Posted: 23 Sep 2017 02:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)



ประกันสังคมพร้อมก้าวสู่ Digital SSO ไม่ต้องพกบัตรรับรองสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิรักษาจากเว็บไซต์และสายด่วน 1506 ได้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน โดย พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารภายในองค์กรและสามารถรองรับ การปรับเปลี่ยนการทำงานในยุคดิจิทัล และพัฒนาระบบพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเข้าถึงงานบริการภาครัฐ ในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นจะขับเคลื่อนด้วยกลไก “ประชารัฐ” โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สำนักงานประกันสังคม ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงแรงงาน จึงได้ทำการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้เชื่อมโยงสอดคล้อง กับหน่วยงานอื่นและให้บริการ Web Service โดยการปฏิรูปประกันสังคมเข้าสู่ Digital SSO ให้รองรับบริการ e-self Service อย่างครบวงจร สามารถตอบสนองต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ให้สามารถเข้าถึงบริการและได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลผ่านช่องทาง เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ทดแทนการพกบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐที่ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน ปรับปรุงระบบการบริการประชาชนเพื่อรองรับการใช้บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) โดยเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ทดแทนการใช้สำเนาเอกสาร อีกทั้งเป็นการรองรับนโยบาย Thailand 4.0 และเพื่อการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม จึงได้ยกเลิกการพิมพ์บัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลทดแทนการพกบัตรรับรองสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และเพื่อความสะดวกจึงขอแนะนำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแสดงเมื่อไปรับบริการที่สถานพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ได้ตลอดอายุความเป็นผู้ประกันตน อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสถานพยาบาลสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลฯ ผ่านนายจ้าง และ SMS ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่ www.sso.go.th,Mobile Application (SSO Connect),หรือโทรสายด่วน 1506

นายสุรเดช กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคมมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการในทุกรูปแบบ เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามามีส่วน ในการให้บริการ อีกทั้งมีการศึกษารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับระบบเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวล้ำในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนให้ได้รับบริการที่เป็นเลิศและยังเป็นการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น ในการทำงานภาครัฐตามนโยบายรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน และความเป็นเลิศ ในด้านการให้บริการต่อไป

ที่มา: VoiceTV, 18/9/2560

สมุทรปราการ-รถบัสรับส่งพนักงานชนรถบรรทุก เจ็บเพียบ

วันที่ 19 ก.ย.60 เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น.เกิดอุบัติเหตุรถบัสรับส่งพนักงานชนกับรถบรรทุก บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 6B คนขับรถบัสได้รับบาดเจ็บขาติดกับซากรถ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องตัดถ่างช่วยเหลือออกมาก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยมีผู้โดยสารซึ่งเป็นสาวโรงงานบาดเจ็บเล็กน้อยประมาณ 35 ราย เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลรัทรินทร์ บางปู สมุทรปราการ

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 19/9/2560

อดีต โคโยตี้ บุกร้อง ปคม. เอาผิดผู้ดูแลโมเดลลิ่ง ตบหน้าลูกจ้าง แฉเบื้องหลังแอบค้ามนุษย์

กลุ่มหญิงสาวผู้เสียหาย ในคลิปภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ทางโลกออนไลน์เกี่ยวกับการลงโทษของกลุ่มโคโยตี้เวียนกันตบหน้า ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ดูแลบ้านพักของเด็กโคโยตี้ ที่เป็นผู้ตบหน้า ผู้เสียหาย เนื่องจากมีพฤติกรรมค้ามนุษย์ จัดส่งเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี เต้นโชว์ตามสถานบันเทิง

โดยอดีตโคโยตี้สาววัย 17 ปี ให้การอ้างว่า โมเดลลิ่งที่ตนเองสังกัดอยู่ มีการลักลอบค้าประเวณี ซึ่งเด็กที่เข้ามาในสังกัดต้องมีการเปิดเรือนร่างให้ "ป๋าเกิด" ดูรูปร่างก่อนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแท้และทอม ก็ตาม นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายยังได้แจ้งความเอาผิดกับ "ป๋าเกิด" อดีตเจ้าของบ้านโคโยตี้ดังกล่าว เพราะมีพฤติกรรมบังคับให้สาวโคโยตี้ให้ยอมมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับการทำงานเป็นโคโยตี้ในสังกัด

