Posted: 26 Jan 2018 10:18 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน

คุยกับคนที่ยังอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬถึงความกดดันที่จะอยู่ในชุมชนต่อ เล่าประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยโด่งดังเรื่องพลุไฟ กัญชา จนถึงรอยร้าวที่มาจากหน่วยงานรัฐที่ทำให้ชุมชนโบราณชานเมืองแห่งสุดท้ายขนาด 300 คนเหลือกันอยู่ไม่ถึง 50 คน

หลังปรากฏบนหน้าข่าวมานานกว่า 25 ปี มหากาพย์ชุมชนป้อมมหากาฬ-กรุงเทพฯ ได้มาถึงจุดที่ชุมชนจำนวนกว่า 300 คน เหลือไม่ถึง 50 คนแล้ว เส้นทางของชุมชนชานเมืองดั้งเดิมรัตนโกสินทร์แห่งสุดท้ายที่กำลังถูกไล่รื้อนั้นดำเนินไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่เป็นการลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน ความเหมาะสมของการเวนคืนที่ไปทำสวนสาธารณะ ความไม่เหมาะไม่ควรที่จะให้คนจนอาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ฯลฯ

ทิศทางของชุมชนจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นประโยคคำถามที่ครอบคลุมไปถึงอนาคตของคนที่อยู่ข้างใน ในวันนี้ที่ชุมชนเบาบางและหายใจรวยริน ประชาไทลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยที่ยังอยู่ ติดตามไปหาคนที่ย้ายออกไปยังสถานพักพิงชั่วคราว สมาคมสถาปนิกสยามกับความพยายามรักษาสถาปัตยกรรมของชุมชน และพูดคุยกับนายทหารฝ่ายข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) ที่ทุกวันนี้ตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชนตลอด 24 ชั่วโมงมาสองเดือนแล้ว เพื่อทราบถึงเป้าหมาย ความหวัง ทิศทาง ความกดดันของแต่ละตัวละคร สิ่งที่สะท้อนคือภาวะความไม่มั่นคงของทั้งคนที่ยังอยู่และคนที่ย้ายออก สุดท้ายจะย้ายหรือจะอยู่ก็เป็นทางเลือกบนสภาวะที่ไม่มีทางเลือก


ความเดิมตอนที่แล้ว: จุดเริ่มต้นของปมปัญหา อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบัน

ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. หน่วยทหาร-พลเรือน ของ กอ.รมน.กทม. เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ และยังคงปักหลักอยู่ที่ลานกลางชุมชนจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรมานั่งเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง


15 ม.ค. กทม. เข้ารื้อบ้านเลขที่ 63 ที่เจ้าของบ้านสมัครใจย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่สำนักงานประปาเก่าที่สี่แยกแม้นศรีที่ถูกจัดเอาไว้ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งในรั้วเดียวกันมีอาคารที่จัดเอาไว้เพื่อเป็นที่พักของคนไร้บ้าน เรียกว่า บ้านอิ่มใจ ทาง กทม. และ กอ.รมน.กทม. มีแผนที่จะใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ในย่านเกียกกายปลูกที่พักอาศัยให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ต่อ

ในวันเดียวกัน ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ถูก กอ.รมน.กทม. เรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครให้อยู่หรือย้ายจากชุมชนได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการที่ธวัชชัยมองหน้า และเพราะคนในชุมชนไม่พูดจาด้วย

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ปัจจุบันเหลือประชากรในป้อมจำนวน 10 หลังคาเรือน จำนวนคนราว 45 คน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม. มีแผนจะเข้ารื้อบ้านอีกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. 2561



คนในเล่าภาวะกดดัน กับทางแยกของพี่น้องเมื่อ กทม. ตีกรอบรื้อบ้าน

สุภาณัช ประจวบสุข อายุ 53 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เกิด ตั้งแต่มีกระแสเรื่องการไล่รื้อป้อมในปี 2546 ก็ตกงานเรื่อยมา ตอนนี้แบ่งหน้าที่กับน้องสาว โดยตัวเองทำงานดูแลชุมชนและเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ดูแลเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่งตัวคนในชุมชนที่ป่วยไปโรงพยาบาล ตรวจเช็ครายละเอียดเรื่องบัตรทองของคนในชุมชน ส่วนน้องสาวทำงานหารายได้

