Posted: 27 Jan 2018 08:52 PM PST

เตือน! ระวังถูกชักชวนร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผิดกฎหมายที่ไต้หวัน

กระทรวงแรงงานเตือนคนไทยระวังถูกหลอกชักชวนเข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ไต้หวัน เผยมีคนไทยถูกจับกุมแล้ว 8 คน ชี้มีความผิดตามกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดีและถูกส่งกลับประเทศไทย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง (สนร.เกาสง) ว่าขณะนี้มีคนไทยจำนวน 8 คนถูกทางการไต้หวันจับกุมในข้อหาอยู่ร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นคนงานชายที่หลบหนีสัญญาจ้าง จำนวน 5 คน และหญิงไทย จำนวน 3 คน โดยถูกชักชวนจากชายชาวไต้หวัน ซึ่งขณะถูกจับกุมกำลังศึกษาคู่มือวิธีการพูดหลอกลวงให้คนไทยโอนเงินแต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติการจริง ทั้งนี้ ตำรวจได้ส่งเรื่องให้อัยการและได้พิจารณาส่งตัวชายไทย5 คน ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการส่งกลับประเทศไทย ขณะที่หญิงไทยจำนวน 3 คนนั้น มีชายชาวไต้หวันหลอกให้เดินทางเข้าไปทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ทางการไต้หวันได้ปล่อยตัวให้เดินทางกลับประเทศไทยเอง จึงขอย้ำเตือนว่าการเข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไต้หวันนั้นมีความผิดตามกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดี และถูกส่งกลับประเทศไทย วอนคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในไต้หวันอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด

นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีคนหางานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 115,215 คน พบว่าไปทำงานไต้หวันมากที่สุด จำนวน 35,199 คน โดยเป็นการเดินทางในรูปแบบบริษัทจัดส่งมากที่สุด จำนวน 23,095คน รองลงมาคือกรมการจัดหางานจัดส่ง จำนวน 283 คน แจ้งการเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 86 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 78 คน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน จำนวน 2 คน และแจ้งการเดินทางกลับไปทำงานที่ไต้หวัน (Re-entry)จำนวน 11,655 คน

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการไปทำงานต่างประเทศได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6708-9ในวันและเวลาราชการ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/1/2561

กพร.ชงเพิ่มค่าจ้าง 16 อาชีพ

กพร.เทงบ 2,300 ล้านพัฒนาแรงงานเขต EEC 1.3 แสนคน รองรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve ผ่านศูนย์ Excellent Center รายจังหวัด พร้อมชงปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือ 16 อาชีพ ล่าสุด กพร.ยั่วน้ำลายผู้ประกอบการออกโครงการให้กู้ยืมวงเงิน 70 ล้านบาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 100%

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเภท Engine of Growth ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รวมทั้งไทยแลนด์ 4.0 จึงทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดเตรียมแผนระยะ 1 ปี, 5 ปี และ 20 ปี

โดยปี 2561 ใช้งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 130,000 คน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve, นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี ผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ศูนย์ Excellent Center และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในแต่ละจังหวัด

นายสุทธิเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กพร.มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ระยอง, ชลบุรี, สงขลา, ภูเก็ต, สมุทรปราการ, สุพรรณบุรี, เชียงใหม่ และเชียงราย โดยแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะอุตสาหกรรมในจังหวัด เช่น นครราชสีมา จะเน้นด้านไฟฟ้า และโทรคมนาคม ระยองจะเน้นเรื่องออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ ตั้งเป้ามีผู้ผ่านการอบรม 20,000 คน / ปี

“อีกทั้งยังมีการตั้งศูนย์ Excellent Center ซึ่งยกระดับมาจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อครุภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการฝึกอบรมแรงงาน โดยปัจจุบันมีอยู่ 9 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ, เชียงราย จะเน้นด้านโลจิสติกส์ รองรับจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ราชบุรี และลำปาง จะเป็นด้านออโตเมชั่น เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ระยอง จะรองรับด้านยานยนต์ ส่วนฉะเชิงเทรา จะรองรับด้านดิจิทัลเป็นหลัก โดยตั้งเป้าอบรมแรงงาน 10,000 คน / ปี”

“สำหรับการพัฒนาแรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 จะดำเนินการผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับการเครื่องมือ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบออโตเมชั่น โดยตั้งเป้าจะพัฒนาแรงงานจำนวนกว่า 100,000 คน / ปี รวมทั้งหมดก็จะประมาณ 1.3 แสนคน ที่ปัจจุบันเราพัฒนาแรงงานไปแล้วกว่า 33,000 คน” นายสุทธิกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/1/2561

ผู้ประกันตนหนุนขยายสิทธิรับบำนาญถึง 60 ปี

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่าจากการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม ผ่านช่องทางต่างๆ พบว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็น 12 ครั้ง ระหว่าง ก.ย. – พ.ย. 2560 การแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ สปส. ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11,885 คน มีผู้ตอบแบบสอบถาม 10,178 คน คิดเป็นร้อยละ 85.64

