Posted: 29 Sep 2017 06:37 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เรื่อง: นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ: อิศเรศ เทวาหุดี
ความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก คำสำคัญที่ผูกติดกับความเหลื่อมล้ำก็คือระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ระบอบชนชั้น นายทุน-แรงงาน การกระจุกตัวของอำนาจและทรัพยากรที่อยู่กับคนส่วนน้อยในสังคม กับคำถามที่ตามมาว่า ทฤษฎี Trickle Down Economic หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า ‘ทฤษฎีไหลริน’ หมายความว่าถ้าเศรษฐกิจส่วนบนดี ผลประโยชน์จะค่อยๆ ไหลรินมาสู่ส่วนอื่นๆ นั่นเป็นไปได้จริงหรือไม่ (อ่านบทความเกี่ยวข้อง)
ประชาไทชวนดูหนังที่พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์ฮอลลีวูดรวม 6 เรื่อง เริ่มด้วย Requiem for the American Dream (2015) ภาพยนตร์สารคดีที่สัมภาษณ์นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ทรงอิทธิพลของโลก วิพากษ์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของอเมริกาอย่างถึงแก่น ชี้ให้เห็นว่า ทำไมระบอบประชาธิปไตยจึงไปด้วยกันไม่ได้กับทุนนิยม และท้ายสุดแล้วประชาธิปไตยในอเมริกาก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจที่กุมอำนาจทางการเงินของประเทศ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นโยบายของรัฐที่ออกมาไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครมากเท่ากับกลุ่มชนชั้นนายทุน และไม่ได้กระจายลงไปยังประชาชนทั่วไปอย่างที่ควรเป็น
ถัดมาทางฝั่งฮอลลีวูด ความเหลื่อมล้ำถูกใช้เป็นธีมหลักของภาพยนตร์หลายเรื่อง ส่วนใหญ่แล้วสะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ความร่ำรวยมักกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อยที่เหนือกว่าทั้งในด้านอำนาจ ความรู้ ความสามารถ คนส่วนใหญ่ในสังคมยังเป็นคนยากจนและถูกกดขี่ จุดเปลี่ยนของเรื่องคือคนยากไร้เหล่านี้ลุกขึ้นมาปฏิวัติหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อถีบตัวเองขึ้นไปให้ทัดเทียม เพื่อการกระจายอำนาจ หรือเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจเดิม เช่น Gattaca (1997) In Time (2011) Snowpiercer (2013) Elysium (2013) รวมถึงหนังเอเลี่ยนมุมกลับที่สะท้อนภาพความเป็นเอเลี่ยนเหมือนกับผู้อพยพอย่าง District 9 (2009)
0000
Requiem for the American Dream (2015)
ชื่อเรื่องถ้าแปลเป็นไทยก็ประมาณว่า 'เพลงสวดศพสำหรับความฝันแบบอเมริกัน' คนที่กล้าตั้งชื่อแรงขนาดนี้คือใครกัน พวกเขาคือคนทำสารคดีเรื่องนี้ซึ่งประกอบด้วย Peter D. Hutchison, Kelly Nyks และ Jared P. Scott เป็นรูปแบบสารคดีเชิงสัมภาษณ์ 'นอม ชอมสกี' ที่ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 4 ปี จุดมุ่งหมายคือการตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจที่คาบเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองของอเมริกาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ชอมสกีเท้าความตั้งแต่จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยสมัยกรีกโบราณ อริสโตเติลกล่าวว่า ประชาธิปไตยนั่นดีที่สุดจากทั้งหมด แต่เขาชี้ข้อเสียที่สำคัญคือ จะทำให้คนจนซึ่งมีจำนวนมากกว่ารวมกันแย่งชิงทรัพยากรจากคนรวย เป็นวิธีคิดเดียวกับเจมส์ เมดิสัน ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของอเมริกา แต่ที่ทำให้อริสโตเติลและเมดิสันต่างกันก็คือ อริสโตเติลลดความไม่เท่าเทียม เสนอแนวคิดการกระจายทรัพยากรคล้ายรัฐสวัสดิการในสมัยนี้ ในขณะที่เมดิสันเลือกวิธีการที่ชอมสกีเรียกว่า “ลดทอนประชาธิปไตย” เพื่อคงอำนาจคนรวยเอาไว้
