People GO network
We walk เสวนา ปักหมุดที่สี่แสนเก้า: รัฐสวัสดิการ และหลักประกันสุขภาพ เป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพการคิด พูด เขียน
วันนี้ (27 มกราคม 2561) เป็นการเดินทางครบหนึ่งสัปดาห์ของกลุ่ม People Go Network ในกิจกรรม "We walk…เดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต" พวกเราหยุดพักปักหลักที่จังหวัดนครราชสีมา ช่วงเวลานี้นอกจากการพักผ่อนร่างกายและผ่อนคลายจิตใจจากเป้าหมายก้าวเดินสู่จังหวัดขอนแก่นแล้ว เรายังจัดเวทีเสวนาพูดถึงประเด็นหลักของกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้บริเวณบ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในกลุ่มเราจัดเสวนา “บัตรทองสิทธิขั้นพื้นฐาน เบิกทางสู่รัฐสวัสดิการ”
ท่ามบรรยากาศเบาสบาย วงเสวนาเริ่มจาก ไผ่ นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ เริ่มเล่าแบบรวบรัดถึง ระบบสวัสดิการโดยรัฐมี 4 ประเภท
ประเภทแรก เช่น การวิ่งของพี่ตูน คือ เมื่อเงินไม่พอก็ใช้วิธีบริจาค เอาเข้าจริงๆ เงินมันก็ไม่ได้พอ รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องนี้ ความสำคัญไม่ได้ถูกจัดวางมากนัก รัฐบาลไปจัดเรื่องอาวุธเพิ่มขึ้นสูงมาก แถมยังบอนไซ(ลดทอน) สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสาธารณสุขของประชาชน
“การบริจาคไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไผ่พูดไว้ตอนหนึ่ง
ประเภทที่สอง คือ ไปโรงพยาบาลเอกชน มีประกันชีวิต เป็นไปตามระบบทุนระบบตลาด ให้เอกชนจัดการเอง ประเภทที่สาม การจัดสวัสดิการแบบบัตรทองเป็นเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ประเภทสุดท้าย เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม คือ จัดสวัสดิการให้คนบางกลุ่มแบบสังคมสงเคราะห์
การทำแต่ละวิธีจะสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกวันนี้ตรงข้ามกับจัดสวัสดิการประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า เป็นลักษณะแบบสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่ถดถอยมาก ในสังคมไทย
ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นช่องว่างที่ห่างกันเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีการโยงไปถึงเรื่องบัตรอนาถา ซึ่งค่อนข้างถดถอยมาก
ส่วนข้อสังเกตที่รัฐบาลนี้พยายามจำกัดเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องแรก คือ การให้มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ #บัตรคนจน เป็นสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ เรื่องที่สอง ความพยายามที่จะบอนไซ(ลดทอน) ระบบประกันสุขภาพ นำเอา #บัตรทอง มาลดรูปลงไปเหลือเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อันที่สาม การแก้ไขเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนยังไม่เป็นที่พอใจนัก เพราะจ่ายไปเยอะ จ่ายไปหลายกองทุน
อย่างที่สี่ คือ สวัสดิการข้าราชการที่เยอะกว่าสิทธิของพลเมืองทั่วไป
และอย่างที่ห้า การยกเลิกสาธารณูปโภค เช่น รถไฟฟรี และสุดท้ายการเรียนฟรีและโอกาสการเข้าถึงการศึกษา
นิติรัตย์ ทิ้งท้ายว่า #รัฐสวัสดิการ ไม่สามารถสร้างได้จากรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ส่วนข้อโต้แย้งที่บอกว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจ ฟังไม่ขึ้น เพราะประเด็นหลักอยู่ที่รัฐต้องทำให้คนไม่ต้องกังวลเวลาเจ็บป่วย และควรเอาเวลาเหล่านั้นไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ
มีนา ดวงราษี กลุ่มคนรักประกันสุขภาพจังหวัดสุรินทร์ ขยายความว่า จากงานวิจัยศึกษาระบุว่า ถ้าไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพจะมีคนล้มละลายไปกว่าแสนครอบครัว มีสองสามประเด็นที่ทำให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพมีความเป็นรัฐสวัสดิการ เริ่มจากกฎหมายฉบับนี้สร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด ผ่านการคุยจากหลายแวดวง ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการผลิตงานวิชาการมารองรับ และการเคลื่อนไหวทางสังคม
พอมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายทำให้เกิดมาตราที่ว่า “รัฐต้องจัดสรรสวัสดิการการดูแลหลักประกันสุขภาพทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย”
มีนา เล่าถึงที่มาของระบบบัตรทองเริ่มจากกลุ่มแพทย์ชนบทที่มองเห็นปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของคนไทย ขอทุนศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์สุขภาพจากยุโรป กระทั่งเกิดเป็นการผลักดันร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเจตนาที่ค่อนข้างชัดเจน คือ ให้สวัสดิการทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีคุณภาพ มีความโปร่งใส ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันมองช่วยกันดู ทำให้ระบบประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อภาคประชาสังคมสามารถช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบได้ จากเดิมเป็นผู้รับบริการอย่างเดียว ก็ขยับมาเป็นผู้ร่วมจัดการในพื้นที่ และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ยังเปิดโอกาสให้เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากสาธารณสุข
มีนาทิ้งท้ายโดยชวนว่า ให้ทุกคนมาสร้างสังคม ถกเถียงเรียนรู้เรื่องรัฐสวัสดิการกัน[right-side]
แสดงความคิดเห็น