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 19/9/2560

กรมประมงเร่งควบรวมใบอนุญาตทำประมงเดือนหน้า

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยูที่กรมประมงได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ทำให้การแก้ปัญหาคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการออกกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการประมงในปัจจุบัน โดยมาตรการเร่งด่วนในเดือนหน้าจะดำเนินการควบรวมใบอนุญาตทำการประมง โดยผู้ประกอบการที่มีเรือขนาดใหญ่ แต่ไปซื้อเรือขนาดเล็กมาเพิ่มก็สามารถควบรวมเป็นใบอนุญาตเดียวได้ เพื่อลดปริมาณเรือให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำ คาดว่าจะลดปริมาณเรือลงได้เหลือ 1 หมื่นลำ จากปัจจุบันมีเรือจำนวน 10,600 ลำ ซึ่งเมื่อจำนวนเรือลดลงแล้ว เรือประมงจะสามารถทำประมงได้ทุกวัน จากเดิมที่มีกำหนดเวลาในการทำประมงอยู่

นอกจากนี้ ยังจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตสามารถซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตซึ่งจอดเทียบท่าอยู่แต่ยังสภาพดีเข้ามาแทนที่เรือเก่าได้ เพื่อนำเรือที่ไม่มีใบอนุญาตออกนอกระบบได้ทั้งหมด

สำหรับการจัดระเบียบแรงงานประมงต่างด้าว ตอนนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สามารถออกอนุญาตให้แรงงานได้ ซึ่งวันนี้จะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม หากแล้วเสร็จจะเริ่มลงทะเบียนแรงงานได้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยนายจ้างสามารถจ้างแรงงานประมงสำหรับการทำงานในประเทศได้

ทั้งนี้ ในอนาคตกรมประมงจะเร่งปรับปรุงงานด้านวิชาการให้มากขึ้นด้วย โดยการประชุมวิชาการประมงในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ประมงไทย 4.0 กับงานวิจัยด้านประมง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน มีผลงานวิจัยมานำเสนอกว่า 69 เรื่อง จาก 9 สาขาวิชา อาทิ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สาขาการเพาะประมงทะเลและสาขาโรคสัตว์น้ำ โดยมีหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายผักกาดทะเลและการประยุกต์ใช้วัตถุดิบในอาหารกุ้งแวนาไม การพัฒนาเครื่องแยกเนื้อปลาจากกระดูกและก้างแบบลูกกลิ้ง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จะถูกนำไปปรับใช้กับงานประมงของไทยต่อไป

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 19/9/2560

เปิด 10 อันดับเกษียณอายุราชการมากที่สุด นับถอยหลัง 11 วัน 2 หมื่น

(19 ก.ย.2560) กรมบัญชีกลางเผยตัวเลขข้าราชการและลูกจ้างประจำพ้นจากราชการเนื่องจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยสิ้นปีงบประมาณ 2560 มีผู้เกษียณอายุราชการทั้งสิ้น 46,830 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 39,968 คน และลูกจ้างประจำ 6,862 คน ส่วนราชการที่มีผู้เกษียณอายุราชการมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ รวม 26,275 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 24,792 คน ลูกจ้างประจำ 1,483 คน โดยสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด 23,847 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 23,090 คน ลูกจ้างประจำ 757 คน

อันดับ 2 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง รวม 4,773 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,660 คน ลูกจ้างประจำ จำนวน 113 คน โดยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด 4,578 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,538 คน ลูกจ้างประจำ 40 คน

อันดับ 3 กระทรวงสาธารณสุข รวม 3,720 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 2,276 คน ลูกจ้างประจำ 1,444 คน โดยสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด 2,944 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,865 คน ลูกจ้างประจำ 1,079 คน

อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม รวม 3,555 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 2,782 คน ลูกจ้างประจำ 773 คน โดยสังกัดกองทัพบกมากที่สุด 1,536 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,181 คน ลูกจ้างประจำ 355 คน

