ผู้เชี่ยวชาญชี้ นโยบายทรัมป์ ทำสหรัฐฯ เสื่อม เปิดโอกาสจีน-รัสเซียผงาดเวทีโลก
Posted: 19 Feb 2017 11:16 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

บทความของไมเคิล ที แคลร์ ศาตราจารย์ด้านสันติภาพและความมั่นคงของโลกจากวิทยาลัยแฮมป์เชียร์ ในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy in Focus (FPIF) ชี้การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ผิดพลาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียและจีน 
20 ก.พ. 2560 ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา จะอ้างว่ายึดหลักดำเนินนโยบายโดยเอา "อเมริกามาก่อน" แต่ไมเคิล ที แคลร์ ศาตราจารย์ด้านสันติภาพและความมั่นคงของโลกจากวิทยาลัยแฮมป์เชียร์ ก็มองว่าการดำเนินนโยบายของทรัมป์จนถึงตอนนี้กลับจะส่งผลดีต่อจีนและรัสเซียที่เป็นคู่ปรับรายใหญ่ไม่ว่าเขาจะจงใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้แคลร์ระบุว่ามันน่าจะเรียกว่านโยบายที่เอา "อเมริกามาเป็นอันดับที่สาม" มากกว่า
หลังจากการรณรงค์หาเสียงต่อหน้าประชาชนจำนวนมากเป็นเวลา 19 เดือน ด้วยวาทศิลป์แบบเสแสร้งทำเป็นกล้าหาญ ทำให้หลายคนอาจจะมองว่าทรัมป์ไม่น่าจะทำอะไรที่ให้ประโยชน์กับคู่แข่งของสหรัฐฯ ทรัมป์แสดงท่าทีว่าจีนเป็นพวกคนค้าขายแบบ "ล่าเหยื่อ" อยู่เสมอและอ้างว่าจะพยายามฉวยโอกาสได้เปรียบถ้าหากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายอย่างอ่อนแอ ขณะที่กับรัสเซียแล้วทรัมป์แสดงออกในทำนองว่าเขาชื่นชมการเป็นผู้นำ "เข้มแข็ง" ในแบบของวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แต่ก็ประกาศไม่พอใจที่รัสเซียพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ระดับขั้นสูงขึ้น
เรื่องเหล่านี้อาจจะมีคนคิดว่าพอทรัมป์เข้าไปในทำเนียบขาวแล้วก็จะดำเนินนโยบายต่อต้านคู่แข่งสองประเทศนี้อย่างแข็งขันและอาจจะสืบต่อนโยบายเดิมของบารัก โอบามา ที่แคลร์มองว่ามีความสุดโต่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเสริมทัพของนาโตในยุโรปตะวันออกและการจัดกำลังทัพใหม่ในแถบเอเชียแปซิฟิกพร้อมไปกับการใช้ข้อตกลงทางการค้าอย่าง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ควบคู่ไปด้วย แต่ทรัมป์ก็แสดงออกว่าไม่ชอบนาโตและ TPP
มีคนมองว่าทรัมป์อาจจะเสนอแผนใหม่มาแทนแผนยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ เหล่านี้ แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้นสิ่งแรกที่ทรัมป์ทำเพื่อ "อเมริกามาก่อน" กลับเป็นนโยบายกำจัดคนที่เขาเรียกว่าเป็น "การก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง" และพยายามปรับสมดุลการค้าข้ามประเทศ ซึ่งมีการถกเถียงกันพอสมควรว่าวัตุประสงค์ของนโยบายพวกนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน แต่ก็มีบางส่วนมองว่าทรัมป์ไม่ได้ใส่ใจเลยว่าสหรัฐฯ กำลังร่วมต่อสู้แย่งชิงอำนาจและความมั่งคั่งกับคู่แข่งสุดเขี้ยวที่ต่างก็พยายามใช้แผนของตัวเองเข้าสู่ "ความยิ่งใหญ่"
แคลร์ มองว่าไม่เพียงแค่ทรัมป์ไม่ใส่ใจในเรื่องที่ทางของสหรัฐฯ ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองโลกเท่านั้น สิ่งที่เขาทำยังจะกลายเป็นประโยชน์กับรัสเซียและจีนอีกด้วย