อเมริกาแม้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย แต่ผู้ที่กุมอำนาจการออกกฎหมายและนโยบายคือเหล่าบรรดานายทุนใหญ่ที่ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง เกิดเป็นซึ่งที่ชอมสกีเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” 70 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนไม่มีผลต่อการออกนโยบายเลย และนโยบายที่ออกก็มักเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ประชาชนถูกผลักไสให้เป็นแค่คนชายขอบ ต้องช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้นนโยบายจะเป็นเพียงเงามืดของธุรกิจที่บดบังสังคม
ทศวรรษ 60 เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยของเหล่าประชาชนที่เคยถูกกดขี่ วัยรุ่นเลือดใหม่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เหล่านายทุนใช้ข้ออ้างว่าการเรียกร้องของคนพวกนี้ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก และให้รัฐบาลมีมาตรการในการจัดการ
ดังนั้นประชาธิปไตยกับความเป็นนายทุนจึงไม่เคยไปกันได้ด้วยดี เหล่านายทุนยังมีอิทธิพลถึงขนาดรัฐบาลในแต่ละยุค หลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (ผู้ออกกฎหมายเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค จนถูกหมายหัวจากบรรดาชนชั้นนายทุนใหญ่) ต้องพากันเอาเงินภาษีของรัฐไปโปะหนี้เน่าที่เกิดขึ้น ด้วยข้ออ้างว่าตนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หากล้มละลายจะสร้างมูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
ชอมสกีอธิบายว่าสิ่งที่ทำให้เงินไม่ไหลไปถึงคนจน นอกจากเรื่องการกำหนดนโยบายที่เป็นวงจรอุบาทว์แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากนายทุนไม่ต้องแข่งขันแต่ได้รับการซับพอร์ทอย่างเต็มที่ พวกเขาได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินมหาศาล ในขณะที่ภาคแรงงานต้องแข่งขันกับแรงงานทั่วโลก แข่งขันกับแรงงานจีนซึ่งค่าแรงถูกและถูกกดราคา แรงงานเหล่านี้ต้องช่วยเหลือตัวเอง และโครงสร้างของอัตราภาษีที่เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตพบว่า ช่องว่างการเสียภาษีระหว่างคนรวยและคนจนนั้นแคบลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่าคนรวยมีแนวโน้มเสียภาษีลดลง ในขณะที่คนจนยังเสียภาษีเท่าเดิม
สิ่งที่เหล่านายทุนนักธุรกิจใช้ในการควบคุมประชาชนไม่ให้ลุกฮือคือการกระตุ้นให้เกิดความอยากบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย โดยไม่ได้ให้ข้อมูลใด กล่อมเกลาให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้บริโภคเซื่องๆ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาด สร้างสังคมที่คนจะเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง และไม่เหลือบแลคนที่เดือดร้อน
ชอมสกีได้วิจารณ์การประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งในอเมริกาว่าใช้แนวคิดลักษณะเดียวกัน จัดรูปแบบงานยิ่งใหญ่อลังการ กล่อมเกลาให้ประชาชนเลือกผู้แทนจากเหตุผลที่มักแย้งกับผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วนโยบายนั้นเอื้อให้กับเอกชนมากกว่า ประชาชนเป็นเพียงคนชายขอบ และหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีโอบามาได้รับรางวัลจากองค์กรธุรกิจโฆษณาที่จัดการตลาดในการจัดการหาเสียงได้ดีที่สุด