นพ.สุรเดช กล่าวว่าผลจากการรับฟังความเห็น 12 ครั้งพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี ออกไปเพื่อให้มีระยะเวลาในการออมเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 48.42 เห็นว่าอายุที่เกิดสิทธิควรเป็น 60 ปี ร้อยละ 42.87 มองว่าอายุเกิดสิทธิในอีก 10 ปีข้างหน้าควรเป็น 60 ปี ส่วนผลการตอบแบบสอบถามร้อยละ 82.74 เห็นควรขยายอายุรับบำนาญชราภาพแบบสมัครใจ ร้อยละ 60.83 เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 37.37 เลือกแนวทางที่ 3 คือขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จ ไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ร้อยละ 36.72 เลือกแนวทางที่ 2 คือให้ขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล รับบำเหน็จชดเชยหากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุรับบำนาญได้ ร้อยละ 25.91 เลือกแนวทางที่ 4 คือ ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนใหม่ ส่วนผู้ประกันตนเดิมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง ส่วนร้อยละ 35.95 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุ ควรคงแนวทางเดิมตามแนวทางที่ 1 คงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพไว้ที่ 55 ปี ส่วนร้อยละ 3.2 เสนอแนวทางอื่น

“ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการปรับสูตรการคำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นการคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน โดยปรับมูลค่าของค่าจ้างแต่ละปีให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อนนำมาเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ได้รับเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรเดิม นอกจากนี้ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังยินดีให้หักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อให้รับสิทธิประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังพ้นจากการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งจะนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ ให้ได้ข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมในการจัดทำระบบบำนาญต่อไป”

ที่มา: โลกวันนี้, 26/1/2591

นายจ้างชี้ขึ้นค่าจ้างกระทบเอสเอ็มอี-ภาคเกษตร คปค.เเนะขั้นต่ำควรให้เฉพาะลูกจ้างแรกเข้า

26 ม.ก. 2561 ที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จัดการสัมมนาหัวข้อ “การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อความท้าทายในยุค 4.0” โดย ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นที่เห็นชัดคือ กลุ่มที่ยังไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ จะได้รับการปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ทันที แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของนายจ้างขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกวัน แต่มาตรการทางภาษีที่ไปช่วยจะไปเกิดปลายปี ตรงนี้ก็ต้องดูว่านายจ้างกลุ่มนี้จะสามารถพยุงตัวได้หรือไม่ เพราะหากไม่ไหวอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งแน่นอนว่าปกติก็มีสถานประกอบการขนาดเล็กล้มหายไปบ้างด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นได้ นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการปรับฐานโครงสร้างค่าจ้างได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ แต่ที่น่าคิดคือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประโยชน์เกื้อกูลจากนายจ้างให้ลูกจ้าง อย่างที่ผ่านมามีอาหาร ที่พักให้ฟรี ก็อาจเปลี่ยนไปต้องจ่ายเอง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติก็อาจโดนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เหล่านี้ก็ต้องติดตาม

“ข้อดีอย่างหนึ่งแน่นอนว่า การขึ้นค่าจ้างย่อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดการใช้จ่ายขึ้น ปัญหาที่กังวลว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานประกอบการ ซึ่งจริงๆ แล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แม้ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากยุคนี้จะมีการพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งไม่ขึ้นค่าจ้าง สถานประกอบการหลายแห่งก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นอยู่แล้ว” ผศ.ศุภชัย กล่าว

ผศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม อย่างการเก็บค่าสมทบต่างๆ กับอีกส่วนหนึ่งคือ การเตรียมการลูกจ้างที่อาจหลุดจากระบบ หรือการรีเทรนท์ตัวเองให้ก้าวต่อไป แต่ในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในมือกระทรวงแรงงานคือ การลดหย่อนภาษี หรือการมีกองทุนช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงมาตรการในการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการคงราคาบางอย่างไว้ ซึ่งจะเป็นบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ โดยเรื่องนี้ภาครัฐอาจต้องมาคุยกันหมด ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม เพราะหากลดหย่อนมากเกินไป อาจได้รับสิทธิแค่ผู้ประกอบการบางส่วนหรือไม่ จึงต้องขีดให้ชัดว่า ใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม และในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นแค่เครื่องประกันในการอยู่รอด แต่สถานประกอบการควรมีการสร้างโครงสร้างแรงงานด้วย และควรมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นประกัน เช่น ควรมีใบรับรองในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะของเรา และนายจ้างก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ว่ามีใบพัฒนาฝีมือแรงงานแต่กลับให้ค่าจ้างเท่าเดิมก็คงไม่ได้

