ภาพจาก Elionas, Pixabay

Posted: 26 Jan 2018 06:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


อาจจะเคยมีคำถามว่าทำไมบางคนถูกยุงกัดมากกว่าคนอื่น? ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะคนๆ นั้นมีกลิ่นที่ยุงชอบมากกว่าก็อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่ากลิ่นอาจจะมีผลกับพฤติกรรมยุงจริงๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนรู้ของยุง ที่สามารถแยกแยะได้ว่าสัตว์หรือคนคนไหน "กลิ่นน่าอร่อย" และคนไหนชวนให้หลีกเลี่ยง ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์หาวิธีป้องกันโรคระบาดจากยุงได้

26 ม.ค. 2561 งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเคอร์เรนต์ไบโอโลจี (Current Biology) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาระบุว่ายุงมีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำกลิ่นของสัตว์ที่มันกัดได้โดยที่พวกมันเรียนรู้เรื่องพวกนี้ผ่านสารโดพามีน พวกยุงนำข้อมูลเหล่านี้มารวมกับข้อมูลสิ่งเร้าอื่นๆ ทำให้พวกมันแยกแยะว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังตัวไหนรวมถึงมนุษย์คนไหนที่น่ากัดมากกว่ากัน

การวิจัยของเวอร์จิเนียเทคยังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าขณะที่ยุงอาจจะมุ่งตอมคนที่ "กลิ่นน่าอร่อย" สำหรับพวกมันแล้ว ยุงยังหลีกเลี่ยงจะตอม "กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์" สำหรับยุงด้วย และหนึ่งในการสร้างกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ว่าคือการตบยุงตัวอื่น หรือการมีพฤติกรรมป้องกันใดๆ ก็ตาม จะมีโอกาสทำให้ยุงรบกวนน้อยลง

การวิจัยในครั้งนี้เป็นผลงานของ คลิมง วิเนาเกร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพของเวอร์จิเนียเทค และโคลอี ลาฮงเดเรอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาชีวเคมี พวกเขาทดลองเรื่องการที่ยุงเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์โดยทดลองให้ยุงลายตัวเมียรับกลิ่นต่างๆ รวมถึงกลิ่นกายมนุษย์ไปพร้อมกับรับแรงสั่นสะเทือนที่ไม่พึงประสงค์

พวกเขาพบว่าหลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ยุงที่ถูกทดลองเช่นนี้หลีกเลี่ยงกลิ่นกายมนุษย์เมื่อให้เลือกระหว่างกลิ่นกายมนุษย์กับอีกกลิ่นหนึ่งที่เป็นตัวแปรควบคุมเอาไว้เทียบกับกลิ่นมนุษย์

เรื่องนี้ทำให้มีการศึกษาต่อแบบอาศับความร่วมมือกันระหว่างหลายสาขาวิชา อย่างการใช้เทคนิคการตัดต่อส่วนของสารพันธุกรรม (CRISPR) หรือเทคนิคการยับยั้งอาร์เอ็นเอ (RNAi) ซึ่งเป็นกระบวนการยับยั้งการแสดงออกลักษณะทางพันธุกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเทคนิคเหล่านี้ทำให้พวกเขาทราบว่าสารโดพามีนเป็นตัวกลางสำคัญในการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์ของยุง

เพื่อวัดผลในเรื่องโดพามีน นักวิจัยใช้วิธีการเชื่อมต่อส่วนสมองของยุงทั้งที่ถูกให้เรียนรู้หลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์กับยุงที่ไม่ได้ถูกฝึกให้เรียนรู้กับเครื่องวัดเพื่อวัดผลปฏิกิริยาจากสมองของพวกมัน หลังจากนั้นจึงปล่อยยุงบินในสถานการณ์จำลองที่มีกลิ่นหลายกลิ่นรวมถึงกลิ่นมนุษย์ ทำให้พบว่าในส่วนของสมองยุงที่ใช้รับข้อมูลกลิ่นมีการตอบสนองทางระบบประสาทลดลงเพราะมีการหลั่งสารโดพามีนช่วยทำให้พวกยุงจำแนกกลิ่นต่างๆ และเรียนรู้ที่จะแยกแยะได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลาฮงเดเรอ บอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ชัดเจนว่ากลิ่นของอะไรที่ทำให้บางคนตกเป็นเป้าหมายของพวกยุงโดยเฉพาะ เนื่องจากคนคนหนึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีในร่างกายจำนวนมากถึง 400 แบบ อย่างไรก็ตามการทดลองก็ทำให้พวกเขาทราบว่ายุงสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกลิ่นได้ ทางด้านวิเนาเกร์ บอกว่าความรู้ตรงจุดนี้สามารถนำไปใช้หาวิธีป้องกันยุงแบบใหม่ได้

อนึ่ง ยุงลายเป็นพาหะนำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่มนุษย์หลายอย่างทั้งไวรัสไข้เลือดออก ไข้ซิกา ชิคุนกุนยา และไข้เหลือง


เรียบเรียงจาก

Mosquitoes remember human smells, but also swats, researchers find, Phys, 25-01-2018
https://phys.org/news/2018-01-mosquitoes-human-swats.html

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.