Posted: 26 Jan 2018 10:18 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน
ตามไปคุยกับคนย้ายถึงสถานพักพิงชั่วคราวที่ กอ.รมน. จัดเอาไว้ให้ เล่าอดีตการต่อสู้ก่อนตัดสินใจย้ายออกเพราะรู้สึกกดดันจากชุมชนและ กทม. เผย ยื้อ กทม. แต่ละครั้งมีต้นทุนสูง ชาวบ้านไม่ต้องทำมาหากิน บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียดาย ไม่จำเป็นไม่ย้าย
หลังปรากฏบนหน้าข่าวมานานกว่า 25 ปี มหากาพย์ชุมชนป้อมมหากาฬ-กรุงเทพฯ ได้มาถึงจุดที่ชุมชนจำนวนกว่า 300 คน เหลือไม่ถึง 50 คนแล้ว เส้นทางของชุมชนชานเมืองดั้งเดิมรัตนโกสินทร์แห่งสุดท้ายที่กำลังถูกไล่รื้อนั้นดำเนินไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่เป็นการลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน ความเหมาะสมของการเวนคืนที่ไปทำสวนสาธารณะ ความไม่เหมาะไม่ควรที่จะให้คนจนอาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ฯลฯ
ทิศทางของชุมชนจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นประโยคคำถามที่ครอบคลุมไปถึงอนาคตของคนที่อยู่ข้างใน ในวันนี้ที่ชุมชนเบาบางและหายใจรวยริน ประชาไทลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยที่ยังอยู่ ติดตามไปหาคนที่ย้ายออกไปยังสถานพักพิงชั่วคราว สมาคมสถาปนิกสยามกับความพยายามรักษาสถาปัตยกรรมของชุมชน และพูดคุยกับนายทหารฝ่ายข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) ที่ทุกวันนี้ตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชนตลอด 24 ชั่วโมงมาสองเดือนแล้ว เพื่อทราบถึงเป้าหมาย ความหวัง ทิศทาง ความกดดันของแต่ละตัวละคร สิ่งที่สะท้อนคือภาวะความไม่มั่นคงของทั้งคนที่ยังอยู่และคนที่ย้ายออก สุดท้ายจะย้ายหรือจะอยู่ก็เป็นทางเลือกบนสภาวะที่ไม่มีทางเลือก
ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)
ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน
เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง
เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป
ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. หน่วยทหาร-พลเรือน ของ กอ.รมน.กทม. เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ และยังคงปักหลักอยู่ที่ลานกลางชุมชนจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรมานั่งเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง
15 ม.ค. กทม. เข้ารื้อบ้านเลขที่ 63 ที่เจ้าของบ้านสมัครใจย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่สำนักงานประปาเก่าที่สี่แยกแม้นศรีที่ถูกจัดเอาไว้ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งในรั้วเดียวกันมีอาคารที่จัดเอาไว้เพื่อเป็นที่พักของคนไร้บ้าน เรียกว่า บ้านอิ่มใจ ทาง กทม. และ กอ.รมน.กทม. มีแผนที่จะใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ในย่านเกียกกายปลูกที่พักอาศัยให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ต่อ