อันดับ 5 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 2,697 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,230 คน ลูกจ้าง 1,467 คน โดยสังกัดกรมชลประทานมากที่สุด แบ่งเป็นข้าราชการ 278 คน ลูกจ้างประจำ 946 คน

อันดับ 6 กระทรวงมหาดไทย รวม 1,283 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,076 คน ลูกจ้างประจำ 207 คน โดยสังกัดกรมการปกครองมากที่สุด แบ่งเป็นข้าราชการ 337 คน ลูกจ้างประจำ 28 คน

อันดับ 7 กระทรวงการคลัง รวม 835 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 691 คนลูกจ้างประจำ 144 คน โดยสังกัดกรมสรรพากรมากที่สุด 409 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 331 คน ลูกจ้างประจำ 78 คน

อันดับ 8 สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 201 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 164 คน ลูกจ้างประจำ 37 คน โดยสังกัดกรมประชาสัมพันธ์มากที่สุด 59 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 48 คน ลูกจ้างประจำ 11 คน

อันดับ 9 กระทรวงคมนาคม รวม 792 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 332 คน ลูกจ้างประจำ 460 คน โดยสังกัดกรมทางหลวงมากที่สุด 512 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 168 คน ลูกจ้างประจำ 344 คน

อันดับ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 608 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 247 คน ลูกจ้างประจำ 361 คน โดยสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมากที่สุด 243 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 87 คน ลูกจ้างประจำ 156 คน

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเฉพาะข้าราชการพบว่าสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานที่มีข้าราชการเกษียณมากที่สุด 23,847 คน รองลงมาคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,578 คน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2,944 คน กองทัพบก 1,536 คน และกรมชลประทาน 1,224 คน ตามลำดับ โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้มีจำนวนข้าราชการเกษียณรวมกันมากถึงร้อยละ 72.88% ของผู้เกษียณอายุราชการทั้งหมด

ที่มา: ThaiPBS, 19/9/2560

กระทรวงแรงงาน ลุยปั้นช่างก่อสร้างมืออาชีพควบคู่โลจิสติกส์ ทะลุเป้า 2 หมื่นคน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่ง มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ช่องทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน หรือที่พักอาศัย ต่างส่งผลให้สาขาอาชีพด้านโลจิสติกส์และก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในปีนี้ (2560) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อน “โครงการ ฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับระบบขนส่งด้านโลจิสติกส์ และก่อสร้าง” ในการผลิตแรงงานฝีมือตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน ในการ“เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0” และ “มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ” ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกับหน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ จำนวน 20,535 คน จากเป้าหมาย 17,840 คน

หลักสูตรที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตรผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 หลักสูตรพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยก หลักสูตรการขับรถฟอร์คลิฟท์อย่างปลอดภัยและถูกวิธี หลักสูตรการจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า หลักสูตรช่างเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลักสูตรช่างก่ออิฐฉาบปูน หลักสูตรช่างสีอาคาร เป็นต้น

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้มอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรอาชีพเสริมสาขาการก่ออิฐ-ฉาบปูนและสาขาการปูกระเบื้อง จำนวน 40 คน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐาน จากการพูดคุยกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมบอกกล่าวตรงกันว่ามีประโยชน์อย่างมาก มีฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ได้รับความรู้หลายด้าน อาทิ ความปลอดภัยในการทำงาน การเลือกวัสดุ การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมืองานก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้อง ฝึกก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องสวยงาม เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสาขาการก่ออิฐฉาบปูน เตรียมเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติเพื่อรับรองความรู้ ความสามารถพร้อมใช้เป็นหลักฐานในการขอรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย อาทิ สาขาช่างก่ออิฐ มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 345 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 465 บาท และระดับ 3 ไม่ตำกว่าวันละ 585 บาท

