ดุลยภาค ปรีชารัชช: TU101 การเมืองเปรียบเทียบอุษาคเนย์-ทหารกับประชาธิปไตย
Posted: 18 Feb 2017 01:14 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

ดุลยภาค ปรีชารัชช บรรยายวิชา TU101 ที่ธรรมศาสตร์ นำเสนอการเมืองเปรียบเทียบอุษาคเนย์และการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ทหารกับระบอบการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบการเจรจาของชนชั้นนำเพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โมเดลสืบทอดอำนาจและการถอนตัวออกจากการเมืองของกองทัพ
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ "การเมืองเปรียบเทียบอุษาคเนย์-ทหารกับประชาธิปไตย" โดยการบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย

ในช่วงเริ่มการนำเสนอ ดุลยภาคระบุว่าจะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ส่วนหลัก หนึ่ง สิ่งที่เรียกกันว่าการเมืองเปรียบเทียบคืออะไร ทำไมจึงต้องศึกษา

สอง ทำความรู้จักกับประชาธิปไตย ผ่านการศึกษานิยามและแนวคิดที่เกี่ยวข้องว่าประชาธิปไตยคืออะไร และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย หลายครั้งมีการเปลี่ยนแต่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร

สาม ที่มีการเปลี่ยนแต่ไม่ผ่าน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกองทัพ บทบาทของทหารในทางการเมือง การรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาสู่กรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือการฟื้นคืนชีพขึ้นมาของระบอบทหารในทางการเมือง ซึ่งขัดฝืนกับกระแสประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก จะมีการนำเสนอกรณีศึกษาการรัฐประหาร ว่ากรณีของไทยให้ประโยชน์ในด้านการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบอย่างไร โดยเฉพาะในโลกของทหารกับการเมือง

สี่ ผสมผสานแนวคิดเรื่องทหารและแนวคิดประชาธิปไตย และให้นักศึกษาได้อภิปราย

คลิปการบรรยายช่วงแรก "การเมืองเปรียบเทียบอุษาคเนย์และการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย"
ดุลยภาค ปรีชารัชช บรรยายในวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2560