แม้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาจะเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับในยุค 50-60 ซึ่งมีนโยบายเรียนฟรี แต่ในปัจจุบันนโยบายนี้หายไป และเมื่อใครก็ตามมีฐานะยากจนและอยากเรียนจึงจำเป็นต้องกู้หนี้เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ผลคือเมื่อจบออกมาคุณจะเป็นหนี้ก้อนโต และเมื่อเป็นหนี้คุณก็ติดกับ เพราะคุณอาจไม่ได้ทำในอาชีพที่อยากทำ แต่ต้องทำอาชีพที่ทำให้คุณร่ำรวย ซึ่งก็หนีไม่พ้นการเข้าไปทำงานในวงจรภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง สุดท้ายคุณก็ไม่สามารถออกมาจากวงจรเหล่านั้นได้
“ถ้าสังคมนั้นขึ้นอยู่กับการควบคุมของเอกชนผู้มั่งคั่ง มันจะสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่ว่า ความโลภและการแสวงหาให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดจากน้ำพักน้ำแรงคนอื่น จะสังคมเล็กขนาดไหนก็เลวร้ายที่ยึดหลักการนั้น แต่มันจะอยู่รอดได้ สังคมโลกที่ยึดตามหลักการนั้นกำลังจะล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่” นอม ชอมสกีกล่าว
แต่กระนั้นชอมสกียังให้ความหวังไว้บ้างว่า วิธีที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปก็เพราะมีหลายคนที่ช่วยกันลงมือทำ ในชุมชน ในที่ทำงาน หรือที่ใดก็ตาม เขาค่อยๆ สร้างหลักการเพื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือวิธีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และอย่างน้อยอเมริกาประสบความสำเร็จในเรื่อง “เสรีภาพทางความคิดเห็น” เป็นที่แรกของโลก
Gattaca (1997)
หนังดราม่าไซไฟ กำกับและเขียนบทโดย แอนดรูว์ นิคคอล (Andrew Niccol) ว่าด้วยเรื่องของโลกในอนาคตที่การตัดต่อยีนและกำหนดพันธุกรรมในมนุษย์สามารถเป็นไปได้ วินเซนต์ ฟรีแมน (Ethan Hawke) พระเอกของเรื่องคือเด็กที่เกิดมาก่อนเทคโนโลยีนั้น ทำให้เขาเป็นมนุษย์ยีนด้อย พ่อและแม่เขาตัดสินใจมีลูกอีกคนด้วยกระบวนการดังกล่าว น้องชายจึงกลายเป็นคนที่เหนือกว่าเขาในทุกด้านตั้งแต่เกิด
แต่วินเซนต์ไม่ยอมแพ้ เขามีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แม้อาชีพนี้สงวนไว้ให้เฉพาะคนที่มียีนเด่นเท่านั้น วินเซนต์เป็นได้แค่พนักงานทำความสะอาดของสถานี แต่ด้วยการแลกเปลี่ยนตัวตนกับ เจอร์โรม มอร์โรว์ (Jude Law) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำ มนุษย์ยีนเด่นที่มีความเป็นเลิศในทุกด้านแต่กลับแข่งได้ที่สอง เจอร์โรมจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่รอดมาได้แลกกับการนั่งรถเข็นตลอดชีวิต เจอร์โรมขายตัวตนของเขาให้กับวินเซนต์ ทุกวันเขาจะถ่ายเลือดและปัสสาวะใส่ถุงให้วินเซนต์นำไปใช้เพื่อสแกนขณะเข้าออกสถานี
เรื่องเหมือนจะไปด้วยดี วินเซนต์ได้รับเลือกให้ขึ้นไปที่ดาวเสาร์ แต่แล้วก็มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นภายในสถานี วินเซนต์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเพราะการตรวจพบขนตาซึ่งมีดีเอ็นเอระบุตัวว่าเป็นวินเซนต์ มนุษย์ยีนด้อยที่ไม่น่าเข้ามาในสถานีอวกาศได้ และตำรวจผู้เข้ามาตามสืบคดีก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นน้องชายของวินเซนต์นั่นเอง
การชิงไหวชิงพริบและต่อสู้ระหว่างมนุษย์ยีนด้อยบ้างกับมนุษย์ยีนเด่นผู้มีความสมบูรณ์พร้อม ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการเหยียดยีน วินเซนต์พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าข้อดีของคนมียีนด้อยก็คือ เขาพร้อมจะสู้และแลกทุกอย่างเพราะเขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว ดังเช่นเหตุการณ์ที่เขาแข่งว่ายน้ำกับน้องชาย กิจกรรมที่เขาเคยพ่ายแพ้มาตลอด แต่ในวันนั้นเขากลับชนะ และคำพูดน่าจดจำของหนังที่เขาตอบน้องชายว่า "ที่ฉันทำแบบนี้ได้เพราะฉันไม่ออมกำลังไว้ว่ายกลับเลย" (This is how I did it: I never saved anything for the swim back.)