ในวันเดียวกัน ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ถูก กอ.รมน.กทม. เรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครให้อยู่หรือย้ายจากชุมชนได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการที่ธวัชชัยมองหน้า และเพราะคนในชุมชนไม่พูดจาด้วย
พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ปัจจุบันเหลือประชากรในป้อมจำนวน 10 หลังคาเรือน จำนวนคนราว 45 คน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม. มีแผนจะเข้ารื้อบ้านอีกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. 2561
ฟังเสียงคนย้าย
สำนักงานการประปาเก่าย่านแม้นศรี บริเวณเดียวกันกับอาคารที่ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายออกมา ซึ่งในรั้วสำนักงานเดียวกันก็มีอาคารที่ถูกเปิดให้เป็นที่พักพิงกับคนไร้บ้าน
เมื่อผู้สื่อข่าวพบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เฝ้าหน้าประตูเพื่อขอพบชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปตัวอาคารด้านใน แต่เมื่อเข้าไปแล้วจึงถ่ายภาพได้
เมื่อสอบถามชาวบ้านที่ย้ายมาจึงได้ทราบว่า กอ.รมน.กทม. เป็นผู้จัดแจงเชื่อมต่อไฟฟ้าและทาสีห้องไว้รับรองผู้ที่มาอาศัย แต่น้ำประปาและห้องสุขาต้องใช้รวมกันที่ชั้นหนึ่ง
พีระพล เหมรัตน์ อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ประกอบอาชีพปั้นเศียรพ่อแก่ เป็นเครื่องปั้นดินเผา แต่ช่วงนี้มีกระบวนการติดต่อขอย้ายที่อยู่จึงพักงานไว้ก่อน อาศัยในป้อมมหากาฬมากว่า 40-50 ปีแล้ว แต่ก่อนพำนักแถวคลองหลอด หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์แล้วโดนไล่ที่เพื่อทำถนน จึงต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ จากนั้นก็ไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของแฟนในชุมชนป้อมมหากาฬ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกชัดเจนว่าพื้นที่ในชุมชนป้อมมหากาฬไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป และทราบว่ามีที่ที่ทาง กอ.รมน. กทม. ได้เตรียมดำเนินการขอเช่าที่เอาไว้จึงปรึกษาครอบครัวและย้ายออกมาเพื่อหาความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย ตอนนี้ชาวบ้านที่ย้ายมามีประมาณ 15 ครอบครัว อยู่ 15 ห้อง นับเป็นคนได้ประมาณ 60 คน