“สมัยนั้นสมัยคุณสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) บอกว่าจะเอาเจ้าหน้าที่ 2-3 พันคนมาบุกบ้าน ก็เลยต้องเฝ้าบ้าน เลยไปทำงานสายจนเถ้าแก่บอกว่า มึงเลือกเอาระหว่างที่ซุกหัวนอนกับที่ทำมาหาแดกมึงจะเลือกอะไร พี่บอกว่าพี่ขอเลือกบ้าน เลยออกจากงานมาทำเรื่องชุมชน”

สุภาณัชเล่าว่า ปมปัญหาเริ่มตึงเครียดขึ้นหลังการประชุม 4 ฝ่ายจบลง

“มันมาจุดประกายตอนประชุม 4 ฝ่ายครั้งสุดท้ายกับยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการ กทม. เมื่อ 27 ก.ค. คุณยุทธพันธุ์พูดชัดเจนว่า แบ่งบ้านเราเป็น 3-4 กลุ่ม บ้านสีเทาคือไม่เอาเลย คนในบ้านโซนสีเทาก็คิดว่า อ้าว กูไม่ได้อยู่แล้ว เขาไม่เอาบ้านกู คนที่อยู่บ้านกลุ่มสีเทามีจำนวน 11 หลัง ก็เริ่มคิดว่าจะเอาไงต่อ เขาก็เริ่มไปคุยกับ กทม. ว่าทำอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นก็แตกระแหง แต่ตอนปลายปีลดบ้านที่จะเก็บไว้ให้เหลือ 7 หลัง แต่ไม่เอาคนไว้ เหมือนทำทุกอย่างให้เราแตกแยกกัน ใครทนได้ก็อยู่ไปก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเอาเงินไว้ก่อน เท่าที่พี่ได้ยินนะ กทม. เขาบอกว่า บ้านคุณอยู่ไม่ได้นะ ที่ตรงนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมมีบ้านให้ โครงการมันยังไม่ขึ้น แต่ว่าผมให้ย้ายไปอยู่ที่ประปาแม้นศรีก่อน เป็นออฟฟิศประปาแม้นศรีสมัยก่อน จากนั้นคุณก็ไปผ่อนบ้านที่โครงการที่จะขึ้นอยู่ที่เกียกกายราคา 3 แสน แต่ถ้าคุณช้าคุณจะไม่ได้ทั้งบ้านและเงิน ทุกคนฟังก็คิดว่าดีว่ะ เอาเงินไว้ก่อนดีกว่า ”

สุภาณัช ระบุว่า สภาวการณ์ปัจจุบันทำให้ตนปวดใจ เพราะเจ้าหน้าที่ กทม. และ กอ.รมน.กทม. เจาะตามบ้าน และมีกลยุทธ์ที่ทำให้พี่น้องในชุมชนแตกแยกด้วยเงิน แต่ทุกอย่างก็ต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน และยังกล่าวว่าการเข้ามาของ กอ.รมน.กทม. ที่ใช้เหตุผลเรื่องการเข้ามาดูเรื่องพลุไฟ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ตอนนี้ทุกอย่างหมดไปแล้วแต่ก็ยังไม่ออกไปจากพื้นที่ เลยคิดว่าเจ้าหน้าที่ใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาในพื้นที่มากกว่า และเจ้าหน้าที่ยังมีพฤติกรรมกดดันคนในชุมชนทั้งการเข้าไปพูดคุยตามบ้าน และการสังเกตการณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกจับตามอง

“อย่างวันนี้ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามา ตอนแรกก็บอกว่าจะดูเรื่องพลุ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างหมดไป แต่เจ้าหน้าที่มาเจาะแต่ละบ้าน ไปถามว่า เมื่อไหร่จะไป ผมจะเอาบ้านให้ตรงโน้นตรงนี้ ก็เจาะแต่ละบ้าน ทุกวันนี้ที่โล่งๆ ก็คือคนที่อยากไป แล้วยังมีที่จะออกไปอีก”


