Posted: 26 Sep 2017 09:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-ฝายพนมไพร และฝายธาตุน้อย ร้อง รมว.เกษตรฯ ผ่านผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดเปิดประชุม กก.แก้ไขปัญหาฯ อย่างเร่งด่วน ผลการพูดคุย จะให้ชลประทานเปิดประชุมอนุ กก.แก้ไขปัญหา ภายใน 15 วัน


26 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี ตอนล่าง แจ้งว่า วันนี้ (26 ก.ย.60) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-ฝายพนมไพร และฝายธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-ฝายพนมไพร และฝายธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี เพื่อให้มีการเปิดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ อย่างเร่งด่วน ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 35/2558 ลงวันที่ 6 ก.พ.58 เรื่องแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-ฝายพนมไพร และฝายธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มดังกล่าวประกาศด้วยว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการกลุ่มชาวบ้านจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเยี่ยมรัฐมนตรีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเร็ววันนี้ หลังจากนั้นนายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด ได้มารับหนังสือกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมเปิดห้องประชุมเพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดขึ้นไปนำเสนอข้อมูลแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

อมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี กล่าวว่า วันนี้ได้รวมตัวชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้รวมกันมายื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดเนื่องจากอยากให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานให้ดำเนินการเร่งรัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 38/2558 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่องแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-ฝายพนมไพร และฝายธาตุน้อย เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหากรณีมีกลุ่มราษฎรร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างดังกล่าวนั้น ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนก็ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาตลอดก็ไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือในวันนี้

จันทา จันทราทอง ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี บ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบริหารจัดการน้ำล้มเหลว ทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรมานานกว่า 2 เดือนแล้ว การเรียกร้องของชาวบ้านก็ทำตามโครงสร้างที่มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอยู่แล้วที่นายกฯ ประยุทธ์ แต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 58 แต่โครงสร้างที่ว่ากลับไม่ทำงาน ตัวแทนชาวบ้านจึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือและทวงสัญญาถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

ขณะที่ สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาก็เป็นสิทธิของชาวบ้านเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานแล้วที่ชาวบ้านเรียกร้อง ซึ่งตนมองว่าปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 38/2558 ลงวันที่ 6 ก.พ.58 และมีการดำเนินการประชุมครั้งที่ 1/2558เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ซึ่งในที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมาอีก 4 ชุด ตามที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนไป ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด มองว่ารัฐจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพราะเวลาได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ประกอบกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะ จ.ร้อยเอ็ดและ จ.ยโสธรเจอสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนานกว่า 2 เดือนแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ

ด้าน เฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าจากการพูดคุยเจรจากันในวันนี้มีข้อสรุป 2 ประเด็นที่ จังหวัดจะต้องดำเนินการ คือ 1.จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.จะให้ชลประทานเปิดประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย ภายใน 15 วัน


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.