Posted: 30 Aug 2017 05:49 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

การอ่านและนำงานของอองรี เลอแฟบร์ (Henri Lefebvre) นักคิดชาวฝรั่งเศสไปใช้ในฐานะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่/พื้นที่ทางสังคม (space/social space) ในไทยยังจำกัดอยู่มากด้วยความยากของงานที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงทางปรัชญาและข้อถกเถียงเชิงทฤษฎี บทความนี้จะนำผู้อ่านไปเข้าใจเลอแฟบร์ในประเด็น The Urban Revolution ผ่านการตีความของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “หลานศิษย์” ของเลอแฟบร์อีกทีหนึ่ง (เขาเป็นลูกศิษย์ของมานูเอล คาสเทล (Manuel Castells) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเลอแฟบร์อีกที) โดยผู้เขียนได้ใช้งานของ Stuart Elden[2] อธิบายเพื่อทำให้เข้าใจเลอแฟบร์ได้มากขึ้น บทความนี้ตบท้ายด้วยการสะท้อนกลับมาสู่สังคมไทยในนาม The Urban Coup d'etat

1. เลอแฟบร์เบื้องต้น

เลอแฟบร์ (1900-1991) มีอายุที่ยาวนานเมื่อเทียบกับนักวิชาการรุ่นเดียวกัน บางคนจำแนกให้เขาเป็นพวกมนุษยนิยม การเติบโตทางภูมิปัญญาของเขาเริ่มมาจากความเป็นนักปรัชญามาก่อน ไฮเดกเกอร์, นิทเช่, เฮเกล, คาร์ล มาร์กซล้วนเป็นนักปรัชญาที่เขาเลือกเป็นคู่สนทนา[3] นอกจากมาร์กซแล้ว พบว่าไฮเดกเกอร์ก็เป็นนักปรัชญาที่เลอแฟบร์เกี่ยวพันมากที่สุดคนหนึ่งในแง่มุมมองการวิพากษ์ subjectivity, Being and time, การให้น้ำหนักของ space[4]

เขาพยายามจะปรับปรัชญาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม (abstract) ให้มีลักษณะที่จับต้องได้ (concrete) มากขึ้นแบบเดียวกับที่มาร์กซทำ[5] แต่กระนั้นงานของเขาก็นับว่ามีลักษณะนามธรรมอยู่ดี เมื่อเทียบกับงานชั้นลูกศิษย์ของเขา

ความเป็นซ้ายปรากฏอย่างชัดเจนในแนวคิดความแปลกแยก (alienation) ที่นับเป็นใจกลางความคิดของปรัชญา และงานของเลอแฟบร์[6] ซึ่งความแปลกแยกนี้มาร์กซพัฒนาจากนามธรรมของเฮเกลมาสู่การอ้างอิงความเป็นรูปธรรมของกรรมกรในสังคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการวิถีการผลิตแบบทุนนิยม[7] การตระหนักถึงความแปลกแยกได้นำไปสู่แนวคิดชีวิตประจำวัน (everyday life) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากไฮเดกเกอร์อีกทอด[8] แนวคิดนี้จึงเป็นคำถามถึงรากของสิ่งประจำวันในสังคมร่วมสมัยอย่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และสังคมบริโภค[9] เขาแนะนำว่าชีวิตประจำวันนั้นถูกทำให้เป็นอาณานิคมโดยเทคโนโลยีและสังคม โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันที่มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญในการขยายเวลาทำงานระยะสั้น การเกิดขึ้นของอุปกรณ์ผ่อนแรงในงานบ้าน และรายได้ที่เพิ่มขึ้น[10] ด้วยแนวคิดนี้ทำให้การอธิบายเชิงปรัชญาแบบเลอแฟบร์ไม่ใช่เรื่องสูงส่งและดูถูกความเป็นชีวิตประจำวันเช่นนักปรัชญาบางคน[11]

