ชวนดู Dinaภาพยนตร์สารคดีรางวัล Jury Prize ของเทศกาลหนัง Sundance ปีล่าสุด เมื่อคนออทิสติกไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนในหนังเรื่องอื่นที่คุณเคยดู แต่มีกิเลส ตัณหา อารมณ์หลากหลายซับซ้อน มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร
เมื่อพูดโดยรวมถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับคนพิการทางสมองอย่าง Rain Man (1988) Forrest Gump (1994) หรือ I am Sam (2001) เรามักนึกถึงด้านความใสซื่อบริสุทธิ์ของคนเหล่านี้ เราอินกับความไร้เดียงสา อินเมื่อความพิการสร้างความร้ายกาจให้กับชีวิตของเขาเอง และเห็นอกเห็นใจเมื่อความไร้เดียงสาของพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์ผู้ไม่พิการทางสมองอย่างเราๆ- มนุษย์ผู้แปดเปื้อน มีกิเลส ดังนั้นเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้แสดงอาการที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เรามักจะพร้อมอดทนและให้อภัยพวกเขาเสมอ (ในหนัง)
ดูเผินๆ Dina (2017) คือภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ ด้วยวิธีการถ่ายทำและตัดต่อที่คล้ายภาพยนตร์ แต่อันที่จริง Dina (ดิน่า) คือภาพยนตร์สารคดีตามติดชีวิตดิน่าช่วงที่เธอกำลังจะแต่งงานกับ สก็อต (Scott) ชายผู้มีอาการออทิสติกเช่นเดียวกับเธอ สารคดีค่อยๆ พาเราไปทำความรู้จักกับดิน่า ค่อยๆ เผยให้เห็นปมบางอย่างในอดีตของเธอ รวมทั้งปมความรักของเธอกับสก็อต
ดิน่า คือหญิงวัย 48 ปีที่มีความพิการทางสมอง เธอมีอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งจัดอยู่ในโรคกลุ่มออทิสติก (Autistic spectrum disorders) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านการพูด ซึ่งแต่ละเคสจะมีอาการแตกต่างกันไป
ในเคสของเธอ ดิน่าเป็นคนพูดไม่หยุด พูดทุกสิ่งอย่างที่เธอคิด พูดแทรกในบางขณะ พูดติดขัดในบางครั้ง ถามคำถามที่คนอื่นอาจไม่อยากตอบ และเธอจะไม่หยุดพูดหรือถามจนกว่าเธอจะพอใจ หรือจนกว่าเธอจะตระหนักว่าทำให้คนอื่นไม่พอใจ
‘ความเป็นเธอ’ อาจทำให้คนใกล้ตัวต้องกระอักกระอ่วน เหนื่อยหน่ายในบางโอกาส แม้กระทั่งแม่ของเธอยังต้องบ่นด้วยสีหน้าเหนื่อยหน่ายกับช่างทำเล็บในขณะที่นั่งทำเล็บด้วยกันกับเธอ “ทำยังไงให้เธอเงียบ”
---
“ฉันกังวลในเรื่องที่คาดเดาไม่ได้” ดิน่าพูดขึ้นระหว่างอยู่บนเก้าอี้ทำฟันที่คลินิก ซึ่งเป็นฉากเปิดของเรื่อง เธอพูดต่อไปไม่หยุดแล้วหันไปกล่าวกับผู้ช่วยทันตแพทย์สาว “เป็นไปได้ไหมที่คุณจะจับมือฉันสักแป๊บนึง” แล้วดิน่าก็จับมือเธอไว้ระหว่างทำฟัน
การถ่ายกิจวัตรประจำวันของดิน่าในช่วงเปิดเรื่อง พาเราเข้าไปใกล้ชิดกับพื้นที่ส่วนตัวของดิน่า ทั้งในห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องนอน ให้เห็นตอนเธอเปลี่ยนเสื้อผ้าหันหลังให้กล้อง แต่เราอาจไม่ทันสังเกตเห็นแผลเป็นที่หลังของเธอ ซึ่งจะเป็นเหตุผลในภายหลังว่าเพราะอะไรเธอถึง ”กังวลในเรื่องที่คาดเดาไม่ได้” (แต่เราจะไม่สปอยคุณ)
สารคดีเริ่มเผยให้เห็นเรื่องราวความรักของดิน่า เธอเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยยังสาว สามีเธอตายด้วยโรคร้าย ดิน่าพบสก็อตหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้าแล้วสก็อตก็ขอเธอแต่งงาน และย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของเธอ
