Posted: 27 Sep 2017 09:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

โฆษก กรธ. เผยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเสนอ สนช. 28 ก.ย.นี้ มีมาตรการป้องกันการละเมิดศาล รธน. ป้องกันวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ คุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น
27 ก.ย. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.เสนอให้ สนช.พิจารณาในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ว่า กำหนดหน้าที่ของศาลให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ 1. พิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ 2. ดูแลองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เช่น นิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติกับองค์กรอิสระ และ 3. วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องใหม่คือ เปิดช่องให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องมีข้อพิพาท เพื่อปิดช่องไม่ให้ปัญหาบานปลายบ้านเมืองเสียหาย แต่ทั้งนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญเองใช่หรือไม่

อุดม กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อโต้แย้งกันเยอะ คือ การให้ประชาชนร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กรธ.ยังยืนยันในหลักการ คือ ให้ประชาชนมีสิทธิร้องตรง เมื่อไปฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการตอบรับหรือครบกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศาลต้องมีภาระมากเกินไป ส่วนหน่วยงานใดที่ถูกกำหนด ให้การวินิจฉัยขององค์กรนั้นถือเป็นที่สุด ก็ไม่อาจนำมาร้องอีกได้ เช่น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ กำกับดูแลความเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ศาล เพื่อคงไว้ซึ่งความยุติธรรม ปราศจากการครอบงำ ด้วยการสร้างกระแสมาใช้อำนาจข่มขู่ เช่นเดียวกับ ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ถือว่าของเราไปไกลกว่าของต่างประเทศ ที่จะมีมาตรการป้องกันแค่บริเวณพื้นที่ศาล แต่ของเราป้องกันถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ที่กระทบต่อการทำหน้าที่ เช่น การเขียนบทความสร้างกระแส แต่ปกติแล้ว ศาลจะดูจากเจตนาของผู้วิจารณ์ก่อน หากทำความเข้าใจกันได้ก็ไม่มีปัญหา

Voice TV รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิพากษณ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง โฆษก กรธ. กล่าวว่า จะมีก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่ยังไม่มีบทบัญญัติส่วนนี้ ต่อไปจะมีการเพิ่มบทบัญญัติการละเมิดอำนาจศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี โดยใช้หลักการเดียวกับศาลทั่วไปเป็นพื้นฐาน แต่ขยายให้คุ้มครองการป้องกันการวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดมาตรการลงโทษไว้ในมาตรา 39 ตั้งแต่การตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล จนถึงการลงโทษจำไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อกรณีคำถามที่ว่า มีข้อเสนอแนะจากศาลรัฐธรรมูญ ที่กรธ.ไม่ปรับแก้ให้หรือไม่ นั้น โฆษก กรธ. กล่าวว่า เรารับฟังแล้วแก้ไขให้หลายส่วน แต่มีบางส่วนที่เราไม่แก้ไขให้ เช่น คำขอให้ตัดข้อกำหนด ให้ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ออกไป เนื่องจากจะมีคนคอยมาเช็กเวลาเข้าออกการทำงาน แต่ กรธ.ก็ไม่ได้ตัด พร้อมชี้แจงว่า ต้องกำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจนเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้าราชการเหมือนศาลยุติธรรม

วันนี้ (27 ก.ย.60) iLaw รายงานเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ที่เพิ่มบทบัญญัติ "การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งไม่เคยมีบทบัญญัตินี้มาก่อน ด้วยว่า การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในมาตรา 38 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทัั่วไป

นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสอง ยังกำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.