ก่อนที่เขาจะให้ความสนใจกับ urban (ความเป็นเมือง) นั่นคือช่วงก่อนกลางทศวรรษ 1960 เขาสนใจกับสิ่งที่เป็นชนบท (rural) เนื่องจากว่ามีความผูกพันอยู่กับเขตชนบทของฝรั่งเศสมาก่อน จึงไม่แปลกที่ทำให้เขาเชื่อมชนบทกับการเขียนถึง urban เขาเห็นว่าบทบาทของเทคโนโลยีมีส่วนปรับโฉมของสิ่งแวดล้อมเมือง เขามองว่าเมืองและชนบทมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวกลาง อันนับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบสามเส้าที่ดำรงเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ต่อมาในศตวรรษที่ 20 เกิดการแบ่งแยกเป็นสองขั้วระหว่าง เมืองและชนบทในฐานะรากฐานการแบ่งงานตามอายุ เพศ เครื่องมือและทักษะ โดยความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการผงาดของช่วงอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าเทคโนโลยี นั่นคือ สังคมอุตสาหกรรม (industrial society) ได้สร้างสังคมเมือง (urban society) ขึ้นมาอันเป็นสังคมในอีกระดับหนึ่ง[12]

สำหรับเขาแล้ว การเรียนรู้ที่จะถอดรหัสของภูมิทัศน์ โดยใช้วิภาษวิธีแบบมาร์กซิสต์ ทำให้สามารถวิพากษ์ชีวิตประจำวันจากการมองเมือง หมู่โบสถ์และงานศิลปะได้เหมือนกับการเปิดหนังสือ กล่าวคือ สถาปัตยกรรมและเหตุการณ์ คือ "ตัวบท" ที่ควรถูกอ่านอย่างวิพากษ์[13]

เช่นเดียวกับนักวิชาการฝรั่งเศสร่วมสมัย เขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และแตกหักออกมาจากพรรค ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาของคอมมิวนิสต์ เขาได้พยายามแสวงหาคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อตีความสิ่งที่มาร์กซพยายามจะเปลี่ยนแปลงโลก ครุ่นคิดเกี่ยวกับเมืองจนนำไปสู่นวัตกรรมเชิงทฤษฎีที่กลายเป็นหนังสือชื่อดังคือ The Production of Space[14] แต่ที่น่าสนใจคือ พิชญ์ให้ข้อมูลว่าเลอแฟบร์เคยเป็นคนขับแท็กซี่มาก่อน จึงเป็นคนที่มองเห็นชีวิตที่หลากหลายและสลับซับซ้อนในเขตเมือง ดังที่เขาเห็นกระบวนการของผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทในการสร้างพื้นที่

กล่าวกันว่า ความคิดของเลอแฟบร์เคยตกยุค-ล้าสมัยไปช่วงหนึ่ง หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายรวมทั้งศิษย์ของเขา ในช่วงที่มาร์กซิสต์สายโครงสร้างนิยมเฟื่องฟู บางคนเห็นว่าเลอแฟบร์มีลักษณะที่เป็นพวกมนุษยนิยมที่ฟุ้งๆ ฝันๆ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่สามารถจะนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระแสโครงสร้างนิยมดังกล่าวเสื่อมลง เลอแฟบร์ก็ได้รับการอ่านใหม่อีกครั้ง ด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจยากเหมาะแก่การเปิดพื้นที่ให้จินตนาการ พร้อมกับตลาดโลกวิชาการที่หยิบงานของเขามาขายในช่วงงานวิชาการด้านหลังโครงสร้างนิยมบูม ทำให้งานของเลอแฟบร์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพื้นที่ (space) ในฐานะหน่วยวิเคราะห์

2. เลอแฟบร์ 3 ประการ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายความคิดของเลอแฟบร์ ในวงเสวนาเขาได้รับการบ้านให้ไปอ่านหนังสือ 2 เล่ม นั่นคือ The Urban Revolution และ Writings on Cities โดยออกตัวว่าเขาอาจไม่เข้าใจเลอแฟบร์ได้อย่างถ่องแท้ เน้นการอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ได้อ่านหนังสือเพื่ออธิบายอย่างเป็นระบบ ผ่าน 3 ประเด็นที่สัมพันธ์กันคือ

