Posted: 26 Jan 2018 08:44 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อนินท์ญา ขันขาว รายงานธเนศวร์ เจริญเมือง ร่วมกับนักศึกษา เชียงใหม่-ธรรมศาสตร์ ถกการรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย ชี้ปัญหาระบบ SOTUS เชื่อมโยงกับระบบอุปภัมภ์ของไทย ชี้มหาวิทยาลัยที่ดีในอุดมคติ ต้องมี 'เสรีภาพ-การบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ-การแข่งขันเสรี'
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดเสวนา “การรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย” โดยมี ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์และอาจารย์ผู้ชำนาญการพิเศษ ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. ปอ บุญพรประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช. พร้อมด้วย ยามารุดดิน ทรงศิริ รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง นลธวัช มะชัย และ ณัฐดนัย พรมมา นักศึกษา มช. ร่วมเสวนา โดยมี อภิบาล สมหวัง เป็นผู้ดำเนินรายการ
ยามารุดดิน กล่าวว่า จุดยืนของมหาวิทยาลัยบางแห่งก็ใช้ว่า "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" เมื่อเปรียบกับบางมหาวิทยาลัยที่ไม่มีจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ทำให้มีบางสิ่ง อย่างเช่น ระบบ SOTUS เข้ามาแทรกแซง ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและมีคนต่อต้าน มีอาจารย์หรือสภานักศึกษาคอยปกป้องระบบ แนวทางที่ดีคือ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยควร วิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามว่าระบบนี้ควรอยู่ต่อหรือไม่
ยามารุดดิน กล่าวถึงระบบ SOTUS ด้วยว่า ถ้าคนต้องการระบบ ระบบก็จะอยู่ ถ้าไม่เอา ระบบก็ไม่อยู่ บางมหาวิทยาลัยไม่มี SOTUS ก็อยู่ได้ มหาวิทยาลัยไม่มีการถูกปิด
สำหรับบทบาทของอาจารย์บางคนที่ไม่ต่อต้านระบบ SOTUS หรือเห็นด้วยกับระบบ รวมไปถึงได้ผลประโยชน์จากระบบดังกล่าวจนนำมาสู่การเพิกเฉยต่อปัญหานั้น ธเนศวร์ กล่าวว่า ผู้ดูแลระบบการศึกษา ก็คือ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี โดยเฉพาะรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นผู้เห็นชอบด้วยกันหมดจึงอนุญาตให้บรรดากิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น บางครั้งก็มีเสียงก็รบกวนผู้อื่นในสถาบันวิชาการที่ต้องการความสงบ การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น คณาจารย์เหล่านี้เองเป็นผลิตผลของการ "ว้าก" มาตลอด 4 ปี จนทำให้เห็นด้วย จะมีใครไม่ชอบระบบนี้ รวมทั้งแต่ละคณะยังมีการเชิญรุ่นพี่มาด้วย เพื่อชี้แนะให้ทำตามรุ่นพี่ แล้วจะให้เงินเพื่อสืบทอด สืบสานกันมา สุดท้ายระบบ SOTUS ก็ไม่มีวันหายไป
ณัฐดนัย ได้กล่าวว่า แท้จริงแล้ว SOTUS เกิดขึ้นมานานมากอยู่คู่กับสังคมไทยมาก็ว่าได้ จึงทำให้ SOTUS นั้นฝังรากลึกในสังคมไทย เกิดความเคยชินและไม่รู้สึกผิดแปลกแต่อย่างไร แต่ปัจจุบันสังคมเริ่มตั้งคำถามกับระบบ SOTUS มากขึ้น ทั้งเป็นระบบที่ยึดถือระเบียบวินัยและกฎหมู่มากจนบางครั้งมากเกินความจำเป็น และมีลักษณะเป็นเหมือนลัทธิทางความเชื่อที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าสิ่งที่ระบบได้ทำเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร และห้ามตั้งคำถาม เป็นระบบที่คิดแทนรุ่นน้อง ทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ในสถานศึกษาเท่าที่ควรจะเป็น การมีอยู่ของ SOTUS จึงเป็นการทำลายหัวใจของประชาธิปไตย เพราะไปกีดกันความคิดสร้างสรรค์ และสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และเป็นตัวกดสังคมให้เกิดการพัฒนาที่ช้า
สำหรับประเด็นที่ว่าเหตุใดในปัจจุบัน SOTUS ถึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหากสังคมตั้งคำถามและเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงนั้น ณัฐดนัย กล่าวว่า เพราะ SOTUS ไปเชื่อมโยงกับระบบอุปภัมภ์ของไทย และรุ่นมีความสำคัญในระบบ SOTUS ทำให้รุ่นที่จบออกไปเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกลับเข้ามาปกป้องระบบ SOTUS ตนเสนอทางออกเบื้องต้นคือการมีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง เพราะให้คนที่เห็นต่างในระบบได้มีพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ และความเห็นต่างๆอย่างเสรีไร้กรอบที่เคร่งครัด และต้องได้รับการปกป้องจากสถานศึกษา เพื่อให้คนที่เห็นต่างไม่ต้องหลบซ่อนและเก็บความกดดันที่มีเอาไว้ และอีกข้อที่สำคัญคือการหันหน้าคุยกันระหว่างคนที่ชอบและไม่ชอบในระบบ SOTUS เพื่อหาทางออกร่วมกันในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัยและสังคมไทยมากที่สุด
ขณะที่ นลธวัช ผู้ทำกิจกรรมทางเลือก เสนอแนวทางว่า บางคณะที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบไปบ้างแล้ว จนเกิดรูปแบบอื่นมากมาย อย่างการจัดวันซ้อมร้องเพลงเชียร์ ก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำกิจกรรม การต้องเข้าพร้อมกัน ร้องเพลงเชียร์พร้อมกันก็ไม่มีความจำเป็น นอกจากนี้ ควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กันทุกฝ่าย และตั้งจุดยืนเลยว่า ระบบนี้ต้องหายไป
นลธวัช ยังกล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย แต่ทำไมไม่มีการนำวิธีเหล่านี้มาใช้ จริงอยู่ที่มีความพยายามทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเสรีนิยม แต่พิธีกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยกลับย้อนแย้งไม่เป็นตามนั้น มีวาทกรรมความสามัคคี คือ แต่ละคณะมีการผลิตกิจกรรมเพื่อเกื้อหนุนส่วนกลาง ทำให้ SOTUS คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แทนที่จะผลิตกิจกรรมเพื่อมาสนับสนุน ส่งเสริมประชาธิปไตยในสังคมบ้าง
ปอ กล่าวย้ำด้วยว่า สภาพเช่นนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ ทำให้ชีวิตเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ เลยนำสิ่งที่เป็นจริง เป็นกลางมาพูด เมื่อไม่ได้หลีกเลี่ยงความจริงก็ส่งผลต่อการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้คืออะไร การแก้ปัญหาแก้ได้ต้องแก้ที่ปลายเหตุ เพราะมหาวิทยาลัยไม่เปิดกว้างทางความคิดแก่นักศึกษา นักศึกษาจึงไม่ค่อยคิด มีพี่ๆ มาดูแล 4 ปี มีกรอบมีพิธีกรรมครอบงำมาโดยตลอด
ธเนศวร์ เสนอว่า มหาวิทยาลัยที่ดีในอุดมคติมีองค์ประกอบ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เสรีภาพ ที่จะทำให้วิชาการเป็นเลิศ (academic excellence) 2. การบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ คือการ แสวงหาความจริง ไม่มีอะไรกีดกั้น ความจริงคือความจริง 3. การแข่งขันเสรี แข่งกันด้วยความจริง ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีเสรีภาพที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยตนเอง และความเป็นเลิศทางวิชาการ และกิจกรรมว้ากน้องในต่างจังหวัดรุนแรงมาก ยิ่งไกลปืนเที่ยงยิ่งรุนแรงมีป่าเขา ลำนำไพ เสียงน้ำตกปิดบังเสียงผรุสวาท และคำถ่อยเถื่อนของคนเหล่านั้นได้อย่างสุดยอด บางสถาบันที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลมีการให้นักศึกษาที่เข้ามาใหม่ให้คำสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคณะ
ธเนศวร์ ได้สรุปว่า การรับน้องเป็นกระบวนการ Dehumanization หรือการลดอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการสร้างอำนาจ ที่น่าเจ็บปวดมาก คือ เป็นกระบวนการจากฝีมือของปัญญาชน ที่มีภาพลักษณ์ดูดี อธิการบดีพูดเพราะ รองอธิการบดีพูดเพราะ ไม่มีระบบ ปล่อยให้เกิดกิจกรรมเลวทรามต่ำช้า ทำให้นักศึกษา จำนวนไม่น้อยเจ็บปวดกับการถูกทำลายความเป็นมนุษย์ การทำลายนี้ความรุนแรงแล้วแต่คนที่ได้รับ
ธเนศวร์ เสนอด้วยว่า ควรที่จะออกมากล้าที่จะเดินหน้า ในเมื่อโลกนี้มันมืดนักก็เลือกเดินต้องพัฒนา ฟันฝ่าไปสู่จุดที่ดีกว่า สอบเข้ามหาวิทยาลัยแทบตาย การรับน้องดังกล่าวนี้ควรจะต้องมีศูนย์ดำรงธรรมมาคอยเยียวยา ติดตาม ให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมรับน้อง และควรเปิดโปงสู่โลกภายนอกว่าในมหาวิทยาลัยมีประชาธิปไตยอย่างไร ต้องหาญกล้าที่จะออกมา
SOTUS มาจากตัวอักษรนำของคำในภาษาอังกฤษ 5 คำ ประกอบด้วย Seniority คือ การเคารพผู้อาวุโส Order คือ การปฏิบัติตามระเบียบวินัย Tradition คือ การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี Unity คือ การเป็นหนึ่งเดียว และ Spirit คือ การฝึกจิตใจ การเสียสละกายและใจ มีน้ำใจเพื่อสังคม[full-post]
แสดงความคิดเห็น