นายสมศักดิ์ สุขวัฑฒโก ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวว่า ในปี 60 ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้กับแรงงานด้านโลจิสติกส์และก่อสร้างแล้วจำนวน 320 คน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ระบบขนส่งและก่อสร้างของจังหวัด มีความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์กับประชาชนและสถานประกอบกิจการเป็นอย่างมาก โดยเน้นการฝึกที่สร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ซึ่งในครั้งนี้ฝึกในสาขา ก่ออิฐ-ฉาบปูน และสาขาปูกระเบื้อง จึงใช้สถานที่ฝึก ณ วัดปัวแหลม บ้านปัว อ.เชียงคำ จ.พะเยา นอกจากนี้ สนพ.พะเยา ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนฝึกอบรมแรงงานพื้นที่ในสาขาอื่นๆ ด้วย รวมกว่า 3,000 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/9/2560

ก.แรงงานร่วมถกปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าดังกล่าวคนงานไทยเดินทางไปด้วยตัวเอง โดยมีผู้ประสานงานคนไทยเป็นผู้พาไป ซึ่งคนงานจะได้รับวีซ่าท่องเที่ยว ระยะเวลา 90 วัน ไม่มีกฎหมายแรงงานท้องถิ่นป้องกันสิทธิแรงงานไทย มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent – LOI) ซึ่งเป็นรายละเอียดเงื่อนไขการนำแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ที่กระทรวงการต่างประเทศทำร่วมกับกระทรวงแรงงานฟินแลนด์เท่านั้น โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือในแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาราคาผลไม้ไม่เป็นธรรม ปัญหาค่าจ้างและการจัดที่พัก ซึ่งที่ประชุมเสนอแนวทางให้มีการปรับปรุงแก้ไข LOI เช่น ระบุข้อความรับประกันรายได้ขั้นต่ำของคนงาน กำหนดรายละเอียดมาตรฐานที่พักคนงาน ผู้ตรวจสอบทางฝ่ายฟินแลนด์ตรวจสอบราคาผลไม้ด้วยว่าเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ ในปี 2561 กระทรวงแรงงานจะปรับปรุงแก้ไขให้ผู้ประสานงานคนไทยเป็นนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ และต้องมีสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป

นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ จะได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับข้อร้องเรียน ข้อมูลปรับปรุงกระบวนการจัดส่งคนงานไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาพการทำงานเก็บผลไม้ป่าไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คาดหวัง เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูงและร่างกายต้องแข็งแรง เพราะต้องทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเย็นและเดินทางไกล อีกทั้งยังมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ หากปีใดสภาพอากาศแปรปรวน ผลไม้ป่าก็จะออกผลน้อย ก็จะเก็บผลไม้ได้น้อย จึงควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ ขอให้สอบถามข้อมูลที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6715 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: VoiceTV, 20/9/2560

แรงงานร่วมถก ปลดล็อค! อาชีพสงวน 39 อาชีพที่คนไทยเมิน
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการปลดล็อคอาชีพสงวนว่า จากการที่กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทบทวนแก้ไขงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จำนวน 39 งาน ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสนอให้เพิ่มอาชีพในส่วนที่คนไทยไม่ทำ โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำได้ได้แก่ 1. ประเภทงานก่อสร้าง เช่น งานก่ออิฐ ฉาบปูน ช่างไม้ 2. งานในร้านอาหาร เช่น พนักงานเสริฟ์ ผู้ช่วยแคชเชียร์ 3. กรรมกรในตลาดสด เช่น พนักงานขนผัก/ขนของ 4. พนักงานขายของหน้าร้าน 5. งานในปั๊มน้ำมัน เช่น พนักงานเติมน้ำมัน พนักงานเก็บเงิน 6. งานโรงงาน เช่น ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ

นายวรานนท์ กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางานจะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในงานห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตตาคารไทย สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้แทนผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นว่างานอะไรสมควรสงวนไว้ให้คนไทยทำต่อไป และงานใดที่คนไทยไม่ทำแล้ว สามารถให้คนต่างด้าวทำได้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้ามาดำเนินการได้โดยสะดวกและถูกต้องตามกฎหมาย ในวันอังคารที่ 26 กันยายน 2560 นี้ ที่กระทรวงแรงงาน