In Time (2011)
14 ปีถัดมา แอนดรูว์ นิคคอล (Andrew Niccol) ก็ปล่อยหนังแอคชั่นไซไฟออกมาอีกเรื่องที่คงคอนเซปต์คล้ายๆ เดิม ว่าด้วยโลกอนาคตที่ค่าอายุขัยของมนุษย์ถูกนำมาแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา ยีนถูกปรับแต่งพันธุกรรมให้มนุษย์มีชีวิตได้เพียง 25 ปี หลังจากนั้นต้องซื้อเวลาเพื่อต่อลมหายใจ คนจนจึงมีโอกาสตายเร็วกว่า ขณะที่คนรวยอยู่ได้เป็นอมตะจากเวลามหาศาลที่มีอยู่
วิล ซาลาส (Justin Timberlake) อาศัยอยู่ในโซนของชนชั้นล่าง มีเหตุการณ์ที่ทำให้วิลเข้าไปช่วยเหลือเฮนรี่ แฮมินตัน (Matt Bomer) จากมาเฟียประจำเขตและทำให้เขาได้เวลามาเพิ่มถึง 100 ปี วิลรีบวิ่งกลับไปหาแม่เพื่อต่อเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดของเธอ แต่ก็ไม่ทันการ แม่วิลเสียชีวิตลงต่อหน้าเขา
เมื่อมีเวลามาก การอยู่ในเขตเดิมก็ไม่ปลอดภัยเพราะจะมีคนมาปล้น วิลย้ายไปอยู่ในเขตพวกคนรวย และ ณ ที่นั่นเขาพบกับซิลเวีย ไวส์ (Amanda Seyfried) ลูกสาวของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวย ขณะเดียวกันไทม์คีปเปอร์ผู้ทำหน้าที่คล้ายตำรวจคอยสอดส่องก็เขาใจว่า วิลเป็นคนฆ่าเฮนรี่ จึงออกตามล่าเขา วิลจับซิลเวียเป็นตัวประกัน
หลังจากที่วิลพาซิลเวียหนีไปอยู่ในโซนของชนชั้นล่าง ซิลเวียได้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วที่เกิดขึ้นในโลกของคนรวยกับคนจน เธอตัดสินใจช่วยวิลเพื่อปลดปล่อยให้ทุกคนได้มีเวลาชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียม
ในตอนหนึ่งของบทความ In Time สวรรค์ของเสรีนิยม โดยภาคภูมิ แสงกนกกุล ได้อธิบายถึงเรื่อง “เวลา” ในภาพยนตร์ว่า
“ผู้เขียนบทหนังไม่ใช่คนแรกที่เสนอภาพว่า เวลา หรือความยั่งยืนของชีวิตเป็นทุนอย่างหนึ่ง เมื่อปี 1972 Michael Grossman ได้เขียนงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขชื่อ Demand for Health : A theoretical and Empirical Investigation งานของเขาโดยสรุปมีเนื้อหาคือ สุขภาพเป็นทุนอย่างหนึ่งที่มีการเสื่อมค่าและต้องมีการลงทุนเพื่อการชะลอการเสื่อมค่าเพื่อให้มีสุขภาพและชีวิตยาวนาน...