นโยบายของทรัมป์จะส่งผลดต่อจีนอย่างไร

ขณะที่ทรัมป์แสดงออกว่าจะจัดการกับจีนที่ดำเนินการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เขาเสนอชื่อแต่งตั้ง โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ คนที่วิจารณ์การค้าของจีนเป็นตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ แคลร์ระบุว่าถึงแม้เรื่องการค้าจะเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน แต่การที่ทรัมป์เน้นยึดติดอยู่เรื่องนี้เรื่องเดียวทำให้ละเลยประเด็นอื่นๆ ไป อย่างเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การทูต และการทหาร ในแง่ของการเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในเวทีโลก
การละเลยประเด็นอื่นๆ ส่งผลให้เห็นในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาจากการที่สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนขึ้นประกาศประณามคนที่เบนเข็มออกจากโลกาภิวัตน์โดยไม่เอ่ยชื่อออกมาโดยตรงและแสดงออกราวกับว่าจีนจะเป็นตัวอย่างใหม่สำหรับแนวคิดการค้าเสรีและสากลนิยม สำหรับพวกซีอีโอ เซเล็บ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายแห่งในโลกแล้วท่าทีแบบนี้ของจีนดูจะเป็นการปรับสมดุลของอิทธิพลทางการเมืองระดับโลก เมื่อสหรัฐฯ ปล่อยให้ตำแหน่งสำคัญของพวกเขาถูกจีนแย่งชิงไปได้
อีกประเด็นหนึ่งคือการถอนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของทรัมป์โดยอ้างว่าจะเป็นการทำลายงานและการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีฝ่ายซ้ายบางส่วนเห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็มอง TPP ว่าจะเป็นการสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ เพื่อสกัดกั้นจีนแต่เมื่อไม่มี TPP แล้ว แคลร์มองว่าจะกลายเป็นโอกาสให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลและปรับสภาพการค้าขายในแถบเอเชียได้ ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าที่เจรจาการทำข้อตกลง TPP ในสมัยโอบามากล่าวว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้ชนะอย่างใหญ่หลวง
จีนเองก็มีแผนการจะให้กลุ่มประเทศในเอเชียเข้าร่วมสัญญาทางการค้าของพวกเขาเองคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นแผนความตกลงการค้าเสรีที่รวมเอา 10 ประเทศประชาคมอาเซียน (รวมถึงไทย) กับประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย บทความของแคลร์ระบุว่า RCEP เป็นการทลายกำแพงการค้าโดยที่ไม่มีการระบุถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานรวมอยู่ด้วย
ในแง่ของการทูต ทรัมป์ยังคงทำลายสถานภาพทางการเมืองของสหรัฐฯ ในเอเชียด้วยการทะเลาะกับนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูล แห่งออสเตรเลียในเรื่องผู้ลี้ภัยจากกรณีที่เทิร์นบูลเคยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ในสมัยบารัก โอบามา รับผู้ลี้ภัยราว 1,250 คนที่ส่วนมากมาจากอิรักเข้าประเทศโดยในปัจจุบันพวกเขาถูกกักตัวอยู่ที่สถานกักกันในสภาพชีวิตย่ำแย่นอกชายฝั่งโดยรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ทรัมป์ก็ปฏิเสธอย่างไม่เป็นมิตร ทั้งที่ออสเตรเลียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และในออสเตรเลียก็มีฐานทัพสหรัฐฯ อยู่หลายแห่ง รอรี เมดคาล์ฟ หัวหน้าวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมองว่าการที่สหรัฐฯ ทำเช่นนี้จะยิ่งส่งผลดีต่อจีนเพราะจีนมุ่งหวังให้การเป็นพันธมิตรที่แน่นหนาในแถบแปซิฟิกอ่อนแอลงเพื่อจะฉวยโอกาสอยู่แล้ว


