Posted: 25 Sep 2017 09:31 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชุมชนก้าวใหม่และตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เตรียมร้องกรรมการสิทธิฯ พร้อมติดตามความคืบหน้า กรณีขอให้ยับยั้งและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ พรุ่งนี้


25 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.60) เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 6-7 ตัวแทนจากชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในกรณีการข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ พร้อมติดตามผลการยื่นหนังสือจากทาง วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้


สำหรับเหตุผลของการเข้ายื่นจดหมายและติดตามความคืบหน้ากับ กสม. ในครั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่งานโครงการสัมมนา “รับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ทั้งระบบ” ณ. โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนชุมชนก้าวใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึง กสม. เรื่อง ขอให้ยับยั้งและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จ.สุราษฎร์ธานี ในการเข้าปรับแผนผังใหม่เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างรุนแรง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ชุมชนก้าวใหม่ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ท้องที่ หมู่ที่ 5 ต.ทรทอง อ.ชัยบุรี จำนวน 124 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเข้ารังวัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทำแผนผังถนนใหม่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จ.สุราษฎร์ธานี โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2552 นั้นทางชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ นั้นได้มีการประสานงานทางนโยบายร่วมกับรัฐบาล จนได้รับการผ่อนผัน อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตปกติในระหว่างรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยในขณะเดียวกันชุมชนก้าวใหม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองให้เป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.53 ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วนการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ด้วย

ขณะนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อต้องการที่จะบุกเบิกพื้นที่สร้างถนนซอยสายใหม่ทั้งหมด 27 ซอย กว้าง 6 เมตรรวมความยาวประมาณ 16,000 เมตร ซึ่งได้ไปทับซ้อนทำลายแปลงเกษตรที่เกษตรกรได้ปลูกสร้างพืชผลต่างๆและได้รับผลผลิตแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชอาหารและพื้นที่ทางการเกษตร เพราะการเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนในปัจจุบัน และจัดทำแผนผังใหม่ โดยไม่มีความจำเป็น โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย การวางแผนผังถนนใหม่ การตัดซอยใหม่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จะต้องถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชยืนต้นที่ปลูกสร้างมานาน และเริ่มได้รับผลผลิต มาประมาณ 3 ปี ส่งผลกระทบให้สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากการขายผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เกษตรกรรายย่อย ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. จ.สุราษฎร์ธานี จะต้องกลายเป็นแรงงานไร้ที่ดิน ไม่อาจเข้าถึงที่ดินที่จะใช้ทำการเกษตร ต้องกลับไปเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว ก่อนเข้ามาอยู่อาศัย ในที่ดินแปลงนี้ จากชีวิตที่เริ่มมีความมั่นคง ต้องย้อนกลับไปสู่ความไม่มั่นคงอีกครั้ง ถ้าหากมีการทำถนนตามผังใหม่ จะถูกไถดันทำลายต้นไม้ ผลอาสินเสียหายหมดแล้วโดยที่ไม่มีหลักประกันว่าระหว่างที่ต้องใช้เวลา ในการปลูกสร้างพืชผลขึ้นมาใหม่ จะหาเงินที่ไหนมาลงทุน จะหาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารและใช้จ่ายในครอบครัว ผลกระทบที่จะตามมา เกษตรกรเหล่านี้ จะต้องดิ้นรนหาเงินและอาจ ละทิ้งที่ดินไปทำงานรับจ้าง หรือขายที่ดินแม้กฎหมายจะห้ามซื้อขายก็ตามเพื่อความอยู่รอด

ที่ผ่านมา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ก็ได้รับการข่มขู่ คุกคามจากกลุ่มอิทธิพลที่ในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งเป็นการสร้างความหวาดกลัว และกังวลใจ ให้กับ สมาชิกชุมชนก้าวใหม่ที่มีการเรียกร้องในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทยได้ต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และใน 21 ก.ค. 60 ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ได้แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งในเรื่องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ

โดยได้มีข้อเสนอแนะมาในข้อที่ 31. โดยทางคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย ดังนี้ 1 ) เลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและให้นำไปปฏิบัติโดยไม่ชักช้า ในการคุ้มครองหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อทำให้พวกเธอสามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรี ปราศจากความหวาดกลัวหรือถูกคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดี การคุกคาม ความรุนแรงหรือการข่มขู่ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของสำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม โดยการปรึกษาหารือกับหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 2 ) สืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมทุกกรณีที่มีการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.