รินดา พรศิริพิทักษ์ (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Banrasdr Photo)

Posted: 25 Jan 2018 12:00 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ยกฟ้องแม่เลี้ยงเดี่ยวเสื้อแดง คดีโพสต์ข่าวลือเมื่อปี 58 หลังตำรวจฟ้องตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำคนตระหนก เป็นคดีความมั่นคง ก่อนหน้านี้เคยฟ้องที่ศาลทหารมาแล้วด้วยมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น แต่ศาลจำหน่ายคดีเหตุไม่เข้าข่ายความมั่นคง


25 ม.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา ถนนรัชดา พิพากษายกฟ้อง รินดา พรศิริพิทักษ์ วัย 44 ปี แม่เลี้ยงเดี่ยวที่โดนข้อหาตามมาตรา 14(2) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์เฟสบุ๊คข้อความข่าวลือว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร

มาตรา 14 (2) ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นราวเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังเจอกระแสกดดันจากการฝากขังนักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) หลังทหารบุกจับกุมรินดาแล้วส่งต่อให้ตำรวจ มีการจัดแถลงข่าวว่าจะมีการสืบสวนหาเครือข่ายที่เชื่อมโยงต่อไปและเตือนประชาชนไม่ให้กระทำการในลักษณะนี้

แรกเริ่มคดีนี้ส่งฟ้องคดีที่ศาลทหารด้วยมาตรา 116 ก่อน ในตอนนั้นรินดาถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ 4 วันก่อนได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดศาลทหารและศาลอาญาเห็นร่วมกันว่า คดีไม่เข้าข่ายเป็นคดีความมั่นคง ตามมาตรา 116 เพียงเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทโดยทั่วไป ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณา แต่แล้วตำรวจได้ยื่นฟ้องเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออีกครั้งต่อศาลอาญา และศาลอาญามีคำพิพากษาในวันนี้

มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ในรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบพยานนั้น คดีนี้ใช้เวลาสืบพยาน 2 วัน พยานโจทก์ได้แก่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) 3 คน พยานจำเลยได้แก่ ตัวจำเลย และสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งสังเกตการณ์และรายงานการสืบพยานทั้งหมดระบุด้วยว่า การสืบพยานในคดีนี้ แม้ว่าศาลจะไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ก็ได้สั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพยานเบิกความต่อศาล

รินดาเบิกความต่อศาลว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยคัดลอกมาจากในไลน์ที่มีการส่งต่อกัน เนื้อหาของข่าวพาดพิงถึงพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีและภรรยาในทางลบ แต่ก็ไม่ได้อ่านละเอียด จนกระทั่งถูกจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ทหารนำมาให้อ่านอีกครั้ง

ตำรวจระบุว่าตรวจพบสเตตัสเฟสบุ๊คของรินดาที่ตั้งการเผยแพร่เป็นสาธารณะ (Public) ในวันที่ 7 ก.ค. 2558 ซึ่งข้อความดังกล่าวโพสต์เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.เห็นว่าเป็นข้อความเท็จ ทำให้ผู้อื่นตระหนกตกใจและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงตรวจสอบประวัติบุคคลดังกล่าวแล้วไปร้องทุกข์กล่าวโทษวันที่ 8 ก.ค.ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งว่าศาลทหารได้ออกหมายจับรินดาในวันที่ 9 ก.ค. และยังได้รับแจ้งจาก มทบ.11 ว่าได้จับกุมตัวหลินเอาไว้แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.- ประชาไท) จึงเดินทางไปรับตัวผู้ต้องหามา

นอกจากนี้ทนายความยังได้นำชุดเอกสาร “ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเป็นประมวลผลการสืบสวนเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าวและใช้ในการแถลงข่าวมาถามพยานตำรวจด้วย เนื่องจากในเอกสารระบุว่ารินดาเป็น “เป้าหมาย” และการดำเนินการกับเธอเป็น “การป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้าน คสช. และนายกรัฐมนตรีโดยตรง” เพื่อลดระดับแนวร่วม และน่าจะส่งผลให้ “เกิดความเกรงกลัวในการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสม” ในเอกสารดังกล่าวยังมีภาพถ่ายที่รินดาถ่ายกับแกนนำกลุ่ม นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นกลุ่มย่อยต่างๆ แต่ในเอกสารไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลินเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นอย่างไร ในตอนแรกพยานตำรวจไม่รับว่าเป็นผู้จัดทำ แต่ท้ายสุดก็รับกับอัยการว่าเขาเป็นผู้จัดทำ และเป็นเพียงการสืบสวนวิเคราะห์รายงานต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานเพื่อใช้ในคดี

พยานตำรวจอีกนายหนึ่งยังให้การว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีพล.อ.ประยุทธ์ไปยังธนาคารกสิกร ซึ่งเป็นธนาคารที่ปรากฏในข่าวลือด้วย ปรากฏไม่พบว่าพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาได้เปิดปัญหาที่ธนาคารกสิกร

ด้าน สาวตรี พยานฝ่ายจำเลยได้เบิกความไว้ในหลายประเด็น สรุปความได้ว่า

1.คดีไม่เข้าข่ายความผิดตามฟ้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14(2) มีการแก้ไขใหม่ให้ชัดเจนในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า มุ่งไปที่ข้อความเท็จที่กระทบความมั่นคง เนื้อหาของข้อความตามฟ้องกล่าวถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาเท่านั้น และเป็นเพียงข่าวลือที่เรียกร้องให้ช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ฝ่ายอัยการซึ่งเป็นโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความดังกล่าวจะกระทบความมั่นคงอย่างไร และศาลทหาร-ศาลอาญาต่างเคยวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่คดีความมั่นคง

2.การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทนั้น ผู้เสียหาต้องเป็นผู้กล่าวโทษเอง แต่ไม่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์และภรรยามาแจ้งความดำเนินคดีกับรินดาแต่อย่างใด

3.ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำสืบได้ว่าการโอนเงินของพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ข้อความที่รินดาโพสต์ไม่ได้กล่าวถึงเพียงบัญชีส่วนตัวของคนทั้งสอง แต่ยังได้กล่าวถึงบัญชีที่ทั้งสองคนอาจจะให้บุคคลอื่นไปเปิดบัญชีแทนด้วย แต่จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทยมีเพียงว่าทั้งสองคนไม่ได้เปิดบัญชีกับทางธนาคารเท่านั้น แต่ไม่ได้มีข้อมูลบัญชีของคนอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง และระยะเวลาที่ทำการตรวจสอบก็เพียงแค่วันที่ 5-16 มิ.ย. 2558 เท่านั้น ข้อเท็จจริงที่มีอยู่จึงยังไม่พอจะกล่าวได้ว่าข้อความในสเตตัสของหลินเป็นเท็จหรือไม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.