พูดผิดพูดถูกตะกุกตะกักอาจเป็นสัญญาณโรคสมองเสื่อม

ผู้สูงวัยที่ความสามารถทางการใช้ภาษาและการพูดลดลงอาจเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ส

คุณอลัน สวีท อายุ 72 ปี ชาวอเมริกัน เข้าร่วมการวิจัยโรคความจำเสื่อมที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เขากำลังอธิบายรูปภาพที่เห็นให้ทีมนักวิจัยฟัง และการพูดกับคำพูดที่เขาใช้จะช่วยให้นักวิจัยวิเคราะห์การเกิดโรคคำจำเสื่อมในระยะเริ่มต้นได้

ในการทดสอบหลายรอบที่ห่างกันสองปี ทีมนักวิจัยให้ผู้สูงวัย

อย่างคุณอลัน สวีท อธิบายรูปภาพรูปเดียวกัน ทีมนักวิจัยพบว่ายิ่งผู้สูงวัย หยุดพูดเพื่อหาคำพูด และมีการเปลี่ยนแปลงทางวาจา อาจเป็นสัญญาณส่อถึงการเริ่มเกิดโรคความจำเสื่อมในระยะเเรก

ทีมนักวิจัยบอกว่าไม่ได้หมายความว่าผู้สูงวัยเหล่านี้ทุกคนจะเป็นโรคอัลไซเมอร์สในเวลาต่อมา แต่ก็มีผู้สูงวัยอย่างน้อย 15-20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ที่ป่วยด้วยโรคนี้

คิม มูลเล่อร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวว่าผลการศึกษานี้มีความสำคัญ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงด้านความสามารถในการพูดจา การใช้ภาษา เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเเรกที่สามารถสังเกตุได้

ยาบำบัดโรคความจำเสื่อมที่ใช้กันในปัจจุบันไม่ช่วยชะลอหรือรักษาอาการความจำเสื่อมได้ แต่ยารักษาบางชนิดและการบำบัดบางอย่างอาจช่วยให้อาการดีขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นโรคในระยะเริ่มต้น

ดังนั้นการทดสอบอย่างง่ายเเละไม่เเพง ซึ่งช่วยทดสอบการเสื่อมถอยทางความคิดอ่านนี้ จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะช่วยให้ทำการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น



คิม มูลเล่อร์ กล่าวว่า คนเราทุกคนล้วนเเต่มีเทคนิคการพูดที่ไม่เหมือนกัน ติดคำว่า เอ่อ อ่า หรืออื่นๆ คนเรามักใช้คำเหล่านี้เป็นครั้งคราว แต่ในคนที่เริ่มเเสดงอาการความจำเสื่อมในระยะเริ่มต้น มักใช้คำเหล่านี้มากเกินปกติ

ยกตัวอย่าง นายโรนัลด์ เรเเกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ล่วงลับ ที่เป็นผู้นำประเทศจากปี ค.ศ. 1981-1989 โดยในการเเถลงข่าวหลายครั้งในช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีของเขา ประธานาธิบดีเรเเกนมักใช้คำนามที่ไม่เฉพาะเจาะจง ใช้คำว่า เอ่อ อ่า บ่อยครั้งมาก และหยุดพูดเพื่อหาคำพูด

เเละต่อมาในปี 1994 เขาได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ส

คุณอลัน สวีท อาสาสมัครผู้สูงวัยในการวิจัยนี้ บอกว่า พ่อเเม่ของเขามีอาการความจำเสื่อมทั้งคู่ก่อนจะเสียชีวิต เขากล่าวว่าเขาต้องการให้มีการบำบัดโรคอัลไซเมอร์สให้หายขาดได้ เขาจะทำทุกอย่างที่เขาทำได้เพื่อสนับสนุนการวิจัยโรคนี้

คุณสวีทและอาสาสมัครคนอื่นๆ ในการวิจัย ไม่ได้รับผลการทดสอบรายบุคคลจากทีมนักวิจัย แต่พวกเขาได้รับความพึงพอใจที่รู้ว่า พวกเขาอาจมีส่วนช่วยให้การวิจัยเเพื่อหาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์สคืบหน้า

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)

source:-http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166095054304513276

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.