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แต่ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างประจำปี ซึ่งจริงๆ แล้วค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นค่าจ้างแรกเข้าเฉพาะคนใหม่เท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมาอย่าง 1-2 ปี ขีดความสามารถก็ต้องเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการปรับเพิ่ม ไม่ใช่อยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำไปอย่างนั้น นั่นคือสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปี ซึ่งหากมีตรงนี้ก็จะหนีจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำออกไป อย่างไรก็ตาม ต้องพัฒนาเรื่องค่าจ้างของมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย เพราะแม้จะมีการพัฒนาทักษะฝีมือ แต่ค่าจ้างห่างกับคนที่ไม่มีฝีมือเพียง 10-20 บาท คนก็ไม่อยากจะฝึก ตรงนี้ต้องมีการยกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น

นายมนัสกล่าวว่า ส่วนกรณีข้อเสนอลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างนั้น ต้องบอกก่อนว่า ประกันสังคมมีอยู่ 13 ล้านคน แยกเป็นผู้ประกันตน 11 ล้านคนที่อยู่ในสถานประกอบการ และนายจ้างร่วมสมทบ ซึ่งหากตามข่าวที่ว่าจะให้ลดหย่อนเงินสมทบของนายจ้าง ทางเครือข่ายฯไม่เห็นด้วย โดยเงินส่วนนี้จะหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินประกันสังคมส่วนนายจ้าง ก็คือเงินออมเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง ทั้งเงินออม ทั้งเงินรักษาพยาบาล ดังนั้น หากจะปรับลดเงินสมทบของนายจ้าง ต้องคุยกันยาว

นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่ิงค่าจ้างยังมีประเด็นย่อยอีกมาก อย่าง การจ้างงานของไทยในภาคเอกชน มีการจ้างงานหลายประเภทมาก อย่างของรัฐ ก็จ้างงานหลากหลายเช่นกัน เป็นสัญญาจ้างเป็นปีต่อปี เกษียณอายุก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้เงินชดเชยด้วยซ้ำ ขณะเจ็บป่วยก็เบิกไม่ได้เลย และอีกประเภท เป็นการจ้างงานตามภารกิจ ตามมติครม. อย่างจบปริญญาตรี มาเป็นลูกจ้างตามภารกิจ ถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ และหากไม่ต่อสัญญาก็ไม่ได้ค่าชดเชยเลย จริงๆ สิ่งเหล่านี้ต้องทบทวนการจ้างงานของประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน

นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เราอยู่ในยุคปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ย้อนแย้งกันอยู่ เพราะหากพูดภาพการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กโดนกันหมด เพราะในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อตัวธุรกิจทั้งหมด

ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจกันหมด องค์กรใหญ่เหนื่อย แต่ธุรกิจเอสเอ็มดี (SME) เหนื่อยกว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 ล้านราย และมีการจ้างงานอยู่ 11 ล้านคน แน่นอนว่าธุรกิจใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่ดีกับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับเอสเอ็มอีน่าคิด อย่างการจดทะเบียนปีนี้ 74,000 ราย แต่จดทะเบียนขอเลิก 21,000 ราย นี่คือตัวสะท้อนของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของบ้านเรา ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างไม่น่ากระทบธุรกิจใหญ่มาก เพราะมีวิธีปรับเปลี่ยนให้อยู่ได้ แต่ห่วงเอสเอ็มอีและภาคการเกษตรมากกว่า ซึ่งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ

นายบวรนันท์กล่าวอีกว่า หลายคนเป็นห่วงความมั่นคงของลูกจ้าง หากติดตามโครงสร้างประชากร จะทราบว่าเรากำลังเผชิญปัญหาประชากรลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย ประเทศญี่ปุ่น จีนมีหมด โดยไทย หากพิจารณาตัวเลขประชากรสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า กำลังแรงงานที่อายุ อายุ 15-60 ปี มีอยู่ 42 ล้านคน แต่จากประชากรเกิดน้อยลง อีก 15-16 ปี จะเหลือแรงงานแค่ 36 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ทุกองค์กรกังวล คือ การขาดแคลนคน จึงมองว่า การปรับอัตราขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้ว หากทักษะเพิ่ม ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ น่าจะมีผลกับคน 4 ล้านคน หรือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนขององค์กรบริษัทก็จะมีโครงสร้างค่าจ้างอยู่แล้ว

“หากเมื่อไรก็ตามไม่ว่าค่าจ้างจะเป็นเท่าไร แต่หากคนมีทักษะมีความสามารถก็สูงอยู่ดี ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีผล แต่ในทางกลับกัน หากค่าจ้างสูง แต่คนทักษะน้อยก็มีปัญหาอยู่ดี ดังนั้น รัฐต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายค่าจ้าง นโยบายลดหย่อน แต่ระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะความสามารถของคนคือขององค์กร ของประเทศด้วย” นายบวรนันท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันมีบริษัทหรือธุรกิจในกลุ่มที่มีโครงสร้างค่าจ้างจำนวนเท่าใด นายบวรนันท์กล่าวว่า ตอบได้เลยว่าธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพราะหากไม่มีจะกระทบต่อการรักษาคนอย่างรุนแรง แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ยังไม่มีการสำรวจชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าหากมีการผลักดันหลายแห่งก็จะเริ่มดำเนินการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2561