ในแง่มุมเรื่องโลกร้อน

แคลร์ระบุว่าอีกหนึ่งเรื่องที่กลายเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับจีนคือการที่ทรัมป์มีจุดยืนไม่สานต่อพันธกิจเรื่องแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่รัฐบาลโอบามาเคยให้ความร่วมมือไว้กับข้อตกลงที่ปารีส ทรัมป์เอากลุ่มคนที่ปฏิเสธปัญหาโลกร้อนเข้าสู่ทำเนียบกลายเป็นการเปิดทางให้จีนพยายามผุดตัวเองเป็นทั้งผู้นำโลกในด้านพลังงานสะอาดและเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน การพยายามสร้างความก้าวหน้าด้านพลังงานสะอาดสมัยรัฐบาลโอบามาไม่เพียงแค่เพื่ออนาคตโลกเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องการสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลกไปสู่เทคโนโลยีสำหรับอนาคต แต่กลายเป็นว่าจีนอาจจะหาโอกาสฉวยขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้แทน
บทความของแคลร์ยังระบุอีกว่าการที่รัฐบาลโอบามาเคยเน้นเรื่องเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและเข้าพบกับผู้นำจีนและอินเดียในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ทำให้โลกจะมองว่าสหรัฐฯ มีออร่าของการเป็นผู้นำด้านพลังงานโลก แต่ทรัมป์กลับต้องการย้อนถอยหลังกลับไปเพื่อเอาใจพวกอุตสาหกรรมพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นเพื่อนกับเขา ยังไม่แน่ชัดว่าทรัมป์จะสามารถยุบแผนการก้าวหน้าด้านพลังงานสมัยรัฐบาลโอบามาได้ทั้งหมดหรือไม่ แต่เขาก็พ่ายให้กับจีนไปแล้วในเรื่องบทบาทบนเวทีโลก จากที่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เซียเจิ้นหัว หัวหน้าผู้แทนเจรจาด้านโลกร้อนของจีนประกาศว่าจีนมีศักยภาพจะเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้กับโลกร้อนได้
นอกจากนี้จีนยังมีท่าทีว่าจะพัฒนาพลังงานสะอาดที่จะมาตีตลาดโลกในอนาคต ฝ่ายพลังงานของจีนประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าจะทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ในด้านพลังงานสะอาดจนถึงปี 2563 ซึ่งการลงทุนนี้จะช่วยสร้างงานใหม่ราว 13 ล้านตำแหน่ง แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศแผนงานชัดเจนก็ตาม แต่ก็มีคนสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการติดตั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่จีนมีข้อได้เปรียบในด้านนี้อยู่แล้ว
แคลร์ระบุว่าการริเริ่มด้านพลังงานนี้เป็นการมองแนวโน้มในอนาคตเผื่อไว้ด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าความต้องการด้านน้ำมันและเชื้อเพลิงพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์จะลดลงเรื่อยๆ และความต้องการพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานพลังงานนานาชาติในกรุงปารีส ระบุว่าระหว่างปี 2557-2583 ความต้องการใช้พลังงานลมจะเพิ่มสูงขึ้น 440% ขณะที่ความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นกว่า 1,100% จึงมีโอกาสที่จะทำเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจใหม่ การที่ทรัมป์หันเหตัวเองออกมาจากพลังงานสะอาดจึงเป็นการส่งความมั่งคั่งไปให้กับจีน


