สภาพของตลาดพิมลชัย อ.เมือง จ.ยะลา หลังถูกวินาศกรรมเมื่อ 22 ม.ค. 2561
โซรยา จามจุรี คำนึง ชำนาญกิจ และ นิฮัสน๊ะ กูโน บันทึก
แม้ตลาดเป็นลมหายใจเข้าออกของชีวิตมาหลายสิบปี ของครอบครัว “เจนนฤมิตร” ไม่แตกต่างจากมามา หรือ “ฮาซานะ เจ๊ะมีนา” (ซึ่งสูญเสียลูกชาย คือยีลี หรือ มะยากี แวนาแว ในตลาดสดพิมลชัยเมื่อ 22 ม.ค.2561 เขียนไว้ในเรื่องเล่าตอนที่แล้ว ) แต่การสูญเสียภรรยา คือ สุปรีดา เจนนฤมิตร ในตลาดสดพิมลชัย ที่ผ่านมานี้ คงทำให้ “วรศักดิ์” ผู้เป็นสามี ตัดสินใจขอปิดฉากชีวิตทำมาค้าขายตลอด 20 ปี ในตลาดลง เพราะไม่มีใครรับสานต่อ ตัวเขาเองก็มีงานทำเป็นช่างอยู่แล้วที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี (ภรรยา เป็นน้องสาวของเจ้าของโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว) ในขณะที่คนในครอบครัวที่เหลือคือ ลูกชาย 2 คน มีงานทำอยู่ที่กรุงเทพฯ
วรศักดิ์ เล่าว่าลูกชายที่เรียนจบปริญญาตรีทั้งสองคน โดยคนโตเป็นวิศวกรช่างโยธา คนเล็กทำงานบริษัท เป็นผลิตผลของความอดทน ขยันหมั่นเพียรของภรรยาเป็นหลัก ที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาด ประเภทของเบ็ดเตล็ดต่างๆ รวมทั้งรับฝากรถ และเปิดบริการห้องน้ำ ภรรยายังหารายได้อีกทาง ด้วยการทำหน้าที่จ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ทำอาหารส่งให้โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว
สุปรีดาและวรศักดิ์ เจนนฤมิตร
ครอบครัวไม่ได้อาศัยตลาดสำหรับเป็นที่ทำมาค้าขายเท่านั้น แต่เขายังมี “บ้าน” เป็นที่หลับนอนอยู่ในตลาดด้วย เป็นชั้นบนของร้าน ด้วยเหตุนี้ ในเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เขาจึงอยู่ในเหตุการณ์ เขาเล่าว่า สิ้นเสียงระเบิด เขาตะโกนเรียกภรรยา แล้ววิ่งออกมาหน้าบ้าน เห็นภรรยาโดนระเบิดนอนอยู่ เขาจึงรีบเข้าไปอุ้มเธอไว้และเขย่าตัวเรียก ตอนนั้นเธอยังไม่สิ้นลม มีอาการตอบรับ เปลือกตายังขยับขึ้นลงเล็กน้อย ก่อนที่ทุกอย่างจะสงบนิ่งไปในอ้อมกอดของเขา กลางตลาดในเช้าที่แสนจะมืดมนที่สุดในชีวิตของเขา
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ เขาหยุดนิ่งไปสักครู่ แล้วก็พูดออกมาด้วยเสียงที่เบาอยู่ในลำคอ และขอบตาเริ่มแดง ว่า “ผมคิดถึงเขานะ”
หลายคนคงจำภาพเขากับภรรยาได้ติดตา เพราะเป็นภาพที่มีผู้บันทึกนาทีนั้นไว้ทัน และโพสต์แชร์ทางโซเชียลมีเดียในช่วงวันแรกๆของการเกิดเหตุ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
วรศักดิ์อยู่ในชุดนอน ขาข้างซ้ายเลือดโชก ประคองภรรยาที่นอนนิ่งกับพื้นไว้ในอ้อมกอด แล้วตัวเขาก็เอี้ยวตัวหันออกมาด้วยสายตาที่วิงวอน เหมือนกำลังจะร้องขอความช่วยเหลือจากใครก็ตามที่อยู่ใกล้ๆ ท่ามกลางซากปรักหักพังของร้านรวง...
