Posted: 28 Sep 2017 01:17 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'มีชัย' ย้ำ หาก 'ยิ่งลักษณ์' จะอุทธรณ์ต้องมาด้วยตนเอง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ประกาศใช้ ทนายรอคำพิพากษาเต็มก่อนพิจารณายื่นอุทธรณ์ 'พนัส' ตั้ง 3 ข้อสังเกตคำตัดสินคดี ไม่เข้าใจยิ่งลักษณ์ผิดได้ไง

28 ก.ย. 2560 หลังจากวานนี้ (27 ก.ย.60) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่อไปนั้น
ทนายรอคำพิพากษาเต็มก่อนพิจารณายื่นอุทธรณ์

วันนี้ (28 ก.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยถึงแนวทางในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะต้องรอดูคำพิพากษากลางฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะฯ ที่จะออกมาก่อน

ต่อคำถามถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ในวันนี้ (28 ก.ย.60) ซึ่งมาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ยื่นอุทธรณ์ต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วยนั้น นรวิชญ์ กล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดก่อน ขณะนี้ตนติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด จึงยังไม่ได้ดูรายละเอียด
มีชัย ย้ำ หากยิ่งลักษณ์จะอุทธรณ์ต้องมาด้วยตนเอง

โดยในวันนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.ป.ดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ พร้อมทั้งระบุหมายเหตุแนบท้าย ถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนูญ


อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งประเด็นการประกาศใช้ดังกล่าว เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อกรณีดังกล่าว โดย มีชัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลต่อการยื่นขออุทธรณ์คดีของผู้ต้องหา ต้องมาปรากฏตัวต่อศาลจึงจะสามารถอุทธรณ์คดีได้ และจะต้องมีการสรรหาองค์คณะผู้พิพากษาที่จะพิจารณาอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี จากคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากจะยื่นขออุทธรณ์คดีต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ส่วนการกำหนดอายุความคดี ขณะนี้ยังคงใช้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนที่ศาลจะพิจารณาคดี ประกอบกับกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ก็ไม่ได้นับอายุความ ดังนั้นไม่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะหลบหนีคดีกี่ปี ก็ต้องกลับมารับโทษจำคุก 5 ปี โดยที่คดีไม่มีการนับอายุความ และในกรณีหากนางสาวยิ่งลักษณ์ กลับมารับโทษจำคุก 5 ปีแล้ว ก็จะไม่สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเนื่องจากกระทำความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งกรณีคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ นั้น ศาลลงโทษตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงไม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตลอดชีวิต แต่หากจำเลยอุทธรณ์คดีได้ ก็จะต้องรอการพิพากษาใหม่

มีชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 ที่ได้มีการประกาศใช้แล้วนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เนื่องจากพ้นขั้นตอนการขอประกันตัวไปแล้ว แต่หากเป็นกรณีใหม่ ผู้ที่ขอประกันตัวใหม่ก็ต้องขอประกันตัวตามกฎหมายดังกล่าวด้วย ส่วนการรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ตามกฎหมายใหม่มีขั้นตอนที่ศาลจะต้องออกหมายจับก่อน และรอให้จำเลยปรากฏตัวภายใน 1 เดือน แต่เบื้องต้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเดินหน้าคดีต่อของอัยการ และส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดของคดีจึงไม่สามารถให้คำตอบได้
พนัส ตั้ง 3 ข้อสังเกตคำตัดสินคดี ไม่เข้าใจยิ่งลักษณ์ผิดได้ไง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Panat Tasneeyanond' ถึงคำตัดสินคดีจำนำข้าวนี้ด้วยว่า อ่านจากรายงานข่าว (Press Release) ของศาลฎีกาคดีอาญานักการเมืองคดี ยิ่งลักษณ์ แล้ว สรุปว่า ที่ศาลตัดสินว่าเธอกระทำผิดตามข้อกล่าวหาเป็นเพราะรู้ว่าบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกทุจริต สัญญาระบายข้าว จีทูจี แล้วไม่สั่งระงับหรือยกเลิกโครงการจำนำข้าวทั้งโครงการ ไม่เข้าใจว่า


1. การทุจริตของบุญทรงกับพวกเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเสียหายที่อนุกรรมการปิดบัญชีอ้างว่าการดำเนินโครงการทำให้เกิดความเสียหาย หรือ ขาดทุน กว่าแปดแสนล้าน

2. ในเมื่อโครงการกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ (ยังไม่เสร็จสิ้นการดำเนินงาน) ทำไมจึงคิดคำนวณได้ว่าขาดทุนหรือเสียหายเท่านั้นเท่านี้ได้อย่างไร ที่ศาลฟังว่าเป็นการใช้เงินเกินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไว้ ก็เป็นแต่เพียงความผิดในแง่กฎหมายงบประมาณ ไม่ใช่ความผิดที่จะนำเอามาเป็นฐานการคำนวนความเสียหายที่แท้จริงได้

3. ไม่มีหลักฐานใดๆของทางฝ่ายอัยการที่แสดงว่า นายกปู (หรือ ยิ่งลักษณ์) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีเจตนาพิเศษสนับสนุนบุญทรงกับพวกกระทำการระบายข้าวโดยทุจริต ในทางตรงกันข้ามนายกปูได้พยายามดำเนินการทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือให้บุญทรงพ้นจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายปฏิบัติการตามโครงการนี้ ที่ศาลฟังว่านายกปูรู้เรื่องการทุจริตดีทุกอย่าง ถึงสามารถชี้แจงในการให้สัมภาษณ์ได้โดยละเอียดทุกขั้นตอน ปฏิเสธว่าไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้นนั้น ก็หาใช่เป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันว่านายกปูรู้เห็นเป็นใจให้มีการทุจริตแต่อย่างใดไม่ เพราะจากหลักฐานที่จำเลยนำสืบแสดงว่านายกปูได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เองว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติเกิดขึ้น การพยายามแก้ปัญหาในภายหลังต่อมาด้วยการเปลี่ยนตัวบุญทรงและทีมงานออกไปย่อมเป็นหลักฐานเป็นอย่างดีว่า เธอได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดและเหมาะสมตามสมควรเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าเธอมิได้มีเจตนาพิเศษแต่อย่างใดที่ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและบุคคลอื่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 123/1 จึงไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดที่จะต้องสั่งระงับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนี้ทั้งโครงการดังคำวินิจฉัยของศาลที่พิจารณาจากเหตุผลของทางฝ่าย ป.ป.ช. เพียงข้างเดียว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.