“แฟลตนี้ไม่มีชุมชนอื่น เป็นสถานที่เร่งด่วนที่สั่งโดย รองนายกฯ ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) สั่งให้ กอ.รมน. มาดูที่นี่โดยเฉพาะ ให้ความสำคัญกับการหาที่อยู่ใหม่ให้คนในป้อม ให้อยู่สะดวกสบาย ก็มี เสธ. มาเดินดูหลายคน” พีระพลให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“เราก็สู้มา 25 ปีแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ เนื่องจากที่ตรงนั้น ข่าวสารและข้อมูลมันชัดเจนว่าไม่สามารถอยู่ต่อได้ในอนาคต เราและครอบครัวจึงปรึกษากันว่าไปดูที่อื่นไหม พอดีได้ที่ที่เกียกกาย หลังวัดแก้วแจ่มฟ้า มีที่ประมาณเกือบ 1 ไร่ เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งทางทหาร กอ.รมน. ก็ได้ดำเนินการขอเช่าที่ กรมธนารักษ์ก็ไม่ติดอะไร แต่ตอนนี้อยู่ในขบวนการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำการเช่าที่ จึงตัดสินใจออกมา”
“ประมาณปลายปี 60 ขบวนการสู้มานานเราก็มองออกว่าเราสู้ไปถึงไหน อีกส่วนหนึ่ง ถ้าสู้แล้วไม่ได้ อนาคตก็ต้องออกไปหาที่อยู่นอกเมือง ชานเมือง ไม่เอื้ออำนวยกับการประกอบอาชีพ แหล่งประกอบอาชีพ แต่ถ้ามองแล้วมีที่ในกรุงเทพฯ เราจึงตัดสินใจว่าถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ เราต้องเลือกที่แล้ว จึงปรึกษากับครอบครัวว่าเราจะเลือกที่ตรงนี้ เลยออกมา ต้องการความมั่นคง อยู่ที่ชุมชนความมั่นคงไม่มี เพราะบ้านก็ไม่ใช่ของเรา บ้านก็ไม่ใช่ว่าจะสวยงาม ปีหนึ่งก็มาไล่ที จะเอาเงินมาปลูกสร้างก็กลัวสูญเปล่า”
พีระพลกล่าวว่า ทางผู้ที่ย้ายมายังไม่มีการพูดคุยกับคนที่ยังอยู่ แต่มีทหารไปพูดคุยว่าให้มาพักที่นี่ก่อนแล้วค่อยย้ายไปเกียกกายด้วยกัน ที่ผ่านมาก็มีคนมาดูพื้นที่และพยายามทยอยออกมาแล้วเพราะว่าไม่มีความมั่นคงถ้าจะยังคงอยู่ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ค่อยได้คุยกับคนในชุมชนเพราะว่าอยากให้เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องตัดสินใจกันเองว่าจะอยู่หรือย้าย
“คนข้างในยังมั่นใจว่าเขายังอยู่ข้างในได้ แต่ก็มีส่วนที่อยู่ไม่ได้ ตรงนี้อยู่ที่ความสมัครใจ ผมเลยไม่กล้าไปชวนใครออกมาข้างนอก เพราะชีวิตและครอบครัวเขา เราไม่กล้าตัดสินใจ ต้องให้เขาตัดสินใจเอง เลยเป็นที่มาที่ไปว่าไม่ค่อยได้คุยกับทางนั้น ไม่ได้ทะเลาะกันนะ แต่ไม่ได้เข้าไปคุย เวลาเขามาที่นี่เราก็เข้าไปคุย”
อดีตรองประธานชุมชนที่ย้ายออกมาให้ข้อมูลเรื่องเงินชดเชยว่า ทุกหลังคาเรือนที่ย้ายออกมาได้รับเงินหมด แต่ในอัตราที่ไม่เท่ากัน แล้วแต่ขนาดบ้านและการต่อรองกับทาง กทม. ซึ่งถ้าบ้านหลังไหนสวยหน่อยก็อาจจะได้รับเงินเพิ่ม
ส่วนเรื่องกระบวนการย้ายไปที่เกียกกาย พีระพลเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ทหารมาบอก ว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดประมาณเกือบหนึ่งไร่ แต่นอกจากกลุ่มชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว ก็จะมีกลุ่มชุมชนแม่น้ำเจ้าพระยาไปอาศัยรวมกัน ทั้งสองกลุ่มกำลังจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อนำเงินมารวมกันแล้วซื้อที่ จากนั้นก็จะมาออกแบบวางผังกัน ซึ่งส่วนตัวตนเองชอบบ้านโฮมทาวน์ที่เป็นบ้านสองชั้น ไม่ชอบแฟลต เพราะพื้นที่ข้างบนใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ในกระบวนการนี้ก็ยังมีการเผื่อที่ให้คนที่ยังไม่ย้ายออกจากชุมชนมาอยู่