“สมัยก่อนพี่ก็เห็นว่าขายกัญชา ขายผง แต่ก็ 40 ปีมาแล้ว ส่วนเรื่องพลุไฟ เจ้าหน้าที่จัดการจนตอนนี้ไม่มีแล้ว แล้วทำไมยังอยู่ในชุมชน สมัยก่อนก็มีคนที่มีอาชีพขายพลุ พวกพี่ก็อยู่อย่างหวาดระแวง พลุเคยระเบิดเมื่อปี 2516 บ้านพี่ไฟไหม้ แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

“แต่การเอาเรื่องพลุมานั้นคิดว่าเป็นข้ออ้างที่จะเข้ามาในชุมชนมากกว่า วันแรกที่เขามาพี่ก็ไปถามว่า ‘เสธ.ขา ด้วยความเคารพค่ะ เสธ. เข้ามาที่นี่เพื่ออะไร’ เขาก็บอกว่ามาเรื่องพลุ ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาถามพี่นู่นนี่ แต่ถามเรื่องบ้านหมดเลย เช่น บ้านนั้นบ้านนี้อยู่กันกี่คน อาศัยกันยังไง ทำไมไม่ไป มันเรื่องพลุไหม พอพี่ย้อนเขาเขาก็โมโห เขาก็จะไปเจาะตามบ้านคนแก่ พอคนแก่กดดัน เครียด ก็ความดันขึ้น


สุภาณัชเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เงินค่าชดเชยที่ กทม. จ่ายให้คนในชุมชนแลกกับการย้ายออกมีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละครัวเรือน แต่ละหลัง ตกลงกันเป็นรายกรณี และระบุเพิ่มเติมว่า อยากให้ประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬจบลงด้วยการให้ชาวบ้านอยู่อาศัยต่อ เม็ดเงินที่ได้คงไม่สำคัญกับสุภาณัชมากกว่าการได้อาศัยในชุมชนที่เกิดมา

“อยากให้เขายุติการกระทำของเจ้าหน้าที่ อย่างวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา เขาบุกเข้ามาแบบไม่ได้บอกกล่าว เขานัดแนะกันว่าจะรื้อบ้านหลังหนึ่ง แต่ไปบุกหลังที่ไม่ใช่หลังที่นัดแนะกัน เมื่อวันจันทร์มีชาวบ้าน 11 คน คนแก่ 2 คน มีผู้ชาย 3 คน นอกนั้นผู้หญิง เจ้าหน้าที่มากันเกือบ 200 คน คืออะไร ชาวบ้านไม่ได้ค้ายาเสพติด ไม่ได้เป็นผู้ร้ายข้ามชาติ ทำไมทำขนาดนี้ ชาวบ้านไม่คิดจะต่อสู้เพราะคิดก็ผิดแล้ว เจ้าหน้าที่มีทั้งอำนาจ กองกำลัง เงินทอง เราแค่ขอความเห็นใจว่าจะทำอะไรอย่ารุนแรงกับพี่น้องเราเลย แต่เขาก็ไม่ฟัง ก็ปะทะกัน กว่าจะยุติได้ก็เหนื่อยมาก ท้อมาก แทบจะหมดกำลังใจ ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเมื่อไหร่”

“ถ้าถามพี่ ให้พี่ออกจากพื้นที่มันเปรียบเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางจิตใจ ให้เงิน 2 แสนแล้วให้พี่ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพื้นที่ใหม่ เพื่อนบ้านใหม่ ทุกสิ่งดูใหม่หมด อาพี่อายุ 80 แล้วยังอยู่ในนี้ ท่านจะไปเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ได้ไหม เพราะท่านชินกับสภาพแวดล้อมตรงนี้แล้ว ถ้าบอกว่าไม่อยากได้เงินก็คงโกหก แต่มันเปรียบเทียบกับคุณค่าทางจิตใจไม่ได้ ที่ตรงนี้มันมีคุณค่ามากกว่าที่จะเอาไปทำสวนสาธารณะ หัวป้อมกับท้ายป้อมก็ได้ทำไปแล้ว บ้านพี่แต่ก่อนอยู่ที่สวนด้านหน้า แต่คืนพื้นที่ให้ กทม. โดยการรื้อบ้านตัวเอง และย้ายมาอยู่ส่วนกลาง แล้วคิดว่า กทม. จะไม่มายุ่งกับพี่น้องคนอื่น แต่ กทม. ไม่รักษาคำพูด ไล่เรามาอยู่ที่นี่แล้ว แล้วยังจะไล่เราอีกเหรอ ฉันรื้อบ้านเกิดของปู่ ย่า พ่อ แม่ ฉัน แล้วคุณยังมาทำลายฉันอีกเหรอ