...ดังนั้นสังคมที่หนังสร้างขึ้นเลวร้ายกว่าทุนนิยมปัจจุบันมากนัก เมื่อทุนนิยมปัจจุบันถึงแม้จะสะสมทุนมากเท่าไรก็ไม่สามารถหยุดความตายซึ่งเสมือนเป็นความเท่าเทียมสิ่งเดียวที่พระเจ้าสร้างมา หาเงินมากเท่าไรตายไปก็เอาไม่ได้และถ้าไม่มีใครสืบทอดความเป็นเจ้าของต่อ รัฐก็สามารถยึดมาเป็นเจ้าของเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป แต่สังคมในหนังยิ่งสะสมทุนมากเท่าไรยิ่งมีชีวิตยืนยาวเพื่อเสพสุขกับทุนที่มีอยู่ตลอดไป”
District 9 (2009)
หนังไซไฟ เขียนบทโดย Neill Blomkamp, Terri Tatchell กำกับโดย Neill Blomkamp เป็นหนังเกี่ยวกับเอเลี่ยนที่มีพล็อตเรื่องค่อนข้างแตกต่างและน่าสนใจ มีวิธีการนำเสนอด้วยรูปแบบ “สารคดีปลอม” (Mockumentary) ประกอบอยู่ด้วย
ย้อนไปเมื่อปี 1989 เหล่าเอเลี่ยนได้เดินทางมาที่โลกโดยไม่มีใครทราบจุดประสงค์ เอเลี่ยนพลัดถิ่นเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตที่มนุษย์จัดไว้ให้ในชื่อ District 9 และมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างจากคนในย่านสลัม บ้านช่องเบียดเสียดคับแคบ คุ้ยหาเศษอาหารกิน บางครั้งก็รุกล้ำออกมานอกเขตขโมยอาหารของชาวบ้านกินเพราะความหิวโหย มนุษย์ไม่พอใจอย่างมากที่ต้องเสียงบประมาณในการเลี้ยงเอเลี่ยนเหล่านี้ และยังหวาดกลัวว่าเอเลี่ยนจะทำอันตรายต่อพวกตน เกิดการประท้วงให้ขับไล่พวกเอเลี่ยนออกไป
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อพระเอก วิคัส แวน เดอร์ เมอร์วี (Sharlto Copley) เจ้าหน้าที่ MNU (Multinational United – หน่วยงานที่เข้ามาดูแลความเป็นอยู่ของเอเลี่ยน) ถูกสารเคมีของพวกเอเลี่ยน ทำให้ดีเอ็นเอของเขากลายพันธุ์และเริ่มกลายเป็นเอเลี่ยนทีละน้อย เขาสามารถใช้อาวุธของพวกเอเลี่ยนซึ่งมีอานุภาพสูงกว่าของมนุษย์ได้ ในขณะที่มนุษย์ปกติไม่มีใครทำได้ นั่นทำให้ MNU ต้องการตัวเขามาทดลอง เพื่อพยายามหาผลประโยชน์จากอาวุธเหล่านี้
หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่จิกกัดมนุษย์ได้อย่างแสบสัน ถือได้ว่าเป็นมุมกลับของหนังเอเลี่ยนทั่วไป ในขณะที่บรรดาหนังชุดอย่าง Alien ทั้งหลายเน้นที่มนุษย์ต่างดาวบุกมาทำลายล้าง ยึดครองโลก มนุษย์ต่างดาวเลว ส่วนมนุษย์โลกนั้นเป็นแค่เหยื่อผู้ถูกล่า และเป็นฮีโร่กอบกู้โลก แต่หนังเรื่องนี้คล้ายกับเป็นภาพสะท้อนที่เราอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดี เปรียบบรรดาผู้อพยพลี้ภัยคือเหล่าคนต่างด้าวที่มนุษย์มักตั้งแง่ ระแวงสงสัย รังเกียจ ไม่รู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน บางครั้งก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นมนุษย์ และบ่อยครั้งก็ขับไล่ให้พวกเขาออกไปจากดินแดนที่เป็น “ของเรา” เป็นอีกมุมของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก
Elysium (2013)