“ส่วนหนึ่งเราต้องคำนวณอยู่ว่าตรงนู้น (ชุมชนป้อม) ที่เหลืออยู่หน่อยเดียว เราก็ทำเผื่อไว้นะ เราสร้างกลุ่มออมทรัพย์เผื่อเอาไว้เพื่อจัดตั้งสหกรณ์เผื่อไว้ทางนี้เข้ามาอยู่ การสร้างมันต้องใช้เวลา ต้องออกแบบสำรวจ ดูความต้องการชาวบ้าน ก็ทำการโดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเมือง (พอช.) ประสานเรื่องงบประมาณ แต่เราก็ต้องเก็บออมกลุ่มไว้เพื่อสร้างขบวนการ ทุกเดือนที่นี่ก็มาลงออมทรัพย์กันทีหนึ่ง คนที่กำลังจะย้ายมาใหม่ก็กำลังมาสมัครเป็นสมาชิกออมทรัพย์เพื่อที่จะเข้าไปอยู่ที่บ้านเกียกกาย ตอนนี้เราก็เปิดกลุ่มรอไว้ก่อน เราก็รับ แต่ต้องไม่เกิน 20 ยูนิต เพราะคาดว่าที่นู่นน่าจะได้ 40 ยูนิต เราก็แบ่งกับทางนู้น (กลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) กลุ่มละ 20 ยูนิต เช่าที่รวมกัน แต่แบ่งคนละครึ่ง สหกรณ์เป็นผู้เช่าทั้งหมด”
พีระพลแสดงความเสียดายที่ชุมชนป้อมมหากาฬต้องถูกไล่รื้อ เพราะว่าเสียดายที่ตั้งของชุมชน รวมถึงความเป็นมาที่ยาวนาน การเก็บบ้านเอาไว้เพียง 7-8 หลังตามความเห็นของทาง กทม. ถือว่าน้อยไป ต่อให้เป็น 18 หลังตามข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็น้อยไปเสียด้วยซ้ำ
“จริงๆ บ้าน 18 หลังมันเป็นบ้านร่วมสมัย คือเป็นของจากเดิมแล้วปลูกสร้างใหม่ นักวิชาการก็มาเดินดูว่าหลังไหนจะเอาไว้ ไม่เอาไว้ สมาคมสถาปนิกสยามก็เข้ามาวาดแบบแปลนแล้วเสนอให้ กทม. เก็บบ้าน 18 หลังทั้งที่เป็นบ้านเก่าและบ้านร่วมสมัยไว้ แต่ทาง กทม. เขามีอะไรไม่รู้ เขาก็คิดของเขาว่าบ้านร่วมสมัยเขาจะไม่เอา จะเอาบ้านที่เก่าและดั้งเดิมจริงๆ แต่ใน 18 หลังมันมีหลายหลังที่ใช้งบประมาณแทบจะสร้างทั้งหลัง มันก็ดูไม่คุ้ม เขาเลยเอาบ้านที่พอบูรณะด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่งเอาไว้ แต่ผมยังเห็นว่าถ้าจะเก็บก็ควรจะเก็บให้มันเยอะหน่อย เก็บไว้ 7-8 หลังไม่น่าเก็บ มันดูเหมือนน้อย ไม่รู้จะเอาไว้ชูกับใครเขา นี่ขนาดเก็บไว้ 18 หลัง ถ้าเดินจากตรอกพระยาเพชรปราณีจากประตูช่องกุดเข้ามา ก็เดินแค่ 20-30 เมตรก็จบแล้ว แต่เดิมมันมีทางติดด้านหัวป้อม มีชาวบ้านอยู่ เป็นตรอกนกเขา ขายอาหารสัตว์ ทำกรงนกปรอทจุก มันมีประวัติทั้งนั้น แต่ กทม. ไม่ให้อยู่ ตัดออก พอตัดออกไปมันก็เหลือตรอกพระยาเพชรอย่างเดียว”