1) ความสัมพันธ์ที่มีกับความเป็นมาร์กซิสต์
2) การปฏิวัติ ในฐานะพื้นที่เมือง (urban space) และชีวิตประจำวัน (everydaylife)
3) ประเด็นในเชิงปรัชญาและมรรควิธีในการศึกษา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่านักคิดที่เคยร่วมหอลงโรงกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ออกจากพรรค พยายามหาทางออกให้กับมาร์กซิสต์ เลอแฟบร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น พิชญ์เปรียบเปรยว่า เลอแฟบร์ ก็คือ "เลนิน" ของการปฏิวัติพื้นที่ แล้วเรื่องนี้ไปเกี่ยวกับเลนินได้อย่างไร พิชญ์ชี้ว่า เลนินได้มีคำถามว่าทุนนิยมในปัจจุบันมันต่างจากในอดีตอย่างไร ข้อเสนอของเขาได้ถกเถียงในบริบทในยุคของเขาเกี่ยวกับทุนนิยมใหม่และ imperialism (จักรวรรดินิยม) เลนินชี้ให้เห็นความแตกต่างก็คือ ทุนนิยมใหม่ไม่ได้ขูดรีดแต่ในโรงงาน แต่ไปขูดรีดโลกอื่นด้วย ขณะที่เลนินชี้ไปที่การขูดรีดแบบใหม่ในโลกอื่น เลอแฟบร์เสนอถึงการขูดรีดแบบใหม่ใน urban ผ่านคำถามว่า urban society คืออะไร คำถามนี้เป็นทางออกใหม่ หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติ 1968 ที่นำโดยปัญญาชน เลอแฟบร์เสนอด้วยว่า หากจะเข้าใจทุนนิยม จะต้องเข้าใจผ่าน space นั่นคือ space ได้กลายเป็น unit of analysis

เมื่อจะเข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่ควรเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่า space มันเปลี่ยนอย่างไร หรือพูดได้ว่า เข้าใจ space ที่มี time dimension ได้ด้วย ไม่ใช่ space กับ time ที่แยกจากกันแล้วอ้างว่า space คือ geography และ time คือ history

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์นับเป็นฟิลด์ใหญ่ของโลกตะวันตก เนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างอาณานิคม สำนึกของ time และ space จำเป็นต่อการพิชิต (conquer) โลกอื่น ต้องเข้าใจทรัพยากรที่มี แม้ในประเทศของตนเอง จะพิชิตธรรมชาติต่างๆ ก็ต้องเข้าใจ space ในมุมมองพิชญ์ เสนอว่าสำหรับเลอแฟบร์แล้วทุนนิยมสมัยใหม่มันสัมพันธ์กับ space นั่นหมายถึง ให้เข้าใจโลกผ่าน space ไม่ใช่เพียงเข้าใจผ่านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

คำถามเกี่ยวกับ urban นับเป็นคำถามที่แปลกใหม่ในบริบทที่สังคมโลกยังมีพื้นที่ urban จำกัด แต่เต็มไปด้วยโรงงานต่างๆ เลอแฟบร์แย้งว่า จะเข้าใจทุนนิยมเฉพาะในพื้นที่ของโรงงานไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่ามันไปเชื่อมโยงกับ space อื่นๆ อย่างไรด้วย ด้วยคู่ขัดแย้งของเลอแฟบร์คือ urbanization กับ industrialization เขาจึงพยายามอธิบายว่า พื้นที่แบบ urban นั้นใหม่กว่าพื้นที่แบบอุตสาหกรรมซึ่งเป็น space ของโรงงาน และโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่ความเป็นเมือง แต่ข้อจำกัดที่ทำให้เขาถูกวิจารณ์ก็คือ ในช่วงนั้นความเป็น urban ยังกระจุกตัวอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก สิ่งที่เขาคิดนั้นจึงเป็นอุดมคติที่เพ้อฝันเกินไปในยุคสมัยที่โรงงานเต็มบ้านเต็มเมือง ในยุคที่รัฐบาลยุโรปอย่างอังกฤษยังเป็นรัฐสวัสดิการ สภาพเมืองแบบ urban ยังไม่ขยายตัวกว้างขวาง การบุกเบิกแนวคิดของเขานี้จึงทำให้urban กลายเป็นหน่วยการวิเคราะห์ (unit of analysis) และนับเป็นการริเริ่มทำให้ space เป็นทฤษฎีอย่างเป็นระบบ