โดยในคลิปการบรรยายช่วงแรก เป็นการบรรยายเรื่องการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชี้ให้เห็นว่ารูปแบบการเมืองการปกครองในภูมิภาคนี้ มีกรณีศึกษาใดบ้างที่เป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาเรื่องการเมืองเปรียบเทียบ ประเด็นถกเถียงการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทหารกับการแทรกแซงการเมือง ความรุนแรงและขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ การจัดการปกครองและโครงสร้างรัฐ เศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนโลกาภิวัตน์และภูมิภาคนิยม
ในกรณีของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยรูปแบบและเส้นทางเปลี่ยนผ่านมีหลายลักษณะ โดยที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้นมีทั้งที่สำเร็จ ล้มเหลว หรือเปลี่ยนผ่านแบบครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งวนเวียนอยู่กับเปลี่ยนแต่ไม่ผ่าน โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้ของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในเอเชียและโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมักเป็นประชาธิปไตยแบบกึ่งอำนาจนิยม หรือประชาธิปไตยสไตล์เอเชียหรือสไตล์อุษาคเนย์ ในกรณีของประเทศไทยเมื่อนำทฤษฎีคลื่นประชาธิปไตยกระแสโลกของ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) มาพิจารณาจะพบว่า กรณีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของไทยในแต่ละยุค มักจะไม่สอดคล้องกับกระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในโลก เช่น ฮันติงตัน เสนอช่วงของการเกิดประชาธิปไตยคลื่นลูกที่หนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1828 ถึง 1926 และมีคลื่นโต้กลับประชาธิปไตยในช่วง ค.ศ. 1922 ถึง 1942 รัฐในยุโรปหลายรัฐเอนมาทางเผด็จการมากขึ้น แต่มีรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือช่วง ค.ศ. 1932
หรือในช่วงประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สองหลัง ค.ศ. 1943 ถึง 1962 ซึ่งญี่ปุ่น อิตาลี หรือเยอรมันซึ่งเป็นฝ่ายอักษะเก่าแปลงสภาพมาเป็นรัฐประชาธิปไตย ขณะที่รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งได้รับเอกราช หรือมีรัฐบาลที่ใช้อำนาจเต็มพิกัดเกิดขึ้นเช่น ระบอบซูการ์โนและต่อมาคือซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย หรือรัฐประหาร ค.ศ. 1962 โดยนายพลเนวินในพม่า รวมทั้งรัฐบาลทหารของไทยด้วย
คณะที่คลื่นลูกที่สามคือหลัง ค.ศ. 1974 หลังจากนั้นรัฐในยุโรปตะวันออกในระบอบสังคมนิยมจะทยอยล่มสลาย แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 1974 ในพม่ายังคงเป็นรัฐบาลในระบอบสังคมนิยมวิถีพม่า ในปี 1986 มีการลุกขึ้นสู้ล้มเผด็จการมาร์กอสในฟิลิปปินส์ ปี 1988 มีความพยายามล้มรัฐบาลคณาธิปไตยเนวินในพม่า แต่การต่อสู้ของนักศึกษาและพระสงฆ์ในพม่าจบลงด้วยการที่กองทัพพม่าลากยาวปกครองต่อไปอีก 20 กว่าปี
ส่วนประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สี่ อาหรับสปริงเกิดขึ้นหลายประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่ามีการจัดเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีคือการเลือกตั้งปี 2010 และ 2015 อย่างไรก็ตามในประเทศไทยก็มีการฟื้นคืนของระบอบเผด็จการอำนาจนิยม นั่นคือการรัฐประหาร 2014 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสวนทางกับการเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ส่วนต่อมามีการนำเสนอรูปแบบการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบบแรกเป็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เช่น กรณีฟิลิปปินส์ และไทยในบางยุคที่มีการชุมนุมบนท้องถนนขับไล่รัฐบาลทหาร แบบที่สอง การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง เช่น กรณีเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของพม่าครั้งล่าสุด และกรณีของไทยหลายยุค และรูปแบบที่สาม การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เช่น กัมพูชาและติมอร์ตะวันออก ที่นานาชาติมีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ทั้งนี้ระดับประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อใช้เกณฑ์ชี้วัดประเภทการมีส่วนร่วมทางการเมือง การแข่งขันผ่านสนามเลือกตั้ง และเสรีภาพทางการเมือง อาจจำแนกได้เป็น 1. ระบอบประชาธิปไตย 2. ระบอบกึ่งประชาธิปไตย 3. ระบอบกึ่งอำนาจนิยม 4. ระบอบอำนาจนิยม ซึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงนี้ยังไม่มีประเทศใดที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย แต่มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มประเทศรูปแบบที่ 2 หรือ 3 รวมทั้งมีประเทศในรูปแบบที่ 4 คือระบอบอำนาจนิยมด้วย