“เสียดาย บอกตรงๆ เสียดายภูมิศาสตร์ที่มันอยู่ ถ้าเราอยู่กันครบมันน่าจะดูดีกว่า ในเมื่อมันอยู่ไม่ครบ แล้วในอนาคตมองแล้วว่าอย่างไรเสียเขาก็ไม่ให้อยู่ บ้านผมก็เป็นหนึ่งใน 11 หลังที่เขาจะไม่เอาไว้ (ไม่เอาไว้ตั้งแต่แรกในสมัยที่ข้อเสนอยังเป็นการเก็บบ้านไว้ 18 หลัง) ก็เลยต้องออก กระบวนการต่อสู้ก็ดำเนินไป แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของบ้านแต่ละหลัง คนอยู่ข้างในก็เริ่มกดดัน ชาวบ้านเริ่มมีปัญหากัน พอมีปัญหากันเขาก็ไม่เอาแล้ว ถ้าปัญหาถูกจัดการโดยใครไม่ได้ ไม่มีใครช่วยได้ เพราะถึงช่วยเขาก็โดนออกอยู่ดี ดังนั้นเขาเลยเลือกที่จะออกดีกว่า”
เมื่อพูดถึงความกดดัน พีระพลระบุว่า มีทั้งแรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐและภายในชุมชนด้วยกันเอง การต่อสู้กับหน่วยงานรัฐมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านต้องเอาเข้าแลกเพราะว่าทุกคนต้องลางานกันมา นอกจากนั้นยังมีความเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใสของงบประมาณและความขัดแย้งกับตัวผู้นำในเรื่องอารมณ์และเงินออมทรัพย์
“หน่วยงานภาครัฐทุกปีก็มาปิดป้อม พอมาหนึ่งทีเราก็เรียกพี่น้องเครือข่ายมาช่วยกัน พอหน่วยงานรัฐมาถึงเห็นคนเยอะก็กลับไป แล้วพี่น้องก็กลับกัน แล้วใครจะมาได้ทุกวัน แต่ กทม. โทรกริ๊งเดียวหน่วยงานก็มาแล้ว พี่น้องก็ต้องทำงานกัน ใครจะมาได้ทุกวัน กดดันภายใน มีปัญหากันเกี่ยวกับเรื่องผู้นำ งบประมาณมันไปมาอย่างไร ชาวบ้านก็เคลือบแคลงอยู่ มีส่วนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ พอรู้ว่าจะตัดพวกเราออกสิบกว่าหลังก็ไม่ให้ความสำคัญกับสิบกว่าหลัง ทั้งที่สิบกว่าหลังนั้นเป็นพวกแรงงานที่ช่วยซ่อมแซม ช่วยบูรณะทั้งนั้นเลย พี่น้องสู้กันมา 20 กว่าปี พอรู้ว่าตรงไหนอยู่ได้ ตรงไหนอยู่ไม่ได้แล้วก็ไม่ช่วยกัน มันกลายเป็นเราโดนทิ้ง”
“สู้มา 20 กว่าปี ถ้าจะได้มันได้นานแล้ว มันยาก แล้วยิ่งเรายื้อไปมันมีแต่เจ็บ เวลาปิดป้อมทีหนึ่งอาชีพก็หายไป คนก็ต้องหยุดงานมาเฝ้ายามทั้งกลางวันกลางคืน มันเหนื่อยและทรมานจิตใจกับเวลา 20 กว่าปีที่โดนกันมา พอมาถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดแตกมันก็ระเบิดขึ้นมา มันก็ยากที่จะเยียวยาให้เป็นเหมือนเดิมได้ ต่างคนต่างไป ผมก็เลยรวบรวมคนที่ออกมาเพื่อว่าจะไปอยู่ที่จุดที่มุ่งหมายเดียวกัน แต่ก็ขอให้เร็วหน่อย จะได้ดำเนินการได้ ที่มันไม่เหลือเยอะ ใครมาก่อนก็ได้ก่อน”
“ผมว่ามันเป็นเรื่องความกดดันของผู้นำที่หาทางออกไม่ได้มากกว่า แล้วบางทีตัวเองทำอะไรผิดลงไปก็กลับมากดดันกับชาวบ้าน ลูกบ้านก็บอก กี่ครั้งๆ ก็เป็นแบบนี้ ต่อจากนี้จะไม่ลงแล้ว แทนที่โดนกดดันแล้วจะมาหาทางออกกับชาวบ้าน แทนที่จะอุ้มมวลชนเอาไว้ เพราะการสร้างขบวนมันต้องอุ้มมวลชน ถ้าตัด คัดมวลชนออกไปมันก็หายหมด สุดท้ายก็เป็นแบบนี้ เหลือไม่กี่หลัง สิ่งนี้เลยเป็นปัญหา แล้วทาง กอ.รมน.กทม. ก็เรียกไปคุยเรื่องงบประมาณต่างๆ ก็ชี้แจงไป ทางเราเองตอนนี้ก็เดินหน้า ชาวบ้านพยายามเดินหน้าหาที่ใหม่ให้ได้ ส่วนเรื่องเขาจะสอบสวนกันอะไรยังไงเขาก็มีข้อมูลหมดแล้ว เพราะเรียกชาวบ้านไปสอบถามหมดแล้วทั้งเรื่องที่มาที่ไปงบประมาณอะไรก็ว่ากันไป”