ความเป็น urban นั้นแยกไม่ออกมาจากปัญหาของ Modernism ที่มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลจนลืมที่จะเข้าใจชีวิตของมนุษย์ และทำให้มนุษย์นั้นแปลกแยก (alienation) ทั้งที่ชีวิตมนุษย์นั้นแสนจะซับซ้อน การแปรสภาพพื้นที่รูปธรรมอย่างทำเล ที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ให้เป็นนามธรรมด้วยการจัดแจงออกแบบพื้นที่ผ่านการคาดคิดคำนวณ และแปลงมันออกมาเป็นพื้นที่รูปธรรม ถือว่ามันเป็นการความรุนแรงเช่นเดียวกับการขูดรีด เห็น space เป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าจึงออกแบบถนนหนทางเพื่อรองรับลักษณะการวิ่งและความเร็วของรถยนต์

เมื่อเขายกปัญหาขึ้นมาแล้ว ก็ต้องอ่านคำว่า Revolution ในฐานะที่เป็นคีย์เวิร์ดมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ คือ การปลดปล่อยพื้นที่ที่ถูกครอบงำขูดรีด แต่ในหน่วยการวิเคราะห์นี้ไม่ใช่เป็นการกดขี่ขูดรีดแรงงานในโรงงาน สิ่งสำคัญใน urban ก็คือ การบริโภค (consumption)กับ ชีวิตประจำวัน (everyday life) ไม่ใช่แค่การผลิต (production)

ประเด็นสิทธิ์ในการจะอยู่ในเมือง (Right to city) เป็นการพยายามจะชี้ว่า คนอพยพมาจากต่างแดนนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในเมือง แนวทางนี้ทำให้เขาเปิดกว้างสู่มรรควิธีใหม่ๆ

ส่วนการปฏิวัติ (Revolution) ของเลอแฟบร์มีอยู่ 2 โมเมนท์ นั่นคือ

1) การปฏิวัติตัวเองของทุนกลายเป็น Urban

2) การปฏิวัติของประชาชนที่ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐ เนื่องจากว่าแม้นจะยึดอำนาจรัฐได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพความรุนแรงผ่านการจัดการพื้นที่แบบ Modernity ลักษณะปัญหาแบบ urban เกิดขึ้นทั้งในเมืองแบบยุโรปตะวันตก และคอมมิวนิสต์ยุโรปที่ต่างก็มุ่งไปสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับการออกแบบ (rationalize) การปฏิวัตินี้จะต้องไปให้พ้นจากการล้มรัฐ โค่นล้มทุนนิยม เพราะว่าไม่ว่าจะทุนนิยมหรือไม่ ก็สร้างเมืองแบบเดียวกันนี้อยู่ดี ดังนั้นเขาจึงเสนอว่าการปฏิวัติยังไม่จบ มันต้องไปให้ถึงการปฏิวัติ Modernity การปฏิวัติเช่นนี้ที่เลอแฟบร์ส่งเสริม

