Posted: 25 Jan 2018 08:11 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ระบบการศึกษาอเมริกันเชื่อมานานแล้วว่า นักเรียนหรือผู้เรียนส่วนหนึ่งถูกครอบโดยผู้สอนหรืออาจารย์ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อแนวนี้ คงจะนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดพิสดารอย่างยิ่งในระบบการศึกษาไทยที่ดำรงอยู่ภายใต้ความย้อนแย้ง ไร้ระบบ มายาวนาน


เช่น เราต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องใกล้ตัว (ท้องถิ่น) เรื่องไกลตัว ให้นักเรียน กล้าคิด กล้าแสดงออก แต่ชีวิตของเราดำรงอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการยาวนานกว่าบอบประชาธิปไตย เราพูดถึงนวัตกรรมแนวส่งเสริม แต่เราปฏิเสธ หรือรับไม่ได้กับการแสดงความเห็นหรือการทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น

นักเรียนที่กล้าแสดงออกจากความคิดที่แตกต่างจากครูหรือเพื่อนร่วมชั้น มักเป็นเด็กมีปัญหาในโรงเรียน ในสังคม หรือแม้แต่กับรัฐบาล ถูกกีดกันถึงขนาดไม่ยอมให้ร่วมกิจกรรมในโรงเรียน ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเรากลัวความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างจากผู้มีอำนาจในโรงเรียนซึ่งก็คือ ครู

เทียบกันไม่ได้เลยกับสังคมอเมริกันที่ดูเหมือนทั้งเด็กและผู้ใหญ่แข่งกันที่จะเป็นผู้ที่มีความคิดหรือใช้ชีวิตแตกต่างในโรงเรียนและในสังคม ผู้ที่มีความแตกต่างดังกล่าวรู้สึกว่า เขาเป็นใครคนหนึ่ง ทำนองว่า เป็นผู้มีทื่ยืนในสังคม หากแต่ในสังคมไทย กลับไม่ใช่

ยิ่งในสถาบันการศึกษาด้วยแล้ว นับเป็นความลำบากอย่างยิ่งยวดของผู้เรียนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะแทนที่เด็กเหล่านี้จะได้รับการส่งเสริม กลับถูกทารุณกรรมซ้ำ ด้วยการเหยียบย่ำจากครูอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ว่าไปแล้วระบบการศึกษาของไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา แทบไม่ต่างไปจากช่วงเวลาของระบอบการปกครองส่วนใหญ่ของไทย คือ เผด็จการ และมันก็คือ เผด็จการในห้องเรียน

แน่นอนว่า การประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนต้องอาศัยตัวชี้วัดหรือคุณสมบัติของผู้เรียน ตัวชี้วัดดังกล่าว ไม่ได้เป็นแบบเปิด คือจะออกมาอย่างไรก็ได้ หากแต่เป็นตัวชี้วัดแบบปิด คือขึ้นกับอำเภอใจของครูหรือตัวแทนของ สมศ. แต่ตัวชี้วัดที่มุ่งปรนัยกันมาหลายทศวรรษ ได้ทำให้คุณสมบัติของนักเรียนไทยด้อยและถูกพัฒนาได้ช้ากว่านักเรียนของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ดังที่เมื่อมีการแสดงผลออกมาแทบทุกครั้ง ผลการศึกษาของนักเรียนตกอยู่ในอันดับรั้งท้ายแทบทุกครั้ง

นี่ยังไม่รวมถึงการทุจริต ในการสอบ ที่ทำกันอย่างเป็นประเพณี หรือเป็นวัฒนธรรมไปแล้วในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ยันอุดมศึกษา โดยมีครูผู้สอนร่วมมือทุจริตด้วย โดยนับนี้ ผลการเรียนหรือคะแนนจึงแทบไม่มีผลอะไรนักต่อการประเมินคุณภาพของการศึกษาไทย
การทุจริตดังกล่าวได้ลามไปถึงสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยบางสถาบันด้วยซ้ำ ไม่เชื่อลองถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบดูก็ได้

ในยุค 4.0 ดูเหมือนการเรียนการสอนที่ให้ครูอาจารย์ เป็นใหญ่เหนือผู้เรียนไปเสียหมด จะใช้ไม่ได้เสมอไป ขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารและการค้นคว้าพัฒนามากขึ้น โดยที่สุดแล้ว หากผลผลิตของผู้สอนออกมาเหมือนผู้สอน ไม่ต่างอะไรจากที่สิ่งที่ผู้สอนให้ ก็อย่าได้ไปคาดหวังถึงนวัตกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสายสังคมหรือวิทยาศาสตร์

