่อื่น เขายังบอกว่า เห็นมั้ย ตอนนี้ที่ไหนๆ มุสลิมก็เรียกร้องให้มีที่ละหมาด สนามบินต้องมีที่ละหมาดทำไม สถานที่ราชการมีที่ละหมาดทำไม เห็นมั้ย มันรุกทุกอย่าง เอาทุกอย่าง เรียกร้องขอทุกอย่าง ได้ทุกอย่าง เราไปยอมมันได้ยังไง รัฐไทยไม่เคร่งศาสนามากพอ รัฐแบบนี้อ่อนแอมาก เราต้องทำยังไงก็ได้ให้รัฐมีความเข้มแข็งและเอาศาสนาพุทธแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ศีลธรรม คุณธรรมที่มันย่ำแย่เพราะเราไม่เคร่งศาสนา เราปล่อยปละละเลยมาตั้งนานแล้ว บอกว่าที่ประยุทธ์ปฏิวัติมา ควรใช้จังหวะนี้เชิดชูพุทธศาสนา

“ผมไปดูที่มัสยิด พบว่ามัสยิดที่นั่นไม่ได้มีความเกาะเกี่ยวกับชุมชนมาก่อน อยู่ดีๆ คุณไปซื้อที่สร้างมัสยิดเลย โดยที่ไม่สร้างความเข้าใจ ไม่เข้าไปอยู่ก่อนสักสี่ห้าปี แล้วค่อยๆ ปฏิสัมพันธ์ ค่อยๆ สร้างการยอมรับในชุมชน ซึ่งแตกต่างจากมัสยิดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในชุมชน อยู่ข้างวัดเลย อิหม่ามที่มัสยิดแห่งนี้ก็บอกว่า เจ้าอาวาสดีมากเลยนะ เขายังมาถามเลยว่า ทำไมวันนี้ไม่ได้ยินเสียงอาซาน อิหม่ามก็บอกว่าลำโพงมันเสีย ความหมายก็คือเขามีการปฏิสัมพันธ์กันก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะสร้างมัสยิด มีการสร้างความเข้าใจกันก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน

“ความหวาดกลัวจากกรณีที่เราพบที่ขอนแก่นเกิดจากการได้รับสื่อจากโซเชียล มีเดีย ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไป กับสองคืออิทธิพลของสื่อออนไลน์ทำให้เกิดกระแสการเลือกรับข้อมูลในสิ่งที่ตนเองเชื่อและขาดการปฏิสัมพันธ์กัน การรู้จักกัน เช่นเมื่อก่อนเราอยากรู้จักชุมชนมุสลิม เราก็ไปเลย แต่ตอนนี้ดูแต่ออนไลน์ แล้วพวกที่ได้รับความนิยมในออนไลน์ก็เป็นพวกสุดโต่ง คนที่พูดจาให้คนเข้าใจกัน คนดูน้อย ไม่ค่อยดัง โซเชียล มีเดียเป็นข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งสำหรับผม”

ประคับประคองความสัมพันธ์

เราถามว่า แล้วจากการลงพื้นที่ ชาวมุสลิมในแต่ละแห่งต้องเผชิญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ บ้างหรือไม่ เอกรินทร์เล่าว่า ยังไม่มีชาวมุสลิมคนใดเจอการด่าทอหรือเฮทสปีช อย่างน้อยก็ในขอบเขตงานศึกษาของเขา อีกทั้งยังไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมแต่อย่างใด

“ถามว่าเขารู้สึกยังไง เขาบอกว่าเขารู้ว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นคนมาใหม่ อย่างที่ขอนแก่น กลุ่มแขกปาทานก็รู้ว่าเป็นคนมาใหม่ ผมสัมภาษณ์ยายคนหนึ่งอายุ 70 กว่าแล้ว มาจากปากีฯ รุ่นแรกๆ เลย ขายผ้าที่ตัวเมืองขอนแก่น แกบอก โอ๊ย คนที่นี่มีใครไม่รู้จัก คนเฒ่าคนแก่เขารู้จักฉันหมด เราก็เชื่อของเรา แต่อย่ามายุ่งกับเรา เราก็ไม่ยุ่งกับเขา ค้าขายกันไป เขาอยู่มาจนอายุ 70 กว่าแล้วก็ไม่มีเรื่องแบบนี้ คนที่อยู่ในฐานะคนกลุ่มน้อย การจัดระเบียบ จัดการตัวเอง เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นทักษะแบบหนึ่ง แต่มุสลิมที่อยู่โดยไม่เจอความหลากหลายจะขาดทักษะมากๆ ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น คนมุสลิมที่ขอนแก่น ที่เชียงใหม่ก็มีการปรับตัว อยู่ร่วมกันได้ เป็นเรื่องปกติ”

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ การรู้จักกันในระนาบปัจเจกบุคคล มันช่วยประคับประคองไม่ให้เกิดการแสดงความรุนแรงหรือการเหยียดแบบสุดโต่ง

“ผมคิดว่าน่าสนใจ เขาปรับตัวยังไงเวลาเจอเรื่องแบบนี้ เขาบอกว่า เราอาจต้องไปเยี่ยมเยียน ไปอธิบาย เราจะพบเจอคนช่วงอายุ 50 กว่าๆ ที่เขารู้จักกันมาก่อน เขาอธิบายลูกหลานเขา สำหรับผม ระดับปัจเจกไม่ได้เกิดปัญหา แต่ที่เกิดปัญหาจริงๆ คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ”


