วงคุยเครือข่าย People Go Network ณ บ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

Posted: 26 Jan 2018 11:07 PM PST

วงคุยชี้ “เดินมิตรภาพ” ได้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง เปิดเสรีภาพการชุมนุม ศาลบันทึกเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ใช้หลักพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปี 58 สรุปสามข้อ ไม่ต้องขออนุญาตแค่แจ้งก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง การชุมนุมแบบต่อเนื่องหลายพื้นที่แจ้งเพียงแค่พื้นที่เริ่มต้นการชุมนุม และผบ.ตร.ต้องแต่งตั้งจนท.สูงสุดเพื่อดูแลการชุมนุม

ความคืบหน้ากรณีศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ตำรวจดูแลการเดินมิตรภาพ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและให้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุม จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 อันวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา วันนี้ (27 ม.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. เครือข่าย People Go Network ได้มีกิจกรรมล้อมวงคุยในโอกาสที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยวงตั้งข้อสังเกตว่าศาลได้มีคำสั่งโดยอาศัยหลักตามพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยไม่อ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ซึ่งฝ่ายผู้ถูกฟ้องคือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อ้างเพื่อบอกว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิด

ปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.สงขลา กล่าวว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ซึ่งออกในยุคเผด็จการเริ่มถูกตรวจสอบด้วยการใช้กฏหมาย แล้วศาลก็รับรองในสิทธิของผู้ชุมนุม โดยมีคนกลุ่มหนึ่งกล้าทดลองใช้จริง เอาอิสรภาพตัวเองเข้าไปแลก เพื่อให้เห็นผลว่ากฎหมายนี้เป็นยังไง

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ตามคำสั่งนี้คือการให้เราปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนในทุกกลุ่มว่าเรามีเสรีภาพในการชุมนุม ในการรวมกลุ่ม สื่อสาร ที่ไม่ใช่เพียงแค่การมาชุมนุมเพียง 4 คนภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งความเป็นจริงเราไม่เคยรวมกันแค่ 4 คน เรารวมกันมากกว่านั้นอยู่แล้ว

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่ทนายฝ่ายเราโต้แย้งคือ ศาลต้องพิจารณาว่าจะให้คำสั่งคสช.ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญรึเปล่า เพราะสิ่งที่เราทำเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ คำนี้ถูกศาลบันทึกไว้ ซึ่งน่าสนใจ

นิมิตร์กล่าวต่อว่า ถือเป็นชัยชนะก้าวแรกที่จะทำให้เราเดินได้ ชุมนุมได้ แสดงความคิดเห็นได้ เนื่องจากศาลรับรองสิทธิของเรา ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยืนยันว่าการชุมนุมไม่มีการกระทำใดที่ผิดกฏหมาย เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ที่สำคัญอันหนึ่งคือศาลพูดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจค้นรถ ขอถ่ายบัตรประชาชน น่าเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความหวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่แจ้งในการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลใช้เป็นเหตุในการสั่งคุ้มครองชั่วคราว

นิมิตร์ข้อสังเกตว่า แต่ทั้งนี้ศาลพูดว่าเราสามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ถ้าเมื่อใดมีเหตุว่าให้ตีความได้ว่าเราชุมนุมละเมิดกฎหมาย เขาก็จะมีคำสั่งให้เรายุติได้โดยต้องไปร้องต่อศาล

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (Ilaw) เสริมว่า ศาลปกครองเปิดช่องไว้ในบรรทัดสุดท้ายว่าการชุมนุมของเราจะได้รับการคุ้มครองไปตลอดจนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เท่าที่ไม่ขัดต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายอื่น ซึ่งกฎหมายอื่นก็คือคำสั่งหัวหน้าคสช. ด้วย เพราะฉะนั้นยังเปิดช่องอยู่ว่า ถ้าตำรวจจะอ้างว่าเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อจะห้ามการชุมนุมก็ยังทำได้อยู่

ทั้งนี้หลังจากที่ศาลได้ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ภายในวงได้มีการสรุปถึงแนวทางทางกฎหมายของการชุมนุมสาธารณะ ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ดังนี้

1.เมื่อมีการชุมนุมผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาต แต่เป็นเพียงการแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง สิ่งที่แจ้งในการชุมนุม คือ เป็นพื้นที่ไหนบ้าง มีจำนวนคนเท่าไหร่ ที่ห้ามชุมนุม เช่น พระราชวัง รัฐสภา ศาล หรือพื้นที่ราชการให้ชุมนุมได้แต่ห้ามปิดกั้น กีดขางทางเข้าออก ห้ามกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่กีดขวางการจราจร มีแผ่นป้ายได้ มีการแจกเอกสารได้ ใช้เครื่องเสียงได้แต่ห้ามดังเกิน 70 เดซิเบล ถ้าเกินกว่านี้ก็ต้องไปขออนุญาตต่างหาก

“เราถูกบังคับ ถูกกดทับมาตลอดว่าทำอะไรต้องขออนุญาต แต่พ.ร.บ. นี้ไม่ต้องขออนุญาต เป็นสิทธิเสรีภาพที่เราจะชุมนุม เพียงแต่กฎหมายบอกว่าต้องแจ้งตำรวจเพื่อให้เขาได้เตรียมตัวดูแลและอำนวยความสะดวกการชุมนุม” ปาฏิหาริย์กล่าว

2. การชุมนุมเดินมิตรภาพครั้งนี้ เป็นการชุมนุมต่อเนื่องหลายพื้นที่ ซึ่งศาลบอกว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สูงสุดชัดเจนที่ต้องมาเอื้ออำนวย กำกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ที่ผ่านมาเมื่อมีการชุมนุมก็จะแจ้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่นั้นๆ แต่เมื่อเป็นการชุมนุมต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในหลายพื้นที่จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สูงสุดมาควบคุม

3. การแจ้งการชุมนุมในรูปแบบการชุมนุมต่อเนื่องหลายพื้นที่ แจ้งเพียงแค่พื้นที่จุดเริ่มต้นการชุมนุม จากนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องประสานงานกันต่อเอง ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนไปในหลายพื้นที่จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งซ้ำในแต่ละพื้นที่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.