“คนที่ไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวจริงๆ ก็คงไม่รู้ว่าเป็นยังไง ครั้งก่อนๆ เพื่อนๆเจอเหตุการณ์ ผมก็เห็นใจเขานะ แต่ตอนนี้เรามาเจอกับตัวเราเอง ภรรยาเราเอง มันหนักมาก พูดไม่ออก ก็ขอให้ทางรัฐช่วย ว่าจะช่วยยังไง เราก็ได้แต่ระวังตัว แค่นั้นเอง”
วรศักดิ์ เป็นคนหาดใหญ่ ส่วนภรรยาเป็นคนยะลา เขาแต่งงานอยู่กินกับภรรยาที่ยะลามาสามสิบปี พบเห็นและประสบเหตุการณ์ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ต่างจากคนในพื้นที่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปี 2547 และเมื่อ 23 ส.ค. 2559 ก็เกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 1 คนบาดเจ็บ 30 คน อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ก็ไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น แม้ในครอบครัวไม่เหลือใครอยู่ในพื้นที่แล้วก็ตาม
“ไม่ท้อ สู้ครับ” คำพูดนี้ ทำให้เราผู้ไปเยี่ยมรู้สึกชื่นใจแทน และชื่นชมในความเข้มแข็งของเขา
เมื่อถามว่า มีพี่น้องมุสลิมเข้ามาเยี่ยมเยียนไหม เขาบอกว่า มากันตลอด อีกสักพัก ก็จะมีเพื่อนๆ และลูกน้องซึ่งเป็นมุสลิมทำงานที่โรงแรมด้วยกันมาเยี่ยมและให้กำลังใจ น้องคนที่นั่งอยู่ในงานศพคนนั้น (เขาชี้มาที่ชายร่างอ้วน ที่นั่งคุยอยู่ในวงญาติ โต๊ะใกล้ๆ) ก็เป็นมุสลิมที่ทำงานด้วยกันนะ เขามาช่วยผมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ เขาไม่ทิ้งผมเลย
“เรื่องนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา” เขาบอกเรา
แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ วรศักดิ์ เห็นว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่เขาก็เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยในตลาด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อป้องกันเหตุร้าย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เขาให้ความเห็นว่า
“คราวนี้ก็ต้องอยู่ที่ภาคส่วนของรัฐกับชาวบ้านต้องช่วยสอดส่องดูแลกัน ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้หรอก ต้องภาคประชาชนด้วย อันไหนผิดสังเกตต้องแจ้ง แล้วต้องบอกต่อ และต้องมีหน่วยงานที่รับเรื่องนี้โดยตรง โดยเฉพาะ เช่นถ้ามีรถผิดสังเกตจอดหน้าร้าน ให้โทรไปไหน เบอร์อะไร ให้มีองค์กรชัดเจนที่รับเรื่อง ในตลาดไม่มีกล้องวงจรปิด มืดด้วย ทางเข้าตลาดก็เข้าได้หลายทาง”
ความปลอดภัยในตลาด ก็คือ ความปลอดภัยของชีวิตแม่ค้า พ่อค้า ที่หาเช้ากินค่ำ ผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นพุทธ และมุสลิม ตลาดจึงเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องได้รับการยกเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง และปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม!
พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย
0000
ข้อเสนอเรื่องตลาดปลอดภัย ของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้
(Peace Agenda of Women- PAOW)
กลุ่มองค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคม 23 องค์กร ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นของผู้หญิงในชุมชนที่ได้รับผลกระทบในชายแดนภาคใต้ประมาณ 500 คนจาก 5 เวที ในช่วงเดือนต.ค. 2558 –เมษายน 2559 พบว่าพื้นที่สาธารณะที่ผู้หญิงอยากให้ปลอดภัยมากที่สุด คือ ตลาด เนื่องจากเคยมีเหตุรุนแรงเคยเกิดขึ้นในตลาด ที่ทำให้ผู้หญิง และประชาชนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี นับตั้งแต่ ม.ค. 2547 – ต.ค.2560 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบ 610 คน บาดเจ็บ 2,496 คน (เหตุระเบิดในตลาดพิมลชัย เมื่อ 22 ม.ค.2561 มีผู้หญิงเสียชีวิต 2 คนจากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 คน บาดเจ็บ 17 คน จากผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 22 คน )
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเห็นว่าตลาดยังมีคุณค่าและความหมายต่อผู้หญิงมาก เนื่องจากเป็นแหล่งทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดของทุกคน เป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ตลาดช่วยให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ มีอำนาจในการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอย เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงต้องใช้ประโยชน์เนื่องจากบทบาททางเพศที่ต้องดูแลครอบครัว เป็นแม่บ้านทำกับข้าว ซื้อหาสินค้าส่วนตัว จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดพบปะสังสรรค์ เข้าสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลาดนัดเป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ มีความสุข ผ่อนคลายอีกทั้งตลาดยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เป็นพื้นที่กลางของผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งศาสนา เพศ วัย และชาติพันธุ์
ในการระดมความเห็นดังกล่าว ผู้หญิงยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในตลาด อีกด้วยดังนี้
ต้องมีการจัดวางระเบียบของตลาด ทั้งการจอดรถ ทางเข้าออกของตลาด มีการวางจุดตรวจเป็นระยะ แต่จุดตรวจเหล่านั้น ควรมีระยะห่างพอสมควรกับตลาด ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพทั้งในและบริเวณตลาด และที่จอดรถ มีการจัดประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาความปลอดภัยในตลาดอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ มีข้อเสนอด้วยว่าการรักษาความปลอดภัย ต้องให้เป็นไปตามบริบทพื้นที่ และควรมีการปรึกษาหารือ หรือให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด หรือออกแบบมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะนั้นๆด้วย
แสดงความคิดเห็น