แม้ทั้งคู่จะต่างกัน ดิน่าพูดน้ำไหลไฟดับ ขณะที่สก็อตมักพูดแค่ “อ่าฮะ” “อือฮึ” เป็นการตอบรับ จนดิน่ามักคิดว่าสก็อตอาจไม่ได้รักเธอเพราะเขาไม่ค่อยแสดงออก แต่นอกเหนือจากคำว่า “อ่าฮะ” “อือฮึ” แล้ว “I love you, honey” ก็เป็นประโยคปิดท้ายที่สก็อตมักพูดอยู่เสมอ เมื่อได้ยินประโยคนี้ ดิน่าจะน้ำเสียงอ่อนลงสองสเต็ปแล้วตอบกลับว่า “I love you too”
เหมือนจะเป็นแค่ความรักกุ๊กกิ๊ก แต่ถ้าคุณมองหาภาพยนตร์รักโรแมนติกที่ให้รสชาติแตกต่างออกไป ภาพยนตร์ที่ให้คุณเฝ้ามองคนพิการทางสมองที่มีกิเลส ตัณหา ความต้องการอยากมีเซ็กส์ ความโกรธเคืองต่อโลกนี้ มีอารมณ์หลากหลายซับซ้อน มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร สารคดีเรื่องนี้ก็อาจเป็นคำตอบของคุณ
ดิน่าโหยหาอ้อมกอด การเดินเคียงข้าง และการจับมือกับสก็อต ขณะที่สก็อตซึ่งเป็นออทิสติกที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็มักเดินนำหน้าเธอไปเสมอ ปฏิเสธเมื่อเธอจะกอดเขา และดูเหมือนจะไม่สนใจเรือนร่างของเธอ
ดิน่าก็แซ่บพอที่จะซื้อหนังสือเรื่อง “The Joy of Sex” เป็นของขวัญให้สก็อต และเริ่มเปิดอกพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับเขา สก็อตผู้เคร่งขรึมเริ่มรู้สึกอึดอัดที่ต้องตอบคำถามล้วงลึกประเภท “เวลาคุณช่วยตัวเองคุณนึกถึงฉันมั้ย” หรือ “คุณช่วยตัวเองตั้งแต่ตอนไหน บ่อยมั้ย” ฯลฯ และเมื่อสก็อตเริ่มกระอักกระอ่วน ดิน่าเล่าถึงแฟนเก่าของเธอ ซึ่งโรคจิต (mental problem) และเคยจับเธอตีก้น เรียกเธอว่า “butt girl”
“คนเป็นออทิสติกก็เงี่ยนได้เหมือนกัน (autistic people get horny, too)”
เธอกล่าวแบบนั้นกับสก็อตผู้ซึ่งเขินอายเกินกว่าจะแสดงออกกับเรื่องประเภทนี้
เป็นอีกฉากที่ประทับใจ อาจเพราะส่วนหนึ่งเรื่องคนพิการกับเซ็กส์ไม่เคยถูกพูดถึงมากนักในพื้นที่สาธารณะอย่างภาพยนตร์ การได้รู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับคนพิการในมุมที่เราแทบไม่เคยเห็นจึงเป็นสิ่งน่าสนใจยิ่ง
เช่นเดียวกับฉากปาร์ตี้สละโสดที่บ้านของดิน่า ชายหนุ่มร่างกำยำเปลือยกาย เต้นจ้ำบ๊ะ ขยับเอว ถูไถดิน่าและกลุ่มเพื่อนที่เป็นคนพิการเช่นเดียวกับเธอ สาวๆ ทุกคนสนุกสนาน บางคนขาไม่ดีแต่ก็พยายามเคลื่อนไหวเต็มที่ บางคนก็ถ่ายคลิป และบางคนก็ตื่นเต้นจนตัวแข็งทื่อ บรรยากาศอวลด้วยเสียงหวีดร้องหัวเราะลั่น
หรือฉากที่ดิน่าระบายอารมณ์กับกลุ่มเพื่อน เกี่ยวกับสก็อต เกี่ยวกับชีวิตของเธอ “ฉันเหนื่อยกับการถูกปฏิเสธ (I’m tired of being rejected)” เธอตะโกน “ฉันพิการและถูกปฎิเสธมาตลอดชีวิตแล้ว และเมื่อฉันจะกอดเขา เขาผลักฉันออก ฉันไม่อยากทนอีกแล้ว (I’ve had disabilities and been rejected my whole life, and when I go to cuddle him he pushes me away and I can’t stand it.)”
คำตะโกนก้องของเธอสะท้อนได้ดีว่าชีวิตที่ผ่านมาของเธอคงไม่เรียบง่ายและสวยหรูนัก
ยังมีเรื่องในภาพยนตร์ที่จะบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของเธออีก เรื่องที่เลวร้ายเกินกว่าคุณจะคาดเดา (บอกแล้วเราจะไม่สปอย) และดังนั้นชีวิตของเธอ เราอาจไม่ได้เห็นมันในฐานะชีวิตของคนพิการทางสมองผู้ซื่อใสไร้เดียงสา โดยมีคนใจร้ายมาทำให้ชีวิตแย่ มีคนใจดีมาช่วยสงเคราะห์ให้ดีขึ้น แต่เราจะมองในฐานะชีวิตของคนที่ต้องเจอเรื่องราวยากๆ มากมาย และเธอก็พยายามต่อสู้ ดิ้นรน บ่น ตะโกนออกมาให้โลกนี้ฟัง และในบางครั้งก็เป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เซ็กส์ ความสุข ที่เธอสะท้อนกลับไปให้โลกนี้ด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน https://thisable.me
แสดงความคิดเห็น