Posted: 23 Sep 2017 03:23 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' ประสานเสียงหวังเห็นการเลือกตั้งปี 2561 จี้ 'ประยุทธ์' ทำตามสัญญา 'คุณหญิงสุดารัตน์' ระบุต้องสร้างพรรคการเมืองให้แข็งแรง ป้องถูกยึดอำนาจอีก 'องอาจ' ชี้นายกยังไม่ให้คำตอบชัดเจน แต่ส่วนตัวคิดว่าควรเลือกตั้ง พ.ย. 2561 ด้าน 'อนุทิน' ขอนักการเมืองอย่าเป็นปลาสองน้ำ

23 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมสัมมนา

คุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 ตามโรดแมปที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ รัฐบาลระบุว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน หากรัฐบาลจะอยู่ยาวต่อหรือไม่ ควรบอกให้ชัดเจน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนักลงทุน ที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน ส่วนตัวเห็นว่าหากไม่มีการเลือกตั้ง คนที่เดือดร้อน ไม่ใช่นักการเมือง แต่จะเป็นประชาชน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงประเด็นที่มีชื่อเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า ได้คุยกับสมาชิกบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดประชุมพรรคอย่างเป็นทางการได้ กรณีดังกล่าวอาจเป็นเพราะทำงานมานาน ละเป็นที่รู้จัก ยืนยันจุดยืนของพรรคว่าจะยึดมั่นและดูแลปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเข้มแข็ง ไม่ให้เกิดอำนาจอื่นมายึดอำนาจอีก ส่วนประเด็นว่าจะร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง เห็นว่าก่อนเลือกตั้งสำคัญกว่าหลังเลือกตั้ง เพราะมีกติกาต่าง ๆ มากมายที่ออกมาแล้วทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่สามารถทำเพื่อส่วนรวมได้ เพราะต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ถ้าไม่ทำก็อาจผิดกฎหมาย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ แม้ว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีจะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ และได้พูดถึงการเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจนด้วยการระบุว่า ถ้าบ้านเมืองยังคงมีความขัดแย้งวุ่นวายจะไม่มีการเลือกตั้ง การตั้งคำถามสี่ข้อที่สอบถามไปยังประชาชน ซึ่งถือเป็นการส่งนัยสำคัญที่อาจ เป็นการแสวงหาแนวร่วม

“ล่าสุดนายกรัฐมนตรีระบุว่า หากบ้านเมืองอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยจะเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งทั้งหมดเป็นการพูดแบบมีเงื่อนไข แต่ส่วนตัวมองว่า หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ น่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561” นายองอาจ กล่าว

ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง ที่มีการมองว่าอาจตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายองอาจ กล่าวว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นเรื่องของอนาคต แต่หากผลคะแนนการเลือกตั้งออกมาแล้วใครได้รับเสียงข้างมาก ก็ให้พรรคนั้นเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาควรจะต้องยกมือสนับสนุนพรรคที่ได้รับเสียงข้างมาก เพราะหากสนับสนุนคนอื่น บ้านเมืองมีปัญหาแน่นอน ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะบอกได้ว่ารูปแบบของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรืออย่างช้าปี 2562 และมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะรักษาสัญญา และทำตามโรดแมปที่วางไว้ เพราะหากไม่สามารถรักษาสัญญาได้ จะมีแรงกดดันจากหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือ คสช. หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนที่พร้อมใจกันและมีความต้องการให้การเลือกตั้งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองมีความพร้อมที่จะลงสนามการเลือกตั้ง

“ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาสู่ระบอบการปกครองแบบนี้ ต้องไม่เป็นปลาสองน้ำ ถ้ามาทำงานให้พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำให้ครบวาระ เมื่อถึงเวลาระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนน้ำกร่อย ปลาจะอยู่ไม่ได้ จะอยู่น้ำจืดก็อยู่ไป ถึงเวลาน้ำเค็มมาคือปลาทะเลเล่น และเพื่อไม่ให้ถูกครหา พล.อ.ประยุทธ์ต้องรักษาโรดแมป ต้องรักษาสัญญา คนอื่นไม่ต้องสน มั่นใจชายชาติทหาร บุคคลระดับรับผิดชอบประเทศขนาดนี้แล้ว มีตัวอย่างแล้วว่า ถ้ารักษาสัญญาไม่ได้จะโดนแรงกดดันขนาดไหน ผมไม่ห่วงเท่าไหร่ จะทำให้ดีที่สุด ให้กำลังใจนายกฯ เพราะคือคนรับผิดชอบประเทศนี้คนเดียว คนที่เหลือไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเท่าไหร่” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน มองว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะเห็นว่า คงจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนั่งนายกรัฐมนตรี และจะยอมให้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากคสช.อยากจะเข้ามา เป็นรัฐบาลควรจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างาม

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตการออกแบบรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำหนดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสี่ฉบับแล้วเสร็จ แต่ไม่ได้เขียนระบุว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน และน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2561

นายปริญญากล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากหรือเกิน 376 เสียงอย่างแน่นอน และเห็นว่าการมี ส.ส. และ ส.ว.แบบคู่ขนาน ซึ่ง ส.ว.อาจเป็นตัวแทนจาก คสช. และมีเสียงสนับสนุนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทางออกคือควรปล่อยให้ส.ว. เป็นอิสระ ให้คิดด้วยตัวเองว่า ควรโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ควรยกมือเพื่อบ้านเมืองอย่างไร ถ้าหากถอยคนละก้าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถอยจากพรรคเพื่อไทย ส่วน คสช. ถอยจาก ส.ว. เพื่อให้ ส.ว. ทำหน้าที่แก่ปวงชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.