Posted: 31 Aug 2017 06:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เดอะการ์เดียนรายงานว่าสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติของอังกฤษ หรือ NCA ยอมรับต่อศาลสูงว่า พวกเขาให้ข้อมูลกับตำรวจไทยสำหรับคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 รายที่เกาะเต่าโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน/กระบวนการทางกฎหมาย
31 ส.ค. 2560 กรณีสังหารฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ เมื่อเดือนกันยายน 2557 ทำให้ชาวพม่า 2 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกสั่งลงโทษประหารชีวิต ซึ่งคำตัดสินนี้องค์กรต่อต้านโทษประหารชีวิตรีพรีฟ (Repreieve) บอกว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้งสองรายยังเคยบอกว่าพวกเขาถูกทารุณกรรมให้รับสารภาพด้วย
ล่าสุด สื่ออังกฤษเผยว่าคดีนี้มีความผิดพลาดในกระบวนการทางกฎหมายอีกเรื่องหนึ่ง โดยศาลสูงที่ลอนดอนเปิดเผยว่าสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติของอังกฤษ (NCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานสืบสวนคดีคล้ายเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา ได้ละเมิดกระบวนการทำงานของรัฐบาล 5 ครั้ง จากการที่พวกเขาส่งบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์และข้อมูลการสืบสวนให้ทางการไทย โดยการส่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่อังกฤษเรียกว่า "แนวทางด้านความปลอดภัยและความยุติธรรมข้ามประเทศ" (OSJG) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ป้องกันไม่ให้หน่วยงานบังคับกฎหมายของอังกฤษให้ความช่วยเหลือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกประเทศโดยที่ไม่รู้ตัว
โดยหลังเหตุฆาตกรรม NCA ส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งโทรศัพท์ของมิลเลอร์ให้กับตำรวจไทย เป็นเหตุให้อัยการอ้างได้ว่าผู้ต้องสงสัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับเหยื่อ ศาลระบุอีกว่า NCA ทำผิดกฎจากการที่ละเลยการขออนุญาตจากรัฐมนตรีมหาดไทยและจากผู้อำนวยการของพวกเขาเอง มีแค่การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องโทษประหาร ซึ่งทาง NCA ยอมรับว่าพวกเขาแลกเปลี่ยนข้อมูลและวัตถุอื่นๆ กับทางการไทยอย่างผิดกฎกระบวนการ
แนวทางของ NCA ระบุให้พวกเขาต้องทำความเข้าใจกับทางการไทย ถ้าเจ้าหน้าที่ทางการไทยต้องการใช้หลักฐานไปในการพิจารณาโทษประหาร หรือมีความเสี่ยงจะเกิดการพิจารณาโทษประหารจะต้องมีการหารือกับทางกระทรวงในเรื่องการให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือ
ทางหน่วยงาน รีพรีฟเปิดเผยว่าหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่ NCA ส่งไปให้ถูกอ้างใช้อย่างเลือกปฏิบัติเพื่อเน้นเอาผิดจำเลยชาวพม่าสองรายนี้เท่านั้น และแม้ว่า NCA จะมีข้อมูลที่สามารถโยงถึงตัวผู้ต้องสงสัยรายอื่น แต่ก็ไม่มีการส่งข้อมูลนี้ให้กับทีมทนายความฝ่ายจำเลย ซึ่งทนายความของจำเลยยืนยันว่ามีการใช้แต่ข้อมูลโทรศัพท์ของมิลเลอร์เพียงอย่างเดียวในการเอาผิดกับจำเลย
เรื่องนี้ทำให้มายา โฟอาร์ ผู้อำนวยการรีพรีฟวิจารณ์ว่า "NCA ลักลอบส่งหลักฐานที่จะทำให้เกิดการลงโทษประหารชีวิตในประเทศที่เป็นที่รู้จักดีว่ามีกระบวนการไต่สวนที่ไม่ยุติธรรมและมีการทารุณกรรม แต่พวกเขาในตอนนี้ยอมรับแล้วว่ากระทำไปอย่างผิดกฎกระบวนการ โดยไม่มีการคิดไตร่ตรองอย่างเหมาะสมว่าการกระทำของพวกเขาอาจจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนสองคนต้องมาเจอโทษประหารชีวิต" นอกจากนี้โฟอาร์ยังเรียกร้องห้มีความโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องการให้ความร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงต่างประเทศด้วย
แนวทางการปฏิบัติงานของสำนักการต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษออกมาในปี 2559 ระบุว่าอังกฤษมีนโยบายต่อต้านโทษประหารชีวิต "ในทุกสภาพการณ์ซึ่งอ้างอิงตามหลักการ" มานานแล้ว
เรียบเรียงจาก
UK police broke law in case of British backpackers murdered in Thailand, The Guardian, 29-08-2017
แสดงความคิดเห็น