Posted: 28 Sep 2017 01:32 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประธาน กสม. เผยหลังส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ ส่งร่าง พ.ร.ป. กสม. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุหากไม่ส่งตีความก็มีแนวทางในการต่อสู้ต่อไป ยันเตรียมไว้อย่างชัดเจนแล้ว

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ทำหนังสือ จำนวน 2 ฉบับ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 248 (2) ของรัฐธรรมนูญ 2560  ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพี่อวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วนั้น จากนี้จะขอรอดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร หากนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรส่ง ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวก็มีแนวทางในการต่อสู้ต่อไป เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่ามีการเตรียมแนวทางไว้อย่างชัดเจน เตรียมพร้อมไว้แล้ว ถ้าถึงเวลาเมื่อไรก็เมื่อนั้น

สำหรับหนังสือดังล่าวที่ ปรธานกสม. ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้น ระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.กสม.มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้

1.ปัญหาการให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทันทีทั้งหมด (เซตซีโร่) ตามร่างมาตรา 60 โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล (หลักการปารีส) เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. ทั้งๆ ที่ กสม.ชุดปัจจุบันได้รับการสรรหามาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย รวมทั้งคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบัน และได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2558 การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เหตุผลโดยอ้างหลักการปารีสที่เป็นของต่างประเทศมาเซตซีโร่ กสม. ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นนี้ เป็นการให้ความสำคัญแก่ต่างชาติจนเข้ามามีอิทธิพลอยู่เหนือแผ่นดินไทย ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมในส่วนของหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของบุคคล

2. การให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 40 วรรคสาม ประกอบมาตรา 20(4) และวรรคสาม, มาตรา 21 ของ พ.ร.ป.กสม. เป็นการถอดถอน กสม. ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามตามมาตรา 246 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

และ 3.ข้อห้าม กสม.รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.กสม. ห้ามเฉพาะรับจากองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ) แต่ไม่ได้ห้ามรับจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ขณะเดียวกันในวรรคสอง กลับมีข้อยกเว้นให้ กสม.สามารถรับเชิญจากองค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศไปประชุมหรือสัมมนาโดยผู้เชิญออกค่าใช้จ่ายให้ได้ ทั้งที่จะต้องมีข้อห้ามในวรรคหนึ่งก่อนจึงจะมีข้อยกเว้นในวรรคสองได้ อนึ่ง การมีบทบัญญัติในเรื่องนี้ในร่าง พ.ร.ป.กสม. จะเป็นการตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ กสม.ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 247 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ตามขั้นตอนหลังจาก สนช.ประชุมลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กสม. ตามร่างของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในวันที่ 14 ก.ย.แล้ว ต่อมาวันที่ 15 ก.ย. เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.กสม.ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญ นายกฯมีระยะเวลา 25 วันเพื่อพิจารณากรณีตามมาตรา 148 ถ้านายกฯสงสัยก็ให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.กสม.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญ ก็ให้ร่างนั้นเป็นอันตกไป หรือถ้าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่ข้อความสำคัญ ก็ให้เฉพาะข้อความนั้นตกไป และให้นายกฯนำร่าง พ.ร.ป.กสม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 ต่อไป


ที่มา สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.