ที่มา: NationTV, 19/9/2560

กยศ.เอาจริงลูกหนี้ค้างจ่าย ประสานต้นสังกัด 'ข้าราชการ' หักเงินรายเดือนส่งคืนชำระหนี้ เริ่ม ม.ค. 2561

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ. ) เปิดเผยว่า จากที่พบว่ามีข้าราชการบางส่วนยังไม่ยอมจ่ายชำระหนี้ให้แก่ กยศ.นั้น ขณะนี้ กยศ. อยู่ระหว่างประสานข้อมูลลูกหนี้กับกรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร และนายจ้างในหน่วยงานราชการ เพื่อให้ช่วยหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการได้ในเดือน ม.ค. 2561

"คาดว่าหลังจากดำเนินการในเดือน ม.ค.61 ไปแล้ว ยังมีข้าราชการที่ไม่ยอมชำระหนี้อยู่ ก็จะมีกระบวนการสอบข้อเท็จจริง เพราะถือว่าเป็นความผิดทางวินัย และหากสอบแล้วพบว่ามีข้อเท็จจริงก็จะต้องได้รับโทษ โดยโทษสูงสุด คือการให้ออกจากราชการ" นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนราย โดยในส่วนนี้เป็นลูกหนี้ค้างชำระประมาณ 6 หมื่นราย โดยหลังจากนี้ กยศ.จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างในการนำส่งรายชื่อลูกหนี้ กยศ. เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการหักเงินต่อไป สำหรับภาคเอกชนคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2561

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20 ก.ย. 2560

กระทรวงแรงงานสั่งตรวจสอบกรณีการจ้างแรงงานบุคคลบนพื้นที่สูง

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงกรณีมีข่าวในโซเชียลมีเดีย ว่านายจ้างที่จ้างบุคคลบนพื้นที่สูง ว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติและโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงาน ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการจ้างแรงงาน เรื่องนี้กระทรวงแรงาน กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง และอำนวยความสะดวกให้นายจ้าง

ทั้งนี้บุคคลบนพื้นที่สูง กระทรวงอนุญาตให้ทำงานได้ทุกประเภท ทุกอาชีพ เพื่อลดการขาดแคลนแรงงาน ยื่นขออนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในจังหวัดที่ทำงานอยู่ แต่แรงงานพื้นที่สูงจะประกอบกิจการส่วนตัวไม่ได้

สำหรับขั้นตอนการอนุญาตทำงาน ขั้นแรก ให้ยื่นคำขอออกนอกพื้นที่ต่อนายอำเภอ จากนั้นไปยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน และเอกสารที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 และนายทะเบียนจะพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 225 - 900 บาท กรณีพบเห็นเจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขอให้แจ้งหัวหน้าส่วนราชการที่ไปติดต่อขอรับบริการทันที

ที่มา: ch7.com, 22/9/2560

สั่งนายจ้างเรือสำรวจน้ำมันต่างชาติ จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ลูกจ้าง กว่า 7 แสนบาท

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยถึงกรณีคนประจำเรือสำรวจน้ำมัน เอเชี่ยน วอรอเอ่อ (Asian Warrior) ที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ได้ร้องเรียนว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง กสร.จึงได้สอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ปกิบัติงานของเรือดังกล่าวเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เรือดังกล่าวเป็นเรือสัญชาติ ST. KITTS & NEVIS มีนายเอเรียล กาบิโอล่า การ์เรจน์ (Mr. Garalde, Ariel Gabiola) เป็นนายเรือ โดยมีบริษัท Asian Navigation Ltd. (ANL) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าของเรือ ได้เข้ามาปฏิบัติงานสำรวจน้ำมันให้กับผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่บริเวณจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน และจากการสอบข้อเท็จจริงผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างพบว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง จำนวน 10 คน ประกอบด้วยคนประจำเรือสัญชาติฟิลิปปินส์ จำนวน 8 คน และคนประจำเรือสัญชาติอินโดนิเซีย จำนวน 2 คน ซึ่งเป็นค่าจ้างระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2560 พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ให้นายเรือ เอเรียลกาบิโอล่า การ์เรจน์ (Mr. Garalde, Ariel Gabiola) จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่คนประจำเรือทั้ง 10 คน เป็นเงินจำนวน 23,459 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือจำนวน 774,147 บาท

