Posted: 31 Aug 2017 11:08 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังคดีจำนำข้าว 1 วัน นักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องการเมืองไทยคนสำคัญได้มาบรรยายในชั้นเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพอดิบพอดี ในหัวข้อที่เข้ากับสถานการณ์ช่วงนี้และตลอดสิบปีที่ผ่านมาอย่างยิ่ง

“ประชาธิปไตยกับการทุจริต ภายใต้กระแสตุลาการภิวัตน์” (Democracy, Corruption and Judiciary in Thailand)

เขาคือ ยูชิฟูมิ ทามาดะ (TAMADA Yoshifumi) ศาสตราจารย์ประจำ ATAFAS ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเขาทำวิจัยเน้นการอธิบายพลังต่อต้านประชาธิปไตย (anti-democratic forces) โดยเขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ Myths and Realities: The Democratization of Thai Politics (2009) ว่าด้วยชนชั้นกลางกับการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้วนำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าชนชั้นกลางคือพลังของประชาธิปไตย หลังจากนั้นเขาเริ่มหันมาทำความเข้าใจ “ตุลาการภิวัตน์” เพื่อดูว่าเป็นพลังในการทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพียงใด


คำถามหลักของเขาคือ โดยหลักการแล้วประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี เรื่องการปราบปรามการทุจริตและศาลที่เข้มแข็งก็ย่อมต้องส่งเสริมประชาธิปไตยให้ดีขึ้น แต่สถานการณ์ในเมืองไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น ..... ทำไม?

“การปราบการทุจริตในเมืองไทยไม่ได้ต้องการให้การทุจริตหมดไปจริงๆ แต่เพื่อทำลายประชาธิปไตย” บทสรุปรวบยอดของศาสตราจารย์ทามาดะ

การอธิบายของทามาดะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ “ประชาธิปไตย” “ตุลาการภิวัตน์” “ทุจริต” และ “กรณีประเทศไทย” ใครอยากไปเร็วสามารถข้ามไปอ่าน “กรณีประเทศไทย” ในช่วงท้ายๆ แต่ท่านอาจจะพลาดความดุเด็ดเผ็ดมันและร่องรอยของปมเงื่อนสำคัญบางประการระหว่างทาง
-ประชาธิปไตย-

ขอเริ่มด้วยตัวอย่างที่ปรากฏในข่าว กรณีอัยการศาลทหารสั่งฟ้องจำเลยตามข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ ซึ่งชวนให้สับสนเกี่ยวกับการนิยาม “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทย

“การไปชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารนั้น แม้เป็นการกระทำที่สุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย”
(“สตั๊น 10 วิ ทหารเบิกความยันชูป้ายค้านรัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษ”, ประชาไท, 23 ส.ค.60)

“ผมคิดว่ามีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีที่อื่นที่จะเขียนหรือพูดอย่างนี้ได้ และนี่ไม่ใช่สามัญชนพูด แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ”

นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกตกลงกันว่า “ประชาธิปไตย” ก็คือ ระบบการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้นำประเทศโดยการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม นี่เป็นธรรมเนียมที่ใช้กันทั่วโลก

“บางคนอาจเห็นแตกต่าง เพราะเน้นจริยธรรม ผมว่าจริยธรรมก็สำคัญ แต่การเลือกตั้งสำคัญที่สุด เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่านั้น ก็ต้องอาศัยเกณฑ์เดียวกันที่ใช้กับทุกประเทศ เกาหลีเหนือก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้ แต่มันไม่ใช่เกณฑ์ตามมาตรฐานสากล”
-จุดเปลี่ยน รัฐธรรมนูญ 2540-

โดยหลักการแล้วการแยกอำนาจระหว่าง ตุลาการ (ศาล) นิติบัญญัติ (รัฐสภา) บริหาร (รัฐบาล) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในเมืองไทยการแยกระหว่างสามอำนาจนี้มีมากน้อยแค่ไหน?

