Posted: 25 Jan 2018 04:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'สมานฉันท์แรงงาน-สรส.' ค้านมติบอร์ดค่าจ้างปมปรับขึ้น 7 ระดับ ยันข้อเรียกร้องเดิม ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ


ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Nongmai Vijan

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟสบุ๊คตัวเองว่า คสรท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงจุดยืนค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเท่ากันทั้งประเทศ ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น วาสนา ลำดี รายงานผ่าน เว็บไซต์ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ว่า รองประธาน คสรท. ได้อ่านแถลงว่า ทั้ง คสรท. และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าวการขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายต่อหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทำแบบสำรวจสถานการณ์ การดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของคนงานให้สังคมได้รับทราบและภายหลังจากที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นกลับถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนต่างๆแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ทำให้ คสรท. และ สรส. ต้องหวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ที่ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานในระดับฐานราก ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกิน พอใช้ เป็นหนี้ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ยากจนข้นแค้น จึงต้องทำหน้าที่แม้จะทำให้บางคน บางกลุ่มไม่พึงพอใจ แต่ในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่า ผู้ใช้แรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร จึงได้เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561

ซึ่งข้อเสนอมีหลักการสำคัญ คือ 1. ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล คือ สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ และให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด 3. ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเอง ให้คนงานสามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้ และ 4. ให้รัฐบาลวางมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงเกินจริง

แถลงการระบุต่ว่า แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีการประชุมและมีมติออกมาเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป คือ ค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 จะปรับขึ้น 7 ระดับ ต่อมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และสื่อมวลชนเป็นวงกว้าง ซึ่งต่อมา คสรท.ได้มีการประชุมเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าว และมีความเห็นร่วมกันดังนี้ คือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอของ คสรท. คือค่าจ้างไม่เป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ ยิ่งกว่านั้นค่าจ้างกลับขยายเพิ่มจาก 4 ราคาเป็น 7 ราคา ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพนั้น เกือบทุกรายการเท่ากันทั้งประเทศไม่ได้มีราคาต่างกันเหมือนกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยิ่งทำให้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น และค่าจ้างที่ปรับขึ้นมาส่วนมากไปกระจุกตัวที่การปรับเพิ่มในจำนวนเงินที่น้อย กล่าวคือ การปรับเพิ่ม 5 บาท มี 17 จังหวัด และปรับเพิ่ม 10 บาทมีถึง 27 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ปรับในสัดส่วนที่สูงกว่า มีเพียง 4 จังหวัด คือ 17 บาท มี 1 จังหวัด ปรับขึ้น 20 บาท(ฉะเชิงเทรา) และ 22 บาทมีเพียง 2 จังหวัด (ระยอง และชลบุรี) ซึ่งจะเห็นได้ว่า การปรับค่าจ้างไม่ได้มีจำนวนเงินสูงมาก และไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงคนในครอบครัวตามหลักสากล

นอกจากนั้นแล้ว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็ยังมีมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างหลายประการ เช่นการลดหย่อนภาษีประมาณ 1.5 เท่า จากค่าจ้างแรงงาน และลดเงินส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมซึ่งคสรท.เห็นว่า การลดหย่อนภาษีให้นายจ้าง 1.5 เท่าจากค่าจ้างแรงงานก็เป็นประเด็นเคลือบแคลงว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไรทั้งระบบหรือเพียงแค่ผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือขนาดกลาง แต่ในส่วนการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ คสรท.ไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองุทนประกันสังคมกว่า 5 หมื่นล้านบาท”

คสรท. จึงขอประกาศจุดยืนเดิมในการปรับค่าจ้างและขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลและคาดหวังว่าข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำเรื่องหลักการทางสากลและการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม จะได้รับการพิจารณาเพื่อพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล

ในส่วนของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นนั้น แถลงการณ์ของ คสรท. ระบุว่า ได้มีการจัดเก็บข้อมูลมาแล้ว ตามที่รัฐอ้างว่า การปรับค่าจ้างจังหวัดต่างๆ เช่นกรุงเทพฯสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะว่า กรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าสูงกว่านั้นไม่เป็นความจริง ความจริงคือทุกจังหวัดมีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสูงเท่ากัน ผลจากการจัดเก็บข้อมูลมีจริงเราไม่ได้กล่าวกันแบบไม่มีข้อมูล จึงขอยืนยันในจุดยืนของ คสรท. และสิ่งที่รับไม่ได้คือการลดภาษีให้กับนายทุน 1.5 เท่า ก็พอทุนยังจะลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรับไม่ได้ เพราะว่าวันนี้กองทุนประกันสังคมคาดว่าจะหมดในปี 2586 มีการไปรับฟังความคิดเห็น ของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศว่าจะมีการปรับขึ้นฐานเงินเดือน 15,000 บาทเป็น 20,000 บาทและจะมีการขยายอายุการเกษียณอายุ 55 ปีเป็น 60 ปี เพราะเงินกองทุนกำลังจะหมดไป แทนที่จะเก็บเงินสมทบ กับจะมาลดเงินที่จะเข้ากองทุนอีกร้อยละ 1 นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเงินกองทุนจะหายไป ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ทุนจะมาเอาเปรียบกับเงินภาษี และกองทุนประกันสังคม นี่คือเหตุผลวันนี้ที่ คสรท. มายื่นคัดค้าน

วาสนา รายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วย จากกรณีถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เหตุด้วยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2560 และเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 และบริษัทฯ ตอบโต้กลับด้วยการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับเงินค่าจ้างประจำปีและโครงสร้างในระดับตำแหน่งงานต่างๆ การจัดเวลาเข้าทำงานใหม่(กะ) และขอยกเลิกหักเงินค่าบำรุงของสมาชิกให้แก่สหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเรียกร้องของนายจ้างสหภาพแรงงานและสมาชิกเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่เป็นคุณไม่สามารถยอมรับได้ การเจรจายืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้จนเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างกัน ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. - 27 ธ.ค. 2560 ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้และในวันเดียวกันเวลาประมาณ 22.35 น.บริษัทจึงประกาศปิดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการใดๆให้แก่สมาชิกของสหภาพแรงงานและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เป็นต้นมา

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.