ธนาคารกรุงไทยลั่นไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่จะเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าธนาคารได้วางแผนระยะยาว 5 ปี เตรียมงบลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือไอที ราว 10,000 ล้านบาท ที่จะเป็นนวัตกรรมที่เสริมให้ธนาคารแข็งแกร่งมากขึ้น โดยปีนี้ธนาคารได้ชะลอการปิดสาขาลง หลังจากปี 2560 ได้ปิดสาขาไปแล้ว 80 สาขา โดยไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่จะเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น หรือโยกพนักงานไปในจุดที่เหมาะสม สาเหตุที่ธนาคารชะลอปิดสาขา เนื่องจากการปิดสาขาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักให้ลูกค้าไปยังคู่แข่ง เห็นได้จากบางธนาคารปิดสาขาลง ทำให้มีลูกค้าย้ายมาสาขาของกรุงไทย ค่อนข้างมาก ดังนั้น การปิดสาขาแต่ละแห่งต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 1,121 สาขา และมีพนักงาน 24,000 คน

ด้านนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังคงสาขาไว้ที่ 80 สาขา จาก 3 ปีก่อนมีสาขาอยู่ 140 สาขา ขณะที่ไม่มีแผนลดจำนวนพนักงาน เนื่องจากธนาคารมีขนาดเล็กแต่ต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มทักษะการดูแลลูกค้า และเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า

ส่วนแผนธุรกิจตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 10% แบ่งเป็นสินเชื่อบ้านเติบโต 10% และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันโต 10% ซึ่งปี 60 สินเชื่อรายย่อยเติบโต 8-9% โดยพอร์ตสินเชื่อคงค้างรายย่อยปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อคงค้างรายย่อยจะเติบโตประมาณ 5-6% ส่วนธุรกิจกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง หรือ Wealth ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีก่อน โดยธนาคารไม่ได้เน้นเพิ่มสินทรัพย์ที่รับบริหาร หรือเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภาคใต้การบริหารจัดการ (AUM) แต่เน้นเพิ่มจำนวนลูกค้า ซึ่งสิ้นปีก่อนมี AUM ที่ 200,000 ล้านบาท และจำนวนลูกค้า 65,000 ราย โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอีก 10,000 ราย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/1/2561

ปรับค่าแรง โรงสีให้พนักงานสมัครใจลาออก จ.นครราชสีมา

ผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากต่างเดินทางไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการนำหลักฐานไปกรอกข้อความสมัครงาน หลังจากรัฐบาลมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 320 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561

ผู้ใช้แรงงาน เล่าว่าหลังจากทำงานเป็นลูกจ้าง ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงมากจึงต้องลาออกและมาสมัครงานใหม่ เพื่อจะรอค่าจ้างที่มีการปรับขึ้นมาใหม่เป็นวันละ 320 บาท ซึ่งรู้สึกดีใจมากกับค่าแรงที่มีการปรับขึ้นมาให้กับแรงงาน

และหลังจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 320 บาท ส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงสีข้าว ซึ่งส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ต้องประกาศให้ลูกจ้าง แจ้งความประสงค์ลาออก โดยความสมัครใจ จำนวน 200 คน ซึ่งจะมีการจ่ายค่าชดเชยตามข้อกฎหมาย เนื่องจากทางโรงสีต้องการลดค่าใช้จ่ายและยอดการสั่งข้าวจากต่างประเทศลดลง แต่ยังไม่พบว่ามีลูกจ้างไปขอยื่นเรื่องจะลาออกโดยความสมัครใจแต่อย่างใด

ทางด้าน นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ทำให้ทราบว่าทางโรงสีข้าว มีนโยบายปรับโครงสร้างโดยการลดจำนวนพนักงานและจะนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทนแรงงาน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา: news.ch7.com, 24/2/2561

รายงาน HRW ชี้ปัญหา 'แรงงานบังคับ-ค้ามนุษย์' ยังไม่หมดจากอุตสาหกรรมประมงไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เผยแพร่รายงานชื่อว่า “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า ซึ่งเป็นการสรุปผลความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานบังคับ

รายงานดังกล่าวถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรป (EU) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรต่ออุตสาหกรรมประมงไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยเคยได้รับ 'ใบเหลือง' จากอียู ซึ่งเป็นคำเตือนว่า ไทยอาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป ในข้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

HRW ระบุว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทย ทั้งยังพบการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูปด้วย

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เป็นผู้หนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ HRW โดยเขาระบุว่า ในสภาพปัจจุบัน สถานการณ์ด้านประมงไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว "ไม่มีการเอาเปรียบแรงงานเหมือนในอดีต ผู้บริโภคในอเมริกา-ยุโรป กินได้เลย อาหารทะเลไทย ตอนนี้ถูกต้องหมดแล้ว เพราะทุกอย่างได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลยุคนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรือถูกต้อง แรงงานถูกต้อง ไม่มีแรงงานบังคับ" นายมงคลกล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานของ HRW พบว่า แม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมไทยจะพยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงอย่างรอบด้าน แต่จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ พบว่าแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน

“ผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ควรจะมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลซึ่งมาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าว “แต่ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างกว้างขวางว่ามีพันธกิจจะสะสางอุตสาหกรรมประมง ปัญหาต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

HRW ทำวิจัยและสัมภาษณ์แรงงานในท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศไทยระหว่างปี 2015-2017 (พ.ศ.2558-2560) รวมทั้งหมด 248 คน เกือบทุกคนมาจากเมียนมาและกัมพูชา และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เจ้าของเรือ ไต้ก๋ง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาคมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติ

เนื้อหาในรายงานของ HRW ระบุว่า รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกกฎหมายประมงฉบับเก่าที่บังคับใช้มานาน และออกระเบียบปฏิบัติใหม่เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมประมง ทั้งยังขยายผลการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานที่สำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงานในเรือประมง ซึ่งในปี 2557 มีการนำเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้ในกฎหมายของไทย รวมทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล มีการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสาร และมีการนับจำนวนลูกเรือขณะที่เรือออกจากฝั่งและกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้าย รวมทั้งกรณีไต้ก๋งสังหารลูกเรือ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดทำระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออกและกลับสู่ท่าเทียบเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเลมาตรการบางอย่าง รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง

อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ มักเน้นที่รูปแบบมากกว่าผลลัพธ์ HRW พบว่า ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) พบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง

ในบางด้าน ถือว่าสถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การขึ้นทะเบียน 'บัตรชมพู' ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2014 เพื่อลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย ทำให้เกิดการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน จึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย จนกลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิเกิดขึ้นเป็นประจำ และขาดการตรวจสอบ เป็นผลจากความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพอใจแค่การตรวจเอกสารที่บริษัทเรือยื่นมาให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

“การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง”

“ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายปลีกในระดับสากลที่ขายอาหารทะเลจากไทย มีบทบาทสำคัญที่ช่วยดูแลให้ยุติการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ” อดัมส์กล่าว

ขณะที่นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของ HRW ประเทศไทย ระบุว่าการละเมิดสิทธิและการบังคับใช้แรงงาน เกิดขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมประมงไทยมานาน ก่อนจะถูกเปิดโปงโดยสื่อตะวันตกหลายสำนักเมื่อปี 2014 ซึ่งอ้างอิงการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมงของไทย ทำให้อียูให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในปี 2015 เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

อียูยังเรียกร้องให้เรือประมงไทยยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งบางกรณีที่ีแรงงานประมงต่างด้าวเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และระบุด้วยว่าไทยควรปฏิรูปเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ส่วนโครงการการค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันประเทศไทยให้รักษาระดับในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 เอาไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับต่ำสุดเพียงขั้นเดียว และต้องติดตามกันต่อไปว่าในปีนี้ สหรัฐฯ จะปรับอันดับให้แก่ประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPS Report หรือไม่

ที่มา: VoiceTV, 23/1/2561

ไทยเสนออิสราเอลปรับปรุงกฎหมายให้นายจ้างหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนให้กับแรงงานมีเงินออมกลับมาไทย

22 ม.ค. 2561 รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม (H.E.Mr.Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย หารือความร่วมมือจ้างแรงงานไทยทำงานในภาคเกษตร แลกเปลี่ยนข้อตกลงให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง ปราศจากระบบนายหน้า กำชับ กรมการจัดหางานปฐมนิเทศเตรียมความพร้อมแรงงานก่อนเดินทางไปทำงานรวมทั้ง ป้องกันยาเสพติด

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม (H.E.Mr.Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านแรงงาน ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลแล้วกว่า 28,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคเกษตร การหารือในวันนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการติดต่อแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจข้อตกลงต่างๆ ระหว่างระบบราชการของทั้งสองประเทศเพื่อให้แรงงานได้งานทำที่ดี ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากรัฐบาลอิสราเอล รวมทั้งเพื่อไม่ให้มีระบบนายหน้าอีกด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ได้เสนอให้รัฐบาลอิสราเอลปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้นายจ้างหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนให้กับแรงงาน เมื่อแรงงานสิ้นสุดสภาพการจ้างแล้วก็จะมีเงินออมกลับมา ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระหว่างไทยและอิสราเอล ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้พูดคุยหารือประเด็นด้านแรงงานให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานได้กำชับให้กรมการจัดหางานปฐมนิเทศให้ความรู้แก่แรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศตลอดจนเน้นย้ำกรณียาเสพติดอย่างเข้มงวด

การหารือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและทางการอิสราเอล ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงแรงงานจะได้สร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจ้างงาน (TIC Project) การดำเนินงานตามความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและอิสราเอล ซึ่งนอกจากจะกระชับความร่วมมือโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทั้งสองประเทศให้แน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้นแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานร่วมกันให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ที่มา: กระแรงแรงงาน, 23/1/2561

