Posted: 25 Jan 2018 09:11 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์/เรียบเรียง
นับถอยหลัง 3 วันก่อนอ่านคำพิพากษา คุยกับ ‘รัษฎา มนูรัษฎา’ ทนายความ ‘คดี 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันแจกจ่ายสติกเกอร์โหวตโน ขัด พ.ร.บ.ประชามติ’ ทนายแจงข้อความไม่บิดเบือน ปมนายกฯ คนนอก และ ส.ว.ลากตั้งคือ “อนาคตที่เราไม่ได้เลือก” ชี้ผลตัดสินจะสะท้อนความเข้าใจการเมือง-สิทธิเสรีภาพของกระบวนการยุติธรรม
อีก 3 วันจะเป็นวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ 4 นักกิจกรรม รวมทั้ง 1 ผู้สื่อข่าวจากประชาไท ถูกกล่าวหาว่าละเมิด พ.ร.บ.ประชามติ จากกรณีนักกิจกรรมเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านและผู้สื่อข่าวไปทำข่าวที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ 10 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา
ทั้ง 5 ถูกดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พ.ศ. 2549 ที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ
การดำเนินคดีล่วงเลยยาวนานเป็นเวลา 1 ปีกว่า และก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 ม.ค. นี้ ประชาไทคุยกับ รัษฎา มนูรัษฎา หนึ่งในทนายความคดีดังกล่าวเพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่โต้แย้งกันในชั้นศาลในช่วงการสืบพยานที่ผ่านมา รวมถึงชวนผู้อ่านติดตามคำพิพากษาว่ากระบวนการยุติธรรมจะมอบอะไรให้กับจำเลยทั้ง 5 ซึ่งจะสะท้อนถึงฐานคิดและความเข้าใจของกระบวนการยุติธรรมต่อประเด็นสิทธิ เสรีภาพ การเมือง และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
ประชาไท: มีประเด็นอะไรบ้างในคดีประชามตินี้
รัษฎา: เขาฟ้องกล่าวหาว่า [จำเลย] ผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เขาฟ้องว่าสติกเกอร์ที่เขายึดได้มันผิดกฎหมาย ทีนี้ ข้อความในสติกเกอร์มันเป็นข้อความเชิงรณรงค์นะ “โน” คือ “โหวตโน” คือออกเสียงลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีคำว่า “อนาคตที่เราไม่ได้เลือก” เขาฟ้องว่าข้อความอย่างนี้ผิดต่อร่าง พ.ร.บ. เราก็สู้ว่ามันไม่ผิด เราตั้งประเด็นสู้คดีด้วยการเอาหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพราะตอนนั้นรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังไม่ประกาศใช้ ก็จะมีมาตรา 4 เรื่องของสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ดังนั้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมันก็เป็นเสรีภาพใช่ไหม รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 กำหนดว่าบุคคลมีสิทธิ เสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงออก จะไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพนี้ไม่ได้
นอกจากนั้น ในมาตรา 4 ยังพูดถึงด้วยว่า พันธกรณีที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับนานาอารยประเทศ เช่น อนุสัญญาต่างๆ ที่ทำกับสหประชาชาติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็รับรองอยู่ เรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ซึ่งในข้อบทของอนุสัญญาก็มีเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ด้วย ดังนั้น ข้อกฎหมายที่เรายกขึ้นมาสู้คือรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา มันมีวัฒนธรรมประเพณีที่ว่า ถ้าไม่มีกฎหมายใดก็ให้ยึดถือประเพณีการปกครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ก็ดี ล้วนรับรองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้ เราก็เอาหลักเหล่านี้มาเป็นข้อกฎหมายต่อสู้ แล้วข้อเท็จจริงเราก็สู้ว่า ข้อความในสติกเกอร์ไม่ได้บิดเบือนและไม่ได้เป็นเท็จ เพราะในสติกเกอร์ที่ระบุว่า 7 สิงหาคม โหวตโน ไม่รับอนาคตที่ไม่ได้เลือก และวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็มีการลงประชามติจริง
ส่วนอนาคตที่ไม่ได้เลือกคือ ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มันมีเรื่องนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คืออนาคตที่ประชาชนออกเสียงเลือก ส.ส. คนใดคนหนึ่งมาแล้วมีคนอื่นมาเป็นนายกฯ แล้วยังมีเรื่องวุฒิสมาชิก ในร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง ซึ่งมันกลับกันกับหลักประชาธิปไตย ที่ผ่านมาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เราได้มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ก็ตาม ไม่รู้จะเอาใครมาเป็น ส.ว. บ้าง อาจจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทรงความรู้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ตรงกับข้อความในสติกเกอร์ว่าเป็นอนาคตที่เราไม่ได้เลือก
ทีนี้วุฒิสมาชิกมีหน้าที่สำคัญคือการกลั่นกรองกฎหมาย แล้วถ้าเอาคนที่แต่งตั้งมา กฎหมายที่สำคัญที่จะบังคับใช้ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่ได้เรื่องราว จำกัดสิทธิ เสรีภาพแต่อยากให้ผ่านมันก็ถูกบังคับใช้ มันก็เกิดความเสียหาย คณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มองออกเลยว่าเป็นการวางฐานอำนาจไว้เพื่อจะให้คนของตนเองเข้ามาอยู่ในรัฐสภา แล้วเวลาประชุมร่วมรัฐสภาก็ต้องประชุมร่วมกับ ส.ส. ก็จะมีสิทธิ์ เสียงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาออกเสียงโหวต มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน
ชวนดูเส้นทาง-นัยสำคัญคดีประชามติ 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าวก่อนตัดสิน 29 ม.ค.