การปฏิวัติแบบนี้จึงเป็นการพุ่งเป้าโจมตีไปที่วิธีคิดในการออกแบบเมืองที่เต็มไปด้วยนักเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับแนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational) คำถามของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือ เมื่อไหร่จะมีผังเมืองที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้คำถามที่มีต่อคน พื้นที่ในเมืองใหญ่ ไม่ใช่พื้นที่เรขาคณิตที่เป็นที่ว่างเปล่า แต่ล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ พื้นที่ย่านธุรกิจที่ร้างอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีคนอยู่อาศัย แต่เพราะเหตุผลของทุน เพราะมันยังไม่สามารถทำกำไรสูงสุดให้ได้ นายทุนนี่แหละที่กีดกันไม่ให้เราใช้พื้นที่บางอย่าง เลอแฟบร์เสนอให้มองถึง สิทธิ์ของคน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในเมืองไม่ว่าจะในฐานะผู้อพยพ หรือแรงงานผู้ออกแรงสร้างตึกรามบ้านช่อง สิทธิ์ในการกำหนดตัวเองของผู้คนในเมืองตามแนวคิดของการปลดปล่อย (emancipation)

3. วิพากษ์เลอแฟบร์

เลอแฟบร์ได้รับการวิพากษ์จากมานูเอล คาสเทล อดีตผู้นำนักศึกษาที่ลี้ภัยการเมืองจากสเปน เขาเรียนกับเลอแฟบร์อยู่ในบรรยากาศของการปฏิวัติ 1968 เช่นกัน ข้อถกเถียงของคาสเทลคือคำถามต่อเลอแฟบร์ว่า คุณจะศึกษาทุกอย่างของเมืองเลยหรือ? การที่ศึกษา urban ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ที่ศึกษาทุกเรื่องในเมืองอย่างไม่เฉพาะเจาะจง ก็ไม่ต่างอะไรกับแนวคิดผังเมืองสำนักชิคาโก้ที่รุ่งเรืองในตั้งแต่ยุค 1930 คาสเทลชี้ว่า เลอแฟบร์แค่เพียงแทนที่คำว่า capital ด้วย urban เท่านั้น ทั้งที่ urban มีฟังก์ชั่นเฉพาะในทุนนิยม ในโลกของการบริโภค ดังนั้นการศึกษาเมืองจึงควรศึกษาสิ่งที่เรียกว่า หน่วยทางพื้นที่ของการบริโภครวมหมู่ (spatial unit of collective consumption) ที่มองว่า เมืองเป็นหน่วยหนึ่งของพื้นที่รวมหมู่ โดยมุ่งเน้นไปศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับบริบทยุคนั้นที่เมืองในยุโรปให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ รัฐท้องถิ่นทำหน้าที่สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย (housing) และการศึกษา กล่าวให้ถึงที่สุดคือ จุดหมายของคาสเทลเน้นอย่างเฉพาะเจาะจงว่า จะทำยังไงให้แรงงานเข้าไปใช้ชีวิตในโรงงานได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีให้โฟกัส ในนโยบายที่ว่ามา หรือนโยบายทางวัฒนธรรม (cultural policy) ในเมืองที่จะหล่อเลี้ยงให้กรรมกรเข้าไปทำงานในโรงงานอีกครั้ง

งานชิ้นหลังของคาสเทลในปี 1983 อย่าง The City and the Grassroots: A Cross-Cultural Theory of Urban Social Movements ชี้ให้เห็นว่าเมืองนั้นต้องต่อสู้ผ่าน 3 ประการ นั่นคือ ระบบสาธารณูปโภค, ความเป็นอิสระของรัฐบาลท้องถิ่น, อัตลักษณ์ การเคลื่อนไหวต้องรวมตัวเป็นขบวนการ เช่น สลัม, ขบวนการเกย์ ต้องต่อสู้อย่างเป็นระบบอย่างเอาจริงเอาจังเชิงนโยบาย แนวคิดนี้ก็ช่วยตอกย้ำแนวคิดที่เป็นรูปธรรมและการต่อสู้ที่เป็นระบบของเขาที่เห็นต่างจากเลอแฟบร์

สำหรับเดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) เห็นว่าการจะเข้าใจ urban จะเข้าใจตรรกะของ capital นั่นคือ ทุนนิยมต้องการใช้ space เพื่อที่จะมันจะสะสมทุนแบบหนึ่ง ดังนั้นเมืองคือพื้นที่ที่ใช้สะสมทุนแบบหนึ่งด้วย การสั่งสมทุนจึงไม่ได้เกิดจากการแค่ขูดรีดในโรงงาน แต่การทำ land banking เอาเงินมาทิ้งในเมือง เอามาพัฒนาที่ดินก็ทำให้เมืองเติบโตได้เหมือนกัน ชั้นลูกศิษย์ของเลอแฟบร์ที่วิจารณ์เขาพยายามทำให้แนวคิดของเลอแฟบร์วิทยาศาสตร์ และวัดค่าได้มากขึ้น ซึ่งพวกเขาวิจารณ์เลอแฟบร์ว่าเป็นนักฝัน อันหมายถึงการมีความเป็นนามธรรมเกี่ยวกับแนวคิดเมืองมากไปนั่นเอง

แต่โดยที่สุดแล้วพิชญ์เห็นว่า แม้ทั้งสองจะวิจารณ์เลอแฟบร์เพียงใด การพยายามอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่ต่างก็หนีเงาของเลอแฟบร์ไปไม่พ้น ในภายหลังฮาร์วีย์กลับมาหาเลอแฟบร์ใหม่ อย่างการเขียน Right to the city ส่วนคาสเทลก็พยายามจะเป็นเลอแฟบร์ในยุคก่อนที่ต้องการบุกเบิกเรื่องใหม่ๆ กรณีของเขาคือชี้ว่ามันหมดยุค Capital แต่เป็นยุค Informational ไปแล้ว

4. The Urban Coup d'etat ใน สังคมไทย

ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับอุดมคติ The Urban Revolution ของเลอแฟบร์ ผู้เขียนขอเรียกมันว่า The Urban Coup d'etat (การรัฐประหารเมือง) นั่นคือ นี่คือโครงการที่ชนชั้นนำและนายทุนยึดอำนาจจากประชาชนผ่านพื้นที่เพื่อรักษาความเป็นอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มไว้และขยายอาณาเขตออกไปเพื่อสร้างความมั่นคงและปึกแผ่นของชนชั้น ผู้เขียนมีเรื่องที่จะสนทนา 3 ประเด็นสั้นๆ ดังนี้

1) การตระหนักเรื่อง "ชนชั้น" ใน "พื้นที่เมือง" และ "สถาปัตยกรรม"

การออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยมักจะกีดกันคนออกไปจากพื้นที่ ทั้งในเชิงกายภาพ และกระบวนการการตัดสินใจ คนระดับล่างแทบจะไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกแบบอาคารไปจนถึงออกแบบผังเมือง จึงไม่แปลกที่อาคารสาธารณะทั้งหลาย มิได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สอยผู้ไม่มีปากเสียง ตัวอย่างอย่างน้อย 2 ประการที่ผู้เขียนเคยอภิปรายไว้ก็คือ สถานีขนส่งหมอชิต[15] ที่จากเดิมเป็นเพียงสถานีขนส่งสายเหนือและอีสาน กลับต้องรองรับเส้นทางไปทะเลตะวันออกหรือทะเลใต้ ไม่นับว่านโยบายย้ายรถตู้ก็ไปเพิ่มความแออัดยัดเยียดในพื้นที่บริเวณนั้นอีก ส่วนกรณีของพื้นที่แม่บ้าน-ภารโรงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนพื้นที่สำหรับพักผ่อนของแม่บ้าน-ภารโรงที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงงานที่ถูกใช้งานเพื่อรักษาความสะอาด แต่พื้นที่ของพวกเขาที่ได้รับกลับเป็นการเจียดพื้นที่ให้อยู่ตามยถากรรม[16] โครงการที่ไม่ตอบโจทย์การใช้สอยของคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนที่ไร้เสียงเรียกร้องเหล่านี้ แสดงถึงความไม่ตระหนักของผู้วางนโยบายก่อสร้างลงมาจนถึงสถาปนิกและการจัดการพื้นที่ในชีวิตประจำวันขององค์กรผู้รับผิดชอบ