เขาเล่าว่านอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ยังมีปัญหากันเรื่องการถอนเงินจากออมทรัพย์ชุมชนด้วย
“ข้างในมันมีปัญหาที่สะสมมานาน ผมไม่ใช้คำว่าอิทธิพล ใช้คำว่า ใช้ความคิดส่วนตัวเป็นที่ตั้งดีกว่า ไม่ว่าใครจะเสนออะไรก็จะไม่ค่อยฟัง ใช้ความคิดส่วนตัวและอารมณ์เป็นที่ตั้ง การเป็นผู้นำมันใช้ตัวนี้ไม่ได้ ทำที่ไหนแตกที่นั่น เพราะผมทำขบวนอยู่ กำลังเราเหลือน้อยก็ต้องอุ้มกันเอาไว้ เฮ้ย อย่าเพิ่งไปนะ ถึง กทม. แม่งบอกให้ไปแต่เรามีมวลชน เดี๋ยวมีพี่น้องมาช่วย พอพี่น้องที่จะมาช่วยเห็นคนหายหมดก็สงสัยว่า สู้แบบไหนวะ ทำไมไม่เอาคนไว้ พอมาถามจากพี่น้องก็บอกว่าโดนคัดออก ไม่เอาเขาไว้ ถือว่า 18 หลังได้อยู่ แต่ 18 หลังนั่นเขาคุยกันเรื่องเก็บบ้านนะ ไม่ได้คุยเรื่องคน ทางนั้น (ชุมชน) คงคิดว่าคนจะได้อยู่มั้ง เขาก็บอกว่างั้นก็เตรียมเก็บเสื้อผ้า เตรียมออก เราก็ทิ้งชาวบ้านไม่ได้ก็เลยบอกเขาว่างั้นเราออกด้วยแล้วกัน ก็ปรึกษาครอบครัว ลูก เมียก่อนจะออกมาแล้ว”
พีระพลกล่าวว่า อยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬจบลงโดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด การย้ายถิ่นฐานควรเป็นการย้ายที่ผู้อาศัยในชุมชนเดิมยอมรับ
“ชาวบ้านที่ออกมาผมอยากให้เขามีที่อยู่อาศัยแบบที่พวกเขาต้องการ แบบเกียกกายนี่ผมต้องการ เพราะไม่ใกลจากเมือง แหล่งทำมาหากิน แหล่งลูกค้า สอง ผมอยากให้ กทม. โอเคกับทั้งทางที่ยังอยู่ในนั้นโอเค ไม่รู้จะโอเคแบบไหน อย่างน้อยก็อยากให้เขามีความสุข คือถ้าเขาอยากจะย้ายก็ให้มีความสุขกับพื้นที่ที่เขาต้องการ ก็ต้องหาที่ให้เขาหน่อย แล้วให้เป็นที่ที่เขาพอใจด้วย อยากให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจ ถ้ายืนยันที่จะอยู่ตรงนั้น ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะต้องเอาปัญหามานั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเอาผู้นำ เอาชาวบ้านออกได้ ผมว่าถ้าจริงๆ ผู้นำออกคนหนึ่ง คนอื่นก็ต้องไปหมด เนื่องจากกลัวว่าไม่มีที่ไป”
ต่อคำถามที่ว่า ถ้าเกิดไม่ได้ที่บริเวณเกียกกายที่มีการพูดคุยกันไว้จะทำอย่างไร พีระพลตอบว่า
“ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาถามชาวบ้าน ผมไม่ได้เชื่อเต็มร้อยว่าจะได้ แต่ผมมีความหวัง ถ้าไม่ได้ก็ต้องให้หน่วยงานรัฐมองหาที่ธนารักษ์ซึ่งมันเช่าปีละไม่เท่าไหร่ ที่ของหลวงเยอะแยะไป ให้เขาช่วยมองหาที่อยู่อาศัยให้หน่อยหนึ่งโดยที่ไม่ต้องกู้เงิน พอช. ไปซื้อที่เพราะมันแพง ต้องเพิ่มอีกเป็นล้านกว่าจะไปซื้อที่เปล่า แล้วไหนจะค่าปลูกสร้างบ้านอีก ชาวบ้านจะผ่อนกันไม่ไหว”
