มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายค้านการขึ้นราคา BTS เสนอให้เร่งดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกสถานี ปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับมาเลเซีย
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) จัดแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นค่าโดยสาร BTS เหตุผู้พิการและผู้สูงอายุยังไม่สามารถใช้บริการได้เพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคดีแดงที่ อ.650/ 2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 57 และจากผลประกอบการของบริษัทการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน เป็น 3,110.3 ล้านบาท และมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชนที่สูงมากถึง 196.9% จึงไม่มีเหตุให้ขึ้นราคา
รายงานข่าวระบุด้วยว่า เครือข่ายดังกล่าวยัง เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทบทวนการอนุญาตให้ขึ้นราคาในครั้งนี้ และขอให้บริษัทชะลอการขึ้นราคาจนกว่าจะมีการดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกในทั้ง 23 สถานี รวมทั้งให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย หรือกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อวันที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะทุกประเภทเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย
จากตัวอย่างร้องเรียนหากใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางของผู้บริโภคจากรัตนาธิเบศร์ ถึงสีลมหรือบางนา รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งราคาสูงเกินไปในการใช้บริการขนส่งต่อวัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้
ทั้งนี้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นค่าโดยสารเส้นทางสัมปทาน สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร อัตราค่าโดยสารใหม่เพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 1 – 3 บาท โดยปรับจากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท จะเรียกเก็บอัตราเดินทางสถานีแรก 16 บาท, สองสถานี ราคา 23 บาท, สามสถานี ราคา 26บาท, สี่สถานี ราคา 30 บาท, ห้าสถานี ราคา 33 บาท, หกสถานี ราคา 37 บาท, เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท และแปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้
แถลงของเครือข่ายฯ ระบุต่อว่า หากพิจารณาจากผลกำไรของบริษัทบีทีเอส จะเห็นได้ว่า 1. รายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น100.2% จากปีก่อน 1,553.5 ล้านบาท เป็น 3,110.3 ล้านบาท 2. ายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (ไม่รวมดอกเบี้ยรับภายใต้สัญญาสัมปทาน) ในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เพิ่มขึ้น 13.5% จากปีก่อน เป็น 473.7 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามสัญญาของรายได้ค่าเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบันและจากสถานีสำโรง (E15) ซึ่งเป็นสถานีแรกในส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้
3. ยอดผู้โดยสารรวมในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในไตรมาส 1 ปี2560/61 จำนวน 58.0 ล้านเที่ยวคน เติบโต 2.8% จากปีก่อน (56.8 ล้านเที่ยว) และ 4.รายได้ธุรกิจสื่อโฆษณาในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เติบโต 36.8% หรือ 228.5 ล้านบาท จากปีก่อน 620.5 ล้านบาท เป็น 849.0 ล้านบาท ปัจจัยหลักของการเติบโตของรายได้มาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งทั้งจากธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัล
แถลงของเครือข่ายดังกล่าว ยังระบุอีกว่า กรุงเทพมหานคร ควรพิจารณาทบทวนเหตุผลในการอนุมัติขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากกิจการของบีทีเอสและส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อจากการลงทุนของกรุงเทพมหานคร เพราะการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ย่อมทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษา คดีแดงที่ อ.650/2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 57 อย่างครบถ้วน ในการจัดทำ สิ่งอำนวยความสะดวกใน 18 สถานี และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือจัดให้มีที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซ็นติเมตร และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซ็นติเมตร บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ รวมทั้งหมด 23 สถานี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยให้บริษัท BTS ให้ความร่วมมือให้เป็นไปตามคำพิพากษา
รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งปฏิรูป ให้มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มีทางเลือกสำหรับการเดินทางที่หลากหลายเพียงพอมากขึ้น มีการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่ทุกเมืองอย่างต่อเนื่อง และทบทวนภาพรวมค่าบริการขนส่งสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการขนส่งสารสาธารณะทุกประเภทในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และไม่มีภาระมากเกินสมควร
แสดงความคิดเห็น