หนังแอคชั่นไซไฟจากผู้กำกับคนเดิม Neill Blomkamp กลับมาอีกครั้งด้วยหนังที่มีทุนสร้างมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว กับหนังที่พูดถึงคอนเซปต์ความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนตามสูตร เมื่อโลกในปี 2154 ไม่ได้มีสภาพที่น่าอยู่อีกต่อไป เสื่อมโทรมเต็มไปด้วยโรคร้าย เหล่าคนรวยได้รวมตัวกันขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศ “เอลิเซียม” ขนาดยักษ์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และมีเทคโนโลยีที่รักษาได้แม้กระทั่งโรคมะเร็ง
แมกซ์ (Matt Damon) พระเอกของเรื่องคือประชาชนยากไร้ผู้ยังอาศัยอยู่บนโลกแต่ใฝ่ฝันอยากขึ้นไปบนสถานีอวกาศ เมื่อเขาทำงานในโรงงานสร้างหุ่นยนต์ เขาได้รับสารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้เหลือเวลาอยู่บนโลกได้อีกเพียงแค่ 5 วัน หนทางเดียวที่จะรักษาตัวเองได้คือการขึ้นไปยังสถานีอวกาศแห่งนั้น
แมกซ์ต้องบุกขึ้นไปข้างบนและต่อสู้กับหุ่นยนต์ เจ้าหน้าที่สายลับ และผู้อยู่เบื้องหลังการออกคำสั่ง Delacourt (Jodie Foster ) ตัวแทนชนชั้นสูงของอำนาจเผด็จการที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหนคนมีอำนาจและร่ำรวยก็เป็นฝ่ายชิงความได้เปรียบไปในทุกครั้ง และเมื่อมีสิ่งใดมาทำให้ฐานอำนาจของพวกเขาสั่นคลอน พวกเขาก็พร้อมจะต่อสู้ เข่นฆ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเดิม
Snowpiercer (2013)
ในปีเดียวกัน ผู้กำกับเกาหลีอย่าง บอง จุนโฮ (Bong Joon Ho) ก็ทำหนังที่มีคอนเซปต์คล้ายกันออกมา จากโลกกับสถานีอวกาศเป็นขบวนรถไฟ ที่บรรจุมนุษย์กลุ่มสุดท้ายบนโลกไว้ เพราะโลกถูกปกคลุมด้วยหิมะและความหนาวยะเยือก แม้มองเผินๆ หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องการแบ่งชนชั้น แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นคือการจุดเริ่มต้นของเรื่อง เมื่อคนหัวขบวนคือคนที่จ่ายเงินแลกกับ ตั๋ว First Class เพื่อจะอยู่ในหัวขบวนรถไฟที่เต็มไปด้วยความหรูหราและสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ในขณะที่คนท้ายขบวน คือคนที่ขึ้นฟรี บางส่วนก็แลกด้วยการทำหน้าที่ต่างๆ ในรถไฟ มีสถานะไม่ต่างจากคนชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ อัตคัดขัดสน หิวโหยตลอดเวลา
แน่นอนว่าคนจนเหล่านี้ต้องการปฏิวัติ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เจ้าของรถไฟยอมให้คนกลุ่มนี้ขึ้นรถมาฟรี ในขณะที่พวกหัวขบวนต้องจ่ายเงิน ในเมื่อต้นทุนแรกเริ่มไม่เท่ากัน การเรียกร้องให้เกิดการเท่าเทียมที่แท้จริงจะเป็นไปได้หรือไม่? มองกลับกันหากเจ้าของรถไฟไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ขึ้นรถ ก็อาจจะไม่เกิดเหตุนองเลือดแล้วด้วยซ้ำ
หนังเรื่องนี้เมื่อดูจบแล้ว จึงไม่ใช่แค่หนังปลุกใจให้คนถูกกดขี่ลุกขึ้นปฏิวัติ แต่หากมองให้ลึกอาจทำให้เราตั้งคำถามถึงระบบชนชั้น นายทุน คนจน คนรวย และวิธีการแก้ปัญหานอกเหนือไปจากการก่อความรุนแรงเพื่อทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับ เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็จบลงคล้ายตั้งคำถามว่าการทำลายระบบทุกอย่างนั้นอาจรวมไปถึงการทำลายตัวเองลงด้วยเช่นกันหรือไม่
แสดงความคิดเห็น