Posted: 26 Jan 2018 01:25 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมเปิดตัวโครงการน้ำพางโมเดล เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพด จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่สีเขียว เน้นปลูกไม้ยืนต้น พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียว CP ร่วมสนับสนุน แต่ยังไม่ชัดว่าจะช่วยซื้อผลผลิตได้หรือไม่ หวั่นทำผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 ที่ หอประชุมโรงเรียนบ้านน้ำพาง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ได้มีการจัดมหกรรม “น้ำพางโมเดล: บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน” ซึ่งร่วมจัดโดยชาวบ้านตำบลน้ำพาง องค์การอ็อกแฟม และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการน้ำพางโมเดล เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบของชาวบ้านตำบลน้ำพาง หลังจากที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดตกเป็นจำเลยของสังคมไทย ภายใต้ความคิดว่า เกษตรกรจังหวัดน่านเป็นผู้ทำลายป่า ทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น และเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน

เดิมทีชุมชนเป็นชุมชนหนึ่งที่มีวิถีการผลิตแบบเกษตรเชิงเดี่ยว และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้หลักของชุมชนหลังจากการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 พร้อมกับมีการประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านนำพางถูกกรมอุทยาน และกรมป่าไม้ยึดคืนพื้นที่ทำกินกว่า 1,900 ไร่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ภาระหนี้สินไร้ที่ดินทำกิน จนทำให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านลุกขึ้นมาหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่การออกแบบโครงการน้ำพางโมเดล โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกิน วางเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 ปี ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้หมดไป โดยลดลงปีละไม่น้อยว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันมีเกษตรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 285 ราย รวมเป็นพื้นที่ 4,253 ไร่

องค์กรไหนร่วมไม้ ใครบ้างที่ร่วมมือ


ความพิเศษของน้ำพางโมเดลคือการเป็นโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่ชาวบ้านริเริ่มจนนำไปสู่การร่วมเข้ามามีบทบาทของหลายภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน โดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการและหนุนเสริมศักยภาพของชุมชน ฝ่ายวิชาการโดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีบทบาทในการจัดกระบวนการทำแผนชุมชนทั้งการผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวม องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทยซึ่งได้ช่วยประสานบทบาทของภาคส่วนต่างๆในการหนุนเสริมน้ำพางโมเดล และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สนับสนุนการรักษาทรัพยากร ส่งเสริมองค์ความรู้ และคุณภาพชีวิตชุมชนภายใต้กฎหมาย โดยทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน และพิสูจน์ว่าปัญหาทรัพยากรธรรมชาติต้องแก้ไขไปพร้อมกับเรื่องปากท้องของประชาชนในพื้นที่


อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารด้านพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกกรรมสัมพันธ์ และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาณ์กับสื่อมวลชนในนามของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยื่นนั้นสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน และภาครัฐ ซึ่งแต่ละภาคส่วนต่างก็มีบทบาท ขอบเขตของตนเองที่จะสามารถทำได้ ในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ได้ร่วมประชุมกับโครงการน้ำพางโมเดลมานานประมาณ 2 ปี ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยมีหลายอย่างที่เครือเจริญโภคภัณฑ์อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ยังลังเลในแง่ของกรอบทางกฎหมาย

“หนึ่งในสิ่งที่จะทำให้น้ำพางประสบความสำเร็จนั้น อาจจะต้องรอคอยการปฏิรูป หรือรอคอยกฎหมายบางฉบับ แต่ตราบเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือการจำกัดขอบเขตของเอกชน หรือใครก็ตามที่เป็นผู้หวังดีที่อยากจะเข้ามาช่วย เพราะในแง่มุมหนึ่งตัวเขาอาจจะคิดว่าหวังดี และเข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่นชาวบ้านบอกว่า ไม่ปลูกข้าวโพดแล้วไปปลูกไม่ยืนต้นที่ให้ผลผลิตต่างๆ แล้วก็มีผู้หวังดี ใครก็ได้อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็น CP ก็ได้เข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิต สุดท้ายอาจจะไม่รู้ว่าได้ทำผิดกฎหมายไปแล้ว แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปสู้กันในศาล แล้วก็มีปัญหาระยะยาวต่อไป ตรงนี้ผมคิดว่าถ้าสิ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้สามารถมีหน่วยงานภาครัฐมายืนยันว่า ถ้า CP มาช่วยแบบนี้จะไม่มีปัญหาทางด้านกฎหมาย”

เมื่อถามว่า หากข้อจำกัดที่มีอยู่ในเวลานี้คือกรอบของกฎหมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่ CP สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย อธิประบุว่า ในฐานะขององค์กรเอกชนการสนับสนุนผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาจจะไม่ใช่ภาระหน้าที่หลัก แต่ถ้าภาครัฐได้มาสอบถามความคิดเห็นว่าสมควรจะแก้ไขกฎหมายหรือไม่ หาก CP เห็นว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม แล้วมีการศึกษาการแก้ปัญหาอย่างดีพร้อมแล้ว ก็พร้อมที่จะให้ความเห็นไปตามข้อเท็จจริง สำหรับสิ่งที่ CP สามารถทำได้ในตอนนี้คือการสนับสนุนให้เกิดการรักษาทรัพยากร เช่นเรื่องของการกำหนดแนวเขตการอนุรักษ์ หรือการให้ความรู้ในการฟื้นฟูป่า ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่มาจากชุมชน ทาง CP จะนำไปพิจารณาต่อไปว่า อะไรสามารถทำได้ อะไรไม่สามารถทำได้ ภายใต้กรอบของกฎหมาย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.