Posted: 27 Jan 2018 07:17 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ณัชปกร นามเมือง

27 มกราคม 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดวิธีการ (ปฏิบัติหน้าที่) ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หลังวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ของเครือข่ายภาคประชาชน หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

ทั้งนี้ การฟ้องดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจาก วันที่ 17 มกราคม 2561 ทางเครือข่ายประชาชนได้แจ้งการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ว่า จะมีการเดินขบวนและจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" เพื่อรณรงค์ประเด็นทางสังคม เช่น รัฐสวัสดิการ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ทว่าหลังการยื่นหนังสือแจ้งการใช้สิทธิ เจ้าหน้าที่พยายามแทรกแซงโดยอ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงล่อแหลมที่จะขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงขอให้ผู้จัดการชุมนุมพึงระมัดระวังและควบคุมผู้ร่วมการชุมนุมมิให้ปฏิบัติในลักษณะขัดขวางหรือต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ หรือแสดงป้ายและสัญลักษณ์ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. รวมถึงให้ผู้จัดการชุมนุมใช้ยานพาหนะในการเดินทางแทนการเดินเท้าและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

แม้ว่าทางเครือข่ายฯ จะยืนยันว่า การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ได้บัญญัติรับรองไว้ แต่ทางสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง อ้างเหตุว่า ในวันจัดกิจกรรมที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการขายเสื้อยืดที่มีข้อความความสื่อความหมายเกี่ยวข้องทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย

ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่มีลักษณะเป็นการมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามไม่ให้มั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป พร้อมทั้งให้ผู้จัดการชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าคสช.หรือผู้ได้รับมอบหมาย

ทั้งที่ ภายในงานดังกล่าว เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายต่างๆ มีการออกร้านเปิดตลาดขายอาหาร สินค้า และลงลายมือชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 อีกทั้ง ยังเป็นกิจกรรมที่ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และ คสช. ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรรมดังกล่าว

20 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการขัดขวางการเดินขบวน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกว่า 200 นาย ปิดกั้นบริเวณประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกไปยังจังหวัดขอนแก่นตามที่ได้แจ้งการชุมนุมไปก่อนหน้าแล้ว

แม้ผู้ชุมนุมบางส่วนจะสามารถออกมาเดินได้ แต่นับตั้งแต่วันนั้น การเดินก็ถูกข่มขู่ ปิดกั้น ขัดขวาง จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การติดตามถ่ายรูประหว่างเดิน การถ่ายบัตรประชาชนผู้ชุมนุม การค้นรถสวัสดิการ และการกดดันเจ้าของสถานที่พักไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพักในแต่ละวัน

โดยระหว่างการไต่ส่วนของศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ที่เข้าชี้แจงต่อศาลให้การไปในทางเดียวกันว่า การชุมนุมของเครือข่าย People GO ไม่ปรากฎว่ามีการกระทำที่ไม่สงบเรียบร้อยหรือมีอาวุธในระหว่างการชุมนุม และไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

แต่การชุมนุมอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป เพราะวันที่ 19 มกราคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มีการจัดกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และขายเสื้อซึ่งมีสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. ซึ่งตลอดเวลาได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหาร อยู่ตลอด

จนช่วงกลางดึกของวันที่ 27 มกราคม 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดวิธีการ(ปฏิบัติหน้าที่)ชั่วคราวก่อนการพิพากษาออกมา โดยมีจุดน่าสนใจดังนี้

หนึ่ง ศาลสั่งใหตำรวจปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกประชาชนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จนถึงวันสุดท้ายที่เดินขบวน

ในคำสั่งศาลปกครองระบุว่า ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเคร่งครัดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561

สอง ศาลเปิดช่องให้ใช้กฎหมายอื่นแทรกแซงการใช้สิทธิของกลุ่มผู้เดินขบวนได้

ในคำสั่งของศาลปกครองยังระบุอีกว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันทำให้เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือ "ดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้"

แม้ว่าคำสั่งศาลดังกล่าวจะมีลักษณะพบกันครึ่งทาง แต่ศาลก็ช่วยวางบรรทัดฐานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายปกติคืออำนวยความสะดวกประชาชนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของตำรวจว่าควรจะทำหรือไม่ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับผิดชอบแทน

ก็นับเป็นโอกาสอันดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะได้กอบกู้ศักดิ์ศรี หลังถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ทหาร จากนี้ท่านคงสามารถอ้างได้ว่า ตำรวจต้องอำนวยความสะดวกตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถ้าเจ้าหน้าที่ทหารคิดว่าการชุมนุมใดๆ เป็นเรื่องผิดก็ขอให้ทหารเป็นคนดำเนินการแทน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของใคร


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.