Posted: 26 Sep 2017 07:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


การแสดงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong"



นักศึกษาและเยาวชนที่ร่วมอบรมเวิร์คชอปศิลปะและนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong"

ในช่วงสัปดาห์นี้ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ "Human ร้าย, Human Wrong" ผลงานของนักศึกษาและเยาวชน 18 คน ที่ร่วมอบรมเวิร์คชอปศิลปะมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยผลงานของพวกเขานำเสนอตั้งแต่ปัญหาสังคม จนถึงเรื่องใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้าม

โดยในวันเปิดนิทรรศการเมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา มีการแนะนำโครงการโดยนักศึกษาที่ร่วมนำเสนอผลงาน นอกจากนี้ยังมีบุคคลจากหลายหลายวงการร่วมแสดงความยินดีกับศิลปินผู้นำเสนอผลงาน หนึ่งในนั้นคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวว่า เขารู้สึกแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่คนเราออกไปประท้วงอะไรก็แล้วแต่ เช่นในปี 2552 ปี 2553 หรือ 14 ตุลา ฟังดูแล้วเหมือนเราออกไปด้วยเหตุผล จริงๆ ไม่ใช่ จริงๆ เราไปเพราะเรารู้สึกว่าต้องออกไป

"ทีนี้น่าประหลาดใจที่ว่าในการที่ทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับการกดขี่เสรีภาพ เราพยายามสื่อสารกันด้วยเหตุผล ไม่ค่อยมีคนสื่อสารด้วยความรู้สึก และที่ผมมาดูนิทรรศการวันนี้ผมรู้สึกแปลกใจว่าผมถูกสื่อสารทางความรู้สึก และผมคิดว่ามันสะเทือนอารมณ์ยิ่งกว่าฟังเลคเชอร์ที่เป็นเหตุเป็นผล คือถ้าเราไม่มีความรู้สึก เราก็ไม่มีวันขึ้นไปต่อสู้กับทรราชได้"

ส่วนหนึ่งของ Human ร้าย, Human Wrong


“กุญแจความดี (Thainess Lock)” ผลงานของ พิสุทธิ์ศักดิ์ วัฒนาชัยกูล ซึ่งตั้งคำถามกับหลักปฏิบัติของความดีงามหรือจริยธรรมแบบไทยๆ ที่ถูกผลิตซ้ำในสังคมอย่างขาดการตั้งคำถาม



“ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ผลงานของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ แถวของหน้ากากสีขาวรูปใบหน้ามนุษย์นิ่งเรียบ 43 รูป และใบหน้าซึ่งถูกประทับไว้ด้วยบทกลอนที่นำมาจาก “สุภาษิตสอนหญิง” ของสุนทรภู่ สะท้อนการกดสถานะของผู้หญิง


“Bed Kingdom” ผลงานของศราวุฒิ ดอกจำปา ที่ชี้ว่า แม้ว่าแนวคิดเรื่อง sexual consent หรือการให้ความยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม ทว่าแนวคิดดังกล่าวกลับเป็นแนวคิดที่น้อยคนนักในสังคมจะให้ความสำคัญ ทั้งที่การขาดความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องนี้คือบันไดขั้นแรกที่นำมาสู่วัฒนธรรมการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาสู่การยัดเยียดความผิดให้ผู้ถูกกระทำ


ส่วนหนึ่งของผลงาน "Look at You" โดย กรรษกร พรมคง สะท้อนถึงการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบนโลกออนไลน์ ทั้งโดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว


“นวัตกรรมศักดิ์สิทธิ์พิชิตเป้า (The Victory of Sacred Innovations)” ผลงานของ กอบพงษ์ ขันธพันธ์ สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน อย่างแท่งคอนกรีตสำหรับตั้งศาลพระภูมิ เชื่อมติดกับปืนของเล่น พร้อมเทคนิคพ่นสีสเปรย์ ตั้งคำถามชวนขบคิดถึงการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ การควบคุมผู้คนด้วยความกลัว ความรุนแรง และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีอำนาจใดสามารถจำกัดเสรีภาพทางความคิดและจินตนาการของผู้คน


การแสดงและศิลปะชวนขบคิดเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง


การแสดงประกอบผลงานศิลปะ “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ

นอกจากนี้ยังมีการแสดงแนว Performance เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดงาน หนึ่งในนั้นคือการแสดงชุด “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” ผลงานของ ธัญลักษณ์ มีชำนะ ซึ่งมีการแสดงประกอบผลงานศิลปะด้วยการขีดสีแดงบนผ้าสีขาว รวมทั้งบนร่างกายของผู้แสดงจนใบหน้าและร่างกายถูกขีดด้วยเส้นสีแดง

สำหรับผลงาน “ฉันเท่าเทียม (I – Equal)” เป็นแถวของหน้ากากสีขาวรูปใบหน้ามนุษย์ 43 รูป ติดอยู่ข้างผนัง แต่บนใบหน้านิ่งเรียบนั้นกลับถูกติดสลากไว้ด้วย "สุภาษิตสอนหญิง" ที่มีนัยกดทับสถานะของผู้หญิง

โดยผลงานศิลปะชุดนี้มุ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมบนความเท่าเทียมของเพศชายและเพศหญิงในสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังภายใต้ค่านิยมความเชื่อที่ทำให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าและสร้างกรอบที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ไม่ปฏิบัติตามค่านิยมความเชื่อนั้น โดยผลงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนการถูกพันธนาการเรือนร่างของผู้หญิงด้วยคำสอนและสุภาษิตสอนหญิงต่างๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย



การแสดงและผลงานชุด "Cyber Bullying" ของชินดนัย ปวงคำ มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายของการกลั่นแกล้งและสร้างความเกลียดชังในโลกอินเทอร์เน็ต



คลิปการแสดงชุด "Cyber Bullying" ของชินดนัย ปวนคำ

การแสดงอีกชุดก็คือ “Cyber Bullying” ผลงานของ ชินดนัย ปวนคำ ซึ่งการแสดงของเขาตรึงความสนใจของผู้เข้าชมนิทรรศการ โดยในขณะที่เขานั่งอยู่ในกระบะที่มีน้ำขัง เหนือขึ้นไปมีก็อกน้ำรูปยกนิ้วโป้งเสมือนการ “กดไลค์” เปิดปล่อยน้ำไหลรดศีรษะ เขากล่าวถ้อยคำซ้ำไปมาว่า “ไอ้สัตว์ ไอ้สัตว์ ไอ้สัตว์ ...” พร้อมตบปากตัวเองทุกครั้งที่ได้กล่าวถ้อยคำ

ด้านหลังของชินดนัย คือดินเผาปั้นคล้ายรูปกะโหลกศีรษะมนุษย์วางเรียงกันนับพันลูก โดยคำอธิบายประกอบผลงานของเขาก็คือ “แก้ไขความรุนแรงด้วยสันดาน… ในโลกออนไลน์ เป็นพื้นที่อิสระในการใช้คำแสดงสันดาน ใช้ตัดสิน ตัดสิทธิ์ เฉกเช่นตัวอักษรออนไลน์ ถึงแม้จะบางเบาไร้ตัวตน แต่กระนั้นก็ยังสามารถปลิดชีวิตคนได้

ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความเลวร้ายของการกลั่นแกล้งและสร้างความเกลียดชังในโลกอินเทอร์เน็ต และกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักว่าการใช้ถ้อยคำทำร้ายกันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”


ไอเฟล และผลงาน "Bed Kingdom" ชวนขบคิดถึงหลักความยินยอมทางเพศและปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

อีกผลงานหนึ่งซึ่งถูกพูดถึงก็คือ “Bed Kingdom” ผลงานของ ศราวุฒิ ดอกจำปา หรือ "ไอเฟล" นักศึกษาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานศิลปะของเขาสะท้อนพูดถึงเรื่องที่ถูกละเลยอย่างเรื่องความยินยอมทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเตียงขนาดใหญ่ถูกตั้งอยู่กลางสถานที่จัดนิทรรศการ คลุมด้วยผ้าปูเตียงที่เย็บต่อกันจากเสื้อผ้าของผู้หญิง ที่ปักตัวอักษรเป็นประโยคข้อความที่สะท้อนความไม่เข้าใจต่อหลักความยินยอมทางเพศ

"ไอเฟล" กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เธอร่วมเวิร์คชอบศิลปะนี้ว่า มีความชอบงานศิลปะมาก่อน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้ทำ การเข้าร่วมเวิร์คชอปครั้งนี้จึงได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์กับงานศิลปะ ถือว่าได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ระหว่างกระบวนการเวิร์คชอปก็ได้เจอเพื่อนหลากหลายแขนง ทั้งคนที่สนใจด้านศิลปะจัดวาง (Installation) และคนที่ชำนาญเรื่องศิลปะเสียง

สำหรับผลงาน “Bed Kingdom” ต้องการสื่อสารเรื่อง Sexual consent โดยผลงานนี้ทำให้เตียงใหญ่กว่ามาตรฐาน เพราะต้องการทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องการให้คนตระหนักถึงเรื่อง Consent และมีการเย็บเสื้อผ้าต่อๆ กัน และปักข้อความเป็นคำพูด ที่สะท้อนการให้เหตุผลในสังคมแบบมโนไปเองของผู้ชาย เพื่อตั้งคำถามว่าภายใต้การเปิดเสื้อผ้าเหล่านี้ ได้รับการยินยอมจริงๆ ใช่ไหม ใช้การปักมือเป็นคำพูด เพราะอยากวิพากษ์สังคมที่ให้สิทธิผู้ชายในการสั่งสอนผู้หญิง โดยไม่ได้มองตัวเองเลยว่าสาเหตุอาจจะเกิดขึ้นจากทัศนคติของผู้ชายก็ได้

000


“Human ร้าย, Human Wrong” เป็นโครงการฝึกปฏิบัติการทำงานศิลปะแนวใหม่ ที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการสร้างสรรค์แสดงออกและสื่อสารเรื่องใกล้ตัวที่ถูกทำให้ไกลเราจนยากที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ผ่านกิจกรรมฝึกปฏิบัติระยะยาวว่าด้วยศิลปะและการพูดคุยเชิงวิพากษ์สนุกๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงศักยภาพทางศิลปะ บ่มเพาะแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และตั้งคำถามกับเรื่อง “สิทธิ์” ที่เราพึงมีในชีวิตประจำวัน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบที่เสรีเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ

“Human ร้าย, Human Wrong” จะจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ จนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook แฟนเพจ Human ร้าย, Human Wrong”

หมายเหตุ: โปรดติดตามตอนหน้า พูดคุยกับเยาวชนผู้ร่วมแสดงผลงานและภัณฑารักษ์นิทรรศการ ถึงกระบวนการเวิร์คชอปและผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงหลังจัดแสดงผลงาน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.