กวี (นามสมมติ) อายุ 70 ปี เคยทำงานค้าขายเบ็ดเตล็ดทั่วไป แต่เลิกทำมา 2-3 ปีแล้ว ให้สัมภาษณ์โดยสงวนนามไว้เพราะไม่อยากมีปัญหากับอดีตผู้นำชุมชนที่ยังอยู่ในพื้นที่ เขาเพิ่งเก็บของย้ายจากชุมชนป้อมในวันเดียวกันกับที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ โดยก่อนออกมีเจ้าหน้าที่จากทาง กทม. จำนวน 3 คนไปหาที่บ้านและช่วยกันขนย้ายสัมภาระมาไว้ที่ประปาแม้นศรี
บ้านของกวีเป็นหนึ่งในหลังที่อยู่ในรายการอนุรักษ์ แต่ก็ย้ายออกมา โดยได้ค่าชดเชยเบ็ดเสร็จ 120,000 บาท
กวีกล่าวถึงสาเหตุที่ย้ายมาเป็นเพราะเริ่มรู้สึกว่าแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเริ่มไปกันใหญ่ บ้านที่อยากให้อนุรักษ์ไม่ได้โบราณจริง รวมทั้งยังมีปัญหากับธวัชชัยเมื่อครั้งที่ตนจะถอนเงินจากออมทรัพย์ชุมชนเมื่อจะย้ายออก แต่ก็โดนบ่ายเบี่ยง จนถึงกับต้องแจ้งตำรวจ และทางทหารได้ช่วยเหลือเขาไว้หลายเรื่อง ซึ่งกวีระบุว่า ทหารพึ่งพาได้มากกว่าตำรวจ เพราะทหารยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือเวลาที่ตนลำบาก
“มารู้สึกเมื่อปี 58-59 รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไปกันใหญ่ จะอนุรักษ์บ้านโบราณ คือมันไม่ใช่ไง ดูแล้วมันโบราณตรงไหน ถ้าเป็นบ้านไม้เก่าก็โอเคอยู่ แต่คุณดูก็รู้ว่ามันไม่ใช่ไง แล้วหลังไหนมันน่าเอาไว้ มันไม่มี เหมือนเราโกหกสังคมน่ะ”
“ยังไงก็ต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ แต่มันหาไม่ได้ ตอนแรกก็มีให้แต่ว่าไกลมาก ไม่สามารถย้ายไปได้ อยู่แถวมีนบุรีไปนู่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาก็ไม่มี ก็ยื้อกับ กทม. มาถึงปัจจุบัน แต่ผมรู้สึกมาในปี 58-59 มันไม่ใช่แล้ว สื่อก็ลงว่า ชุมชนป้อมมหากาฬต้องอนุรักษ์เอาไว้กี่หลังๆ แต่บ้านผมก็เข้าเกณฑ์อนุรักษ์นะ แต่ก็ยังไม่เอา เพราะรู้สึกว่าไม่ถูก แล้วเขาก็อนุรักษ์แต่บ้านไว้ ไม่ให้คนอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะอนุรักษ์เอาไว้ทำอะไร ไม่มีประโยชน์”
กวีกล่าวว่า หนึ่งในความกดดันเกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานชุมชนที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชน
เขาเล่าว่า หนึ่งในความกดดันเกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานชุมชนที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะอดีตประธานชุมชนเป็นคนอารมณ์ร้อน เมื่อตนจะย้ายออกก็จะถอนเงินออมทรัพย์ที่ออมไว้กับชุมชน แต่อดีตประธานชุมชนไม่ให้ถอน บอกว่าต้องออกไปจากชุมชนก่อนแล้วถึงจะคืนเงิน ซึ่งตนเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะเงินเป็นของตน จะถอนเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ แล้วยังโดนด่าเสียๆ หายๆ จึงไปร้องเรียนกับ กอ.รมน.กทม. ซึ่งทาง กอ.รมน.กทม. ก็พาไปลงบันทึกประจำวันกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่เวลาผ่านไปเป็นเดือนก็ไม่ได้เงินคืน เลยได้แจ้งความข้อหายักยอกทรัพย์ “จริงๆ ไม่อยากเอาเรื่องนะ ก็อยู่ด้วยกันมานาน ร่วมมือร่วมแรงด้วยกันมาตั้งเยอะแยะ เรื่องนี้มันไม่น่าเป็นแบบนี้”