2) เราศึกษา space ในเชิงประวัติศาสตร์-สังคมศาสตร์ น้อยเกินไป

การเรียนประวัติศาสตร์ในสังคมเราที่เริ่มให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษานั้น ทราบกันดีว่าเน้นไปที่ท่องจำเรื่องราวระดับมหากาพย์แห่งชาติเพื่อตอบโจทย์อุดมการณ์ทางเมืองเป็นหลัก ทั้งที่มันสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งระยะไกลและระยะใกล้ได้ พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงทั้งระดับมหภาคและจุลภาคที่ส่งผลต่อหมู่บ้าน ชุมชน ชนบท ย่านเมือง กลับได้รับความสนใจน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างมากมาย ประวัติศาสตร์พื้นที่-ท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ตัวจังหวัดเพียงอย่างเดียว งานศึกษาทางวิจัยและสังคมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญในการอธิบายความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-ภูมิศาสตร์ก็มีน้อยเกินไปหรือที่มีก็อาจจะอยู่แค่เพียงเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆเท่านั้น และยังเป็นงานที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันผู้คน พื้นที่อีกจำนวนมากที่เรายังไม่เข้าใจการใช้งาน ปัญหา และความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่สาธารณะ พื้นที่โรงงาน พื้นที่การค้า พื้นที่ในสถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือของศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สถาปัตยกรรม ผังเมือง ฯลฯ ขณะที่เราขาดความรู้ทางด้านพื้นที่ กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างองค์ความรู้ในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ากันกับระบบทุนนิยมอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์เป็นไปอย่างทันท่วงทีเพื่อการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ

3) สุดท้ายการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ลืมเรื่องอำนาจรัฐและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ระบอบประชาธิปไตยรองรับไว้ไม่ได้

เราไม่อาจพูดคำว่าเสมอภาค และเท่าเทียมได้อย่างเต็มปาก ตราบใดที่ปราศจากสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปร้อยแปดที่เกิดขึ้น การรับอาสาช่วยเหลือออกแบบเมือง พื้นที่สาธารณะต่างกรรมต่างวาระ ของรัฐบาลนี้เนื่องจากเกรงว่า หากตนไม่ช่วยทุกอย่างจะแย่ไปกว่านี้ล้วนเป็นข้ออ้างและเป็นนั่งร้านที่สร้างความมั่นคงให้กับระบอบที่เป็นอยู่ที่ลิดรอนสิทธิ์ของพลเมืองในทุกเมื่อเชื่อวัน ความพยายามช่วยเหลือของพวกเขาจึงนับได้ว่าเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำในระดับพื้นที่ ในเวลาเพียงไม่กี่ปีเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้กวาดล้างสลัม พ่อค้าแม่ค้าเร่ แผงลอย แผงอาหาร จำนวนมากออกไป โดยไม่เข้าใจนิเวศวิทยาของเมืองและการใช้ชีวิตของคนตามตรอกถนนรนแคม สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำถึงความเป็นชนชั้นในพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า คนบางชนชั้นไม่สมควรจะมีชีวิตที่ดีอยู่ในเมืองเช่นนี้ได้ ขณะที่ตลาดน้ำปลอมๆ กลับเกิดขึ้นโดยแทบไม่ตอบสนองชีวิตประจำวันของใคร