“ผมเกรงว่า ศาลเมืองไทยนี่เป็นอิสระจากอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยอมขึ้นกับ “รัฐพันลึก” (คำที่กำลังฮิตกัน)

อธิบายอย่างรวบรัด “รัฐพันลึก” คือ ภายใต้รัฐอย่างเป็นทางการยังมีรัฐอีกรัฐหนึ่ง หรืออีกหลายๆ รัฐ ที่มีอำนาจครอบงำซ่อนตัวอยู่ ถ้ายืมคำอิบายของ อ.เกษียร เตชะพีระ มันเหมือนตุ๊กตารัสเซีย เปิดข้างในออกจะเจออีกตัว และอีกตัว และอีกตัว และอีกตัว โดยรัฐพันลึกไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน เป็นอำนาจเผด็จการ แม้อ้างว่าเป็นคนดีก็ตาม

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลกระทบต่อระบบศาลและต่อการเมืองอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงนั้นบางส่วนก็เป็นไปตามที่คาดหมาย เช่น พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ศาลเข้มแข็งขึ้น แต่ที่ผิดคาดคือ ประชาชนตาสว่างขึ้น

สำหรับศาลนั้นมีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านที่สำคัญ คือ ด้านโครงสร้าง และ ด้านจิตสำนึก

ด้านโครงสร้าง:
- แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้านั้นปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาได้ การแยกกันอย่างเด็ดขาดเป็นการตัดอำนาจบริหารที่อาจเข้ามายุ่ง ทำให้ศาลเป็นอิสระมากขึ้น

-ตั้งศาลใหม่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระต่างๆ

“ศาลเหล่านี้จะมารับคดีการเมือง หรือคดีเผือกร้อน แทนศาลฎีกา และยังมีการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งเข้าใจง่ายๆ ว่าคือ สาขาของฝ่ายศาล”

ด้านจิตสำนึก:
-ดูได้จากการถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐมนตรี องคมนตรี และผู้พิพากษา เท่านั้นที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมีการกำหนดถ้อยคำไว้ด้วย

ก่อนหน้านี้คำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่หลังการปฏิวัติในปี 2490 ซึ่งฝ่ายนิยมเจ้าได้ขึ้นครองอำนาจทางการเมือง ทำให้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 เป็นต้นมามีการกำหนดคำถวายสัตย์ปฏิญาณในส่วนของรัฐมนตรีและองคมนตรีเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2517 สมัยสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้เขียนคำถวายสัตย์สำหรับผู้พิพากษาด้วย และเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการแยกชัดเจนขึ้นอีก โดยองคมนตรีและรัฐมนตรีใช้ถ้อยคำเดียวกัน แต่ผู้พิพากษานั้นมีถ้อยคำเฉพาะของตนเอง

“นี่อาจทำให้ศาลมีความภูมิใจเป็นพิเศษว่าใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่าองคมนตรีและรัฐมนตรี เพราะใช้คำศัพท์พิเศษ”

คำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540/50/60


ภาพจากสไลด์การบรรยายของ ศ.ทามาดะ

-ดูได้จากตราสัญลักษณ์ของศาล ซึ่งศาลยุติธรรมออกแบบเมื่อ 2544 มีความหมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานความบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน
-จุดเริ่มต้นตุลาการภิวัตน์-

จุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัตน์ไทยอาจนับได้จากเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสต่อผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลปกครอง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 (ช่วงนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีบทบาทสูง และมีการเรียกร้องให้มี “นายกพระราชทาน” ตามมาตรา 7 ก่อนหน้านั้นไม่นาน –ผู้เขียน)

“ผู้พิพากษาหรือศาลมีความสำคัญมากๆ ในทางการเมือง ผมคาดว่าส่วนประกอบของคณะองคมนตรีสะท้อนความสำคัญแค่ไหนนั้น เมื่อเห็นตารางข้างล่างนี้ จะช่วยให้เข้าใจ ได้ดีขึ้น”