"เสียดายที่อยู่อาศัย มันดีมากเลยตรงนั้น ร่มเย็น สงบเงียบ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าตรงนั้น ไปไหนมาไหนง่ายเพราะอยู่กลางใจเมือง ทำมาหากินก็แถวคลองถม ใกล้ๆ กัน"
กวีเล่าเรื่องราวการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ในชุมชนว่า ตนร่วมการต่อสู้ในชุดแรก และการยื้อยุดแต่ละครั้งมีผลกระทบและแรงกดดันมาก ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงเพราะต้องลางานเป็นเวลานาน แต่มาในวันนี้ตนพบว่าไม่มีทางเลือกและท้อ จึงตัดสินใจย้ายออก
“ทีแรกคิดว่าจะได้อยู่กันตรงนั้น คิดว่าเหมือนจะขอ กทม. ไม่ให้ย้ายไปไหน จะตายอยู่ตรงนั้น แต่ยื้อไปยื้อมามันไม่ได้ไง มันผิดกฎหมาย ผมสู้เป็นชุดแรก คนที่ย้ายมาที่นี่ส่วนมากก็เคยสู้ในชุดแรก”
“เหมือนกับว่าถ้ามาไล่ก็จำเป็นต้องตั้งป้อมสู้ ไม่ให้เข้ามารื้อบ้าน เอาชุมชนที่อื่น คนข้างนอกมาช่วยด้วย มารวมกันในป้อม ตั้งกำแพงนั่งเรียงกันไม่ให้ กทม. เข้ามารื้อบ้าน กดดันมากเลย ทิ้งไม่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ไปทำมาหากิน ตอนปิดป้อมครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2542 ปิดประตูป้อมอยู่ 6 เดือน ไม่ต้องทำมาหากินอะไรเลย ก็ไม่ได้ค้าขาย แต่คนส่วนมากก็คนจน หาเช้ากินค่ำก็ช่วยๆ กัน คนไหนพอมีก็แบ่งสรรปันส่วนกินกัน มันไม่มีทางเลือกจริงๆ ถ้ามีทางเลือกอย่างอื่นก็จะไปตั้งแต่ต่อสู้ระยะหลังๆ แล้ว เพราะท้อ ไม่ได้ทำมาหากิน สู้ทีไม่ใช่วันสองวัน แต่เป็นเดือน ไม่ได้กระดิกไปไหนเลย เหมือนกับเฝ้าบ้านเราให้ดีเพราะกลัว กทม. จะมารื้อ”
กวีพูดทำนองเดียวกับพีระพลว่าเสียดายที่ต้องย้ายออกมาจากชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน “พูดไม่ถูก มันลืมยากเลยนะ มีความผูกพันเหมือนบ้านเกิดเราเลย เสียดายมากๆ ไม่อยากย้ายออกมา ทุกคนที่ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ย้ายออกมา เราอยู่อย่างผิดกฎหมายมา สู้กับ กทม. มาเรื่อยๆ แล้วมันไม่ใช่ สังคมมองคนในนี้ไม่ดีแล้ว มันตอบสังคมยาก”
กวีเล่าว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจอยู่หรือย้าย “มีบางครอบครัวที่ไม่มีเงิน ลำบาก จะไปที่ใหม่ก็ไม่มีความสามารถจะซื้อใหม่ หรือผ่อนส่งได้ บางคนก็พอมีอาชีพบ้างก็โอเค อย่างผมก็พอมีเก็บบ้างเล็กน้อย จะเอาไว้ทำบ้านให้ลูกอยู่ที่ต่างจังหวัด ตอนนี้ลูกขายของตามตลาดนัดแต่ช่วงนี้ค้าขายไม่ดี ขาดทุน บางวันขายได้เงินก็ไม่พอค่าที่”
กวีกล่าวว่า อยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬจบลงแบบที่คนที่อยู่ในชุมชนไม่ดูถูกดูแคลนคนที่ออกมา ส่วนคนที่ยังอยู่ข้างใน ถ้ายังยอมรับสภาพได้ก็ให้อยู่ต่อไป โดยตนจะไม่ไปข้องเกี่ยว
แสดงความคิดเห็น