ในระดับเมืองนอกกรุงเทพฯ อบต. เทศบาล และอบจ. เคยมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาท้องถิ่นในระดับพื้นที่ความแข็งแกร่งนี้มาจากผลพวงของการกระจายอำนาจและทรัพยากรลงไปสู่ท้องถิ่น การแข่งขันกันเชิงนโยบายนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ของพื้นที่ ส่วนผลกระทบจากการสร้างสรรค์จะดีเลวอย่างไรก็คงต้องประเมินกันต่อไป แต่ในเวลานี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกลับถูกกำกับควบคุมจากรัฐบาลอย่างแข็งขัน ด้วยพื้นฐานความไม่ไว้วางใจนักการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ส่งผลต่อความเป็นไปของท้องถิ่น การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติ รัฐบาลยังมีเครื่องมือวิเศษที่สามารถคาดโทษแขวนผู้บริหารและข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ด้วยข้อกล่าวหาว่าทุจริตและประเด็นหยุมหยิมอื่นๆ ดังนั้นอบต. เทศบาล และอบจ.ในบริบทนี้ นอกจากจะหลุดลอยออกจากการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาช่วยคานอำนาจแล้ว การริเริ่มอะไรใหม่ๆ จึงถูกแทนด้วยการนิ่งเฉย หรือดำเนินการทางการเมืองโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะทำให้พวกเขาหลุดออกจากวงจรอำนาจอันน้อยนิดที่พวกเขาเหลืออยู่ การดำเนินการอย่างสร้างสรรค์หลายแห่งกลับถูกตั้งคำถามจากหน่วยงานตรวจสอบด้านการเงิน เนื่องจากว่าถูกเพ่งเล็งแล้วว่า การดำเนินการของท้องถิ่นนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะทุจริต ในทางกลับกันโครงการแปลกๆ กลับเกิดขึ้นโดยน้ำมือของรัฐบาล ทั้งด้วยเงินงบประมาณที่มากโข และข้อกังขาทางกฎหมาย รวมถึงความสมเหตุสมผล

อาจกล่าวได้ว่าโครงการ The Urban Coup d'etat ที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานี้ เป็นความพยายามที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ที่สร้างอำนาจให้กับเมืองหลวงและชนชั้นนำขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นอย่างช้า และลงหลักปักฐานอย่างเอาจริงเอาจังในปี 2557 เห็นได้จากการออกแบบและก่อสร้างทั้งในเชิงสัญลักษณ์ พิธีกรรม และการตอบสนองต่อนายทุนชนชั้นนำทั้งหลายที่ยึดครองพื้นที่ รุกคืบไปข้างหน้า กินแดนออกไปจากที่มั่นของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่อาจประเมินได้ว่าจะไปสิ้นสุดลง ณ จุดใด.




เชิงอรรถ

[1] บทความนี้เกิดขึ้นจากการสนทนากับข้อเสนอของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในงานเสวนา SCALE[D] THINKERS READING SERIES : READING LEFEBVRE # 1 SCALE[D] THINKERS READING SERIES : READING LEFEBVRE # 1 จัดโดย Scale[d] และ SoA+D, KMUTT ร่วมกับ Alliance française Bangkok วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ ห้องสมุด สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ


[2] Stuart Elden, Understanding Henri Lefebvre Theory and the Possible (London : Continuum, 2004), p.39


[3] Ibid., p.65-81


[4] Ibid., p.65-81


[5] Stuart Elden, Understanding Henri Lefebvre Theory and the Possible (London : Continuum, 2004), p.39


[6] Ibid., p.41


[7] Ibid., p.77-78


[8] Ibid., p.113


[9] Ibid., p.116


[10] Ibid., p.115-116


[11] Ibid., p.42


[12] Ibid., p.129


[13] Ibid., p.138


[14] Ibid., p.129


[15] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "สถานีขนส่งหมอชิตฯ: ราชันย์ผู้ร่วงโรยบนบัลลังก์สถานีระดับชาติ ตอนแรก". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก http://www.siamintelligence.com/bangkok-mass-transit-on-falling-of-mo-chit-station-case/(17 ตุลาคม 2555) และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "สถานีขนส่งหมอชิตฯ: ราชันย์ผู้ร่วงโรยบนบัลลังก์สถานีระดับชาติ ตอนจบ". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก
http://www.siamintelligence.com/bangkok-mass-transit-on-falling-of-mo-chit-station-case-part-two/(22 ตุลาคม 2555)


[16] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก
https://prachatai.com/journal/2016/09/68107(28 ตุลาคม 2559)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.