ในแง่ปรัชญาการศึกษานั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกมีผู้กล่าวถึงความสำคัญของผู้เรียนไว้ก่อนหน้านี้ หลายปีมาแล้ว อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ไง ท่านกล่าวไว้นานแล้วว่า “การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียนและจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจารย์หรือครูผู้สอนก็มีความสำคัญ หากแต่การที่จะให้สังคม ได้เดินไปแบบก้าวหน้าในแบบที่เราสามารถอยู่ร่วมโลกกับสังคมประเทศอื่นได้อย่างทัดเทียมนั้น มิใช่ศูนย์กลางยังอยู่ที่ครู แต่ศูนย์กลางต้องอยู่ที่เด็กนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า “ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้” แต่มันอาจไม่เป็นไปแบบที่เราคาดหวัง แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องผิดหวัง ความจริงที่เราผิดหวัง เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังใจเรา เราตัดสินใจแทนเด็กหรือผู้เรียนตลอดเวลา เราไม่เคยไว้ใจพวกเขา ได้แต่คาดหวังว่านักเรียนต้องคิดแบบเดียวกับเรา ขณะที่เราเองไม่เคยเชื่อต่อความหลากหลายหลายในสังคมเลย เราอยู่กับเผด็จการมาจนชินและติดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งผู้ที่เป็นครูอาจารย์ด้วยแล้ว อาการอาจหนักกว่าผู้เรียนเอาด้วยซ้ำ นอกจากอคติแล้ว การพยายามยัดเยียดความเชื่อส่วนบุคคลใส่หัวเด็ก มองว่าเด็กที่ไม่เชื่อเหมือนที่ครูเชื่อคือเด็กที่มีปฏิกิริยา ถ้าครูมีอาการที่ว่านี้ การศึกษาก็นับว่าประสบกับความล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มการเรียนการสอน

โลก 4.0 นั้น ถือเอาความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ซิลิคอนวัลเลย์เกิดและเจริญเติบโตขึ้นได้ เพราะความหลากหลายนี่เอง เรื่องความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเรื่องพื้นๆ นับประสาอะไรกับการยอมรับความคิดที่แตกต่างกันของผู้คนหลากหลาย

ผมจำไม่ได้แล้วว่า สถาบันการศึกษาไหนในประเทศตะวันตกเคยทำการทดลองวิจัยเกี่ยวกับทักษะการแก้ไขปัญหา (โจทย์) ของคนชาติต่างๆ และพบว่า คนอเมริกันแก้ปัญหาจากการมีทักษะการพูดที่ดีเยี่ยม คือพูดไปพลาง เห็นทางแก้ปัญหาจากการพูดหรือการสนทนา ขณะชาติตะวันออก อย่างญี่ปุ่น กลับใช้การแก้ไขปัญหาโดยการไม่พูด นัยว่าเป็นการคิดที่ลึกซึ้งขบปัญหาเยี่ยงวิถีบูรพา

โลกวัตถุ 4.0 แม้เราจะพิสูจน์ได้ถึงพลังจิตตานุภาพ แต่อย่างไรเสีย หลักฐานเชิงประจักษ์ ก็ถูกนำมาอ้างเป็นลำดับแรกเสมอ การพูดหรือการแสดงออกทางวาจาจึงถูกยอมรับได้ง่ายในโลกประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนมากที่สุดในบรรดาประเภทการสื่อสารทั้งหมดประดามี และเป็นที่มาของ Freedom of Speech หลักการที่โลกเผด็จการผิดหวัง

แต่ก่อนที่ Freedom of Speech จะเกิดขึ้นได้ หลายคนอาจลืมฐานที่มาสำคัญของหลักการนี้ ซึ่งก็คือ Freedom of Education สังคมปิด โรงเรียนปิด ห้องเรียนปิด ไม่อาจสร้างสังคมอุดมปัญญา ที่เสรีภาพในการพูด คือ แนวทางในการแก้ปัญหาสังคม ไล่ตั้งแต่ปัญหาครอบครัวยันปัญหาสังคมระดับชาติ สังคมอเมริกันได้พิสูจน์มาแล้ว ไม่มากก็น้อย

ยังไม่รวมนวัตกรรม อีกมากมายที่ทยอยเกิดตาม จากการมี Freedom of Speech ต่อเนื่องจากการมีเสรีภาพทางการศึกษา ชนิดที่ห้องเรียน โรงเรียน หรือแม้แต่อินเตอร์เน็ตในโรงเรียน ไม่สามารถมีให้ได้...


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: การศึกษาเพื่อเสรีภาพ (1)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.