สมชัย ศรีสุทธิยากร: อ่านการเมือง จากประชามติ 7 สิงหาถึงการเลือกตั้ง (ที่ถูกเลื่อน)
แล้วกรณีที่จำเลยไม่พิมพ์ลายนื้วมือเป็นอย่างไร
เรื่องไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ มันมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่บัญญัติขึ้นมาแล้วยังไม่ยกเลิก เวลาคุณเป็นผู้ต้องหาแล้วไม่พิมพ์ลายนิ้วมือหรือลายเท้าก็ถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน มันก็เถียงยาก แต่ว่าเราประชุมคณะทำงานแล้วเห็นว่า เราใช้วิธีให้การใหม่ด้วยการสารภาพไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่เราก็นำสืบให้ศาลเห็นว่า บทลงโทษมันสูงเกินส่วน เพราะว่าข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่เดิมเป็นบทบัญญัติลหุโทษ ซึ่งโทษเดิมเป็นการปรับ แต่พอใช้อัตราโทษของ คปค. แล้วอัตราโทษมันสูงกว่า เราก็เอาพยานที่เป็นนักวิชาการที่เป็นนักกฎหมายมาเบิกความให้เห็นว่า อัตราโทษที่กำหนดไม่ได้สัดส่วนกับสิ่งที่มันควรจะเป็น
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมาย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2549
คิดว่าคดีีนี้มีความสำคัญอย่างไร
เรื่องของสิทธิ เสรีภาพเป็นหลักใหญ่ที่มนุษย์ควรจะมี การแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ถ้าประชาชนพูดอะไรไม่ได้ ก็จะเป็นรัฐบาลที่ปิดหูปิดตา ไม่ฟังเสียงประชาชนว่าเขาเดือดร้อนเรื่องนี้เรื่องนั้น ประเทศจะเจริญได้อย่างไร
ถ้าประชาชนแสดงความเห็นแล้วสื่อไปนำเสนอ มันก็สะท้อนไปยังผู้บริหารประเทศเพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง หรือที่เขาแสดงความเห็นโต้แย้ง ถ้าไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ มันก็ถอยหลังเข้าคลอง
ผลการตัดสินที่จะออกมาในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จะสะท้อนอะไรไหม
พวกเขาออกมาเรียกร้องว่าเขาเป็นห่วงบ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมามีปัญหา อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญนะ ถ้าผลตัดสินออกมาดีก็แปลว่ากระบวนการยุติธรรมและบุคลากรบางคนยังเข้าใจการเมือง และเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของสิทธิ เสรีภาพ แต่ถ้าออกมาไม่ดี กลายเป็นว่าการที่พวกเขาออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ผิดกฎหมาย แล้วก็ลงโทษเขา จำคุกเขา มันก็สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรในกระทรวงยุติธรรมเข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน และเรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด แต่จะตัดสินอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่คนตัดสิน แต่มันจะสะท้อนอะไรให้เห็นก็ต้องมาดู วิเคราะห์ วิจารณ์คำพิพากษาอีกที
เมื่อถามว่า ผลคดีออกมาแค่ไหนถึงจะดี รัษฎาตอบว่า “เรามีการรับสารภาพข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ดังนั้นมันมีความผิดอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องผิด แต่ว่าความผิดเล็กน้อยแล้วจะไปจำคุกพวกเขาเหรอ เราจะเอาคนไปอยู่ในบังคับของรัฐ เอาเขาไปใส่เรือนจำก็ต้องดูว่ามันเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ถ้าคนที่พูดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพถูกตัดสินจำคุก ไม่รอลงอาญา แบบนี้ก็น่าเป็นห่วง”[full-post]
แสดงความคิดเห็น