สำหรับเอกรินทร์ เขาเห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสุดโต่งของคนจำนวนน้อยจาก ‘ทั้งสองฝ่าย’ ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้สุดโต่งอยู่ลำบาก คำเทศนาทั้งของพุทธและอิสลามอาจทำให้หลายคนนำข้อมูลจากฝ่ายสุดโต่งมาสวมตัวเองและโจมตีอีกฝั่งหนึ่งแบบเหมารวม ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องอันตรายในอนาคต

“ข้อเสนอของผมคือรัฐต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าไปยุ่ง อย่าเลือกข้าง รัฐควรยุ่งกับศาสนาให้น้อยที่สุด ผมเชื่อว่ารัฐแบบฆราวาสทำให้คนอยู่กันได้ ผมไม่เชื่อเรื่องรัฐอิสลาม”

พระมหาอภิชาติ


เหตุนี้ เอกรินทร์จึงไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระมหาอภิชาติ แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พระมหาอภิชาติก็ตาม เขาเห็นว่าหากรัฐเห็นว่าพฤติกรรมของพระมหาอภิชาติมีความผิดก็ควรใช้กระบวนการตามปกติ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนและให้พระมหาอภิชาติได้ชี้แจง ไม่ใช่การบังคับจับสึกเช่นที่เกิดขึ้น

“มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะก่อเกิดปัญหาในอนาคต แล้วคุณจะรับมือกับแฟนคลับท่านพระอภิชาติอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

กลัวและเกลียด

ดูเหมือนว่าความหวาดกลัวอิสลาม บางได้แผ่ขยายเป็นความเกลียดชังเสียแล้ว...

“เวลาเรากลัวของบางอย่าง อย่างกลัวผี เรากลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่มีความรู้ กลัวไว้ก่อนกับสิ่งที่เราไม่รู้ ความรู้จะทำให้เรารู้จักและอยู่กันได้ แต่ความไม่รู้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ศาสนาก็บอก โรคกลัวอิสลาม ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องปกป้องตัวเอง ไม่อยากให้มี ไม่อยากเห็น เพราะกลัวและไม่รู้จักมัน

“พอมาอีกระดับหนึ่ง ความเกลียดไม่ใช่ไม่รู้จัก รู้แล้ว แต่รู้อย่างถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เราไม่เกลียดสิ่งที่เราไม่รู้จักหรอก ดังนั้น ความเกลียดอิสลามผมคิดว่าเกิดจากการที่รู้ว่ามุสลิมเป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมต่างไปยังไง ไม่เข้ากับสิ่งที่ตัวเองเป็น คือรู้บ้างคร่าวๆ แล้วและรู้สึกเกลียด กับสอง สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาเราเกลียดบางสิ่งบางอย่างด้วยเหตุผลว่า ถ้ามันอยู่กับเรา มันทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง”

จุดอันตรายของความเกลียดอยู่ที่ว่า ถ้ามีการปลุกปั่นอารมณ์นี้ มันอาจปะทุไปสู่ความรุนแรง

“ความเกลียดที่อยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลมันไม่มีอำนาจ แต่เมื่อถูกปลุกปั่น จัดการ รวมกลุ่ม เพื่อปฏิบัติการ มันจะควบคุมยากและนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง”

เราถามต่อว่า ในสังคมไทยมีโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามเป็นความรุนแรงหรือไม่

“ประเทศไทยในระยะใกล้ ถ้าเทียบกับกรณีอื่นๆ ในต่างประเทศที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ผมยังไม่เห็น ผมว่าสังคมไทยมีทุนทางสังคมที่ค้ำจุนกันอยู่ แต่มันก็ถูกใช้จนค่อยๆ หมดไป แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย ถ้ามันมีเงื่อนไขสองสามประการ หนึ่ง-มีการจัดตั้งของกลุ่มสุดโต่งทั้งสองฝ่าย สอง-มีการสนับสนุนจากรัฐแบบใดแบบหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมหมายถึงคนที่มีอำนาจลงมาเล่นเรื่องนี้ เข้าร่วม หรือผู้นำแต่ละศาสนาที่มีบทบาท มีตำแหน่งแห่งที่ มาพูด โน้มน้าว ให้เกิดเหตุ สาม-เหตุการณ์จากต่างประเทศอย่างในพม่าหรือความรุนแรงในตะวันออกกลางอาจจะนำไปสู่การลุกลาม ในโลกปัจจุบันมีโอกาสเป็นไปได้เพราะอิทธิพลจากโซเชียล มีเดีย สรุปก็คือระยะสั้นยังไม่มองไม่เห็น แต่มีข้อควรระวัง”

เราจะเลิกกลัวกันได้อย่างไร


“พูดตามประสาผมนะ ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนอดทนหรือเข้าใจกัน บางอย่างมันเข้าใจกันยาก เข้าใจกันไม่ได้ เพราะความรับรู้ การมีชีวิต มันคนละแบบ ใครจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ เป็นอย่างที่เป็น เราก็เป็นคนเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ เราต้องเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ การเคารพทำให้ความหวาดกลัวน้อยลงและจะหายไป จะเป็นพุทธ เป็นมุสลิม ก็เป็นไป

“เคารพว่าชาวมุสลิมมีอยู่จริง มีมานานแล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร มุสลิมอยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว แต่เพราะเรากลัวตัวเราเองที่จะสูญเสียอัตลักษณ์หรือเปล่า เราจึงสร้างความหวาดกลัวหรือกลัวคนอื่น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.