บันทึก 6 ตุลา
ในสังคมแบบเอเชีย เด็ก ๆ มักถูกสอนให้ต้องรู้จักกตัญญูทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ดูแลพวกเขาในยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะลูกคนโตของบ้านมักต้องรับภาระหน้าที่ทางศีลธรรมนี้มากกว่าใคร เพราะไม่เพียงต้องดูแลพ่อแม่เท่านั้น บางครั้งยังต้องดูแลน้อง ๆ ด้วย และหากเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวจีนด้วยแล้ว เขามักกลายเป็นความหวังของคนทั้งครอบครัวเลยทีเดียว
หากเป็นลูกที่เอาถ่าน เรียนหนังสือเก่ง ได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็ยิ่งเป็นทั้งความหวังและความภาคภูมิใจของคนทั้งครอบครัว โดยเฉพาะในทศวรรษ 2510 ในยุคที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศน้อยกว่าจำนวนนิ้วมือนิ้วเท้ารวมกัน ลูกบ้านไหนเข้ามหาวิทยาลัยได้ย่อมเป็นเกียรติเป็นศรีและความหวังอันยิ่งใหญ่ของครอบครัว
คนเป็นลูกเองก็รับรู้ถึงความคาดหวังนี้ พวกเขาจึงมักมีความหวังว่าเมื่อเรียนจบ พวกเขาก็จะช่วยแบกรับภาระของพ่อแม่ จะเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขสบายมากยิ่งขึ้น นี่ดูจะเป็นความฝันพื้น ๆ อันยิ่งใหญ่ของคนในยุคหนึ่ง
จากการสืบค้นประวัติและติดตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ 6 ตุลา โครงการ [DOct6] พบว่าผู้เสียชีวิตหลายคนเป็นลูกคนโต หรือลูกชายคนแรกของครอบครัวที่ได้มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย อาทิ เช่น
วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัว เสียชีวิตจากการถูกยิงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ รามคำแหง เป็นลูกชายคนโตและคนเดียวของครอบครัว เสียชีวิตจากการถูกยิงในธรรมศาสตร์
พงษ์พันธ์ เพรามธุรส เป็นลูกคนที่สาม แต่เป็นลูกชายคนแรกของครอบครัว ฐานะที่บ้านยากจนมาก เขาจึงหารายได้ด้วยการขายอาหารเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน พงษ์พันธ์เรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง เสียชีวิตเพราะสะเก็ดระเบิดขณะทำหน้าที่การ์ดบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์
อภิสิทธิ์ ไทยนิยม เสียชีวิตขณะอายุ 21 ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ รามคำแหง เขาเป็นลูกชายคนเดียว แต่เป็นเป็นลูกคนที่สองของครอบครัวที่มีพี่น้องสี่คน จาก อ. แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เขาเสียชีวิตจาก “บาดแผลสะเก็ดระเบิดทำลายสมอง”
จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ปี 2 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เสียชีวิตจากการถูกยิงในธรรมศาสตร์ เป็นคนสุราษฎร์ธานี พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ เฝ้ารอคอยถึง 20 ปีจึงได้รับรู้ความจริงว่าลูกชายคนโตของครอบครัวจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว
อับดุลรอเฮง สาตา นักศึกษาคณะสาธารณสุข มหิดล เสียชีวิตจากการถูกยิงเพียง 6 เดือนก่อนที่เขาจะเรียนจบ และตั้งใจจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดที่นราธิวาส เขามาจากครอบครัวยากจน มีพี่น้อง 4 คน คนอื่น ๆ เรียนในโรงเรียนศาสนากันหมด ยกเว้นอับดุลรอเฮงคนเดียวที่เรียนทางสายสามัญ เขาต้องเป็นคนเรียนเก่งมาก จึงเป็นคนเดียวของตำบลที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย อับดุลรอเฮงยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม “สลาตัน” ซึ่งเป็นกลุ่มปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในช่วงทศวรรษ 1970-1990 หากเขายังมีชีวิตอยู่ เขาคงมีบทบาททางสังคมและการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เช่นเดียวกับมิตรสหายในกลุ่มสลาตันหลายคนที่มีชื่อเสียงทางการเมืองระดับประเทศ
พ่อแม่ที่ต้องสูญเสียลูกล้วนเจ็บปวดรวดร้าวด้วยกันทั้งนั้น แต่การสูญเสีย “ความรักและความหวัง” อย่างคาดไม่ถึง จากการฆาตกรรมอย่างจงใจและโหดเหี้ยม จากการถูกป้ายร้ายว่าเป็นคนชั่วช้าทรยศต่อชาติ และไม่สามารถเรียกร้องหาความยุติธรรมจากใครได้ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ทำให้โลกที่เต็มไปด้วยความหวังของพวกเขาต้องดับมืดลงอย่างฉับพลัน .... และอย่างเลือดเย็นเกินไป
ที่มา: เฟสบุ๊คแฟนเพจ บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
เกี่ยวกับโครงการ บันทึก 6 ตุลา
แม้จะผ่านไป 40 ปีแล้ว และแม้ว่าในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาจะมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ 6 ตุลายังมีอยู่อย่างจำกัด 6 ตุลายังคงเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ต่อบุคคล สถาบันและอำนาจต่างๆ ของสังคมไทย รัฐจึงพยายามจำกัดความรู้ความเข้าใจ และต้องการให้สังคมไทยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาไปเสีย สาธารณชนจึงรับรู้แต่เพียงว่า 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก อีกทั้งมักถามกันว่าเราเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลาหรือยัง กระนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับ 6 ตุลาก็มีอยู่อย่างจำกัด
เราคงเรียนรู้อะไรไม่ได้มาก เพราะจนถึงวันนี้ ข้อมูลพื้นฐานก็ยังสับสนอยู่ เช่น มีผู้เสียชีวิตกี่คน คนที่ระบุชื่อไม่ได้ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่เช่นเดิม เกิดอะไรขึ้นบ้างในเช้าวันนั้น มีผู้ถูกแขวนคอกี่คน พวกเขาเป็นใครชื่ออะไร หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับรายงานอะไรบ้าง ยังไม่มีความพยายามรวบรวมข้อมูลรูปภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ผู้คนเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขสับสนบ่อยครั้ง เพราะเขาไม่ทราบว่าจะค้นคว้าหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ไหนบ้าง ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองมากกว่านี้ เช่น หน่วยงานใดบ้างที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ใครสั่ง กลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ ที่ผู้คนส่วนมากไม่รู้จัก มีกลุ่มอะไรบ้าง ใครจัดตั้งเครือข่ายฝ่ายขวาที่มีส่วนร่วมปฏิบัติการจากระดับล่างจนถึงระดับบนเป็นอย่างไร ฯลฯ
ในระยะไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แหล่งข้อมูล (Archives) ได้กลายเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หลายประเทศให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะกลบกลืนโศกนาฏกรรมที่รัฐก่อขึ้นและเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ จึงมีการสร้างแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นสถานที่และแหล่งข้อมูลออนไลน์ขึ้นมากมายเพื่อจุดประสงค์นี้
โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” คือแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต
แสดงความคิดเห็น