การบินไทยปัดข่าวมีพนักงานเบิกโอทีวันละ 24 ชม. ต่อเนื่อง 30 วัน

รักษาการดีดีการบินไทยยืนยันบริษัทไม่จ่ายค่าโอทีพนักงานสูงเกินมาตรฐานสากล ย้ำข่าวพนักงานเบิกโอทีวันละ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน ไม่เป็นความจริง แจงปีรายจ่ายโอทีสูงกว่าปีก่อน เหตุจากมีเครื่องบินเพิ่มเที่ยวบินเยอะ ซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น 5%

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีสื่อบางแห่งนำเสนอข่าว ว่าพนักงานบางส่วนปฏิบัติงานล่วงเวลา จนมีค่าล่วงเวลา (โอที) สูงเกินจริงคือวันละ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งบริษัทฯ ได้ตรวจสอบและขอยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยในปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเบิกค่าล่วงเวลาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานภายใต้แผนปฏิรูปองค์กร โดยมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายกับทุกฝ่ายของบริษัทฯ เพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจการบิน

อย่างไรก็ตาม ค่าล่วงเวลาในการทำงานของพนักงานในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 แต่เป็นไปตามการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบริษัทฯ มีจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น มีการใช้งานเครื่องบินมากขึ้นทำให้เกิดความถี่ในการซ่อมบำรุง และมีจำนวนสายการบินลูกค้าที่ใช้บริการการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตระหนักดีถึงความห่วงใยของภาครัฐ และฝ่ายบริหารไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการกำกับดูแลการทำงานล่วงเวลาของพนักงานอย่างเคร่งครัด ให้มีเวลาปฏิบัติงานปกติและเวลาปฏิบัติงานล่วงเวลารวมกันไม่เกินกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนด เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

ที่มา: VoiceTV, 23/1/2561

สมานฉันทร์แรงงานไทยขอนายกทบทวนมติปรับค่าจ้าง ยื่น 3 ข้อเรียกร้องปรับเท่ากันทั่วประเทศ

23 ม.ค. 2561 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งก.พ. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท.และ น.ส. ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. พร้อมสมาชิกประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามหลักสากลและเท่ากันทั่วประเทศ

โดยน.ส.ธนพร กล่าวว่า คสรท. ขอประกาศจุดยืนเดิมและเรียกร้องต่อนายกฯ และรัฐมนตรี 4 ข้อ คือ 1.ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล ให้เลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 3.ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบครองคลุมทุกภาคส่วน และ 4.ให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง ทั้งนี้ หากรัฐบาล และกระทรวงแรงงานไม่ยอมทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ เราจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป

ด้านนายชาลี กล่าวว่า เราต้องการให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ พบว่าอนุกรรมการบางจังหวัด ไม่มีตัวแทนลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เสนอเข้ามาส่วนกลาง มาจากนายจ้างฝ่ายเดียว และบอร์ดค่าจ้างพิจารณาค่าจ้าง โดยไม่มีการนำข้อมูลจากอนุกรรมการฯ มาพิจารณา เพราะมีธงของนายจ้างและรัฐบาลอยู่แล้ว ตัวเลขจึงไม่ตรงกับที่อนุกรรมการฯ แต่ละจังหวัดเสนอมา จึงมองว่าเป็นการใช้อนุกรรมการฯ เพื่ออ้างอิงปรับค่าจ้างเท่านั้น

นายชาลี กล่าวว่า จากที่เสนอให้บอร์ดค่าจ้าง เพิ่มคณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ หรือนักเศรษฐศาสตร์สังคมจะได้ครอบคลุมทุกด้าน ประเด็นสำคัญที่รับไม่ได้คือ การลดภาษีให้กลุ่มทุน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม 1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อยากให้ รมว.แรงงานหรือปลัดกระทรวงแรงงาน ทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมครม. พิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง

ที่มา: ข่าวสด, 23/1/2561

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ร้องทบทวนอัตราค่าจ้างปี 2561

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติเห็นชอบ โดยขอเสนอให้รัฐบาลมีการทบทวน มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ที่เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ที่ 5-22 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้นอยู่ที่ 1.64-7.14% ซึ่งมองว่าเป็นอัตราไม่สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ โดยต้องการให้พิจารณาตามความเป็นจริงและตามหลักกฎหมาย อย่างไรก็ดี ผลของมติ กกร. ครั้งนี้จะเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางมีมติออกมานั้น ได้มีการสอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกของ กกร. ที่เกี่ยวข้องทั้วงหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 92% การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินกว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณา และยังพบว่า 38 จังหวัดไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ระยอง นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น และ 28 จังหวัดที่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าจ้าง และ 11 จังหวัดที่ไม่ได้ออกความเห็นเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี กกร. ได้รวบรวมความเห็นจากสมาชิกในแต่ละจังหวัดและมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อต่อผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 คือ 1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560 2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน 5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด

6. ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เป็นอย่างยิ่งจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน 7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างแรงงานต้องการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม เศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ เพราะจะรู้ข้อเท็จรริงมากกว่า และให้พิจารณาภายใต้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและเป็นไปตาม พรบ. ด้วย และการพิจารณาค่าจ้างที่เกิดขึ้นนั้น สูงเกินไปทั้งที่บางจังหวัดไม่มีภาคอุตสาหกรรม หรือมีแค่ภาคเกษตร เช่น อุตรดิตถ์ เลย ยโสธร พะเยา เป็นต้น หรือจังหวัดระนองที่มีการปรับค่าจ้างแรงงานถึง 10 บาท แต่มีแรงงานที่เป็นคนไทยไม่ถึง 10%

อีกทั้ง บางจังหวัดที่ไม่ต้องการให้ปรับขึ้น เช่น ระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ 308 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราเดิมของปี2560 แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 2561กำหนดให้ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากและเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเอง และนอกจากนี้ ก็มองว่าหลายจังหวัดการพิจารณาไม่ได้สอดคล้องตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และหากยับงดำเนินการเป็นอย่างนี้เชื่อว่าแรงงานจะตกงานมากขึ้น

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะมองว่าบางจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งที่ขนาดของจังหวัดต่างกันมาก เช่น เชียงใหม่ ตราด เป็นต้น ซึ่งเห็นสมควรที่พิจารณาในอัตราเท่ากันหรือไม่ และระยอง ปรับขึ้นเนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่การลงทุน EEC และนั้นเป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีและยังมีภาคเกษตรอยู่เยอะ ส่วนจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะหรือไม่นั้น ก็ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมแม้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานมีเพียงพอก็ไม่กระทบแต่อย่างไร อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมก็มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนเป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงาน ซึ่งประเทศไทยขาดแรงงานทักษาะมาก และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งแรงงานและอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขัน พร้อมในอนาคต้องการให้อัตราค่าจ้างแรงงานนั้นลอยตัวเป็นไปตามกลไกและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกดค่าจ้างและประสิทธิภาพต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/1/2561

โรงสีโคราชชี้แจงจำเป็นปลดคน ใช้เครื่องจักรทดแทน

โรงสีข้าวเจียเม้ง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงสีที่ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่สุดในอาเซียน ยอมรับเลิกจ้างพนักงานประจำ 200 คนจริง เนื่องจากต้องการนำเครื่องจักรมาทดแทน

นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางาน จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ฝ่ายบุคคลของโรงสีเจียเม้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ยืนยันว่าให้พนักงานประจำกว่า 200 คน ยื่นความจำประสงค์ลาออกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2561 เนื่องจากต้องการนำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามาแทน โดยจะจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

แรงงานที่เป็นลูกจ้างซึ่งมีมากถึง 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวและเป็นการจ้างตามฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งในวันนี้ (23 ม.ค.2561) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่สอบถามข้อมูล และให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกเลิกจ้าง

ขณะที่แรงงานบางส่วนเชื่อว่า สาเหตุที่เลิกจ้าง เนื่องจากคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศลดลง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย จ.นครราชสีมา ปรับขึ้นเป็นวันละ 320 บาท

ที่มา: ThaiPBS, 23/1/2561

กรมการจัดหางานประกาศยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานในประเทศ 3 แห่ง

กรมการจัดหางาน แจ้งยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 3 แห่ง หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับบริษัทจัดหางานและสำนักงานจัดหางานดังกล่าว ให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางภายใน 30 วัน

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลาง แจ้งว่า กรมการจัดหางานได้ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 3 แห่ง คือ 1.สำนักงานจัดหางาน ไทย จ๊อบ โปร ใบอนุญาตเลขที่ น.1611/2560 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 1/99 ซอยท่าข้าม 7 ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป 2.บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ บางนา จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1454/2557 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 909 อาคารแอมเพิลทาวเวอร์ ชั้นที่ 4 ห้องเลขที่ 4/6 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป 3.บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ พหลโยธิน จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.581/2533 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 979/72-74 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้นที่ 25 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการจัดหางานของบริษัทจัดหางานและสำนักงานจัดหางานดังกล่าว ให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางทราบภายใน 30 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายอนุรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า ควรตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางานก่อนจะตัดสินใจสมัครงาน และขอให้ติดต่อกับบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์/แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-248-4792 หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 23/1/2561

สปส.เพิ่มสิทธิเยียวยาเบื้องต้น จ่ายสูงสุด 4 แสนบาท

ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผลักดันในการแก้พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2558 โดยแก้ไขในมาตรา 53 ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้

โดย นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งนพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าวและยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใดๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่าให้มีผลย้อนหลังด้วย

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41 ของบัตรทองเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000 – 400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 – 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งกฎหมายนี้ผู้ประกันตน 13 ล้านคนจะได้สิทธิเท่าเทียมกับผู้ป่วยบัตรทอง ขณะนี้จึงเหลือเพียงสิทธิข้าราชการที่มีเพียง 5,000,000 คน เท่านั้นที่ยังไม่มีสิทธิตรงนี้