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวของกสร.เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน กรณีที่พบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ค้างจ่ายค่าจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนดเวลาก็มีอำนาจในการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ นอกจากนี้จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายโดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลด้วย

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 22/9/2560

ประกันสังคมย้ำชัด! ขึ้นค่าเหมาจ่ายดูแลผู้ประกันตนให้ ‘รพ.เอกชน’ สูงสุดเมื่อเทียบกองทุนสุขภาพอื่น

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการเข้าร่วมนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ และยังกล่าวถึงงบเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าทุน ว่า สปส. ได้กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนดูแลผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตั้งแต่การให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา ตลอดจนต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า มติของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาไปแล้ว คือ 1. ค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,500 บาท/คน/ปี 2. ค่าภาระเสี่ยงสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็น 447 บาท/คน/ปี 3. ค่ารักษาผู้ป่วยในสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงฯ 640 บาท/คน/ปี 4. ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินหนึ่งล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราที่เท่ากันและเสมอภาคกัน

นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า รวมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่ สปส. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เท่ากับ 2,602 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทั้งในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นๆตามความเหมาะสมของแต่ละสิทธิประโยชน์ที่มีการจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าอุปกรณ์สำหรับการบำบัดรักษาโรค ค่าปลูกถ่ายอวัยวะ ค่าบำบัดทดแทนไต ค่ายาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ค่ายาราคาสูงสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจร่างกายประจำปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม คิดเป็นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น 797.69 บาทต่อราย ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ที่จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิมียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและเมื่อเทียบกันแล้วไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วน สปสช.เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของรพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยดีมาโดยตลอด โดยสปสช.ขอยืนยันว่า โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนใช้มาตรฐานเดียวกันและอัตราการจ่ายเงินเดียวกัน อย่างไรก็ตามทราบว่า รพ.เอกชนหลายแห่งได้มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งดี และอาจจะมีผลต่อต้นทุน ทาง สปสช.ก็จะได้เชิญทาง รพ.เอกชนมาหารือต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/9/2560

แรงงานเมียนมามากกว่า 150 คน ร้ององค์กรเร่งช่วยถูกนายจ้างไทยโกงค่าแรง

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่บริเวณหน้าสำนักงาน เคทีจีหรือโกตายี องค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ตั้งอยู่ที่ 351 หมู่ที่ 2 บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ริมเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา มีแรงงานเมียนมากว่า 150 คน ถือบัตรอนุญาตทำงานได้ทยอยมาร้องเรียนกับสำนักงานองค์กร กรณีถูกโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด โกงค่าแรงจากวันละ 305 บาท จ่ายเพียง 145 บาท โอทีวันละ 56 บาท จ่ายเพียง 10 บาท ทั้งที่มีบัตรแรงงานถูกต้องตามกฎหมายไทย-เมียนมา ทุกอย่าง

นางเพียวนาดา อายุ 37 ปี แรงงานเมียนมา เปิดเผยว่า ถูกนายจ้างโรงงานแห่งนี้ให้เซ็นเอกสารรับเงินวันละ 305 บาท แต่รับเงินจริงเพียง 145 บาท โอทีจากชั่วโมงละ 56 บาท เหลือเพียง 10 บาท ทั้งนี้ยังถูกโกงเรื่องค่าทำบัตรอนุญาตทำงานจากฝั่งเมียนมา จากราคาไม่ถึง 2,000 บาท แต่ถูกเรียกเก็บ 7,500 บาท สุดท้ายยังยึดบัตรประจำตัวประชาชนประเทศเมียนมาเก็บไว้อีกด้วย ทำให้ได้รับความเดือดร้อน บางวันต้องเก็บผักบุ้งตามท้องนาใกล้โรงงานมากินแทนกับข้าว เนื่องจากค่าแรงที่ได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพรายวัน

ด้านนายโกตายี เปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่แรงงานเมียนมา อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ตนเองในฐานะที่ให้การช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว จะดำเนินการเรียกร้องไปที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานและจะรายงานไปยังส่วนราชการเมียนมาที่ฝั่วงเมียวดีอีกด้วยเพื่อให้ หน่วยงานเมียนมาประสานหน่วยงานฝ่ายไทยดำเนินการอย่างวเร่งด่วน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/9/2560

กระทรวงแรงงานยันไม่มีการจ้างแรงงานเด็ก

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันไม่มีการจ้างเด็กต่างด้าวต่ำกว่า 15 ปีทำงาน พร้อมย้ำไม่อนุญาตให้เด็กต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา ต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา งานเสี่ยงอันตราย หรือในสถานบันเทิง โดยอนุญาตทำงาน 2 อาชีพเท่านั้น คือ กรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน รวมทั้งยังยืนยันความร่วมมือกับประเทศต้นทางปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อสิทธิประโยชน์และคุ้มครองแรงงาน

พลเอก ศิริชัย ฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีมีข่าวว่า ทางการเมียนมาไม่ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อใช้ในการทำงานนั้น การออกเอกสาร CI ดังกล่าวเป็นการดำเนินการพิจารณาของประเทศต้นทาง หากประเทศต้นทางพิจารณาออกเอกสารให้แล้วก็สามารถขอตรวจลงตรา (VISA) กับตรวจคนเข้าเมืองของไทย และยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ โดยงานที่อนุญาตให้ทำได้คืองานกรรมกร และผู้รับใช้ในบ้านเท่านั้น คนต่างด้าวไม่สามารถทำงานขายของหน้าร้านได้ ส่วนกรณีการอนุญาตทำงานให้กับเด็กต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น ขอเรียนว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่าห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีที่มีการอนุญาตให้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างนั้นสามารถทำได้ แต่เป็นการอนุญาตให้เฉพาะงานที่ไม่เป็นอันตรายเท่านั้น เช่น งานที่ไม่เกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียงและแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติอันอาจเป็นอันตราย งานที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีบริการที่เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานไม่เคยอนุญาตให้เด็กต่างด้าวอายุ 15-18 ปีทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด รวมทั้งทำงานในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นข้อห้ามตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน เช่น ในโรงฆ่าสัตว์ สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ หรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า เป็นต้น สำหรับการนำคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแบบ MOU นั้น กระทรวงแรงงานมีข้อตกลงร่วมกันกับประเทศต้นทางว่าจะต้องนำเข้าแรงงานอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเข้ามาทำงาน ดังนั้น จะไม่มีการอนุญาตทำงานให้กับเด็กต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU ซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่อย่างใด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาทำงานโดยไม่มีเอกสารแสดงตนมาแจ้งการทำงานของแรงงานฯ โดยมีนายจ้างมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 198,332 ราย แรงงานต่างด้าว 797,685 คน จากนั้นนายจ้าง-ลูกจ้างต้องมาพิสูจน์ทราบความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อป้องกันการขนคนเข้ามาใหม่ ซึ่งมีแรงงานฯ ผ่านการคัดกรองจำนวนทั้งสิ้น 726,876 คน นายจ้าง 185,424 ราย ไม่ผ่าน 20,451 คน โดยสาเหตุหนึ่งที่ไม่ผ่านการคัดกรองเนื่องจากมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบอายุของแรงงานต่างด้าว หากปรากฏว่ามีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะไม่อนุญาตให้ทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานมิได้นิ่งนอนใจในปัญหาต่างๆ และพร้อมที่จะจัดระเบียบการทำงานของแรงงานต่างด้าวเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยยึดหลักการตามมาตรฐานสากล ซึ่งทางการของประเทศต้นทางทั้ง 3 ประเทศก็เห็นด้วยร่วมกันและสนับสนุนที่จะให้การเข้ามาทำงานของแรงงานในประเทศของตนถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และขอขอบคุณนายจ้าง/สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อนายจ้าง แรงงานต่างด้าวและประเทศชาติ

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 23/9/2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.