นโยบายทรัมป์ส่งผลดีต่อรัสเซียได้อย่างไร

บทความของแคลร์ระบุต่อไปว่าถึงแม้จีนจะดูมาเป็นอันดับหนึ่งได้จากนโยบายของทรัมป์ รัสเซียก็ดูจะมาเป็นอันดับที่ 2 ในการที่ทรัมป์พยายามเรียกร้องให้ทางการรัสเซียช่วยต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายไอซิส ดูเหมือนว่าทรัมป์จะเปิดทางให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียแผ่อิทธิพลในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตและพื้นที่อื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้รัสเซียด้วย
ปูตินแสดงออกอย่างชัดเจนตั้งแต่หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2543 ว่าเขาต้องการทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และพยายามต่อต้านสิ่งที่เขามองว่าเป็นการที่นาโตพยายามบีบรัสเซียไม่ให้แผ่อิทธิพลไปสู่ยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รัสเซียยุบรวมไครเมีย อดีตเขตปกครองตนเองของยูเครนให้กลายเป็นของรัสเซีย ทำให้กลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย และประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ที่เคยอยู่ใต้อุ้งมือของรัสเซียมาก่อนกลัวว่าพวกเขาจะถูกแย่งอิสรภาพไปอีก นอกจากนี้รัสเซียยังพยายามมีความสัมพันธ์กับตะวันออกกลางในแบบยุคสหภาพโซเวียต เช่นกรณีการใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในซีเรีย
แคลร์ชี้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลโอบามาพยายามสกัดกั้นแผนการของปูตินโดยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและเพิ่มการคุ้มกันรัฐแนวหน้าของนาโต จากเมื่อเดือน ก.ค. 2559 โอบามาและผู้นำตะวันตกอื่นๆ อย่างแคนาดา อังกฤษ และเยอรมนี ต่างก็ตกลงร่วมกันเสริมกำลังใหม่ในโปแลนด์และรัฐบอลติกสามรัฐอีกครั้งเพื่อต้านทานไม่ให้รัสเซียโจมตีประเทศเหล่านี้ และแคลร์ก็ประเมินว่าถ้าคลินตันได้เป็นประธานาธิบดีเธอก็อาจจะกดดันรัสเซียหนักขึ้น
แต่สำหรับทรัมป์แล้วแคลร์มองว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการที่รัสเซียพยายามรุกคืบยุโรปตะวันออกน้อยกว่าเรื่องความร่วมมือในการสู้รบกับไอซิส ทรัมป์เคยแสดงความเห็นใจเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องที่ยุโรปและนาโตกังวลว่ารัสเซียจะรุกล้ำพวกเขาอีกแต่ก็ไม่ได้แสดงออกว่าจะช่วยเสริมกำลังป้องกันให้กับพวกเขา ทรัมป์ยังเคยกล่าวถึงนาโตในเชิงลบด้วยเมื่อปีที่แล้วโดยอ้างว่านาโตไม่ได้ช่วยต่อสู้กับการก่อการร้ายมากพอ
แคลร์ตั้งข้อสังเกตว่าทรัมป์ปฏิบัติกับนาโตราวกับคนรักเก่าแต่ท่าทีกับรัสเซียกลับต่างออกไป เขาไม่แสดงออกใดๆ ในตอนที่เขาไปเยือนเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษตอนที่เธอพูดถึงเรื่องว่าควรจะมีการกดดันรัสเซียผ่านการคว่ำบาตรมากขึ้น ต่อมาเขาโทรศัพท์คุยกับปูตินยาวนานและจากการเปิดเผยบทสนทนาของพวกเขาแล้ว ทรัมป์ไม่ได้พูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวอย่างเรื่องไครเมียหรือเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่ามีชาวรัสเซียแฮกการเลือกตั้งของสหรัฐฯ แต่เน้นพูดเรื่องความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งรัสเซียก็แสดงออกไปในทำนองพอใจกับการสนทนาระหว่างพวกเขา สื่อรัสเซียเองก็นำเสนอในทำนองว่าสหรัฐฯ กับรัสเซียเข้าใจกันมากขึ้นและสหรัฐฯ เอื้อให้รัสเซียมีขอบเขตอิทธิพลในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตมากขึ้นด้วย
แคลร์ระบุว่าไม่ว่าทรัมป์จะเห็นด้วยกับแผนการของรัสเซียหรือไม่แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียจะเล่นบทรุกมากขึ้นในทางตะวันออกของยูเครนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แคลร์ยังมองอีกแง่หนึ่งว่าการที่สหรัฐฯ เปิดท่าทีร่วมมือกับรัสเซียในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายนั้นเป็นเสมือนการยอมรับว่ารัสเซียเป็นผู้เล่นที่ยืนอยู่ระดับเดียวกับสหรัฐฯ ในเวทีโลก
แคลร์ชี้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเพราะทรัมป์มีมุมมองการจัดลำดับความสำคัญนโยบายการต่างประเทศที่คับแคบคือไปเน้นเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง การกีดกันชาวมุสลิมและชาวเม็กซิกันจากสหรัฐฯ และพยายามปรับดุลการค้า โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมุมกว้างๆ เลย เรื่องเหล่านี้อาจจะส่งผลให้จีนและรัสเซียเหลิงจนหาความได้เปรียบจากประเด็นขัดแย้งต่างๆ อย่างข้อพิพาทในแถบทะเลจีนใต้หรือแถบทะเลบอลติก เป็นประเด็นที่ล้วนสำคัญต่อความน่าเชื่อถือกับเกียรติภูมิของสหรัฐฯ และถ้าหากว่าผู้นำสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกว่าความเหนือกว่าของตัวเองถูกท้าทายแล้วก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตใหญ่กว่าอย่างวิกฤตอาวุธนิวเคลียร์
และถึงแม้ว่าอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตได้แต่สหรัฐฯ ก็ยังจะสูญเสียอิทธิพลในแแถบยุโรปตะวันออกและเอเชียใต้ไป ทำให้มีคู่ค้าลดลง อาจจะถึงขั้นทำให้สิทธิและเสรีภาพถดถอยกลับแม้กระทั่งในสหรัฐฯ เองด้วย
"เรื่องนี้ควรถูกมองว่าเป็นการทรยศต่อชาวอเมริกันทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่โหวตเขาเข้ามาด้วยเชื่อว่าเขาจะเน้นการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสหรัฐฯ มาเป็นอันดับแรก" แคลร์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก
Trump’s ‘America Third’ Foreign Policy, Michael Klare, 15-02-2017
http://fpif.org/trumps-america-third-foreign-policy/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.