“ไม่เคยคิดในหัวสักนิดเลยว่าจะไป ถ้าพี่นอนอยู่ในนี้แล้ว กทม. มาทุบบ้าน พี่ก็จะนอนให้มันทุบแล้วขอตายในบ้านหลังนี้” สุภาณัชกล่าวทิ้งท้าย


มันเป็นเรื่องของหน่วยงานที่อยากได้พื้นที่ตรงไหนก็ใช้กฎหมายบังคับ ตรงนี้ (พื้นที่บริเวณตรอกพระยาเพชร) เป็นที่ธรณีสงฆ์ คนธรรมดาซื้อไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐก็ทำด้วยการเวนคืน ทำให้มันไม่เป็นธรรมกับเราที่อยู่อาศัย เช่าที่ดิน เช่าบ้านอย่างถูกต้องมาในสมัยก่อน

พรเทพ บูรณบุรีเดช

พรเทพ บูรณบุรีเดช อายุ 53 ปี อดีตรองประธานชุมชน เกิดในชุมชน ระบุว่า ภาวะเมื่อปี 2559-2560 ถึงปัจจุบันเป็นภาวะที่พี่น้องอ่อนล้าในเรื่องที่จะยืนยันปกป้องพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะบ้านไม้โบราณชานพระนครที่สุดท้าย ก็เลยมีความแตกแยกทางความคิดบางส่วนกันในชุมชนว่าสรุปจะอยู่อย่างไร สู้หรือไม่สู้ ต้องย้ายออกหรือไม่ โดยในวันที่ 31 ม.ค. นี้ก็ได้ยินข่าวว่าจะมารื้อบ้านที่คนย้ายออกไปแล้ว 2-3 หลัง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะตัวเจ้าของบ้านตัดสินใจให้รื้อเอง เพียงแต่กังวลว่าทาง กทม. อาจจะพาลรื้อบ้านหลังอื่นที่ไม่มีคนอยู่ไปแล้วด้วย

“คือข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเราตกลงกันว่าจะเก็บไว้ 18 หลัง มีการพูดคุยแล้ว แต่ กทม. ตั้งอนุกรรมการของเขาเองแล้วบอกว่าจะเหลือเอาไว้ 7 หลัง ซึ่งบ้านที่จะรื้อ 3 หลังก็ไม่ได้อยู่ใน 7 หลัง เขาก็เลยจะขอรื้อเพราะไม่มีคนอยู่ เขาก็อาจพาลว่าจะขอรื้อบ้านหลังที่ไม่มีคนอยู่ ทำให้เราต้องพะวงถามว่าเราพอจะปกป้องไหม เราก็ปกป้องบางส่วน แต่ถ้าเจ้าของบ้านประสงค์จะรื้อ ชุมชนก็ไม่สามารถปกป้อง เพราะมันก็เหมือนขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเจ้าของบ้าน (ละเมิดสิทธิ์เจ้าของบ้าน) ซึ่งอาจถูกดำเนินคดี เพราะตอนนี้ก็รู้ๆ อยู่ว่าที่ชุมชนมีหน่วยงานเข้ามาเพื่อกันพี่น้องที่จะทะเลาะกัน ทำให้ชุมชนเกิดความระแวง” พรเทพกล่าว