คลิปการบรรยายช่วงที่สอง "ทหารกับระบอบการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ในส่วนของคลิปการบรรยายช่วงที่ 2 เป็นการบรรยายเรื่อง โดยเริ่มแรกอธิบายความเข้มแข็งขององค์กรทหาร ผ่านงานของแซมมวล ไฟเนอร์ เรื่อง "The man on horseback" ที่จำแนกลักษณะเด่นขององค์กรทหาร 5 ส่วน ได้แก่ 1. มีการบังคับบัญชาที่รวมศูนย์ 2.มีการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น 3. มีระเบียบวินัย 4. มีการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานภายในองค์กร 5. มีความสามัคคีรักพวกพ้องและเป็นองค์กรเอกเทศ
จากนั้นเป็นการอธิบาย สาเหตุและรูปแบบการแทรกแซงทางการเมืองของทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การแทรกแซงทางการเมืองของทหารมักเกิดจากโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนไร้ระเบียบ รวมถึงความล้มเหลวของรัฐบาลพลเรือนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ในขณะที่ความเข้มแข็งขององค์กรทหารโดยเฉพาะศักยภาพในการใช้กำลังก็ส่งผลให้ทหารมักประสบความสำเร็จในการแทรกแซงการเมือง
พร้อมอธิบายระดับการแทรกแซงของทหารแบบ "ตราชั่งเสนาธิปัตย์" (Scale of Praetorianism) ได้แก่ 1. ทหารผู้กดดันถ่วงดุล 2. ทหารผู้พิทักษ์ 3. ทหารผู้ปกครองโดยตรง
นอกจากนี้มีการนำเสนอเรื่องการปกครองและการสืบทอดอำนาจของทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความไร้เสถียรภาพและรูปแบบการถอนตัวออกจากการเมืองของทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เกณฑ์ชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเมือง พิจารณาจากนโยบาย 5 เรื่อง ได้แก่ การเข้าสู่อำนาจของชนชั้นนำ นโยบายสาธารณะ ความมั่นคงภายใน การป้องกันประเทศ และการควบคุมองค์กรทหาร โดยเมื่อใช้เกณฑ์ทั้ง 5 ดังกล่าวเปรียบเทียบกรณีของไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ จะพบว่า กรณีของไต้หวันและเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลพลเรือนมีอิทธิพลในการตัดสินใจนโยบายทั้ง 5 เรื่อง ขณะที่อินโดนีเซีย รัฐบาลพลเรือนมีอิทธิพลในเรื่องการเข้าสู่อำนาจ และนโยบายสาธารณะ แต่อีก 3 เรื่องคือความมั่นคงภายใน การป้องกันประเทศ และการควบคุมองค์กรทหาร รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจจำกัด ส่วนฟิลิปปินส์รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจจำกัดทั้ง 5 เรื่อง ส่วนไทย รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจจำกัดในเรื่องการเข้าสู่อำนาจและนโยบายสาธารณะ ขณะที่กองทัพมีอิทธิพลในเรื่องความมั่นคงภายใน การป้องกันประเทศ และการควบคุมองค์กรทหาร
ในช่วงท้ายดุลยภาคยังเสนอชุดจำแนกประเภทระบอบการเมืองว่าด้วยทหารกับประชาธิปไตยอุษาคเนย์ ที่เมื่อใช้แนวคิดตราชั่งเสนาธิปัตย์ 3 รูปแบบ ประกอบกับรูปแบบการเมือง 3 รูปแบบ ทำให้จำแนกระบอบการเมืองว่าด้วยทหารกับประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 9 รูปแบบ
นอกจากนี้มีการอธิบายตัวแบบทหารกับประชาธิปไตยในอุษาคเนย์และรูปแบบการเจรจาต่อรองในหมู่ชนชั้นนำในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งสามารถส่งผลหลังการเจรจาได้ทั้ง 1. การพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้น 2. การพัฒนาประชาธิปไตยในคราวลูกผสม และ 3. การพัฒนาประชาธิปไตยที่ล้มเหลว
ทั้งนี้ดุลยภาคเสนอว่าสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ ประชาธิปไตยกับเผด็จการอาจไม่ใช่ระบอบการเมืองที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่างเด็ดขาด หากแต่มีการเจือปนผสมผสานกันในรูปแบบ "เผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย"
นอกจากนี้ อุษาคเนย์ตั้งอยู่ตรงจุดทางแพร่งระหว่างสองสมการหลักคือ "ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบที่มีค่าเท่ากับอนาธิปไตย" และ "กฎระเบียบที่ปราศจากประชาธิปไตยมีค่าเท่ากับเผด็จการ" ซึ่งหากแก้สองสมการนี้ได้จะช่วยการพัฒนาประชาธิปไตย และการปฏิรูปองค์กรทหารในด้านที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้มากขึ้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.