ภาพแสดงจำนวน ประเภท และระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งองคมนตรี
ในรัชกาลที่ 9


องคมนตรีของรัชกาลที่ 9 มี 52 ท่าน เริ่มตั้งปี 2492 เป็นต้นมาจนถึงปี 2559 โดยแบ่งประเภทขององคมนตรีได้เป็น กลุ่มเชื้อพระวงศ์, ผู้ใกล้ชิดกับในหลวง, ทหาร, ข้าราชการพลเรือน,และผู้พิพากษา สังเกตได้ว่า ผู้พิพากษา มีจำนวนมากขึ้นหลังปี 2518 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้คนมักคิดว่าสัดส่วนของทหารน่าจะมีมาก แต่ปรากฏว่ามีน้อยมาก ผู้พิพากษากลับมีมากกว่า แต่ที่มากที่สุดคือ ข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงต่างๆ

“ทหารที่เป็นองคมนตรีคนแรกคือ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นคณะราษฎรที่เป็นเพื่อนจอมพล ป. เขาเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรแล้วได้เป็นองคมนตรีช่วงหนึ่ง ผมเดาว่าที่ได้เป็นก็เพราะเขาไม่ต่อต้านคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งตอนนั้นเขาเป็น ผบ.ทบ.อยู่”

“อีกคนที่เป็นทหารและมีบทบาทสำคัญคือ ผู้นำกลุ่มนวพล พล.อ.สำราญ แพทยกุล และหลังพล.อ.เปรมเป็นองคมนตรี มีทหารมากขึ้น”

ในสมัยรัชกาลที่ 10 จะเห็นว่าสัดส่วนองคมนตรีเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ไม่มีผู้ใกล้ชิดหรือเชื้อพระวงศ์เลย แต่มีทหารเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของทั้งหมด และมีผู้พิพากษา 28%

เมื่อพูดถึงผู้พิพากษาแล้ว จะอธิบายตุลาการภิวัตน์ต่อ ความหมายของตุลาการภิวัตน์จริงๆ คืออะไร เราต้องอธิบายเรื่องนี้ควบคู่กับแนวคิด constitutionalism
-หลักการปกป้องรัฐธรรมนูญ-

ตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มีรูปแบบหลายอย่าง

“อย่างน้อยที่ยุโรปเขายอมรับกัน แต่ที่เมืองไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควรว่าไม่ถูกต้อง”

ตุลาการภิวัตน์ (Activism) นั้นมาจากหลักการ constitutionalism (รัฐธรรมนูญนิยม) เป็นหลักการที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมีปัญหา โดยปัญหาสำคัญคือ rule of law กลายเป็น rule by law

“อย่างในเมืองไทยปัจจุบันนี้ เขียนกฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจแล้วก็ใช้กฎหมายนั้นกับประชาชน”

หลักการ constitutionalism คืออะไร แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ และอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐ

“สมัยโบราณในยุโรปมีกษัตริย์ เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอธิปไตยอยู่กับกษัตริย์ทั้งหมด รัฐธรรมนูญจึงถือกำเนิดมาเพื่อควบคุมหรือจำกัดอำนาจกษัตริย์ แล้วปกป้องขุนนางหรือผู้เสียภาษีรายใหญ่ แต่สมัยปัจจุบันนี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์แล้ว แต่อยู่ที่ประชาชน ผู้แทนของเสียงข้างมากมีอำนาจมากขึ้น ฉะนั้น จึงใช้รัฐธรรมนูญในการควบคุมฝ่ายเสียงข้างมาก ใช้หลักการนี้เพื่อปกป้องเสียงข้างน้อย แต่จะปฏิเสธเสียงข้างมากไม่ได้ เพียงแต่เสียงข้างมากไม่เด็ดขาด”

เพื่อจะให้หลักการนี้เป็นความจริง ประเทศต่างๆ จึงตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และหลายประเทศในยุโรปก็มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้ประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศก็ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาด้วย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไทย

เหตุผลที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว การตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อปกป้องความผิดพลาดของฝ่ายเสียงข้างมาก หรือปกป้องเสียงข้างน้อยจากเสียงข้างมาก

ถ้าเป็นประเทศที่กำลังเป็นประชาธิปไตยหรือเพิ่งเป็นประชาธิปไตย การตั้งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1. ในสังคมประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาลรัฐธรรมนูญต้องปกป้องเสียงข้างน้อยและช่วยให้คนหลายกลุ่มอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม 2. พวกที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งแรกมักจะไม่ยอมแพ้ในครั้งต่อไป นี่เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตย ศาลจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรี (free) และยุติธรรม (fair) แต่ไม่ใช่สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (เหตุผลของศาลไทยเรื่องการหันคูหาผิดทิศทางซึ่งทำให้ข้อมูลผู้ลงคะแนนไม่เป็นความลับนั้น ประเทศต่างๆ ในโลกราวครึ่งหนึ่งก็หันคูหาเลือกตั้งในแบบเดียวกันนี้)

Judicial Review

ศาลจะใช้วิธีการนี้เพื่อให้ตัวบทในรัฐธรรมนูญมีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ โดยศาลจะตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ และตัดสินให้ยุติการกระทำใดๆ ที่ผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยที่ศาลจะต้องอาศัยบทบัญญัติหรือแนวคำพิพากษาเดิม จะต้องยึดหลักการเรื่องความเสมอภาคและจะต้องยึดแนวปฏิบัติเดียวกันอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่กรณีคล้ายๆ กันแต่พิพากษาด้วยเกณฑ์ที่ต่างกัน

Judicial empowerment

หมายถึงการหนุนเสริมให้ศาลเข้มแข็งขึ้น เช่น ตั้งศาลใหม่ ตั้งองค์กรอิสระต่างๆ หรืออีกวิธีหนึ่งคือร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายให้ศาลทำงานได้สะดวกและมีบทบาทกว้างขวางขึ้น

Judicial Activism
“ตุลาการภิวัตน์โดยหลักการแล้วหมายถึงอะไร คือการให้ศาลตัดสินได้แม้ไม่มีตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่ตามหลักการประชาธิปไตยต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ศาลจึงมีอำนาจตัดสินว่านโยบายนี้ผิด หรือกฎหมายนี้ผิด (คือผิดหลักการของประชาธิปไตย) และศาลอาจอ้างหลักการอื่นก็ได้ เช่น หลักการสิทธิมนุษยชน เป็นหลักการที่ทุกคนยอมรับได้ นั่นเป็นตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการอ้างอิงตัวกฎหมาย ก็อาจจะเกิดปัญหาว่า “ไร้มาตรฐาน” หรือ “ไม่มีความแน่นอน” ก็ได้ คือไม่อาจคาดการณ์ได้มากนักว่าศาลจะตัดสินอย่างไร เป็นปัญหามากทีเดียวสำหรับประชาชนและนักลงทุน”

Judicialization of Politics

หมายถึง การเมืองถูกควบคุมโดยอำนาจศาล ศาลแทรกแซงเรื่องที่เป็นปัญหาทางการเมือง เช่น เรื่องการคลัง เรื่องการต่างประเทศ นโยบายการกระจายรายได้ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ศาลทั่วโลกไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ฝ่ายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ถ้าศาลจะตัดสินเรื่องเหล่านี้จะมีปัญหาเกิดขึ้นว่าศาลรับผิดชอบต่อใคร เพราะศาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าศาลตัดสินเรื่องนโยบายทางการเมืองเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมตามมา
-กรณีประเทศไทย-

ตุลาการภิวัตน์ vs. ประชาธิปไตย

ประเทศไทยอาศัยตุลาการภิวัตน์เพื่อสู้กับประชาธิปไตย ต้องพูดถึงบริบทก่อนว่าการเมืองไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า มีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งมีผลต่อการเมืองด้วย ตั้งแต่ในช่วงหลัง 2544 หรือสมัยทักษิณเป็นต้นมา