อดีตรองประธานชุมชนกล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ในฐานะเมืองโบราณชานพระนครแห่งสุดท้าย และตั้งข้อสงสัยกับทาง กทม. ว่าทำไมถึงต้องไล่รื้อพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ “มันเป็นเรื่องของหน่วยงานที่อยากได้พื้นที่ตรงไหนก็ใช้กฎหมายบังคับ ตรงนี้ (พื้นที่บริเวณตรอกพระยาเพชร) เป็นที่ธรณีสงฆ์ คนธรรมดาซื้อไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐก็ทำด้วยการเวนคืน ทำให้มันไม่เป็นธรรมกับเราที่อยู่อาศัย เช่าที่ดิน เช่าบ้านอย่างถูกต้องมาในสมัยก่อน ทำให้เรารู้สึกว่า 25 ปีมานี้ เราต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของหน่วยงาน คุณทำแบบนี้กับพื้นที่ได้ด้วยเหรอ ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์นะ มีทั้งบ้านไม้ มีทั้งคนที่ดำเนินชีวิตมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี มันหาที่ไหนมีไหม มันเป็นชานพระนครในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือเป็นนอกเมืองเหมือนชานเมืองอยุธยา คือกรุงเทพฯ จะมีกำแพงสองชั้น ชั้นนี้คือชั้นนอก คือชานเมือง ถัดเข้าไปข้างในคือในเมือง แล้วก็ชั้นในวัง แล้วก็จะมีชานเมืองเลยไปตรงคลองผดุงกรุงเกษม ผังก็คล้ายๆ อยุธยา ตรงนี้ก็เป็นชานเมืองพระนครที่ต้องมีคูคลองเอาไว้ป้องกันข้าศึก

“ตรงนี้มันมีโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ 20 โครงการ พื้นที่ก็จะโล่งรอบกรุง ก็จะไม่ค่อยมีคนในชุมชนอยู่ เขาอยากทำให้เป็นที่ท่องเที่ยวเหมือนชอง เอลิเซ่ มีคนมาเดิน แล้วพอถึงเวลาก็ปิด แต่บริบทเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์มันไม่น่าเป็นแบบนั้น มันยังมีความขลัง ความเก่าของตึก มันไม่ได้มีแค่ตึกสวยๆ อย่างเดียว มันมีทั้งตึกโทรมๆ บ้านไม้โบราณ มีตึกรามบ้านช่องแตกต่างกันไป ไม่ใช่รูปทรงเดียวกันหมด เพราะคนที่อยู่ใกล้ๆ มันก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาชีพ ถ้าดูฝั่งทางนู้น (ชี้ไปฝั่งตรงข้ามคลองโอ่งอ่าง) จะเป็นทรงเดียวกัน ตรงนั้นเป็นที่ๆ วัดสร้างไว้ให้เซ้ง แต่ก่อนเขาเรียกชุมชนวัดสระเกษ แต่ถ้าดูตรงนี้ (ชุมชนป้อมมหากาฬ) จะเป็นทรงบ้านต่างกันไป” พรเทพระบุ


อดีตรองประธานชุมชนระบุว่าแม้จะเหลือประชากรราว 10 หลังคาเรือนและสถานะของชุมชนอาจไม่ได้รับการยอมรับแล้ว แต่ก็ยังขับเคลื่อนประเด็นชุมชนอยู่ และยังมีกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยยังออมเงินร่วมกันเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต

พรเทพยืนยันว่าในชุมชนเคยมีเรื่องการค้าขายพลุไฟและยาเสพติดจริง แต่ว่าตอนนี้ก็หมดไปแล้ว “เมื่อก่อนชุมชนป้อม ต้องยอมรับว่ามีการขายพลุบ้างในหน้าเทศกาล แต่เราก็ไม่เคยทำความเดือดร้อน เรื่องพลุตอนนี้เราก็ถือว่าหมดแล้วนะ แหล่งค้าขายจะไปอยู่ป้อมปราบฯ ซะเยอะ ของเราเป็นลูกค้ารายย่อย แต่ก็คงไม่เหลือแล้วแหละ แต่เรื่องยาเสพติดเราปกป้องเต็มที่ ไม่ให้ยาเสพติดเข้ามายุ่งในชุมชน ถ้าไปดูที่ สน. ชุมชนป้อมมหากาฬแทบจะไม่มีประวัติเรื่องนี้เลย น้อยมาก ถ้ามีก็เป็นเรื่องเด็กดมกาว แต่ถ้าเป็นเรื่องค้ายาขนาดใหญ่ มันก็หมดไปนานแล้ว ตั้งแต่มีการตั้งชุมชนเราก็ปกป้องเต็มที่ เมื่อก่อนอาจจะดังมากเรื่องการขายกัญชา ดังสุดๆ ใครๆ ก็ต้องมาที่นี่ แต่คนมาค้าขายมันไม่ใช่คนในชุมชนที่อยู่ดั้งเดิม ส่วนชุมชนปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว”