ที่มา: TNN24, 22/1/2561

ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้า 3 ปี ลดพนักงาน 12,000 คน และลดสาขาเหลือ 400 จาก 1,153 สาขา


นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในอีกภายใน 3 ปีข้างหน้า ธนาคารวางแผน จะลดจำนวนสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 1,100 สาขา ให้เหลือ 400 สาขา และให้จำนวนพนักงานเฉลี่ยแต่ละสาขาอยู่ที่ 10-12 คน หรือ ลดลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานของธนาคารจากปัจจุบัน 27,000 คน ลดลงเหลือ 15,000 คน หรือ ลดลง 12,000 คน ใน 3 ปี เนื่องจากการเข้าใช้บริการของคนผ่านสาขาลดลง

ทั้งนี้การลดจำนวนพนักงานดังกล่าวจะไม่ให้พนักงานออก หรือ layoff ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับพนักงานแล้วว่าจะเกิดขึ้น ใน 3 ปีจากนี้ โดยธนาคารมี เอสซีบี อคาเดมี่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ ให้พนักงานซึ่งปีที่ผ่านมา มีพนักงานออกจากสาขาแล้ว 2,000 คน ไปทำหน้าที่บริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าธนาคารแทน ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนของธนาคาร

ที่มา: morning-news.bectero.com, 22/1/2561

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกับซีพีเอฟ เดินหน้าจัดอบรมพนักงานเพิ่มความรู้สิทธิแรงงาน

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานตามกฏหมายให้กับแรงงานทุกเชื้อชาติของบริษัท ทั้ง 3 ภาษา คือไทย เมียนมา และกัมพูชา เพื่อให้แรงงานทุกคนได้ตระหนักรู้สิทธิของแรงงานมากขึ้น และร่วมแสดงข้อเสนอแนะ ร้องเรียนประเด็นด้านสิทธิแรงงาน และด้านอื่นๆ พร้อมทั้ง เปิดตัว ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น (Labour voices by LPN) ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิแอลพีเอ็น เปิดเผยว่า แอลพีเอ็น ได้ร่วมมือกับซีพีเอฟ จัดอบรม “สิทธิลูกจ้าง” ให้กับพนักงานแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติในโรงงานและสถานประกอบการของซีพีเอฟ โดยเริ่มจัดอบรมแรงงานต่างชาติของโรงงานแปรรูปอาหารมีนบุรีเป็นแห่งแรก มีเป้าหมายส่งเสริมให้พนักงานแรงงานซีพีเอฟทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงสิทธิแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งแนะนำให้แรงงานทุกคนได้รู้จัก “ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น” ที่มูลนิธิ แอลพีเอ็น และซีพีเอฟได้ร่วมกันจัดตั้งในปลายปี 2560 ที่ผ่านมา โดยการอบรมจะช่วยให้แรงงานทุกคนได้รับรู้บทบาทของศูนย์ฯ และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้บริการจากศูนย์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

“การจัดอบรมเรื่องสิทธิลูกจ้างตามกฏหมาย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้พนักงานระดับแรงงานในอุตสาหกรรมได้รับรู้สิทธิของตนเอง ตามกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ มีส่วนช่วยให้แรงงานทุกคนทำงานกับบริษัทด้วยความเชื่อมั่น และยังเป็นกระตุ้นให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากช่องทาง “ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น” เพื่อแจ้งเหตุ ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะได้” นายสมพงศ์กล่าว

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า การอบรมสิทธิลูกจ้าง ด้านแรงงานแก่พนักงานระดับแรงงานของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการส่งเสริมสิทธิแรงงานให้แก่พนักงานทุกคนได้มีความรู้และเข้าใจในสิทธิของลูกจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งตามกฎหมาย และที่บริษัทจัดเป็นสวัสดิการให้ และในการอบรมนี้เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องหลังจากที่ซีพีเอฟได้เปิด ศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิ แอลพีเอ็น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับฟังเรื่องแจ้งเหตุ ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะของพนักงานสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย กัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ เพื่อรองรับพนักงานซีพีเอฟทุกเชื้อชาติ

“กิจกรรมจัดอบรมสิทธิแรงงาน และการเปิดศูนย์เลเบอร์ว้อยซ์ โดย แอลพีเอ็น เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่บริษัทดำเนินงานตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ ที่มุ่งหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคนของซีพีเอฟให้ดียิ่งขึ้น” นายปริโสทัตกล่าว

การจัดอบรมครั้งแรกตามโครงการความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานระหว่างซีพีเอฟ และมูลนิธิแอลพีเอ็น ได้เริ่มจัดขึ้นที่โรงงานแปรรูปอาหารมีนบุรี เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีพนักงานแรงงานคนไทยและต่างชาติร่วมเข้าการอบรมแล้วจำนวน 300 คน และซีพีเอฟจะดำเนินการอบรมอย่างต่อเนื่องให้แก่แรงงานทุกคน ครบทุกสถานประกอบการทั่วประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/1/2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.