ที่มาภาพ: Voice of America, licensed for reuse

Posted: 27 Jan 2018 12:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กระแสการเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศอย่าง #MeToo ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในประเทศจีนเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการเซนเซอร์อย่างเข้มงวดจากรัฐบาลและเคยมีการจับกุมนักสตรีนิยมที่พูดเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีคนเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หลังมีนักศึกษาและศิษย์เก่าเปิดโปงกรณีอาจารย์ชื่อดังของ ม.เป่ยหาง ล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ

27 ม.ค. 2561 โกลบอลวอยซ์รายงานว่าหลังจากเกิดเหตุที่กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหางก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศหลายกรณี ทั้งนักศึกษาและศิษย์เก่าของหลายมหาวิทยาลัยในจีนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างก็ออกมาเรียกร้องให้มีการออกนโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในมหาวิทยาลัยจีนไม่มีนโยบายแบบนี้เลยแม้แต่น้อย ผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวนี้มีการใช้แฮ็ชแท็กของตัวเองว่า #EveryoneIn

ในขณะที่ผู้คนหลายแห่งของโลกออกมาสร้างความตระหนักในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศผ่าน #MeToo แต่การเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตในจีนก็ทำให้ผู้คนพูดเรื่องพวกนี้ได้ยากกว่า นักกิจกรรมบอกว่าแม้แต่คำว่า "การต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ" ก็ถูกเซนเซอร์ในสื่อโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตามเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อกรณีของหลัวเฉียนเฉียน อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเป่ยหางแพร่กระจายออกไปทั่ว หลัวเฉียนเฉียนเล่าเรื่องที่เฉินเสี่ยวหวู่อาจารย์ของเป่ยหางล่อลวงเธอไปที่บ้านพี่สาวของเขาแล้วพยายามข่มขืนเธอ แม้ว่าเธอจะหนีออกมาได้แต่ต่อมาก็ทราบเรื่องว่ามีนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ถูกหลัวเฉียนเฉียนล่อลวงไปข่มขืนจนตั้งครรภ์

หลังจากที่เรื่องของหลัวเฉียนเฉียนแพร่ไปทั่วก็เริ่มมีการเซนเซอร์โต้ตอบอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเปิดโปงเรื่องราวของนักศึกษาเป่ยหางคนอื่นๆ เกี่ยวกับกรณีนี้ได้ จนทำให้เฉินเสี่ยวหวู่ถูกให้ออกในที่สุดรวมถึงปลดยศ "ปัญญาชนแห่งแม่น้ำแยงซี" ออกด้วย

มีการอภิปรายในเรื่องนี้ทางเว่ยป๋อโซเชียลมีเดียของจีนอย่างกว้างขวาง นักกิจกรรมสตรีนิยมมองว่าเรื่องนี้เป็นแค่ชัยชนะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโดยเตือนว่าการล่วงละเมิดทางเพศยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในพื้นที่มหาวิทยาลัยของจีนโดยที่ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

หนึ่งในคนที่พูดถึงเรื่องนี้คือ เว่ยถิงถิง นักกิจกรรมสตรีนิยมที่เคยถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากจัดการประท้วงต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในวันสตรีสากลเมื่อปี 2558 เธอทำการสำรวจเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยเมื่อเดือน ก.ย. 2560 พบว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 6592 ราย มีร้อยละ 70 ที่ระบุว่าพวกเขาเคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศแบบใดแบบหนึ่ง

ซึ่งหลายคนในโลกออนไลน์ของจีนก็มองว่ากรณีของเฉินเสี่ยวหวู่เป็นแค่ปัญหาระดับ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ที่มองเห็นได้แต่ยังมีส่วนที่มองไม่เห็นอยู่อีกมากมาย บ้างก็ชี้ให้เห็นว่ากาล่วงละเมิดทางเพศเป็นการสะท้อนถึงปัญหาเชิงระบบสังคมที่มีการใช้อำนาจของตัวเองในทางกดขี่ข่มเหงคนอื่น

จากปัญหาเรื่องการลุแก่อำนาจเช่นนี้เองทำให้นักศึกษา ศิษย์เก่า และอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยในจีนเรียก้องให้มีการออกมาตรการคุ้มครองเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและให้มีระบบการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้แม้จะมีการเรียกร้องมานานแล้วแต่ก็ยังคงไม่มีการออกนโยบายที่จริงจังเป็นรูปธรรม

ทางด้านนักสตรีนิยมเว่ยถิงถิงก็ใช้โอกาสนี้ผลักดันให้มีการกดดดันจากประชาชนมากขึ้น โดยเสนอว่านอกจากแค่การเล่าเรื่องตัวเองอย่าง #MeToo แล้ว น่าจะมีการปฏิบัติการจากการบอกว่า "ฉันขอร่วมด้วย" (I'm in)

กระนั้นก็มีคนกังวลว่าแคมเปญแบบ #MeToo จะถูกไล่เซนเซอร์อีกครั้งแบบเดียวกับที่ทางการจีนเคยจับกุมนักกิจกรรมสตรีนิยม 5 คนมาก่อนในช่วงวันสตรีสากลปี 2558

เคยมีรายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุว่านอกจากจีนจะเซนเซอร์การเรียกร้องนโยบายป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว นักกิจกรรมยังถูกเตือนและถูกกล่าวหาว่าร่วมกับต่างชาติทรยศประเทศ นั่นทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมในจีนต้องรับมือกับการถูกเซนเซอร์ด้วยในช่วงที่วันสตรีสากลเริ่มใกล้เข้ามา



เรียบเรียงจาก

#MeToo Has Hit China's Universities, Despite Efforts of Internet Censors, Global Voices, 25-01-2018
https://globalvoices.org/2018/01/25/metoo-has-hit-chinas-universities-despite-efforts-of-internet-censors/
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.