Posted: 30 Aug 2017 11:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อ่านแนวคิดนักปรัชญาฝรั่งเศสที่อดีตนายกรัฐมนตรีต้องอ้างอิงในประเด็น "ความเลวร้ายที่กระทำในนามกระบวนการยุติธรรม" เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในรัฐสมัยใหม่ พร้อมพิจารณาข้อวิจารณ์การใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมสมัยรัฐบาลทักษิณ


กรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งหลบหนีไปต่างประเทศและไม่มาฟังคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาในปี 2550 และต่อมาในปี 2558 ถูกกระทรวงการต่างประเทศสั่งเพิกถอนพาสปอร์ตหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้โชซอนอิลโบ รวมทั้งถูกถอดยศพันตำรวจโท ล่าสุดได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์บัญชี @ThaksinLive ว่า "มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม"

สำหรับมงแต็สกีเยอที่ทักษิณอ้างถึง คือ ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา บารอนแห่งแบรด และมงแต็สกีเยอ (Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu) หรือรู้จักกันในชื่อ มงแต็สกีเยอ (Montesquieu) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1689 และเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1755 (พ.ศ. 2298) เขาเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่และอยู่ในหลักการรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ

ส่วนข้อความที่ทักษิณอ้างถึงในทวิตเตอร์ มาจากหนังสือของมงแต็สกีเยอที่ชื่อ Considérations sur les causes de la grandeur des Romains/Considerations on the Causes of the Grandeur and Decadence of the Romans หรือ ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1734 (พ.ศ. 2277) เขียนถึงจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 735 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงยุคสิ้นสุดของคอนสแตนติโนเปิล เมื่อ ค.ศ. 1453 หลังการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมาน โดยเขียนวิเคราะห์สาเหตุความยิ่งใหญ่และเสื่อมถอยของจักรวรรดิโรมัน


ภาพหน้าแรกของหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย (ที่มา: Smuconlaw/Wikipedia)

ในหนังสือ De l'Esprit des Lois/The Spirit of the Laws หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2291) มงแต็สกีเยอ ได้เสนอหลักของการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำหรับการปกครองในปัจจุบัน

โดยเขาอธิบายว่า อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจเกี่ยวกับการวางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ เช่น ออกกฎหมายพิจารณาเงินงบประมาณและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจ

อำนาจบริหาร เป็นอำนาจปฏิบัติการซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน เช่น การนำกฎหมายมาบังคับใช้หรือออกกฎหมายบางส่วนที่มีความสำคัญน้อยกว่านิติบัญญัติ โดยมีรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจ

และอำนาจตุลาการ เป็นอำนาจปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง คือ อำนาจในการวินิจฉัยอรรถคดี เช่น ในการตีความตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัดสินพิจารณาคดีต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานศาลและกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจนี้ เป็นต้น

เขามองว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดจะต้องเป็นรัฐบาลที่อำนาจแต่ละอำนาจถูกใช้โดยองค์กรที่แตกต่างกัน เมื่อบุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไว้ด้วยกัน เสรีภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าอำนาจตัดสินคดีไม่ได้แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติหรือบริหารจะไม่มีเสรีภาพอีกเช่นกัน ในการแยกอำนาจก็เพื่อจะคุ้มครองและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เพื่อมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจเพียงองค์กรเดียว

สำหรับหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่ โดยในกรณีของสหรัฐอเมริกา เจมส์ แมดิสัน ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา และบิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศสอย่างยิ่ง โดยเขายึดหลักการที่ว่า "รัฐบาลควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มีมนุษย์ผู้ใดระแวงกันเอง" และนำมาสู่รัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย


ข้อวิจารณ์เรื่องละเมิดกระบวนการยุติธรรมสมัยทักษิณ

อนึ่งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกวิจารณ์เรื่องของการละเมิดกระบวนการยุติธรรม โดยในปี 2546 เขาถูกวิจารณ์ในเรื่องนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยไม่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยในเวลานั้นเกิดคดีฆาตกรรมถึง 2,561 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 ศพ

เมื่อหลังเกิดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นปี 2547 รัฐบาลทักษิณและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ถูกวิจารณ์ถึงมาตรการใช้ความรุนแรง เช่น การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อเหตุเมื่อ 27 เมษายน 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย และเฉพาะมัสยิดกรือเซะมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งภายหลังคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีข้อเสนอว่า "การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนัก" นอกจากนี้ในช่วงเดือนรอมฎอน ก็มีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 84 คน ฯลฯ



ที่มาของข้อมูล

อำนาจอธิปไตย, ผู้เรียบเรียง ปิยะวรรณ ปานโต, สถาบันพระปกเกล้า

Separation of powers, Wikipedia

Montesquieu, Wikipedia

กรณีตากใบ, วิกิพีเดีย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.