Posted: 25 Jan 2018 09:50 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดโรดแมปได้อีก 90 วัน หลังแก้ไขมาตรา 2 ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วันนับตั้งแต่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา พร้อมปลดล็อกให้หาเสียงจัดมหรสพได้ ขยายเวลาเปิดหีบเป็น 10 ชม. เริ่ม 07.00 น. ปิดหีบ 17.00 น.


แฟ้มภาพที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ตามที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีการประชุมเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ม.ค. โดยมีวาระสำคัญเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 โดย วิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 178 มาตรา มีการแก้ไข 30 มาตรา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการพัฒนากระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้มีคุณภาพ เที่ยงธรรม และแก้ไขจุดอ่อนของการได้มาซึ่งผู้บริหารประเทศทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร

จากนั้นเป็นการเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 2 ที่มีการปรับแก้ให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นจาก 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่สมาชิกฯ มีการอภิปรายเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ ให้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เสนอให้มีผลบังคับใช้ทันที หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แนวทางที่สอง คือ ให้มีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ และแนวทางสุดท้าย คือ ให้มีผลบังคับใช้หลัง 120 วัน ตามที่มีคณะกรรมาธิการฯ สงวนญัตติไว้

โดยในมาตรา 2 ที่ประชุม สนช. ลงมติ 196 เสียง ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง เห็นชอบปรับแก้เนื้อหามาตรา 2 ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยแก้ไขข้อความในร่างฯ เดิมที่ระบุว่า "ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"

นอกจากนี้ในมาตรา 75 มีการเสนอให้ยกเลิกการห้ามโฆษณาด้วยการหาเสียงด้วยการจัดงานมหรสพและงานรื่นเริง ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 136 เสียง ไม่เห็นด้วย 78 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ทำให้การหาเสียงเลือกตั้งสามารถจัดงานมหรสพและงานรื่นเริงได้

ที่ประชุม สนช. ยังเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 87 ด้วยคะแนน 156 เสียง ไม่เห็นด้วย 59 เสียง ให้ขยายเวลาลงคะแนนเสียงออกไปจากเดิม 08.00 - 15.00 น. เป็น 07.00 - 17.00 น.

จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติในวาระสาม ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 213 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง ก่อนที่จะมีการปิดการประชุมในเวลา 23.09 น.

ขณะที่วันพรุ่งนี้ที่ประชุม สนช. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ของ พ.ร.ป. 1 ใน 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.