James Mattis ASEAN

สัญญาณความร่วมมือกับมิตรประเทศทำให้หลายคนลดความกังวลจากนโยบาย ‘America First’

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมททิส (James Mattis) เดินทางเยือนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในทวีปเอเชียที่มีกำหนดยาวนานหนึ่งสัปดาห์

นอกจากนั้น พลเอกแมททิส ยังมีกำหนดเดินทางไปเวียดนามด้วย ซึ่งทั้ง อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างเคยตอบโต้จีนด้วยแนวทางต่างๆ หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งเพิ่มอิทธิพลในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์กับอีกหลายประเทศ

เวียดนามนั้นเป็นประเทศที่วิจารณ์จีนอย่างชัดเจนที่สุดประเทศหนึ่งในเรื่องทะเลจีนใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายปี จีนเดินหน้าโครงการก่อสร้างด้านกลาโหมในบริเวณดังกล่าว

ส่วนอินโดนีเซีย แม้จะไม่อยู่ในฐานะคู่กรณีโดยตรงกับจีนในเรื่องนี้ แต่เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจาการ์ตาเปลี่ยนการเรียกพื้นที่บางส่วนในทะเลจีนใต้ จนทำให้จีนแสดงความไม่พอใจมาแล้ว

คำถามที่สำคัญคือ การเยือนสองประเทศดังกล่าวของเจ้ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณคานอำนาจจีนหรือไม่?

เหตุการณ์นี้คล้องจองกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านกลาโหมที่เพิ่งถูกเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ กระทรวงกลาโหมอเมริกัน หรือ ‘เพนตากอน’ ระบุถึงความพยายามที่จะปรับทิศทางความสนใจจากเรื่องการก่อการร้ายไปยัง สิ่งที่ ‘เพนตากอน’ เรียกว่า การแข่งขันด้านอำนาจกับจีนและรัสเซีย

อาจารย์ คาร์ล เตเยอร์ (Carl Thayer) นักวิเคราะห์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย University of New South Wales ของออสเตรเลีย กล่าวว่า ดูเหมือนว่าความชัดเจนที่เกิดขึ้นคือสหรัฐฯ ยังคงมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาผ่านการสร้างมิตรและประสานงานกับแนวร่วม

หากพิจารณาถึงบรรยากาศที่หลายประเทศมองสหรัฐฯ ว่าไม่เป็นมิตร เนื่องจากถ้อยคำที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยพูดถึงประเทศต่างๆ หรือการชูนโยบายอเมริกามาก่อนแล้ว อาจารย์ คาร์ล เตเยอร์ กล่าวว่า การได้เห็นรัฐมนตรีแมททิสเดินสายสานสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทำให้หลายคนโล่งอก

กลไกสานต่อความร่วมมือในเอเชียของสหรัฐฯ ยังรวมถึง การรื้อฟื้นกิจกรรมของกรอบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า "Quadrilateral Security Dialogue" ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อน แต่เพิ่งมีการพบกันครั้งแรกของตัวแทนประเทศต่างๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นักวิชาการ อเล็กซานเดอร์ วูวิ่ง (Alexander Vuving) แห่งสถาบัน Asia-Pacific Center for Security Studies ที่รัฐฮาวาย กล่าวว่า กรอบความสัมพันธ์ 4 ฝ่ายนี้จะเป็นฝันร้ายของจีน และคำถามสำคัญคือ สหรัฐฯ ควรทำอย่างไร เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือของสมาชิก Quadrilateral Security Dialogue และต่อยอดไปถึงโครงการต่างๆ ที่มีต่อประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และพันธมิตรอื่นๆ

รัฐมนตรีแมททิส กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้จะมีการพูดคุยกับตัวแทนเวียดนามและอินโดนีเซียเรื่องเกาหลีเหนือด้วย

แน่นอนว่าจีนจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยบรรเทาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจารย์คาร์ล เตเยอร์ กล่าวว่า ในแผนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ อเมริกามองหาความร่วมมือกับมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีนเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งอาจเห็นได้จากรายงานข่าวของสื่อประเทศญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงแผนการเยือนประเทศจีนโดยรัฐมนตรีแมททิสในปีนี้

นักวิชาการจากออสเตรเลียผู้นี้ กล่าวว่า รัฐมนตรีแมททิสเหมาะสมกับบทบาทนี้ เพราะนอกจากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญแล้ว เขายังเข้าใจบริบทของประเด็นความมั่นคงในเอเชียเป็นอย่างดี

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว William Gallo)


http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=167092859308110076

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.