ต่อประเด็นที่คนย้ายออก และคำถามเรื่องการใช้อิทธิพลของกลุ่มผู้นำชุมชนไปกดดันให้คนย้ายออกนั้น พรเทพตอบว่า “พวกผมมี (อิทธิพล) เหรอ มีประชากรตอนนี้ 45 คน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ไม่มีอะไรที่จะเป็นอิทธิพลได้เลย ก็ยังงงว่ามีอิทธิพลคืออะไร หนึ่ง ปล่อยกู้เหรอ สอง ค้ายาเสพติด ตอนนี้ชุมชนไม่เข้าข่าย ตอนนี้พี่ยังงงว่าพี่มีอิทธิพลตรงไหน”

“ถามว่ากดดันแบบไหน ถ้ามองเหมือนพี่น้องทะเลาะกัน ถามว่าชุมชนป้อมมหากาฬต่อสู้มา 25 ปี แล้วเพิ่งจะมาบอกว่ามากดดันไม่ให้อยู่ตอนนี้เนี่ยนะ 25 ปีที่แล้วเขาไม่เคยคิดว่าเราไม่ให้อยู่ ถามว่าเราจะกดดันจนเหลือ 10 หลังคาเรือนแล้วให้เขาออกเหรอ ต้องถามว่าเขากดดันอะไร ทะเลาะกันบ้าง ต้องถามตัวเขาเองว่าทะเลาะกันเพราะอะไร ทุกคนก็จะบอกว่าพี่ไม่ดี แต่ไม่เคยย้อนดูว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วโดนกดดันเรื่องอะไร ทำไมไม่คุย 25 ปีในการต่อสู้โดนกดดันหรือเปล่า แล้วทำไมไม่ออกไปก่อน ทำไมเพิ่งมาออกตอนนี้ ทุกคนที่ออกก็บอกว่าโดนกดดันจากคนไม่กี่คนที่มีท่าทางไม่ดี แต่ 25 - 50 กว่าปีที่อยู่ร่วมกันมาไม่เคยพูดเรื่องนี้ ทำไมถึงต้องพูดตอนนี้...เพราะกลัวในเรื่องบางเรื่อง พี่ก็ถามว่ากลัวพวกพี่จริงเหรอ ทำไมถึงไม่ออกไปเลย ก็รอรับตังค์ก่อน พูดตรงๆ ต่อรองเรื่องราคาก่อน ถ้ามีปัญหากับพวกพี่มากก็ได้ตังค์เยอะ ถ้ามีปัญหาน้อยก็รับไปน้อย” พรเทพระบุ

พรเทพยังหวังให้ กทม. รื้อฟื้นข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกลับมา เพราะชุดกรรมการดังกล่าวมีตัวแทนจากชุมชน ถือเป็นครั้งแรกเพราะที่แล้วมาชุมชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลย และยังอยากอยู่ในพื้นที่ ทำงานร่วมกับ กทม. พัฒนาพื้นที่ต่อไป “อยากให้ กทม. ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่หายไปกลับมาตั้งแต่เดือน ส.ค. มาพูดคุยให้ชัดเจนขึ้นว่า คนกับบ้านจะอยู่อย่างไร จะขยับอย่างไร ให้จบเลย ไม่เช่นนั้นมันก็เป็นแบบนี้ เพราะชุดนั้นมีทั้งการคุยเรื่องบ้าน มีข้อตกลงร่วม แต่ชุดอื่นไม่เคยมีชุมชน ชุดนี้ชุมชนมีส่วนร่วมกับทหาร กทม. สถาปนิกสยาม นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชนก็เข้ามาตลอด มีส่วนร่วมหมด