การเลือกตั้งมีความหมาย มีความสำคัญสูงขึ้น แต่เมื่อดูพรรคการเมืองของประเทศไทย เราพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เป็นอันดับ 1 ครั้งสุดท้ายคือช่วงหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 ส่วนพรรคของทักษิณนั้นหลังปี 2544 ได้ส.ส.เป็นที่ 1 โดยตลอด ฉะนั้น พลังการเมืองที่ไม่ชอบการเลือกตั้งก็ต้องหาวิธีต่อต้านการเลือกตั้ง

“ศาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนและการเลือกตั้ง จึงดูจะเหมาะสมที่สุด นี่เป็นเหตุผลที่ตุลาการภิวัตน์เริ่มขึ้น”

ประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 หรือจะถือเอาปี 2518 ก็ได้ มีการกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อป้องกันทหารขึ้นเป็นนายกฯ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เริ่มมีการกระจายอำนาจ มีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ครั้งแรกปี 2544

“ก่อนหน้านั้นประชาชนไทยโดยเฉพาะคนชนบทหันหลังให้รัฐบาล ยุ่งกับรัฐบาลก็ไม่มีประโยชน์ แต่หลังจากนั้นเขากลับยึดถือกับการเลือกตั้งมาก พอเกิดรัฐประหารก็ต่อต้านมาก”



การเลือกตั้งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้งก็เปลี่ยน ดูจากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคอันดับที่ 1-4 ได้ ส.ส.มากน้อยแค่ไหน พรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส.มากกว่าครึ่งหนึ่ง เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในอดีต คือปี 2500 เมื่อจอมพลป.จัดการเลือกตั้งแล้วเขาลงสมัครด้วย หลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย ได้เพียงแค่ 1/3 หรือ 1/4 เท่านั้น จากนั้นปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ส.ส.เกือบครึ่ง ต่อมาได้ ส.ส.เกินครึ่ง คือได้ถึง 3/4 ถือว่าเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้นายกฯ เสนอนโยบายอะไรก็เป็นจริงได้มาก

“แต่ถามว่าเขาออกแบบระบบการปกครองที่ตัวเองได้เปรียบไหม เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไหม? คำตอบคือ “ไม่” รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฉบับ 2550 ฉบับ 2560 พวกทักษิณไม่เคยเขียน ถามว่าเขาจำกัดสิทธิฝ่ายเสียงข้างน้อยไหม? คำตอบก็คือ “ไม่” ใช้อำนาจทำให้ตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้งไหม? อันนี้มีบ้าง”

“ประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่เป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสียงข้างน้อยมีอำนาจมากกว่า เสียงดังกว่า คะแนนน้อยกว่าแต่เสียงดังกว่า”

“หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าที่เมืองไทย เผด็จการเสียงข้างมากนั้นไม่มีอยู่จริง ผมเห็นมีคำศัพท์นี้แล้วด่ากันมากๆ แต่จริงๆ มีไหม พวกที่ชนะการเลือกตั้งได้อำนาจการปกครองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นประชาธิปไตยธรรมดา ถ้าประชาชนไม่ชอบก็ให้พวกเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า”

“เสียงข้างน้อยที่เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าประชาชนจะควบคุมและตรวจสอบไม่ได้ แล้วเสียงข้างน้อยยังเพิ่มอำนาจของตัวเองอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดเผด็จการเสียงข้างน้อย และผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญคือตัวแทนของเสียงข้างน้อย”

ในเมืองไทยศาลมีอิสระสูงมาก เช่นเดียวกับกองทัพไทยก็มีอิสระสูงมากเป็นพิเศษ ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายจะมีกองทัพที่อิสระเท่าประเทศไทยนั้นไม่มีแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้ “แทรกแซง” คนไทยมักใช้คำนี้ แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ฉะนั้น ต้องควบคุมดูแลกองทัพได้ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ประเทศไทย รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการโยกย้ายทหาร จนทำให้ฝ่ายการเมืองยุ่งเกี่ยวไม่ได้

“ศาลกับทหารเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดว่าที่อื่นไม่มีขนาดนี้ แต่เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย"

ตัวอย่างของคดีทางการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองมีคำพิพากษาสำคัญๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของการเมืองมาตลอด 11 ปี หากจะให้ย่นย่อที่สุดสามารถอ่านได้ที่ 11 ปีดึง‘ศาล’เล่นการเมือง: โมฆะเลือกตั้ง ยุบพรรค ยึดทรัพย์ ถอดถอน ลิดรอนนโยบาย (ฟันจำนำข้าว)
-อำนาจวินิจฉัยสภาวะไม่ปกติ-

ตัวอย่างของบทบาทในทางการเมืองที่สำคัญของสถาบันตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับ ที่รู้จักกันดีคือ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และปรากฏใหม่อีกครั้งเป็น มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนั้น สะท้อนให้เห็นการแย่งชิง “อำนาจในการวินิจฉัยสภาวะไม่ปกติ” อยู่พอสมควร ซึ่งจะหยิบยกตัวบทออกมาลำดับให้เห็นตามลำดับเวลา (โดยตัวเน้นและการขีดเส้นใต้เป็นของผู้เขียน)


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนกว่า จุดกำเนิดของการกำหนดเรื่องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 ซึ่งมีทั้งหมดมี 20 มาตรา และในมาตรา 20 ระบุว่า

“เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

กรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ขอให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด”

ต่อมามันถูกปรับปรุงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ 2540 (และรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นกัน) ปรากฏในมาตรา 7 ระบุว่า

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 โดยระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือรัฐสภา แต่ร่างนี้ตกไป

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”

ต่อมาในร่างฉบับที่สอง นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ยกร่างแรกเสร็จเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 โดยย้ายมาตรานี้ไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏในมาตรา 207

“การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อีกสองเดือนต่อมามีการปรับแก้อีกครั้งหลังจากถูกโจมตีว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป โดยลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญลง แล้วยกกลับไปเป็นมาตรา 5 และให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมหลายฝ่ายเพื่อวินิจฉัย

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับหรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

มาตรานี้ผ่านการลงประชามติ แต่แล้วก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกตามคำถามพ่วง หลังแก้เสร็จในวันที่ 7 ต.ค.2559 ก็ยังคงเขียนให้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหลายฝ่ายในกรณีที่เกิดปัญหา แต่หลังจากนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลปัจจุบันเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ต้องปรับแก้อีกครั้งหนึ่ง สุดท้ายมาตรานี้จึงกลับไปมีเนื้อหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการวินิจฉัย

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“ตอนนั้นสื่อและสังคมสนใจมาตรา 9 เรื่องผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมากกว่า แต่ผมคิดว่ามาตราที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนี้สำคัญที่สุด"
-คอร์รัปชัน-

ไม่ใช่ไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สังคมโลกเริ่มสนใจประเด็นนี้มากขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการกำหนดตัวชี้วัดเช่น Transparency International (TI) ในปี 2536, Corruption Perceptions Index (CPI) ในปี 2538

ผู้ว่าการธนาคารโลก Wolfensohn พูดถึงคอร์รัปชันว่าคือมะเร็ง (2539) Kim บอกว่าการคอร์รัปชันเป็นศัตรูอันดับ 1 (2557) สหประชาชาติก็มีพันธกิจที่จะต้องจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชันในปี2539 กลุ่มประเทศ OECD เริ่มประชุมในปี 2540 และกำหนดยุทธศาสตร์ปราบปรามคอร์รัปชัน

“มันกลายเป็นธุรกิจการหากินกับการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะอะไร เพราะธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยให้ทุนมหาศาล และเผยแพร่ผลการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้”

“เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ในแนวทางเสรีนิยมใหม่เป็นผู้ทำการิจัย เรื่องธรรมาภิบาลกลายเป็นจุดเน้นและมีผลต่อการเมือง พวกเขามักมองการเมืองและนักการเมืองเป็นผู้ร้าย ผู้บริหารชั้นสูงไอเอ็มเอฟชื่อ Vito Tanzi บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะขยายบทบาทในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจจะทำให้มีการทุจริตมากขึ้น รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะดีที่สุด”

“เรื่อง good governance (ธรรมาภิบาล) ผมพูดตรงๆ ว่า ไม่ทราบว่าคำนี้มันหมายถึงอะไร อ่านหนังสือเจอบ่อยมาก มีนักวิชาการหลายคนเขียนเรื่องนี้ มีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไป”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชื่อ Kaufmann อธิบายว่ามีปัจจัยสามอย่างเป็นสำคัญ 1.การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อประชาชน 2.ความสามารถของรัฐบาล 3. rule of law เพื่อใช้กฎหมายและศาลปราบปรามคนที่ทุจริต

“ที่ญี่ปุ่นไม่มีคำแปลที่ดีของคำ good governance นี้ แต่ที่เมืองไทยมีคำแปลที่ดีมากว่า “ธรรมาภิบาล” แต่หากแปลอย่างนี้ก็เท่ากับเน้นว่ามี “ธรรมะ” หรือกฎหมายกำกับและปราบปรามคนไม่ดีที่ขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งมีลักษณะที่เน้นข้อ 3 คือการปราบปรามเป็นพิเศษ แต่เรื่องความสามารถของรัฐบาล การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบต่อประชาชนก็จะหายไป"

แม้แต่คำว่าคอร์รัปชันในทางวิชาการก็ไม่มีคำนิยามที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน แต่ละคนก็อธิบายแต่ละแบบ แต่ถ้าโดยทั่วไปที่เข้าใจกันก็คือ การใช้บทบาททางราชการหรือทางสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

สำหรับเมืองไทยนั้นการตีความ “ทุจริต” นั้นกว้างขวางมาก อะไรๆ ก็สามารถเป็นการทุจริตได้หมด ทำให้จัดการไม่ได้จริง จัดการเท่าไรก็ไม่หมด แทนที่จะนิยามให้แคบแล้วจัดการอย่างจริงจังและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ผมขอยกตัวอย่างคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. รัฐสภาเห็นด้วย แต่ ป.ป.ช.ไม่ยอมรับ รัฐธรรมนูญที่ไหนๆ ก็ล้วนแต่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกรัฐสภาจะอภิปรายอย่างไร จะลงคะแนนอย่างไรก็ได้ จะต้องไม่ถูกฟ้อง มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีใครยอมพูดอะไร ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยฟ้องได้อย่างไร ผมสงสัยว่า ป.ป.ช.ทำผิดรัฐธรรมนูญไหม ผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

“ถามว่านโยบายกระจายรายได้เป็นทุจริตหรือเปล่า ชอบไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง ผิดกฎหมายหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง การที่ฟ้องว่ายิ่งลักษณ์ไม่ควบคุมกลไกรัฐอื่นๆ ให้ดี อาจมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ แต่การที่รัฐบาลขายข้าวขาดทุนนั้นผิดกฎหมายได้อย่างไร รัฐบาลก่อนก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ดีเขาก็มีนโยบายที่รัฐขาดทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนหลายโครงการ เรื่องของพืชผลประเทศไทยก็ขาดทุนมา 30-40 ปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเอาตอนนี้”

“คนโจมตีแต่การเมืองแบบการเลือกตั้ง โจมตีหรือดิสเครดิตนักการเมือง แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ที่บอกว่าสังคมไทยมอง “นักการเมือง” แคบเกินไป”

“การปฏิรูปเพื่อแก้ทุจริตเป็นแค่ข้อแก้ตัวเพื่อทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น ...หากจะให้สรุปตรงนี้ ผมว่าความเท่าเทียมกันสำคัญที่สุด ความเท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย และศาลต้องรักษาหลักการความเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.