“ถ้าเป็นอนาคตชุมชนก็อยากอยู่ที่นี่ และช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับ กทม. ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอย่างจริงจัง ทั้งในการดำรงชีวิต การอยู่อาศัย การเล่าขานด้วย คือความหวังที่เหลือของคนที่นี่” พรเทพกล่าว

บุญธรรม วิไล อยู่มาตั้งแต่ปี 2525 ตกงานตั้งแต่สู้กับ กทม. เป็นแม่บ้านเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชน ย้ายมาจากโซนที่คืนพื้นที่ มาอยู่ในส่วนกลางตรงประตูตรอกพระยาเพชรตั้งแต่ มิ.ย. ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ลูก 2 คนหารายได้มาจุนเจือ และทั้ง 3 คนแม่ลูกยังคงอาศัยอยู่ในชุมชน

“ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่รักแผ่นดินนี้เพราะลูกสองคนเกิดและโตที่นี่ ตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นี่ อยู่ที่นี่สะดวกทุกอย่าง เพราะใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน”

บุญธรรมเล่าว่า ได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่ของทาง กทม. ที่ชอบเข้ามากดดันและวางอำนาจ ทำให้รู้สึกเหนื่อย เธอเข้าใจว่าเขาก็มาทำตามหน้าที่ แต่อยากให้เข้าใจคนจนด้วยว่าเราไม่ได้ไปบุกรุกใคร ต่อประเด็นที่คนในชุมชนที่ย้ายไปอยู่ที่พักพิงชั่วคราว บุญธรรมระบุว่า เป็นเรื่องความคิดของเขา ห้ามกันไม่ได้ “ปัจจัยหนึ่งก็อาจจะเพราะอยู่ที่นี่เหนื่อย อยากไปอยู่ที่ใหม่ที่สบายกว่า เขากลับเข้ามาก็คุยกัน ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน”


สมพร อาปะนนท์ ขายของชำอายุ 70 กว่าปี แต่งเข้ามาอยู่กับสามีที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้ 40 ปี แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันได้ 7 เดือนแล้ว แต่ก่อนอยู่แถวท้ายป้อม

“สมัยก่อนก็อยู่แถวนั้น (ชี้ไปที่หลังป้อม ทางสวนสาธารณะ) แล้วทหารก็บอกว่าให้เรามาที่นี่ เขาจะได้ดูแลง่าย ก็ต้องเชื่อเขาแล้วมาที่นี่”

“กลุ้มสิ ขยับมาที่นี่แทนที่จะอยู่ได้ เขาก็บอกว่าอยู่ไม่ได้อีก” สมพรตอบเมื่อถูกถามเรื่องความรู้สึก เจ้าตัวบอกว่ามีแผนที่จะอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะว่าคุ้นเคย และไม่อยากย้ายไปที่สถานพักพิงชั่วคราวเพราะกังวลเรื่องสภาพความเป็นอยู่

“เขาจะบอกให้เราย้ายไปที่บ้านอิ่มใจ แล้วจะไปอยู่ได้ยังไง นักข่าวเคยไปดูหรือเปล่า สมัยก่อนเป็นที่ทำงานของประปาเขา เด็กบ้านนี้เข้าไปวิ่งเล่นเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ติดเชื้อ เข้าโรงพยาบาลเลย ก็มันอับมาตั้งกี่ปี แล้วอยู่ๆ จะเปิดให้เราเข้าไปอยู่”

สมพรกล่าว่า อยากให้ปัญหาชุมชนจบลงด้วยการให้คนในชุมชนได้อยู่ต่อ “จบลงที่ให้เราอยู่ อยู่ไม่กี่หลังก็ให้เราอยู่เถอะน่า ให้เราปรับปรุงบ้านใหม่ให้ดีหน่อย คู่กับสวนเขาไปก็ได้ สวนก็มีคนอยู่ ให้ช่วยดูก็ได้ เราอยู่ก็ไม่ได้ทำสกปรก เราก็อยู่อย่างสะอาด”
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.